ธรรมนิพนธ์ เรื่อง ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
วันนี้วันพระ วันอังคารที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

บทที่ ๑๗ (ตอนที่ ๑๘) คัมภีร์ที่ ๖ ยมก (๑) :

“สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตีพิมพ์เป็นธรรมทานครั้งแรก ๒๔ ตอน ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ธรรมโอสถ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙
ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตีพิมพ์เป็นธรรมทานครั้งแรก ๒๔ ตอน ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ธรรมโอสถ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙

คัมภีร์ที่ ๖ ยมก

สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม

คำว่า ยมก แปลว่า คู่ หมายถึง ในคัมภีร์นี้ สภาวธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งยมกนั้น ทรงยกขึ้นแสดงเป็นคู่ๆ ด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม ทั้งอนุโลมและปฏิโลม เพื่อเป็นเครื่องมือให้เวไนยสัตว์ก้าวข้ามวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) รู้ทั่วถึงปรมัตถธรรม บรรลุซึ่งพระนิพพานเป็นที่สุด

การจะหาคำตอบว่าธรรมทั้งหลายมีสภาวะเป็นอย่างไร ทำได้หลายวิธี การแสดงสภาวธรรมด้วยวิธีแห่งคู่ธรรมด้วยการตั้งสันนิษฐานแล้วถามตอบ หรือซักถามย้อนไปย้อนมา จนได้คำตอบที่แน่ชัด ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะได้มาซึ่งคำตอบ

วิธีดังกล่าวตรงกับวิธีการแห่ง “ธรรมวิจัย” คือ การเพ่งพินิจ พิจารณา วิจัย ใคร่ครวญธรรม จนรู้ธรรม อันเป็นหนึ่งในองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ ( คือ โพชฌงค์ ๗ ) นั่นเอง

การจะได้มาซึ่งคำตอบจากการเพ่งพินิจ พิจารณา วิจัย ใคร่ครวญธรรม สามารถกระทำได้ด้วยวิธีแห่งการซักถาม สอบทาน ตรึกตรอง เพ่งพินิจ พิจารณา ใคร่ครวญ ย้อนไปย้อนมา ภายในตัวด้วยตัว(วิปัสสนา) หรือการซักถาม สอบทาน ย้อนไปย้อนมา กับผู้อื่น  จนได้คำตอบที่ชัดเจน

สภาวธรรมที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นมาถามตอบ แบ่งวารใหญ่ออกเป็น ๒ วาร คือ อุทเทสวาร(หัวข้อ) และ นิทเทสวาร(ขยายความ) และใน ๒ วารใหญ่นี้ ยังมีความละเอียดของคำถามลึกลงไปเป็น ๓ ระดับ คือ 

๑.ปัณณัตติวาร ถามปัญหาระดับญาตปริญญาตามที่บัญญัติไว้เพื่อหมายรู้ สภาวธรรมที่ยกขึ้นมาถามเป็นความรู้พื้นฐาน เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ เช่น ความรู้เรื่องรูปนามมีบัญญัติว่าอย่างไร  เช่น ถามว่า ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง ตอบว่า ขันธ์ ๕ ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ เป็นต้น

๒.ปวัตติวาร ถามปัญหาระดับตีรณปริญญา คือ แจกแจงความเป็นไปของสภาวธรรมหมุนไปตามกาลเวลา เช่น ขันธ์ ๕ แต่ละอย่างเกิดอย่างไร ดับอย่างไร และเกิดดับอย่างไร สลับปรับเปลี่ยนหมุนเวียนคำถามตอบไปเป็นวงรอบ เหมือนการหมุนแห่งจักร

๓.ปริญญาวาร ถามปัญหาระดับปหานปริญญา คือ ลักษณะจิตของผู้ที่กำหนดรู้สภาวธรรม เช่น กำหนดรู้ขันธ์ คือ รูปนาม เป็นต้น มีลักษณะเป็นอย่างไร  เป็นการถามตอบที่ละเอียดลึกลงไปถึงสภาวะจิตของพระอริยบุคคลที่ละกิเลสแต่ละขั้นได้

"สวรรค์" ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
“สวรรค์” ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

การถามตอบในคัมภีร์ยมก ไม่เหมือนกับการถามตอบในคัมภีร์กถาวัตถุ เพราะในกถาวัตถุ พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีโต้ตอบผู้ให้ร้ายพระพุทธศาสนา(ปรัปวาท) เพื่อแก้ความเห็นผิด ชี้แจงความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อพระธรรมวินัย ส่วนในคัมภีร์ยมก เป็นการถามเองตอบเอง แบบเพ่งพินิจพิจารณาธรรม มุ่งกำจัดความสงสัยในธรรมของตัวเอง เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ชัดเจนทุกแง่ทุกมุม  ไม่ใช่ถามแบบโต้เถียง มีผลแพ้ชนะ


การถามเองตอบเองในจิตที่สงบระงับตามวิธีแห่งยมกเทียบได้กับการถามตอบแห่งขณะจิตในวิปัสสนา เป็นการเพ่งพิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา พิจารณาจิตในจิต พิจารณาธรรมในธรรม แล้วสอบทานย้อนไปย้อนมาเพื่อหาคำตอบ

โดยเมื่อจิตสงบระงับลง ผู้ปฏิบัติสมาธิน้อมจิตเข้าสู่วิปัสสนา เป็นการยกสภาวธรรมซึ่งปรากฏในขณะนั้นขึ้นมาพิจารณาโดยถามจิตในจิตว่า ถ้าสังขารขันธ์ กำลังเกิดกับเรา เช่นนั้น วิญญาณขันธ์ ก็กำลังเกิดกับเราด้วย ใช่ไหม? หรือ ถ้ารูปไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่เที่ยงด้วย ใช่ไหม เป็นต้น

ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๙ คัมภีร์ที่ ๖ "ยมก : สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม (๑) การถามตอบแห่งขณะจิตในวิปัสสนา  จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๙๓ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐
ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนที่ ๑๙ คัมภีร์ที่ ๖ “ยมก : สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม (๑) การถามตอบแห่งขณะจิตในวิปัสสนา จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๙๓ วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐

พิจารณาในแง่ของการปฏิบัติสมาธิ เมื่อจิตเกิดความสงบ สภาวธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏ เช่น ในกรณีเกิดแสงสว่าง(โอภาส) รูปแบบต่างๆ ทั้งจุดเล็ก จุดใหญ่ วาวๆ เรืองๆ สลับหมุนเวียน หลากสี ขยับถอยออกห่างเคลื่อนเข้าใกล้ จิตตั้งมั่นพิจารณาความเป็นไปของแสงสว่างทุกขณะที่ปรากฏ

ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ชื่อภาพ "ข่ายแห่งญาาณ" โดย อาจารย์พีร์ ขุนจิตรกร
ขอขอบคุณ ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อโชคดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ชื่อภาพ “ข่ายแห่งญาาณ” โดย อาจารย์พีร์ ขุนจิตรกร

ผู้ปฏิบัติสมาธิยกแสงสว่างขึ้นสู่ธัมมวิจัย เพ่งพินิจพิจารณาโดยวิธีแห่งคู่ธรรม(ยมก) ว่า แสงสว่างปรากฏแก่เรา มีอยู่ แสงสว่างเป็นของเที่ยงไหม (ตอบในจิตว่า ไม่เที่ยง) เมื่อแสงสว่างไม่เที่ยง ควรจะยึดถือว่าเป็นของเราไหม (จิตตอบว่า ไม่ควรยึดถือ) เป็นต้น

แม้สภาวธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏในขณะจิต ร้อยครั้งพันครั้ง เช่น อาการลอยขึ้น ดิ่งลง โยกคลอน หรือหมุนคว้าง ความรัก ความชิงชัง ความโกรธเกลียด อาฆาต พยาบาท ความดูหมิ่นดูแคลน ความยกตนข่มท่าน ความเห็นว่าตนและพวกตนดีกว่าผู้อื่น เป็นต้น ก็ยกขึ้นสู่การพิจารณาโดยนัยเดียวกัน

การแสดงสภาวธรรมด้วยวิธีแห่งยมกนั้น ทรงแสดงด้วยวิธีถามตอบแบบอนุโลม (ตามลำดับ) และปฏิโลม(ทวนลำดับ) สลับกันเป็นคู่ๆ แต่ละคู่ประกอบด้วย (๑) อนุโลมปุจฉา และวิสัชนา (๒) ปฏิโลมปุจฉา และวิสัชนา

ตัวอย่างวิธีถามตอบแบบอนุโลมปุจฉา

บทตั้ง สันนิฏฐานบท : สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล
ถาม สังสยบท : สภาวธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศลมูล ใช่ไหม
ตอบ วิสัชนา : กุศลมูล (คือ รากเหง้าแห่งความดี) มี ๓ อย่าง คือ อโลภะ อโทสะ และอโมหะ สภาวธรรมที่เหลือ เป็นกุศล (ความดี) แต่ไม่ใช่กุศลมูล

ตัวอย่างวิธีถามตอบแบบปฏิโลมปุจฉา

บทตั้ง สันนิฏฐานบท: สภาวธรรมเหล่าใดเป็นกุศลมูล
ถาม-สังสยบท: สภาวธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเป็นกุศล ใช่ไหม
ตอบ วิสัชนา: ใช่แล้ว

อธิบายว่า กุศลมูล คือ รากเหง้าแห่งความดี มีเพียง ๓ อย่างเท่านั้น คือ อโลภะ ไม่โลภ อโทสะ ไม่โกรธ  และอโมหะ ไม่หลง สภาวธรรมที่เหลือ เป็นความดี(กุศล) แต่ยังไม่ใช่รากเหง้าแห่งความดี (คือ ไม่ใช่กุศลมูล)

ลักษณะการถามตอบในคัมภีร์ยมก ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๒ ส่วน คือ (๑) บทตั้ง เรียกว่า “สันนิฏฐานบท” เป็นการตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อน (๒) บทคำถาม  เรียกว่า “สังสยบท”  คือ ในการหาความจริงของสภาวธรรมแต่ละอย่างตามคัมภีร์ยมก ให้สันนิษฐานไว้ว่า สภาวธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น แล้วตั้งเป็นคำถามว่า สภาวธรรมนั้นเป็นไปตามที่สันนิษฐานไว้หรือไม่ จากนั้น จึงตอบคำถาม

ยมกเป็นคัมภีร์ที่ยาวกว่าคัมภีร์อื่นๆ เมื่อแบ่งเป็นภาณวาร มีมากถึง ๑๒๐ ภาณวาร อย่างไรก็ตาม คัมภีร์พระอภิธรรมทุกคัมภีร์นั้น ล้วนมีความละเอียดลึกซึ้ง มีนัยไม่มีที่สิ้นสุด ตามที่กล่าวไปแล้ว อรรถกกาที่ขยายความคัมภีร์ยมกให้เข้าใจง่ายขึ้น มีชื่อว่า “ปรมัตถทีปนี”  ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคัมภีร์นี้

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง ความเป็นมาของพระอภิธรรม เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

วันนี้วันพระ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๑๗ (ตอนที่ ๑๘) คัมภีร์ที่ ๖ ยมก (๑) : “สภาวธรรมที่ทรงยกขึ้นแสดงด้วยวิธีแห่งคู่ธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here