"เย็นหิมะในรอยธรรม" : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๖ ฉบับธรรมบรรณาการเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ แก่พระสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร คือ พระวิจิตรธรรมมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ป.ธ.๖,น.ธ.เอก ลพ.ม. ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร, เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐,เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ , เลขานุการคณะทำงานการก่อตัั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้, หัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนาม ที่ "พระราชกิจจาภรณ์" เป็นกรณีพิเศษ
“เย็นหิมะในรอยธรรม” : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พิมพ์ครั้งที่ ๒๒ พ.ศ.๒๕๕๖ ฉบับธรรมบรรณาการเนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ แก่พระสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร คือ พระวิจิตรธรรมมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ป.ธ.๖,น.ธ.เอก ลพ.ม. ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร, เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๐,เลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ , เลขานุการคณะทำงานการก่อตัั้งพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้, หัวหน้าสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนาม ที่ “พระราชกิจจาภรณ์” เป็นกรณีพิเศษ

คำนำสำนักพิมพ์

 ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ เกิดขึ้นเพราะการทำงานอย่างมุ่งมั่น ของพระสงฆ์ไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผ่านงานการเผยแผ่ที่เรียกว่า พระธรรมทูตสายต่างประเทศ แต่กว่าจะเกิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย” เป็นพระเถระผู้ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทอย่างสำคัญ ที่ทำให้เกิดวัดไทย ในต่างประเทศซึ่งเป็นโอกาสให้พระสงฆ์ไทย ได้แสดงความสามารถ จนเป็นที่ยอมับในเวทีนานาชาติ นับเป็นก้าวใหม่ และย่างก้าวที่สำคัญแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยในเวทีโลก และวันนี้ พระพุทธศาสนาได้เดินทางไปสู่ทั่วทุกมุมโลกแล้ว 

“เย็นหิมะในรอยธรรม” รวบรวมขึ้นจากโอวาทธรรมเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประทานในโอกาสต่างๆ ซึ่งจะทำให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจว่าเหตุไร ที่ประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธทั่วโลก จึงออกแถลงการณ์ร่วมให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

สำนักพิมพ์อนันตะ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ). สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)  เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา (ภาพในอดีต)
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ). สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เมื่อครั้งจาริกธรรมในอเมริกา (ภาพในอดีต)

“ใช้สติปัญญาปรับตัวให้เข้ากับสังคม ”

(ตอนที่ ๔)

จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “เย็นหิมะในรอยธรรม” : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

เวลาไปต่างประเทศ หลวงพ่ออยากให้พักโรงแรมมากกว่าพักที่วัด และโรงแรมนั้นจะต้องใกล้สวนสาธารณะ ใกล้สถานีรถไฟ หรือไม่ก็ใกล้สถานีขนส่ง อยากให้พักใจกลางเมือง เพราะสถานที่นั้จะทำให้เรามีโอกาสได้พบปะผู้คนมากมาย ให้ได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิของผู้คนในประเทศนั้นๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระศาสนาต่อไปในอนาคต

หากไปต่างประเทศ ไปพักอยู่ตามป่าเขา จะไปทำไม ป่าเขาบ้านเรามีเยอะแยะ ไม่ต้องไปถึงต่างประเทศ ที่ให้ไปต่างประเทศนั้น ให้ไปดูคน ดูบ้านเมือง ดูชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ว่าเขาอยู่กันอย่างไร

เมื่อถึงโรงแรมได้หมายเลขห้องพักแล้ว ให้เข้าห้องไปเลย จำหมายเลขห้องของคนอื่นไว้ หากกลัวลืมก็เขียนหมายเลขห้องของแต่ละคนไว้ก็ได้ อย่ายืนคุยกันหน้าห้อง นอกจากจะเป็นการรบกวนคนอื่นเขาแล้ว ยังถือว่าเป็นการเสียมารยาทอีกด้วย เขาถือกันอย่างนี้ทุกสังคม มีอะไรจะคุยก็คุยกันในห้องหรือใช้โทรศัพท์ภายในคุยกัน ให้ลองหัดใช้โทรศัพท์ในต่างประเทศดูว่าใช้อย่างไร ใช้เบอร์ภายในโรงแรมจะได้ไม่ต้องจ่ายค่าโทรศัทพ์ อย่าโทรไปเบอร์ข้างนอก เพราะค่าโทรศัพท์ในต่างประเทศแพงมาก ให้โทรภายในโรงแรม

“โทรห้องต่อห้อง พอให้ได้รู้วิธีการใช้โทรศัพท์ในต่างประเทศ”

ให้จำชื่อย่านที่พักเรียกว่าอะไร จะออกจากที่พักไปที่ไหนบ้าง ให้บอกคนอื่นรู้ด้วย ให้มีชื่อ ที่อยู่ และถนนของโรงแรมที่พักติดตัวไปด้วยทุกครั้ง จะขอนามบัตรโรงแรมเขาไปด้วยก็ได้

“ในต่างประเทศพาสปอร์ตเป็นสิ่งสำคัญ ต้องติดตัวอยู่ตลอดเวลา”

ทุกวันนี้คนไทยยังมีความเข้าใจผิดๆ อยู่มาก ยังติดในภาพเก่าๆ คิดว่า โรงแรมเป็นสถานที่ไม่เหมาะไม่ควร เป็นที่อโคจร ยังมีความรู้สึกไม่ดีกับคำว่า “โรงแรม” พูดง่ายๆ คือ ยังไม่ยอมลบภาพเก่าๆ ออกจากสมอง ทั้งที่จริง โรงแรมเขาใช้เป็นที่พัก

“โลกและสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว และเราก็อยู่ในสังคมปัจจุบัน”

นักธุรกิจไปติดต่อการค้าขายในต่างประเทศก็พักโรงแรม ผู้นำประเทศต่างๆ ไปต่างประเทศก็พักโรงแรม แขกบ้านแขกเมืองไปต่างประเทศก็พักโรงแรม พระเจ้าแผ่นดินไปต่างประเทศก็พักโรงแรม

โรงแรมทุกวันนี้เขาจัดไว้สะอาดสะอ้าน มีระเบียบ และเงียบสงบกว่าบ้านคน หรือเงียบสงบกว่าวัดบางแห่งเสียอีก

แม้พระเองก็ต้องปรับตัวให้เหมาะสม ไม่เช่นนั้นพระพุทธเจ้าก็คงไม่ทรงอนุญาตมหาปเทศ ๔ เอาไว้หรอก

การอนุญาตมหาปเทศ ๔ ไว้ก็เพื่อที่จะให้พระรู้จักใช้สติปัญญา ปรับตัวให้เข้ากับสังคมในประเทศนั้นๆ ตามความเหมาะสม รู้จักทุกองค์อยู่แล้ว

โรงแรมสำหรับชาวตะวันตก หรือแม้แต่สำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือ สถานที่เงียบสงบ มีความเป็นส่วนตัวสูง เพื่อต้องการพักผ่อน เวลาเขาเดินทางไกลเพื่อติดต่อธุรกิจ หรือติดต่อข้าราชการต่างๆ ต้องการพักผ่อน ต้องการใช้ความคิด โดยไม่ต้องการให้มีใครรบกวน ไม่ต้องการให้มีการใช้เสียง ก็จะมีป้ายอะไรสักอย่าง เป็นเครื่องหมายแขวนไว้ที่ประตู แม้จะไม่มีตัวหนังสือบอกว่า “อย่ารบกวน” ก็เป็นอันรู้กันทั่วโลกว่า “เวลานี้ต้องการความเงียบสงบ โปรดอย่ารบกวน”

ทุกโรงแรมเขาจะมี ถ้าเห็นสัญลักษณ์นี้แล้ว แม้แต่คนทำความสะอาดก็ไม่กล้าส่งเสียง

คนไทยเรามักจะมองโรงแรมในด้านลบ เพราะสมองยังติดในภาพเก่าๆ ไม่ยอมรับความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน ความจริงโรงแรม * คือห้องพักธรรมดาห้องหนึ่งเท่านั้นเอง สมัยพุทธกาลพระสงฆ์สาวกเดินทางไกลไปต่างบ้านต่างเมือง ท่านก็ขอพักตามบ้านเรือนคนทั้งนั้น อย่างบ้านนายช่างหม้อก็เป็นบ้านที่พระนิยมไปขอพักแรม

*ข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ที่เดินทางไปต่างถิ่น จำเป็นต้องอาศัยเรือนชาวบ้านเป็นที่พำนักปรากฏอยู่ในพระวินัยว่า หากต้องพักตามบ้านเรือน ให้กำหนดเอารั้วบ้านเป็นเขตรักษาราตรี ถ้าบ้านไม่มีรั้วหรือกำแพงให้เอาตัวเรือนนั้น เป็นเขตรักษาราตรี ถ้าอาคารใหญ่โตมีหลายห้อง หรือโกดังใหญ่ ถ้าไม่มีกำแพงหรือรั้วล้อม ให้กำหนดเอาห้องที่พักนั้นเป็นเขตรักษาราตรี ถ้าสถานที่นั้นมีหลายครอบครัวอยู่รวมกัน พระสงฆ์พักอยู่กับครอบครัวใด ให้ถือเอาบริเสณของครอบครัวนั้น เป็นเขตรักษาราตรี –(พระไตรปิฎก เล่ม ๒ มหาวิภังค์ จีวรรค)–

ทุกวันนี้สถานที่พักแรมเวลาเดินทางไกลไปต่างบ้านต่างเมือง ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ไปต่างประเทศ ถ้าไม่ต้องการไปดูคน ไปดูบ้านเมืองเขา แล้วเราจะไปทำไม ถ้าไปแล้วจะไปนั่งอยู่วัดเฉยๆ ก็อย่าไป จะกลายเป็นคนหูหนวกตาบอด ไม่ไปยังจะดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ไม่ต้องเหนื่อย และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไปแล้วก็ต้องออกไปดูบ้านเมืองเขา

ที่จริงหากเป็นไปได้ หลวงพ่ออยากให้พระผู้ใหญ่ ตั้งแต่ระดับเจ้าคณะทุกจังหวัด ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ จะได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศต่างๆ แล้วนำมาพัฒนาพระศาสนา จะได้ไม่มีจิตใจคับแคบ คิดว่า ประเทศไทยนั้นใหญ่คับโลก

หากมองเมืองไทยในแผนที่โลกแล้ว มันแค่จุดเล็กๆ พอเดินทางออกจากเมืองไทยไปไกลเกินญี่ปุ่น ก็แทบไม่มีใครรู้จักเมืองไทยแล้ว

เวลานี้พระผู้ใหญ่ยังเข้าใจผิดกันมาก ยังคิดว่า ประเทศไทยนั้นใหญ่เหลือเกิน ประเทศไทยไม่ต้องพึ่งพาใครทั้งนั้น เมืองไทยเท่านั้นเป็นเมืองพุทธ และมีสิทธิ์เป็นเจ้าของธรรมของพระพุทธเจ้า พระที่เดินทางไปต่างประเทศมักจะถูกตำหนิ ทั้งจากพระผู้ใหญ่และญาติโยมที่ไม่เข้าใจ

เพราะคิดอย่างนี้ พระจึงถูกมองว่าเป็นสถาบันที่ล้าหลังที่สุดในสังคม เป็นสถาบันที่ตามสังคมไม่ทัน เป็นสถาบันที่เป็นภาระต่อสังคม จนบางกลุ่มบางคนคิดว่า ปัจจุบันสังคมไทยไม่มีความจำเป็นต้องมีสถาบันสงฆ์ หรือจะกล่าวให้ง่ายคือ พระสงฆ์เป็นสถาบันที่ไม่ควรมีในสังคมไทยอีกต่อไป

คนทุกวันนี้คิดกันว่า ธรรมะเรียนที่ไหนก็ได้ มีสื่อต่างๆ มากมายเต็มไปหมด กดปุ๊ปก็รู้ธรรมะปั๊บ ไม่จำเป็นต้องเรียนจากสถาบันสงฆ์

พระไม่ได้เรียนหนังสือจากเมืองนอกเมืองนา มีความรู้สู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคมปัจจุบัน เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้แล้ว พระพุทธศาสนาจะอยู่อย่างไร ให้พวกเราคิดดู

จริงอยู่ “ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง” คือ “ไม่เที่ยง” แต่ความไม่เที่ยงก็ไม่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานจิตใจที่คับแคบเช่นนี้ โดยไม่คิดหาวิธีการที่จะรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบสถาพรไพศาลไปในโลก

ขอขอบคุณ ภาพประกอบโดย พระมหาประสงค์ ณฏฐปญฺโญ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพประกอบโดย พระมหาประสงค์ ณฏฐปญฺโญ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

“ในปัจจุบันการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยอย่างเดียว มิอาจจะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ในขณะที่นวัตกรรมของคนรุ่นใหม่ก้าวล้ำหน้าพระสงฆ์ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของสังคมรุ่นเก่าไปแล้ว หากพระสงฆ์ปิดกั้นตนเอง ไม่พยายามเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ของคนในยุคนี้ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ไม่พยายามเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนในปัจจุบัน และไม่พยายามที่จะหาวิธีการใช้ความรู้ของยุคสมัยเป็นสื่อในการถ่ายทอดคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาก็ยากที่จะรักษาพระศาสนาไว้”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

“ใช้สติปัญญาปรับตัวให้เข้ากับสังคม ” (ตอนที่ ๔) จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “เย็นหิมะในรอยธรรม” : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here