“๑๓ เมษา ชาตกาล แสงเทียนแห่งธรรมยังคงส่องสว่างที่กลางใจ” น้อมถวายความอาลัย กว่า ๓ ปี แห่งการจากไป… พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส)

หากวันใดที่พระพุทธศาสนาหายไปจากแผ่นดินไทยจะเกิดอะไรขึ้น

และถ้าเมื่อใดที่เรากล่าวถึงพระพุทธศาสนาแล้วเกิดความกลัว  นั่นหมายถึงอะไร

ปัจจุบัน  แม้ว่าประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา  แต่เหตุการณ์ความรุนแรงกลับมากขึ้นๆ  ตั้งแต่ในบ้านไปจนถึงสังคมโลก  ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็น้อยลงๆ อย่างเห็นได้ชัด  พระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งสูงสุดของชาวพุทธ  กำลังถูกสั่นคลอนด้วยเหตุผลนานัปการ  เมื่อคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้ว่า พระพุทธศาสนามีประโยชน์กับชีวิตเขาอย่างไร

นั่นหมายความว่า  จุดเชื่อมต่อที่จะเป็นผู้พาเราไปรู้จักสัจธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าค้นพบเพื่อยังความสงบเย็นทางจิตใจไปจนถึงการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตไปจนลมหายใจสุดท้ายด้วยโลกุตระปัญญาจากพระพระพุทธศาสนากำลังจะขาดหายไป  และจุดเชื่อมต่อนั่นคือ “พระสงฆ์”

แม้ว่าพระพุทธเจ้าทรงฝากแผนที่นำทางไปสู่ความพ้นทุกข์ไว้ที่ “พระธรรม” ให้เป็นดั่งศาสดาแทนพระองค์ หากทว่า เมื่อใดที่ขาดพระสงฆ์ไป พระรัตนตรัยไม่ครบองค์ประชุม เมื่อนั้น ก็อย่าได้หวังเลยว่า พระพุทธศาสนาจักดำรงอยู่เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลให้คนทุกข์ได้คลายทุกข์ไปจนถึงสิ้นทุกข์ได้อีกต่อไป ดังนั้น การรักษาพระสงฆ์ ก็คือการรักษาพระพุทธศาสนา และหากไม่มีพระสงฆ์ก็ไม่มีพระพุทธศาสนา

ในวาระแห่งวันคล้ายวันชาตกาล พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ในวันนี้ จึงขอคัดความทรงจำ จากการอ่านเขียนความคิด ชีวิตของท่านบางมุมมาบันทึกไว้เพื่อถวายความอาลัยท่านพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ พระผู้กล้าหาญทางธรรมด้วยจิตอันเปี่ยมด้วยเมตตากรุณาอันไม่มีประมาณ

๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ คือวันเกิดของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ท่านมีนามเดิม สว่าง เวทมาหะ  เป็นชาวพุทธโดยกำเนิด เกิดในหมู่บ้านมุสลิม อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส  สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบ้านเจ๊ะเด็ง แล้วตัดสินใจบวชเป็นพระเมื่ออายุ ๒๐ ปี ที่วัดรัตนานุภาพ ฉายา จนฺทวํโส ต่อมา ท่านกลับมาพัฒนาวัดที่ท่านบวชและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในบ้านเกิด ตลอดจนเป็นพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับการยกย่องเป็นพระนักพัฒนา นอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพแล้ว ท่านยังเป็นเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และเป็นประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา จังหวัดนราธิวาสด้วย

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท เขียนไว้ในบทความเรื่อง “จุดเริ่มต้นชีวิต  ณ  สำนักสงฆ์โคกโก (วัดรัตนานุภาพ) ” จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก  วันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒) ตอนหนึ่งว่า ผู้เขียนเคยได้พูดคุยกับท่านถึงกำลังใจ แรงบันดาลใจในการทำงานยืนหยัดเพื่อชาวบ้าน เพื่อชุมชน ท่านได้เล่าให้ฟังว่า มีแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่ เมื่อครั้งหนึ่งคณะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มากราบเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้ดำริให้จัดตั้งพระธรรมทูตอาสาขึ้น แล้วเจ้าประคุณฯ ก็ได้ให้โอวาท มีความตอนหนึ่งว่า

“เราตายได้ พระพุทธศาสนาตายไม่ได้

หากไม่มีพระสงฆ์ในพื้นที่ชาวพุทธก็หมดที่พึ่ง

แม้วันใดวันหนึ่งข้างหน้า

พระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะอยู่ไม่ได้จริงๆ

ก็ขอให้พระสงฆ์เดินออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
ทำให้ในปัจจุบันนี้หลายรูปได้ทำลายกำแพงแห่งความกลัวไป เหลือไว้แต่หัวใจที่เสียสละด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตามปณิธานของเจ้าประคุณสมเด็จฯ  นับแต่นั้นมาพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ จึงได้จำพรรษาอยู่ที่นี่มาตลอด จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒

๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

“ย้อนกลับไปในวันนั้น ช่วงหัวค่ำ ก่อนท่านมรณภาพไม่กี่วัน มีคนมาถามหาท่านในวัดกับเณร ว่าท่านชื่อ…?(ชื่อเล่นพระครูประโชติรัตนานุรักษ์) เณรบอกไม่ใช่ พวกนั้นก็เดินจากไป ณ เวลานั้นพระครูท่านยืนดูอยู่ในร่มไม้มืดๆ ท่านรับรู้ทุกอย่างที่พวกนั้นมา และจะเกิดอะไรขึ้นกับท่าน จากนั้นท่านก็ออกมา บอกกันเณรว่า อย่าบอกเรื่องนี้กับใคร วันต่อมาท่าน ก็มรณภาพ”

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท เล่าให้เพื่อนสหธรรมมิกฟัง ถึงวันก่อนวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่ท่านมรณภาพ จากการถูกคนร้ายยิง ยามหัวค่ำ ราวสองทุ่ม …ณ วัดรัตนานุภาพ (วัดโคกโก ) อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส สิริอายุ ๔๗ ปี ๒๘๐ วัน ๒๗ พรรษา

ในวันนี้ซึ่งเป็นวันคล้ายวันชาตกาลพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ จึงขอน้อมนำปฏิปทาของท่านมารำลึกแทนความอาลัยพระครูผู้จุดเทียนแห่งธรรมให้สว่างไสวในใจของผู้คนให้กตัญญูรู้คุณแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นผืนดินสุดท้ายที่เราต้องช่วยกันรักษาไว้เพื่อชนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร เราต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า น้ำตานั้นมากกว่าทุกมหาสมุทรมารวมกัน ทุกหย่อมหญ้าบนโลก ล้วนเป็นที่ฝังกระดูกมนุษย์และสรรพสัตว์ และในสังสารวัฏนี้ ไม่มีใครที่ไม่เคยเป็นพ่อแม่พี่น้องกันมาก่อน ดังนั้น ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม เราทั้งผอง ล้วนเป็นพี่น้องกัน ท่านมหาตมา คานธีกล่าวไว้

“ผมเกิดที่นี่ พ่อแม่ปู่ย่าตายายผมเป็นคนที่นี่…นราธิวาส ผมเรียนที่นี่ รุ่นผมมีชาวพุทธสองคน ทุกคนเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกัน ไม่ว่าจะศาสนาไหน ผมภูมิใจที่สุด ครั้งหนึ่งได้ไปเลี้ยงอาหารรุ่นน้องที่โรงเรียน ไปเยี่ยมครูสอน ไปเยี่ยมผู้อำนวยการ เป็นความสุขที่หาอะไรมาเปรียบไม่ได้ เพราะนี่ คือบ้านเกิดของผม บ้านที่ผมรัก”

“ชีวิตผมเกิดมาชาติหนึ่ง ได้สร้างวัดด้วยตนเองถวายเป็นพุทธบูชา ผมมาอยู่ที่นี่ (บ้านโคกโก) ตั้งแต่ยังไม่มีอะไร ผมเริ่มสร้างศาลาหลังแรกคือ ศาลาการเปรียญ (ศาลาโรงธรรม) ใช้ชื่อว่า ธรรมานุภาพ แล้วก็สร้างศาลาโรงฉัน ใช้ชื่อว่า สังฆานุภาพ สิ่งที่ผมจะสร้างเป็นสิ่งสุดท้าย คือ พระอุโบสถ เป็น “พุทธานุภาพ” รวมทั้งหมดเข้าด้วยจึงเป็น วัดรัตนานุภาพ”

“ในชีวิต ผมไม่อยากได้ยินคำว่ามีวัดร้างในพื้นที่ที่ผมอยู่ เคยมีช่วงหนึ่ง มีวัดหนึ่งชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง อยากทำบุญ อยากฟังธรรม แต่ไม่มีพระ ผมคุยกับชาวบ้านโคกโกว่า วันพระ ช่วงเช้าจะไปที่โน้นให้ชาวบ้านได้ทำบุญ ต้องเดินเท้าไปแต่ช่วงเย็นของอีกวัน ไปถึงก็ดึก ตื่นเช้ามาชาวบ้านทำบุญเสร็จ ก็ต้องรีบเดินทางกลับมาให้ทันเพลที่วัดโคกโก เพราะชาวบ้านรออยู่…”

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส)

“ท่านมหาลองนึกภาพดู มีวัดแต่ไม่มีพระอยู่ เจ็บปวดใจนะ คนเฒ่าคนแก่มาวัด เห็นจีวรตากหน้าศาลาก็ยังอุ่นใจ ถ้าไม่มีพระสงฆ์ทำหน้าที่ นั่นหมายถึงลมหายใจของพระพุทธศาสนาหมดไปแล้ว”

หากเราไม่อยากให้พระพุทธศาสนาหมดไปจากแผ่นดินไทย  ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องปฏิบัติธรรมเพื่อไปสู่ความพ้นทุกข์ทางใจ  ตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตามรอยท่านพระครูประโชติฯ ในการที่จะช่วยเผยแผ่ธรรมในทุกทางที่ทำได้ 

เพราะชีวิตนี้สั้นนัก  แต่ธรรมะนั้นยืนยาว  ดังคำกล่าวของท่านอีกว่า

“พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่รักสูงสุดของอาตมา  ลมหายใจที่มีอยู่ขอถวายเป็นพุทธบูชา และขอทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ”

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส)

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. เขียนบทความเรื่อง “พระครูประโชติรัตนานุรักษ์” กับแรงบันดาลใจในการก่อเกิด “โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม” ไว้ในคอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ตอนหนึ่งว่า

จากการทำงานอย่างเสียสละของพระครูประโชติฯ  นี้เองเป็นแรงบันดาลสำคัญในการก่อเกิดโครงการเยี่ยมพระพบปะโยมโดยไม่ได้มีทุนรอนอะไรเลยนอกจาก “ใจที่เสียสละ” เพื่ออุดมการณ์ของพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ต้องการให้เกิดความสงบร่มเย็นดังเดิมในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนใต้ ”

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร.

สำหรับ โครงการ “เยี่ยมพระพบปะโยม” เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีความเมตตาห่วงใยพระภิกษุสามเณรและผู้ประสบอุทกภัยในปีพ.ศ.๒๕๕๔ จึงเมตตาให้คณะสงฆ์นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคออกไปช่วยเหลือประชาชนตามที่ต่างๆ และจัดกระบวนการธรรมะเยียวยาใจ ลงพื้นที่ให้กำลังใจกับพระสงฆ์และให้ธรรมะกับอุบาสกอุบาสิกาชาวพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นลำดับต่อมาจนเกิดโครงการต่างๆ มากมาย

ไม่เพียงโครงการนี้เท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกที่สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ต้องการให้เกิดมีการส่งเสริมการทำงานของพระสงฆ์ให้เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมตามมติมหาเถรสมาคม จนมีดำริให้ก่อตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ  ซึ่งผ่านการทำงานของคณะสงฆ์จากหลากหลายวัดในหลายๆ พื้นที่ทั่วแผ่นดินไทย

ดังที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น ให้แนวทางการทำงานไว้มากมายเพื่อเป็นส่วนเสริมสำคัญของการเผยแผ่งานพระพุทธศาสนาทั้งหกด้านให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นผ่านการภาวนาของพระสงฆ์จนสามารถจาริกธรรมเผยแผ่ช่วยเหลือผู้คนอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างเยาวชนจิตอาสาช่วยเหลือพระสงฆ์ในการทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่ทุกศาสนาในพื้นที่ จนก่อเกิดหลักสูตรวิทยากรกระบวนธรรมและนำมาสู่การ โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม อันเป็นส่วนหนึ่งของงานเผยแผ่ทั้งหมดดังกล่าว 

โดยในครั้งแรกที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ลงพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนใต้ร่วมกับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สนง.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯวัดสระเกศฯ ก็ได้พบกับพระครูประโชติรัตนานุรักษ์  อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งท่านได้เล่าถึงความยากลำบากในการทำงานในพื้นที่เป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายๆ วัดไม่มีพระอยู่ ท่านจึงต้องเดินทางด้วยเท้าเปล่าจากวัดหนึ่งในตอนค่ำ เพื่อไปยังอีกวัดหนึ่งให้ทันสวดมนต์ทำวัตรเช้า และอยู่เป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้มีขวัญกำลังใจ ดังที่ท่านเล่าว่า เวลาพระมาเพียงเห็นผ้าเหลืองชาวบ้านก็อุ่นใจแล้ว

“ความอุ่นใจ” ก็คือ “ความไม่กลัว” นี่เอง เพราะเรามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงแล้ว จากการปฏิบัติขัดเกลาตน โดยการศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากพระสงฆ์จนเกิดความมั่นใจจากภายในใจว่า จากนี้ไป เรามีตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้วจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิตอย่างไม่ประมาท ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า อัตตาหิ อัตตโน นาโถ และพระวาจาสุดท้ายของพระพุทธเจ้าว่า

“หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว, วยธมฺมา สงฺขารา, อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”

แปลความว่า :

“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอกล่าวกับเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ คือพระผู้ก้าวไปข้างหน้า คือแสงเทียนส่องสว่างอยู่กลางใจ ไม่เพียงชาวพุทธเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเพื่อนสหธรรมมิกศาสนสัมพันธ์ทุกศาสนาให้เกิดความอุ่นใจในแผ่นดินไทย แผ่นดินเกิด ใต้ร่มพระบารมีแผ่ไพศาล ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระเมตตาอย่างหาประมาณมิได้

๑๓ เมษา ชาตกาล “แสงเทียนแห่งธรรมยังคงส่องสว่างที่กลางใจ” น้อมถวายความอาลัย กว่า  ๓ ปีแห่งการจากไป ” พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง จนฺทวํโส)”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here