เสียงของครูประจำกุฏิ เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

0
1572

กระบวนกานสอนเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพที่คุณพ่อคุณแม่น่าเรียนรูู้

ผ่านการบวชเรียน…และกลับไปต่อยอดที่บ้าน…

เสียงของครูประจำกุฏิ

เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖”

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

วันก่อนจบโครงการได้ฟังคณะพระอาจารย์พี่เลี้ยงที่อยู่ดูแลสามเณรประจำกุฏิได้พูดสะท้อนถึงสามเณรทั้ง ๑๒ รูป ทำให้เห็นถึงหัวใจของทุกรูปยิ่งใหญ่เหลือเกิน ในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ สัมผัสได้ถึงความรัก ความเมตตาที่พระอาจารย์ทุกรูปเอาใจใส่ดูแล

พระครูปลัดทรัพย์ชู มหาวีโร ในฐานะหัวหน้าพระอาจารย์พี่เลี้ยง จากกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ พูดอยู่เสมอว่า

“ทุกคนพัฒนาได้ ถ้าหากผู้ใหญ่เข้าใจ และให้โอกาส”

 กระบวนการของการเรียนรู้จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยคำว่า “ให้ความรัก ก่อนให้ความรู้” ทำให้เขามีความรู้สึกว่า อบอุ่นและปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้ๆ เรา ให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นนั่นแหละ เรามาทำความรู้จักเขาด้วยความเข้าใจ

           ในเมื่อเราต้องการจะสอนใครสักคน ถ้าเรายังไม่รู้จักเขาเลย ก็ยากที่จะทำให้เขาเชื่อและปฏิบัติตาม เมื่อเขามีศรัทธาต่อเรา คำว่าครูจึงเริ่มมีความหมาย ความเกรงใจ ความเคารพ ความพร้อมในการปฏิบัติตามคำสอนจึงจะเกิดขึ้น

กระบวนการสอนของพระอาจารย์ทรัพย์ชู พูดแล้วก็เหมือนท่านมีพรวิเศษ ไม่ได้เป็นการยกย่องกันเองแต่อย่างไร ท่านสามารถอยู่กับเด็กแล้วเด็กมีความสุข เด็กเชื่อฟัง ทำตามคำแนะนำด้วยความยินดีและเต็มใจ จัดแถวก็สบาย ทำอะไรก็เหมือนง่ายไปหมด คอนโทรนเด็กได้ ควบคุมได้ รวมความแล้วเอาเด็กอยู่ การที่ใครคนหนึ่งยอมทำตามที่เราบอก ที่เราสอน ด้วยความรัก และเคารพมันเป็นอะไรที่ยิ่งกว่ามีพรวิเศษนะ

ท่านสะท้อนให้ฟังว่า เราต้องเริ่มต้นจากการสังเกตว่า เขาชอบอะไร จริตเขาเป็นอย่างไร ที่สำคัญรู้อารมณ์ของเขา ท่านไม่เคยโกรธเลยว่า เขาจะเป็นอย่างไร เขาจะดื้อจะซนอย่างไร ท่านบอกแต่เพียงว่า ยังหาวิธีที่จะที่จะพัฒนาเขาให้ถูกจริตเขาไม่ได้

พระอาจารย์ท่านได้ยกตัวอย่างของสามเณรรูปหนึ่ง ขออนุญาตเอ่ยชื่อ คือสามเณรเตเต้ ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ยากพอสมควรสำหรับโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๖ เพราะสามเณรเตเต้จะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พระอาจารย์ท่านสะท้อนให้ฟังว่า ต้องรู้ก่อนว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีจริตอย่างไร มีความชอบอะไร ช่วงแรกๆ สามเณรเตเต้ร้องไห้อยากกลับบ้านตลอดเวลา เล่าแล้วก็ขำ…

วันหนึ่งกำลังเรียนอยู่ เพื่อนๆ เดินไปหาพระอาจารย์บอกว่า “พระอาจารย์ครับ ผมขออนุญาตไปเข้าห้องน้ำครับ สามเณรเตเต้บอกว่า พระอาจารย์ครับ ผมขออนุญาตกลับบ้านครับ”

มีวันหนึ่งสามเณรเตเต้ออกมาจากห้องเรียนร้องไห้อยากกลับบ้าน นั่งอยู่ข้างคลองเล็กๆหน้ากุฏิ พระครูปลัดทรัพย์ชูเดินมาพูดกับพระมหาสมควร ว่า เขียดๆ ปูๆ มาช่วยจับหน่อยๆ เสียงดังไปเข้าหูของสามเณรเตเต้ จากร้องไห้อยู่ เดินมาทันที ไหนๆ ผมช่วยๆ ครับพระอาจารย์ สามเณรเตเต้ไปเอาตาข่ายมาช่วยกันตัก ที่ไหนได้มีแต่ใบไม้ ตักใบไม้ขึ้นจากคลอง ตักไปตักมาลืมเรื่องร้องไห้ที่อยากกลับบ้านไปเลย สักพักหนึ่งก็เดินเข้าไปห้องเรียนตามปกติ ในฐานะของครูก็ทำให้ได้บทเรียนนะ การที่จะยกจิตเขาออกจากเรื่องเศร้าๆ จะต้องทำอย่างไร

           พระมหาสมควร ถิรสีโล หนึ่งในพระอาจารย์พี่เลี้ยง ท่านได้พูดถึงมุมน่ารัก มุมส่วนตัวนอกจอของสามเณรเตเต้ว่า เวลาพักเขาจะนิ่งมาก นั่งอ่านหนังสือคนเดียวในกุฏิ นิ่งจนรู้สึกว่าที่เห็นในจอคนละเตเต้แล้ว ท่านชมด้วยความภูมิใจว่า สามเณรเตเต้เวลาอยู่ในกุฏิน่ารักมาก สองพี่น้องอยู่กับสามเณรวินวิน วันหนึ่งนอนคุยกันเรื่องสัตว์ คุยกันแบบคนมีความรู้เรื่องสัตว์น่าทึ่งมาก ท่านยังไม่เคยได้ยินเลย สามเณรวินวินนอนฟังสามเณรเตเต้พูดตาค้างเลย เชื่อหรือไม่เชื่อไม่รู้แต่ต้องยอมเรื่องสัตว์

สามเณรเตเต้เป็นคนที่สังเกตคนและเป็นคนฉลาดมาก รู้จักเข้าหาคน ถ้าพระอาจารย์รูปไหนแสดงอาการดุ แล้วดุเขาหน่อย สามเณรเตเต้จะถอยห่างทันทีแล้วบอกว่า ผมไม่อยากคุยด้วย พอเริ่มเข้ารายการออกอากาศสักพักก็จะมาชวนพระอาจารย์ฝึกสติ มีครั้งหนึ่งตะโกนออกอากาศพระอาจารย์ใจร้าย พูดถึงเตเต้เวลาดีก็ดีน่าใจหาย เวลาร้ายก็ร้ายน่าใจหายเหมือนกัน

วันหนึ่งพระอาจารย์รูปหนึ่งขัดใจเขา เขาก็ประกาศเสียงดังเลย เต้จะยึดวัดแล้วไล่พระอาจารย์ทุกรูปออกจากวัดเลย

อีกครั้งหนึ่งพระอาจารย์รูปหนึ่งจับสามเณรเตเต้ไปไว้ที่เขตพิทักษ์ตน สามเณรเตเต้ก็ชี้นิ้วมาที่เพื่อนๆสามเณรที่กำลังเล่นเกมแล้วก็พูดว่า ปัญญาอ่อน ปัญญาอ่อน ปัญญาอ่อน ไล่ไปจนครบ จนมาถึงพระอาจารย์รูปนั้น ซึ่งก็ยืนมองอยู่ สามเณรเตเต้ก็ชี้นิ้วมาแล้วก็พูดว่า ปัญญาอ่อน เน้นเสียงด้วยนะ

พระอาจารย์ท่านก็ได้แต่ขำสามเณรเตเต้ แต่ก็เข้าใจ จนเป็นตำนานเล่าขานในหมู่พระวิทยากร และพระอาจารย์พี่เลี้ยงว่า รู้จักสามเณรเตเต้น้อยไป แต่ไม่ใช่เขาจะเป็นอย่างนี้ทุกช่วงนะ เขาเป็นสักพักพออารมณ์ปกติก็ดีเกินคาด ถ้าถามอะไรแล้วไม่ตอบ ใครๆ ก็อย่าไปยุ่ง

           แต่หลังจากออกธุดงค์ คำพูดการกระทำต่างๆ ของเขาก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก สงบนิ่งมาก ผิดจากก่อนหน้านั้น สามวันดีสี่วันร้าย จนคณะพระอาจารย์หลายรูปพูดกันว่า “เณรปีนี้ บ่ไปบ่มา” หมายถึงว่าจะพัฒนาตัวดีขึ้นไปเลยก็ไม่ใช่ จะบอกว่าพัฒนาไม่ได้หรือไม่ดีเลยก็ไม่ใช่ เดี่ยวดีเดียวร้ายทำนองนั้น อารมณ์ขึ้นลงบ่อย

           ขอนำบทสรุปซึ่งทีมงานโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมได้รวบรวมข้อมูล จากบทสนทนาของพระครูสุนทรธรรมพาที พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี (พระอาจารย์องค์ม่อน) และพระครูปลัดทรัพย์ชู  มหาวีโร รวมถึงคณะพระอาจารย์พี่เลี้ยง ที่พูดถึงสามเณรเตเต้ว่า   

สามเณรเตเต้ สามเณรที่สอนให้รู้ว่า “อย่าตัดสินคนที่ภายนอก”

 พระอาจารย์ชี้ว่า สามเณรคือตัวอย่างชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่า

“พระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนชีวิตได้จริงๆ”

จากสามเณรที่ทำให้ทั้งคณะพระอาจารย์ และญาติโยมลุ้นมากที่สุด แต่ในวันลาสิกขา ท่านสำรวมงดงาม สมกับเป็นสมณเพศ

ท่านมีพัฒนาการในเรื่องของ การเคารพกติกามากขึ้น เชื่อฟังพระอาจารย์ สำรวมกายวาจาได้งดงาม จากเดิมอารมณ์ร้อน โมโหร้าย ไม่เคารพกติกา แย่งเพื่อนในการตอบ ทำร้ายเพื่อนเมื่อโดนล้อ แต่เมื่อพระอาจารย์ได้ทำความรู้จักที่มาและตัวตนของท่านจริง ๆ ก็พบว่า เกิดการการโหยหาความรัก ต้องการให้คนมารัก

พระอาจารย์จึงเริ่มสอนให้สามเณรเตเต้ลดการคาดหวังความรักจากผู้อื่น แต่รู้จักรักตนในทางที่ถูกที่ควรจนใจเต็ม และเติมเต็มความรักตนออกสู่สรรพสิ่งรอบตัว เพราะท่านเป็นคนจิตใจดี มีพื้นฐานการรักสัตว์ รักธรรมชาติ และเป็นคนจริง กล้าหาญที่จะขออภัย แม้ตนไม่ผิดก็ตามเพียงเพื่อรักษามิตรภาพฉันเพื่อน

ในการขัดเกลาสามเณรเตเต้นั้น ต้องใช้หลากหลายด้าน พระอาจารย์ไม่ได้ทำตนเป็นแค่ครูบาอาจารย์ แต่ต้องเป็นทั้งเพื่อน ทั้งพ่อแม่ ฟังท่าน แทนที่จะพูดพร่ำสอนหรือทำโทษท่านอย่างเดียว
       พระอาจารย์ทรัพย์ชูพบว่า เมื่อท่านเริ่มทำตนเป็นเพื่อน คุยเรื่องกบเรื่องเขียด สามเณรเริ่มเปิดใจให้ท่านมากขึ้น และพระอาจารย์สามารถสอดแทรกคำสอนธรรมะผ่านธรรมชาติรอบตัวซึ่งสามเณรสนใจอยู่แล้ว ทำให้สามเณรเตเต้เชื่อฟังพระอาจารย์ทรัพย์ชูมากขึ้น และเริ่มเรียนรู้การเป็นผู้ให้ ไม่รอแต่ความรักจากผู้อื่น แต่นำความรักตนไปมอบให้ผู้อื่น

ชัดเจนคือ สามเณรเตเต้เป็นท่านแรกที่รีบลุกไปพยุงโยมวิทยากร อาจารย์ชลิต ที่เจ็บขา และคอยเช็ดเหงื่อให้ท่าน นับเป็นตัวอย่างชัดเจนของการเรียนรู้การเป็นผู้ให้

ขอขอบคุณ ภาพจาก fb พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปีที่ ๖
ขอขอบคุณ ภาพจาก fb พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท โครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรม ปีที่ ๖

สามเณรเตเต้รักการอ่านในใจมาก หนังสือคือโลกส่วนตัว เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยของท่าน ท่านรู้จักการใช้คำศัพท์สูง ๆ เช่น สิริมงคล จนพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี ท่านทึ่งว่า อายุแค่นี้ สามารถรู้ศัพท์นี้ แสดงว่าอ่านมาเยอะ แต่ท่านไม่เคยอวดตนเลย

พระอาจารย์ว. วชิรเมธี

แม้ว่า จิตท่านอาจจะมีรุ่งมีร่วงบ้าง ยังไม่สม่ำเสมอ แต่ธรรมชาติของจิตก็มีรุ่งและร่วง ขึ้นกับสามเณรเตเต้จะมีสติตามรู้ตามดูทันหรือไม่ ซึ่งต่อจากนี้ ท่านจะไปปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์ทรัพย์ชูในยามว่าง และได้ชวนสามเณรนะโมไปด้วย ก็เป็นโอกาสอันดีที่ท่านจะมีครูบาอาจารย์ คอยสอนให้มีสติตามรู้ตามดูได้บ่อยครั้งขึ้น สาธุ

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน


กระบวนการของการเรียนรู้จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยคำว่า “ให้ความรัก ก่อนให้ความรู้” ทำให้เขามีความรู้สึกว่า อบอุ่นและปลอดภัยเมื่อได้อยู่ใกล้ๆ เรา ให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็นนั่นแหละ เรามาทำความรู้จักเขาด้วยความเข้าใจ
           ในเมื่อเราต้องการจะสอนใครสักคน ถ้าเรายังไม่รู้จักเขาเลย ก็ยากที่จะทำให้เขาเชื่อและปฏิบัติตาม เมื่อเขามีศรัทธาต่อเรา คำว่าครูจึงเริ่มมีความหมาย ความเกรงใจ ความเคารพ ความพร้อมในการปฏิบัติตามคำสอนจึงจะเกิดขึ้น

ขออนุโมทนาและขอบคุณสามเณรเตเต้ ที่เป็นครูในการสอนญาติโยมให้รู้จักคำว่า อย่าดูถูกคนหรือมองคนแค่ภายนอก รวมถึง เป็นตัวอย่างของคำว่า ธรรมะเปลี่ยนคนได้จริง

หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here