ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน

คำปรารภ

หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหา ก่อนอ่านความเป็นมาของพระอภิธรรม

จึงขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ความเป็นมาของพระอภิธรรม มีเนื้อความตรงตามชื่อ มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรม เป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย

ผู้ที่มีความสนใจข้อธรรมในพระอภิธรรมที่ละเอียดลงไป ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้จากคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วไป

เนื่องจากพระอภิธรรมมีความละเอียดประณีตยิ่ง มีนัยหลากหลาย ไม่สิ้นสุด บางกรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของ และภาษาในสมัย เทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่มีความละเอียดยิ่งนั้น ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กรณีดังกล่าว มิใช่การนำข้อความเข้าไปปลอมปนในพระอภิธรรม เพราะมิได้มุ่งอธิบายข้อธรรมในพระอภิธรรม ดังกล่าวแล้ว หากแต่เห็นว่า การยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของก็ดี การใช้ภาษาในสมัยก็ดี เป็นวิธีที่พอจะสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาที่แตกต่างกัน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสถานะ

ด้วยห้วงเวลานั้น ทุกคนล้วนมีจิต ละเอียด เป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรมที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

กาลนั้น จึงนับได้ว่า เป็นมงคลกาล เหมาะแก่การฟังธรรมที่ละเอียด

ขออนุโมทนาขอบคุณพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร., คุณมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และคุณวันทนี เจริญวานิช ที่รับเป็นภาระธุระในการจัดพิมพ์ จนหนังสือสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ดีงาม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น แผ่ไพศาลแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา

พระราชกิจจาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "ธรรมโอสถ" โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๕ (วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙) - ๑๒๙๘ (วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐) เป็นธรรมทาน
ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๕ (วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙) – ๑๒๙๘ (วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐) เป็นธรรมทาน

ออกพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

บทที่ ๑๑ (ตอนที่ ๑๒)

คัมภีร์ที่ ๓ ธาตุกถา

: อธิบายเรื่องธาตุและนัยของธาตุ

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

คัมภีร์ที่ ๓ ธาตุกถา

อธิบายเรื่องธาตุและนัยของธาตุ

คัมภีร์ธาตุกถา เป็นคัมภีร์ที่ ๓ ของพระอภิธรรมปิฎก คำว่า ธาตุ แปลว่า สิ่งที่ทรงสภาพของตนตามธรรมชาติ เช่น ดินมีคุณสมบัติเป็นความแข็งย่อมทรงสภาพความแข็งของตนตามธรรมชาติ น้ำมีคุณสมบัติเป็นความเหลว ย่อมทรงสภาพความเหลวของตนตามธรรมชาติ ไฟมีคุณสมบัติเป็นความร้อน ย่อมทรงสภาพความร้อนของตนตามธรรมชาติ ลมมีคุณคุณสมบัติเคลื่อนไหวไม่หยุด ย่อมทรงสภาพความเคลื่อนไหวของตนตามธรรมชาติ แม้การเจริญเติบโตของอวัยวะมนุษย์ การแตกกิ่ง ผลิบานของมวลดอกไม้ ก็มีการเคลื่อนไหวของลมอยู่ภายใน

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ธาตุตามคัมภีร์ธาตุกถามี ๓ หมวด คือ

๑. ธาตุ ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

๒. ธาตุ ๖ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ

๓. ธาตุ ๑๘ ได้แก่ จักขุธาตุ (ธาตุคือตา) รูปธาตุ (ธาตุคือรูป) จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุคือการรับรู้ทางตา) โสตธาตุ (ธาตุคือหู) สัททธาตุ (ธาตุคือเสียง) โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุคือการรับรู้ทางหู) ฆานธาตุ (ธาตุคือจมูก) คันธธาตุ (ธาตุคือกลิ่น) ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุคือการรับรู้ทางจมูก) ชิวหาธาตุ (ธาตุคือลิ้น) รสธาตุ (ธาตุคือรส)  ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุคือการรับรู้ทางลิ้น) กายธาตุ (ธาตุคือกาย) โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุคือการสัมผัส) กายวิญญาณธาตุ (ธาตุคือการสัมผัสทางกาย) มโนธาตุ (ธาตุคือใจ) ธัมมธาตุ (ธาตุคือธรรมที่ปรากฏทางใจ) มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุคือการรับรู้ทางใจ)

ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
ภาพประกอบลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

เนื้อหาในคัมภีร์ธาตุกถา มีธรรม ๓ หมวดใหญ่ คือ

๑. ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ (แยกรูปกับนามในมิติของขันธ์)

๒. อายตนะ ๑๒ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก ๖ คือ รูป  เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ (แยกรูปกับนามในมิติของอายตนะ)

๓. ธาตุ ๑๘ มีจักขุธาตุ ธาตุคือตา รูปธาตุ ธาตุคือรูป และ จักขุวิญญาณธาตุ ธาตุคือการรับรู้ทางตา เป็นต้น (แยกรูปกับนามในมิติของธาตุ)

คัมภีร์ธาตุกถาทำหน้าที่อธิบายว่า ธรรมข้อใดตามที่แจกแจงไว้แล้วในธัมมสังคณี และวิภังค์ สามารถสงเคราะห์(สังคโห)เข้ากันได้หรือสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้(อสังคโห)กับขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ นี้ เนื้อหาธาตุกถาจึงเป็นเหมือนการทบทวนซักซ้อมทำความเข้าใจสภาวธรรมว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ตามที่อธิบายไว้แล้วในคัมภีร์ธัมมสังคณีและคัมภีร์วิภังค์นั่นเอง

วิธีอธิบายหัวข้อธรรมในธาตุกถา

พระพุทธองค์ทรงใช้เวลา ๖ วันในการแสดงธาตุกถา โดยใช้วิธีการอธิบาย ๒ แบบ คือ ตั้งหัวข้อ(มาติกา) ไว้ แล้วอธิบาย(นิเทศ)ไปตามหัวข้อที่ตั้งไว้

สำหรับหัวข้อที่ตั้งไว้ประกอบด้วยมาติกา ๕ ได้แก่

(๑) นยมาติกา คือ การแจกแจงหัวข้อธรรม ตามนัยแห่งขันธ์ ๕  อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่า สภาวธรรมที่สงเคราะห์เข้ากันได้กับขันธ์ อายตนะ และธาตุ มีเท่าไร หรือที่สงเคราะห์เข้ากันไม่ได้ มีเท่าไร เรียกว่า “สังคหาสังคหนัย” (นัยที่สงเคราะห์เข้ากันได้และสงเคราะห์เข้ากันไม่ได้)  หรือ “มูลมาติกา” (หัวข้อหลัก) ก็ได้ โดยนยมาติกานี้จำแนกหัวข้อแสดงเป็น ๑๔ นัย ดังนี้

๑. สงฺคโห อสงฺคโห แปลว่า ธรรมสงเคราะห์ได้ ธรรมสงเคราะห์ไม่ได้

๒. สงฺคหิเตน อสงฺคหิตํ แปลว่า ธรรมสงเคราะห์ไม่ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ได้

๓. อสงฺคหิเตน สงฺคหิตํ แปลว่า ธรรมสงเคราะห์ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้

๔. สงฺคหิเตน สงฺคหิตํ แปลว่า ธรรมที่สงเคราะห์ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ได้

๕. อสงฺคหิเตน อสงฺคหิตํ แปลว่า ธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้

๖. สมฺปโยโค วิปฺปโยโค แปลว่า ธรรมที่ประกอบด้วย ธรรมที่ไม่ประกอบกัน

๗. สมฺปยุตฺเตน วิปฺปยุตฺตํ แปลว่า ธรรมที่วิปปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สัมปยุตกัน

๘. วิปฺปยุตฺเตน สมฺปยุตฺตํ แปลว่า ธรรมที่สัมปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่วิปปยุตกัน

๙. สมฺปยุตฺเตน สมฺปยุตฺตํ แปลว่า ธรรมที่สัมปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สัมปยุตกัน

๑๐. วิปฺปยุตฺเตน วิปฺปยุตฺตํ แปลว่า ธรรมที่วิปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่วิปยุตกัน

๑๑. สงฺคหิเตน สมฺปยุตฺตํ วิปฺปยุตฺตํ แปลว่า ธรรมที่สัมปยุตกันได้ ธรรมที่วิปปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สงเคราะห์กัน

๑๓. สมฺปยุตฺเตน สงฺคหิตํ อสงฺหิตํ ซึ่งแปลว่า ธรรมที่สงเคราะห์กันได้ ธรรมที่สงเคราะห์กันไม่ได้ ด้วยธรรมที่สัมปยุตกัน

๑๔. อสงฺคหิเตน สมฺปยุตฺตํ วิปฺปยุตฺตํ ซึ่งแปลว่า ธรรมที่สัมปยุตกัน ธรรมที่วิปปยุตกันได้ ด้วยธรรมที่สังเคราะห์กันได้ไม่ได้

๑๕. วิปฺปยุตฺเตน สงฺคหิตํ อสงฺคหิตํ ซึ่งแปลว่า ธรรมที่สงเคราะห์กันได้ ธรรมที่สงเคราะห์กันไม่ได้ ด้วยธรรมที่วิปปยุตกัน

(๒) อัพภันตรมาติกา ได้แก่ หัวข้อธรรม(มาติกา)ที่ยกขึ้นมาแจกแจงในธาตุกถา คือ ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒ , ธาตุ ๑๘, สัจจะ ๔, อินทรีย์๒๒, ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ , สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปธาน ๔ , อิทธิบาท ๔, ฌาน ๔, อัปปมัญญา ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗, อริยมัคคมีองค์ ๘, ผัสสะ, เวทนา, สัญญา, เจตนา, จิต, อธิโมกข์, มนสิการ รวมแล้วได้ข้อธรรม ๑๒๕ บท

หากแยกหัวข้อธรรมเป็นบท รูป นับเป็นบทหนึ่ง เวทนาเป็นบทหนึ่ง สัญญาเป็นบทหนึ่ง สังขารเป็นบทหนึ่ง วิญญาณ เป็นบทหนึ่ง จักขุ(ตา)เป็นบทหนึ่ง โสตะ(หู)เป็นบทหนึ่ง  ฆานะ(จมูก) เป็นบทหนึ่ง ชิวหา(ลิ้น) เป็นบทหนึ่ง เป็นต้น

(๓) นยมุขมาติกา คือ มาติกาที่ทรงแสดงวิธีอธิบายธรรม ๒ อย่าง โดยทรงวางหลักในการถามให้เหมาะสมแก่นัยทั้ง ๑๔ เช่น นัยที่ทรงแสดงการสงเคราะห์ได้โดยขันธ์ อายตนะ ธาตุ นัยที่ทรงแสดงการสงเคราะห์ไม่ได้โดยขันธ์ อายตนะ ธาตุ นัยที่ทรงแสดงสภาวธรรมที่ประกอบด้วยนามขันธ์ ๔ ได้(สัมปยุตต์) และนัยที่ทรงแสดงสภาวธรรมที่ประกอบด้วยนามขันธ์ ๔ ไม่ได้(วิปปยุตต์) เป็นต้น

(๔) ลักขณมาติกา คือ มาติกาที่แสดงสภาวธรรมที่เสมอกัน(สภาคะกัน) และสภาวธรรมที่ไม่เสมอกัน(เป็นวิสภาคะกัน)

(๕) พาหิรมาติกา คือ มาติกานอกเหนือจากหัวข้อธรรมในอัพภันตรมาติกาแห่งธาตุกถาทั้ง ๑๒๕ บทนั้น ซึ่งหมายถึง หัวข้อธรรมในธรรมสังคณี มีกุศล อกุศล และอัพยากฤต เป็นต้น  แต่ยกมาอธิบายตามแนวธาตุกถาด้วย จึงเรียกว่า “พาหิรมาติกา” แปลว่า หัวข้อภายนอก

อรรถกถาได้อธิบายวิธีการรวมธรรมเข้าด้วยกัน(สงเคราะห์ธรรมเข้ากัน) ว่า มี ๔ วิธี  คือ

๑. รวมโดยชาติ คือ การสงเคราะห์เข้ากันโดยความเป็นธรรมชนิดเดียวกัน เช่น สัมมาวาจา(วาจาชอบ) สัมมากัมมันตะ(การงานชอบ) สัมมาอาชีวะ(อาชีพชอบ) จัดเป็นกลุ่มศีล (ศีลขันธ์) เพราะเป็นเรื่องการกระทำเหมือนกัน จึงเป็นเรื่องของศีล

๒. รวมโดยสัญชาติ  คือ เกิดเหมือนกัน จึงรวมเข้าไว้ด้วยกัน เป็นการสงเคราะห์โดยการเกิด เช่น สัมมาวายามะ(ความพยายามชอบ) สัมมาสติ (สติชอบ) สัมมาสมาธิ(สมาธิชอบ) จัดเป็นกลุ่มสมาธิขันธ์  เพราะเมื่อเกิดก็เกิดด้วยจิตเป็นสมาธิเหมือนกัน

๓. รวมโดยกิริยา คือ ทำหน้าที่เหมือนกัน ก็สงเคราะห์เข้าเป็นหมวดเดียวกัน เช่น  สัมมาทิฐิ สัมมาสัมมากัปปะ จัดเป็นกลุ่มปัญญา(ปัญญาขันธ์) เพราะทำหน้าที่ของปัญญา คือ ใช้ความคิด ใช้ปัญญาเหมือนกัน

๔. รวมโดยคณนสังคหะ คือ นับอยู่ในจำนวนเดียวกัน หรือ นับอยู่ในประเภทเดียวกัน ก็นับสงเคราะห์ว่า เป็นธรรมประเภทเดียวกัน เช่น อายตนะคือตา เมื่อจัดเข้าขันธ์ ๕ ก็นับเข้าในรูปขันธ์ เป็นต้น

ธาตุกถา เป็นคัมภีร์ที่มีเนื้อหาไม่ยาวนัก เหมือนเป็นการทบทวนซักซ้อมทำความเข้าใจในรูปนามอีกครั้ง จัดเป็นตอนๆ ได้เพียง ๖ ภาณวาร (ภณวาร หมายถึง แบ่งเป็นบทๆ แบ่งเป็นวารๆ แบ่งการสวดออกเป็นตอนๆ ขณะที่คัมภีร์ที่ ๑ มี ๑๓ ภาณวาร และที่ ๒ มี ๓๕ ภาณวาร

อย่างไรก็ตาม คัมภีร์พระอภิธรรมทุกคัมภีร์ แม้จะสั้นยาวต่างกัน ล้วนมีความละเอียดลึกซึ้งทุกคัมภีร์ หากจะแสดงเนื้อความแต่ละคัมภีร์ให้มีนัยที่ละเอียดจริงๆ ย่อมแสดงได้โดยนัยหาที่สุดไม่ได้ หาประมาณไม่ได้ สำหรับอรรถกถา ซึ่งอธิบายคัมภีร์ธาตุกถาให้เข้าใจง่ายขึ้นนั้น  มีชื่อว่า “ปรมัตถทีปนี” ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากคัมภีร์นี้

โดยสรุป คัมภีร์ธาตุกถายังอยู่กับการทำความเข้าใจสรรพสิ่งซึ่งทรงสภาวะตามธรรมชาติเป็น “รูป” กับ “นาม” แต่ในคัมภีร์นี้ได้แตกรูปนามละเอียดลงไปอีก ให้เห็นสภาวะธรรมชาติที่  เรียกว่า “ธาตุ”

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงเรื่องธาตุไว้ เพื่อประกาศความแตกต่างกันแห่งธาตุทั้งหลาย มีจุดประสงค์เพื่อให้รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของธาตุ เมื่อไม่รู้ธรรมชาติที่แท้จริงของธาตุ ผู้คนจึงยึดมั่นในตัวตน ในชาติกำเนิด โคตรตระกูล  เพราะยึดมั่นในตัวตน จึงติดข้องในภพชาติ และวนเวียนอยู่ในวัฏจักรแห่งทุกข์

ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตอนที่ ๑๒ คัมภีร์ที่ ๓ ธาตุกถา : อธิบายเรื่องธาตุและนัยของธาตุ จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๖ วันที่ ๒๐-๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐
ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตอนที่ ๑๒ คัมภีร์ที่ ๓ ธาตุกถา : อธิบายเรื่องธาตุและนัยของธาตุ จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๖ วันที่ ๒๐-๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)  จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๑ จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here