ขอเชิญร่วมพิธีถวายกฐินอุทิศผู้มีพระคุณ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
นำคณะศรัทธาโดย ครอบครัวสังฆะพัฒน์
ทอดถวาย ณ วัดสุวรรณรังษี บ้านนาทอง ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
วันที่ ๒๐,๒๑,๒๒ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

ด้วยระลึกถึงพระคุณของบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณทั้งหมดที่ได้อุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนจนเติบใหญ่เป็นผู้เป็นคนพอดีพอได้ ไม่เป็นภาระของสังคมจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้งกาลเวลา ที่ผู้มีพระคุณทั้งหลายได้ลาลับเดินทางไปสู่สัมปรายภพก็นับเป็นเวลาหลายปีแล้ว สมควรที่ผู้เป็นลูก เป็นหลานผู้เติบใหญ่ในภายหลังจักได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างกองบุญกฐินซึ่งเป็นกาลทานปีหนึ่งถวายแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาในอารามหนึ่งได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น จึงนับเป็นกองบุญที่ยิ่งใหญ่

เพื่อจะได้ประมวลกุศลผลบุญทั้งหมดอุทิศแด่บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ละโลกนี้ไปแล้ว ให้ได้รับกองบุญกองกุศลนี้แล้วเป็นผู้พ้นจากทุกข์พ้นจากอบายภูมิได้เสวยทิพยสมบัติในทิพยวิมาน ตราบเท่าเข้าสู่ พระนิพพานเป็นที่สุด แล้วอนุโมทนากองบุญกองกุศลแห่งกฐินทานนี้ที่บรรดาลูกหลานได้บำเพ็ญและอุทิศ ให้แล้วนั้น พลันดลบันดาลให้ลูกหลานทั้งหมดได้เป็นผู้ปราศจากทุกข์ โศก โรค ภัย เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง พรั่งพร้อมด้วยปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ประสบสิ่งอันพึงปรารถนา ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ

ผู้มีพระคุณเพื่ออุทิศส่วนกุศล ประกอบด้วย
๑. พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระครูโพธิบุญวัฒน์ อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณรังษี บ้านนาทอง
๒. พ่อใหญ่ ชาดี ศรีโคตรจันทร์
๓. แม่ใหญ่ บุตร ศรีโคตรจันทร์
๔. พ่อใหญ่ คำพันธ์ ดวงทิพย์จันทร์
๕. พ่อเคน สังฆะพัฒน์
๖. แม่ถิน สังฆะพัฒน์ (แม่เป)
๗. พ่อเขียว ศรีโคตรจันทร์
๘. พ่อสี ศรีโคตรจันทร์
๙. พ่อสมร สีหาไว
๑๐. แม่เปลี่ยน สีหาไว
๑๑. พ่อสุพรม สีหาไว
๑๒. นายทองสุข สีอุดทา
๑๓. เด็กชายจิรเดช เนื่องชมภู

รายนามเจ้าภาพกฐินอุทิศผู้มีพระคุณ  ประกอบด้วย

คณะศรัทธาที่ ๑ พระอาจารย์มหาสังคม สังฆะพัฒน์ (ญาณวัฑฒโน)
คณะศรัทธาที่ ๒ ครอบครัวสังฆะพัฒน์ บ้านนาทอง นำโดย
๑. นางบานเย็น สังฆะพัฒน์ ๒. นางสบาย สังฆะพัฒน์
๓. นายทองสุข สังฆะพัฒน์ ๔. นางพนม สังฆะพัฒน์
๕. พระอาจารย์มหาสังคม สังฆะพัฒน์ (ญาณวัฑฒโน) ๖. นายวสุ สังฆะพัฒน์
คณะศรัทธาที่ ๓ ครอบครัวสังฆะพัฒน์ บ้านหนองโก ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย
คณะศรัทธาที่ ๔ นำโดย
๑. ครอบครัวพ่อสูรย์ แม่นาง สีพาชัย
๒. ครอบครัวพ่อบุญช่วย แม่ปาง เดชยศดี
๓. ครอบครัวแม่หนูบาง ดวงทิพย์จันทร์
คณะศรัทธาที่ ๕ ครอบครัวศรีโคตรจันทร์ บ้านหนองบุญชู นำโดย ร.ต.ต.สุนันท์ นางสุภารีย์
วงศ์จันทร์
คณะศรัทธาที่ ๖ ครอบครัวศรีโคตรจันทร์ บ้านสร้างแก้ว นำโดย แม่สี ศรีโคตรจันทร์
คณะศรัทธาที่ ๗ ครอบครัวสีหาไว บ้านหนองบุญชู นำโดย ส.อบต.ทองม้วน สีหาไว
คณะศรัทธาที่ ๘ ครอบครัวแม่แพน สีหาไว

กำหนดการ
งานกฐินอุทิศผู้มีพระคุณ โดย ครอบครัวสังฆะพัฒน์ และคณะศรัทธาญาติพี่น้อง ปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
ทอดถวาย ณ วัดสุวรรณรังษี บ้านนาทอง ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
วันที่ ๒๐, ๒๑, ๒๒ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖


วันจันทร์ที่ ๒๐ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๒) พิธีเถราภิเษก (หดสรง)

เวลา ๐๗.๐๐ น. – ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดสุวรรณรังษี
เวลา ๐๘.๐๐ น. – จัดขบวนแห่พระสงฆ์ที่จะประกอบพิธีเถราภิเษกจำนวน ๔ รูป ณ ศาลาการเปรียญ
วัดสุวรรณรังษี แห่รอบหมู่บ้านนาทอง
เวลา ๐๙.๐๐ น. – ขบวนแห่เข้าสู่วัดสุวรรณรังษี แห่รอบอุโบสถและศาลาการเปรียญ ครบ ๓ รอบ

  • นำพระที่จะเถราภิเษกลงจากรถยนต์ นิมนต์ขึ้นเสลี่ยงแห่รอบมณฑลพิธี ๓ รอบ
  • ประกอบพิธีเถราภิเษก (พระสงฆ์ในมณฑลพิธีเจริญชัยมงคลคาถา)
  • ถวายผ้าไตรจีวรใหม่ / พระเถราภิเษกนุ่งห่มจีวรใหม่
  • ประธานสงฆ์นำพระเถราภิเษกขึ้นสู่ศาลาการเปรียญ
  • จุดธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัย
  • พระเถราภิเษกจุดเทียนที่หน้ากองอัฐบริขาร (กองเม็ง)
  • พิธีกรอาราธนาศีล / ประธานสงฆ์ให้ศีล จบแล้ว
  • พิธีกรอาราธนาพระปริตร / พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว
  • ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
  • ถวายเครื่องอัฐบริขารแก่พระเถราภิเษก
  • พระสงฆ์ทั้งนั้น อนุโมทนา / กรวดน้ำ รับพร
  • พิธีบายศรีสู่ขวัญพระเถราภิเษก
  • เป็นเสร็จพิธี –
    เวลา ๑๑.๐๐ น. – ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดสุวรรณรังษี

วันอังคารที่ ๒๑ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๒) เป็นวันรวม

เวลา ๐๗.๐๐ น. – ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดสุวรรณรังษี
เวลา ๐๘.๐๐ น. เป็นต้นไป – ตั้งกองกฐิน ณ บ้านเลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๓ บ้านนาทอง
เวลา ๑๑.๐๐ น. – ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ณ บ้านเลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๓ บ้านนาทอง
เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. – ฟังพระธรรมเทศนา ๓ ธรรมาสน์ หรือแสดงพระธรรมเทศนา
ปุจฉา – วิสัชนา ๒ ธรรมาสน์
พระเทศปุจฉาวิสัชนา โดย
พระมหาเศรษฐา เสฏฺฐมโน ดร,ป.ธ.๙ รองเจ้าคณะอำเภอห้วยเม็ก เจ้าอาวาสวัดนางนวล

พระมหาภัศดา พรหมทสฺสี ป.ธ.๖ เลขานุการรองเจ้าคณะอำเภอเมืองมหาสารคาม วัดขุนพรหมดำริ
แล้วแต่ความเหมาะสมแก่กรณี
เวลา ๑๖.๓๐ น. – จัดขบวนแห่กฐินจากบ้านเลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๓ รอบหมู่บ้านนาทอง
เวลา ๑๘.๐๐ น. – ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชองค์กฐิน ณ บ้านเลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๓ จบแล้ว

  • คณะเจ้าภาพ ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
  • พระสงฆ์ทั้งนั้น อนุโมทนา / กรวดน้ำ รับพร
    เวลา ๒๑.๐๐ น. – มหรสพ (หมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น คณะระเบียบวาทะศิลป์)
    ทำการแสดงสมโภชองค์กฐิน ณ ลานวัดสุวรรณรังษี

วันพุธที่ ๒๒ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒) เป็นวันทอดถวาย

เวลา ๐๗.๐๐ น. – ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ ณ บ้านเลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๓
เวลา ๐๘.๓๐ น. – แห่องค์กฐินจากบ้านเลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๓ ออกมาสู่วัดสุวรรณรังษี
เวลา ๐๙.๐๐ น. – ประกอบพิธีถวายองค์กฐิน ณ ศาลาการเปรียญวัดสุวรรณรังษี

  • พระสงฆ์สวดอปโลกน์กฐิน, สวดถวายองค์กฐิน
  • คณะเจ้าภาพถวายเครื่องบริวารกฐิน และเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
  • พระสงฆ์ทั้งนั้น อนุโมทนา / กรวดน้ำ รับพร / เป็นเสร็จพิธี
    เวลา ๑๑.๐๐ น. – ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดสุวรรณรังษี
    เวลา ๑๒.๐๐ น. – แขกผู้มีเกียรติ รับประทานอาหาร ณ บ้านเลขที่ ๗๐ หมู่ที่ ๓ บ้านนาทอง
    เวลา ๑๓.๐๐ น. – แขกผู้มีเกียรติ เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ

วัดสุวรรณรังษี ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านนาทอง ตำบลนาทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ตั้งขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๖๑ เป็นวัดเก่าประมาณร้อยปีกว่าแล้ว ชาวบ้านเรียกว่าวัดนาทอง ชื่อเดิมวัดบ้านนาค้อ ปัจจุบันเจ้าอาวาสคือ พระครูโพธิบุญวัฒน์ รองเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม รูปที่ ๒ มีปูชณียวัตถุ พระพุทธรูป ๕ องค์ ปางมารวิชัย ปางสมาธิ และปางนาควิชัย สร้างด้วยทองสัมริด ๑ องค์ และทองเหลือง ๔ องค์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และเป็นที่ตั้งของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๘ เป็นต้นมา (ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เว็บไซต์ m-culture.in.th)

ประวัติความเป็นมา “การทอดกฐิน” พอสังเขป

การทอดกฐิน หรือการถวายผ้ากฐินเป็นกาลทาน เป็นการถวายทานที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ชื่อ มหาวัคค์ เรื่อง กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน) ว่า

ครั้งหนึ่งมีภิกษุชาวเมืองปาฐา หรือปาวา จำนวน ๓๐ รูป ที่เดินทางมาด้วยหวังจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี พอถึงเมืองสาเกตุอีก ๖ โยชน์จะถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงกาลเข้าพรรษา จึงต้องอยู่จำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ในระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นก็มีความกระวนกระวายในการอยากจะเข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค ครั้นเมื่อออกพรรษา ก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีเพื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคทันที ทำให้น้ำหรือโคลนตมเปรอะเปื้อนจีวรในระหว่างเดินทาง เมื่อภิกษุเหล่านั้นได้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ ทรงปฏิสันถารด้วยภิกษุเหล่านั้น และทรงทราบถึงความลำบากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น จึงทรงยกเป็นเหตุมีพระพุทธานุญาตให้กรานกฐิน และโปรดให้เป็นการสงฆ์ คือเป็นสังฆกรรมสำหรับภิกษุทั้งหลายทั่วไป ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วหนึ่งเดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เว็บไซต์ katin.dra.go.th )

คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน

การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

ผ้ากฐิน โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้

การทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น (ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เว็บไซต์ dhammathai.org)

การทอดกฐินถือเป็นอานิสงส์ทั้งผู้ถวายและภิกษุผู้รับถวาย ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ มีดังนี้

๑.ชื่อได้ว่าถวายทานภายในเวลากำหนดที่เรียกว่ากาลทาน คือ ในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา ๑ เดือนเท่านั้นในข้อถวายทานตามกาลนี้มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ใดให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นของผู้นั้นย่อมสำเร็จได้

  ๒.ชื่อได้ว่าสงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ

๓.ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีแก่ประชาชนสืบไป

๔.จิตใจของผู้ทอดกฐิน ๓ กาล คือ ก่อนทอด หรือกำลังทอดและทอดแล้วที่เลื่อมใสในศรัทธาและปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตใจเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ

๕.การทอดกฐินทำให้เกิดความสามัคคีธรรม คือ การร่วมมือร่วมกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วยแล้วย่อมเป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุศาสนสถานให้ยั่งยืนสืบไป

     ในส่วนของภิกษุนั้นจะได้รับอานิสงส์ คือ การละเว้นไม่ต้องโทษ ๕ ประการตลอดฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน เดือน ๑๒ จนถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ได้แก่

๑.ภิกษุสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยไม่ต้องบอกพระอุปัชฌาย์ หรือเจ้าอาวาสก่อน

๒.ภิกษุจากริกไปโดยไม่ต้องนำจีวรไปครบสำรับ    

๓.ฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้

     ๔.เก็บจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

     ๕.ภิกษุที่ไม่ได้รับผ้ากฐิน สามรถแสวงหาผ้าเพื่อมาแทนของเก่าที่ชำรุดได้ ภายในระยะเวลา ๔ เดือน ตลอดฤดูหนาว (ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เว็บไซต์ culture.go.th)

เล่าเรื่องบุญกฐินอุทิศแด่ผู้มีพระคุณ ที่วัดบ้านนาทอง (วัดสุวรรณรังษี) จังหวัดมหาสารคาม

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here