เรื่องราวของเณรน้อยผู้ช่วยให้พ่อแม่คืนดีกัน โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

0
1616

ตามรอยสามเณรน้อยร่าเริง ผู้ทำให้เพื่อนและพระอาจารย์หัวเราะมีความสุข  ใครจะรู้ว่า ท่านซ่อนทุกข์ผูกเป็นเงื่อนปมอยู่ในใจ  ธรรมะข้อไหนจึงจะเยียวยาหัวใจดวงน้อยๆ นี้ได้

รื่องราวของเณรน้อยผู้ช่วยให้พ่อแม่คืนดีกัน

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

“ผมบวชให้ครอบครัวครับ”  สามเณรรูปหนึ่งพูดขึ้น ก่อนจะเล่าต่อถึงความขัดแย้งของพ่อแม่ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นทีละน้อยละรุนแรงจนแม่หนีออกจากบ้านไป  จนตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าแม่ไปอยู่ที่ไหน  เคยปั่นจักรยานไปบ้านแม่แต่ก็ไม่มีใครอยู่แล้ว  ส่วนพ่อก็เปลี่ยนไป  กลับดึกและเมามากขึ้น  

“ผมอยากให้แม่ได้บุญด้วย  เลยบอกพ่อให้โทรหาแม่  เขาก็โทรหากันแล้ว  ผมก็ได้แต่หวัง  แต่มันคงไม่กลับมาเหมือนเดิมแล้ว” 

“ไหวไหม?”  ลองถามดูเมื่อฟังเหมือนเณรจะเล่าจบแล้ว

“ไหวครับ  ต้องไหวอยู่แล้ว”  สามเณรพูดพร้อมเงยหน้ามาสบตา

“สู้ไหม?”

“สู้ครับ”

“ดีมาก  พระอาจารย์เอาใจช่วย”

“ขอบคุณครับ”

            สามเณรน้อยอายุแค่ ๑๐ ขวบ  บุคลิกร่าเริง  ชอบทำให้เพื่อนและพระอาจารย์หัวเราะมีความสุข  ใครจะรู้ว่า ท่านซ่อนทุกข์ผูกเป็นเงื่อนปมอยู่ในใจ  ธรรมะข้อไหนจึงจะเยียวยาหัวใจดวงน้อยๆ นี้ได้

 แน่นอนว่า…ต่อให้บอกไปร้อยแปดพันธรรม ก็สู้คำง่ายๆ จากใจไม่ได้หรอก

 เพราะธรรมะสำหรับเด็กนั้นมันต้องเน้นไปที่ความรู้สึก  ไม่ใช่แค่ความรู้  เราประเมินความรู้ได้ด้วยข้อสอบ  แต่ความรู้สึกจะสัมผัสได้ต้องมีเวลาในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ เพราะบางครั้งกว่าความรู้สึกที่แท้จริงจะถูกเปิดเผยออกมา  ก็ต้องใช้เวลา  และหากมัวแต่อยากจะให้ธรรมะ  โดยที่ยังไม่รับฟัง  ใจก็จะปิดกั้นการรับรู้ทันที 

เพราะฉะนั้น  การฟังอย่างตั้งใจ  ไม่คัดค้านไม่ตัดสินใจ  และใช้อวจนะภาษาสะท้อนให้เห็นว่าเราสนใจและใส่ใจในสิ่งที่เขาเล่าออกมา ไม่อย่างนั้น  ก็ปิดประตูไม่รับรู้ และไม่ให้รู้อะไรอีกต่อไป 

ย้อนกลับไปในครั้งพุทธกาล…

มีสามเณรรูปหนึ่ง ชื่อว่า สามเณรบัณฑิต อายุ  ๗  ขวบ  เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร 

วันหนึ่งออกบิณฑบาตกับพระสารีบุตร ในระหว่างทางนั้นก็เห็นคนชักน้ำจากเหมือง จึงถามอาจารย์ว่า “น้ำมีจิตใจหรือไม่”  พระเถระตอบว่า  “น้ำไม่มีจิตใจ”  สามเณรจึงคิดว่า “เมื่อคนสามารถชักน้ำซึ่งไม่มีจิตใจไปสู่ที่ที่ตนเองต้องการได้  แต่เหตุใดจึงไม่สามารถบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจได้”

            เดินต่อไปอีก เห็นคนกำลังถากไม้ทำเป็นล้อเกวียน  จึงถามว่า  “ไม้นั้นมีจิตใจหรือไม่” พระเถระตอบว่า “ไม้ไม่มีจิตใจ”  สามเณรก็คิดต่อไปอีกว่า “คนสามารถนำเอาท่อนไม้ที่ไม่มีจิตใจมาทำเป็นล้อได้ แต่ทำไมไม่สามารถบังคับจิตใจได้”

            เดินต่อไปอีกสักพัก ก็เห็นคนลนไฟลูกศรเพื่อดัดให้ตรง จึงถามว่า “ลูกศรนั้นมีจิตใจหรือไม่”  เมื่อพระเถระตอบว่า “ลูกศรไม่มีจิตใจ”  สามเณรคิดได้ว่า “คนสามารถดัดลูกศรให้ตรงได้  แต่ไม่สามารถบังคับจิตใจให้อยู่ในอำนาจได้”

            ทันใดนั้นเอง  สามเณรได้เกิดความคิดที่จะนั่งสมาธิขึ้น จึงได้ขออาจารย์นำอาหารมาฝากตนด้วย  พระเถระได้รับปากและมองลูกตาลให้พร้อมกับสั่งให้ไปเจริญสติในห้องของท่าน  สามเณรก็ได้ทำตามทุกอย่างและเริ่มบำเพ็ญสมณธรรม ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของพระภิกษุ

          ขณะที่สามเณรนั่งสมาธิอยู่นั้น ท้าวสักกะก็ได้เรียกท้าวมหาราชทั้ง  ๔ ให้มาห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้เคลื่อนและตนเองมาอารักขาสายยูไม่ให้เกิดเสียงดัง และภายในวัดก็มีความสงบอย่างมาก  ท่านบำเพ็ญจนจิตมีอารมณ์แน่วแน่และบรรลุอนาคามิผล 

            พระสารีบุตรเมื่อบิณฑบาตได้อาหารแล้วก็กลับวัด  ระว่าทางนั้น พระพุทธเจ้าก็เสร็จมารอที่ซุ้มประตูและได้ถามปัญหากับพระสารีบุตร ๔ ข้อ ระหว่างนั้นเอง สามเณรก็บรรลุพระอรหัตผล พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้พระสารีบุตรนำอาหารไปให้สามเณร และเมื่อฉันเสร็จแล้วก็นำบาตรไปล้าง เทวดาทั้งหลายจึงได้หยุดการอารักขา และพระอาทิตย์ก็เคลื่อนไปเป็นเวลาบ่าย

เมื่อเราใส่ใจ เขาจะเปิดใจ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
เมื่อเราใส่ใจ เขาจะเปิดใจ พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

            จากเรื่องราวของการสอนของพระสารีบุตร  ท่านสอนตอบคำถามระหว่างที่เดินบิณฑบาต และให้คำตอบแก่สามเณรอย่างเมตตา  ไม่ได้มุ่งให้เด็กต้องเงียบหรือไม่สงสัยใคร่รู้  แต่ให้เด็กได้ตื่นตัวสามเณรบัณฑิต เราลองพิจารณาสังเกตและเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ได้เจอ   และพระสารีบุตรก็ไม่ได้ใช้ศัพท์พิสดารอะไรเป็นเพียงคำตอบที่เรียบง่ายเหมาะสม 

การสอนเด็กหรือสามเณรจึงไม่ควรยึดติดที่เนื้อหาหรือวิธีการที่เคร่งครัดเกินไป  ควรมุ่งไปที่สอนเด็กไม่ใช่สอนหนังสือ 

            ความใส่ใจและให้โอกาสในการได้ประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้  จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการดูแลเด็ก  ไม่เพียงแค่สามเณร แต่ยังรวมถึงเด็กๆ ทุกคน นักเรียนทุกคน  การสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี เป็นคนเก่งและเขาสามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยตนเอง  ถือเป็นการวางรากฐานที่มั่นของของสังคมไทยในอนาคต 

สำหรับเณรน้อยที่พยายามช่วยให้พ่อแม่คืนดีกัน ทราบภายหลังว่า เป็นเรื่องยาก เมื่อสองคนต่างเลือกแล้วที่จะเลิกกัน ผลก็คือ สำหรับผู้ที่เป็นลูก ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นเรื่องธรรมดา และสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยไม่น้อย สิ่งที่ลูกๆ ทำได้ก็คือ ความเข้าใจทั้งพ่อและแม่ ว่าแต่ละท่านต่างมีหนทาง เมื่อเขาโตขึ้น วันหนึ่งข้างหน้าก็จะเข้าใจแม่และพ่อดีขึ้นเมื่อเป็นผู้ใหญ่และมีครอบครัวก็จะรู้ว่า ทำไมแม่พอจึงแยกทางกัน

การแยกทางกันก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไปเมื่อลูกเข้าใจตนเอง ก็จะ เข้าใจพ่อแม่

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here