ห้วงเวลาแห่งการพัฒนาตน เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๕” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

0
2020

ย้อนเวลาหาอดีตการเรียนรู้ของสามเณรน้อย กับพระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตที่ดีงาม

บนเส้นทางการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ที่ผ่านการบวชเรียน…

ห้วงเวลาแห่งการพัฒนาตน

เบื้องหลัง “สามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๕”

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

ขอขอบคุณภาพจาก สามเณรทรูปลูกปัญญา
ขอขอบคุณภาพจาก สามเณรทรูปลูกปัญญา

         ครั้งที่แล้วได้เล่าถึงเรื่องราวการทำงานของพระอาจารย์พี่เลี้ยง คณะพระวิทยากร วิทยากร และคณะทำงานโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๒ ที่มีความกังวลถึงการสื่อสารธรรมะให้กับสามเณรอายุ ๗-๘ ขวบว่า จะเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งที่สื่อสารออกไปหรือไป แต่สามเณรก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามเณรที่อายุ ๗-๘ ขวบก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งได้

           โอกาสนี้ก็เลยจะขอเล่าถึงเรื่องราวของสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๕ ห้องเรียนธรรมะถ่ายทอดสดสัญจรสู่วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งคณะพระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ได้รับนิมนต์ไปทำหน้าที่ใน ๒ ส่วนคือ

๑.ในช่วงของธรรมทอล์ก เป็นการสนทนาธรรมยกข้อคิดข้อธรรม สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันมาแบ่งปันเล่าให้ญาติโยมได้ฟัง และส่วนหนึ่งก็เป็นตอบคำถามของผู้ชมทางบ้านที่ดูรายการแล้วส่งคำถามเข้ามา ซึ่งนำโดยพระมหา นภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙

พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙ และ พระมหา ดร.ไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย ป.ธ.๙ 


จากซ้าย พระมหา นภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙, พระมหา ดร.ขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙
และ พระมหา ดร.ไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย ป.ธ.๙

๒.ในส่วนของคณะพระอาจารย์พี่เลี้ยง ทำหน้าที่ดูแลจัดกระบวนการเรียนรู้อยู่กับสามเณรตลอดหนึ่งเดือน ซึ่งนำโดยพระครูปลัดทรัพย์ชู มหาวีโร และ พระมหาสมควร ถิรสีโล พร้อมคณะพระวิทยากรรวมจำนวน ๘ รูป

สถานที่อันสัปปายะถือว่าเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการรักษาศีล บำเพ็ญสมาธิ เจริญปัญญาของเหล่าสามเณร

เมื่อกล่าวถึง วัดเขาวง จังหวัดสระบุรี ที่แม้จะมีอาณาบริเวณวัดเพียง ๑,๕๐๐ ตารางเมตร

แต่วัดแห่งนี้ก็ให้ความสำคัญในการใช้หลักธรรมเพื่อสอนสั่งให้ผู้มาเยือนได้รู้รักษาธรรมชาติแวดล้อมของวัด ห้ามมิให้ผู้ใดรุกล้ำทำลาย หรือถือเอาธรรมชาติเป็นสมบัติส่วนตัว

เพราะธรรมชาติก็เปรียบเสมือนบ้านของพันธุ์ไม้ และสัตว์น้อยใหญ่ ไม่ต่างจากมนุษย์

ขอขอบคุณภาพจาก สามเณรทรูปลูกปัญญา

          นอกจากจะเป็นสถานที่แห่งธรรมท่ามกลางธรรมชาติแล้ว ภายในวัดเขาวงยังมีโบราณสถานสำคัญที่ย้ำเตือนให้ผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนได้ระลึกถึง ความมั่นคงแห่งพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดา ที่ยังคงอยู่จากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน และมีอายุยาวนานมากว่า ๑,๓๐๐ ปี นั่นก็คือ “ถ้ำนารายณ์” ซึ่งในอดีต สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จจากเมืองลพบุรี เพื่อไปว่าราชการที่กรุงศรีอยุธยาคราใด ก็ทรงโปรดใช้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่ประทับพักแรมและปฏิบัติกรรมฐานอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเพราะสภาพแวดล้อมอันเย็นสบายและเงียบสงบ ท่ามกลางหุบเขาและพื้นที่ป่า

         ซึ่งในเวลาต่อมา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พระองค์ทรงโปรดใช้ถ้ำนารายณ์เป็นที่ประทับพักแรม เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในทุกครั้งที่พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาท

         จากเส้นทางผ่านสัญจรเพื่อค้าขาย และติดต่อกันระหว่างเมืองในสมัยโบราณ นำมาซึ่งการตั้งบ้านเรือน และชุมชนโดยรอบ จนทำให้บริเวณถ้ำนารายณ์ เทือกเขาวง กลายเป็นเส้นทางหลักที่ทำให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ได้เห็นถึงรอยธรรมแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางศาสนาระหว่างไทยกับศรีลังกา ดังอักขระจารึกที่ปรากฏให้เห็นบนผนังถ้ำ ซึ่งเผยให้เห็นรากฐานแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนแผ่นดินสระบุรี อันยาวนานนับพันปี

          หลังจากผ่านความรุ่งเรือง เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ถ้ำนารายณ์ก็ได้รับการฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง และได้รับการอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดขึ้นในปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ พร้อมทั้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัดเขาวง หรือถ้ำนารายณ์ เพื่อพัฒนาและรักษาไว้ให้เป็นมรดกและวัฒนธรรมศาสนา

         ปัจจุบันมีท่านพระครูภาวนาพิลาศ เจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล ซึ่งในระยะแรกเริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ที่ท่านพระครูภาวนาพิลาส หรือที่ลูกศิษย์เรียกท่านว่าหลวงตา ได้อุปสมบทและมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดเขาวง วัดแห่งนี้อยู่ในสภาพอันรกร้าง ทรุดโทรม มีพระสงฆ์เพียงรูปเดียว จึงกลายเป็นเจตนารมณ์อันมุ่งมั่น ที่ต้องการพัฒนา และทำนุบำรุง ศาสนสถานแห่งนี้ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง…


เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

          ซึ่งการบูรณะในครั้งนั้น ก็ได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ จนพัฒนามาจนถึงปัจุบัน ซึ่งสภาพแวดล้อมในวัดร่มรื่น สงบ เงียบ เหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

เมื่อกล่าวถึงเยาวชนผู้เข้าร่วมในโครงการส่วนใหญ่ก็มีความตั้งใจจะบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ บวชเพื่อจะศึกษาธรรมะอยากจะเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนามากขึ้น ตัวแทนของสามเณรพูดถึงความตั้งใจในการบวชว่า

“ผมอยู่บ้านยายจะพาไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอนทุกวัน ผมเลยรู้สึกอยากบวช เพราะเชื่อว่าจะได้บุญ พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะได้ขึ้นสวรรค์ ทำให้คนในครอบครัวได้กุศลด้วย ในช่วงปิดเทอมของทุกปีที่ผ่านๆ มา ผมไปเที่ยวกับครอบครัวหรือพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่ในปีนี้ จะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเชื่อว่า หลังจากบวช จะนำประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ในการเรียน เข้าใจธรรมะมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น ผมตั้งใจกับการบวชครั้งนี้มาก พร้อมที่จะเรียนรู้ธรรมะอย่างเต็มที่ เพราะคิดว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญในชีวิต”

สำหรับเหตุผลที่อยากบวช สามเณรเล่าว่า เพราะมีหลวงตาแท้ๆ เป็นแรงบันดาลใจ

“เชื่อว่าการบวชครั้งนี้ จะทำให้ผมได้บุญ และมีความรู้ธรรมะมากขึ้น และจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการเรียน ปกติคุณพ่อคุณแม่ จะพาไปทำบุญบ่อยๆ ผมจึงศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว คิดว่าการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จะได้ฝึกความอดทน โดยเฉพาะอดอาหารมื้อเย็น เพราะเมื่อเป็นเณร จะฉันข้าวได้วันละสองมื้อเท่านั้น ต้องท่องบทสวดให้ได้ ผมเชื่อว่าช่วงเวลาที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นปิดเทอมที่สนุกและได้ความรู้มากอย่างแน่นอน”

กระบวนการเรียนของสามเณรผู้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมในปี ๕ นี้ อยู่ภายใต้กรอบแนวคิด “รัก-รอ-พอ-ให้” สู่เป้าหมายแห่งการ “ตามรอยบาทพระศาสดา”

เป็นการปลูกความรู้คู่คุณธรรมให้เยาวชน อันเป็นการส่งต่อสิ่งดีงามแก่ผู้อื่น ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมได้สนใจธรรมะ

เหตุการณ์เรื่องราวต่างๆของการฝึกฝนตนเองตลอดหนึ่งเดือนนั้นเกิดขึ้นมากมาย บางรูปต้องต่อสู้กับความคิดถึงบ้าน บางรูปต้องต่อสู้กับการปรับตัวร้องไห้ขอกลับบ้านก่อนเวลาหลายรูป แต่ท้ายที่สุด ทุกรูปก็ชนะผ่านการฝึกตน พร้อมที่จะนำธรรมะไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง การเรียนรู้ของสามเณรตลอดหนึ่งเดือนนั้นจะต้องนำไปเขียนบทบรรยายธรรมเอง ซึ่งทุกรูปก็สามารทำได้และบรรยายธรรมอย่างน่าประทับใจ

ขอขอบคุณภาพจาก สามเณรทรูปลูกปัญญา

          ขอยกตัวอย่างบทบรรยายธรรมของสามเณรรูปหนึ่งที่ได้ร้อยเรียงผ่านการเรียนรู้ฝึกฝนตนมาให้ได้อ่านกัน

 โสตฺถิเต โหตุ สัพพะทา ขอความสุข สวัสดี จงมีแก่สาธุชนทั้งหลาย

วันนี้ลูกสามเณรมาบรรยายธรรม เรื่อง “ถ้าพอเพียง ก็เพียงพอ” 

คำว่า พอเพียง คือ การรู้พอประมาณในการใช้ชีวิต

พอเพียง ในสิ่งที่ตนใช้ พอใจ ในสิ่งที่ตนมี คือคนที่โชคดีที่สุดในโลก

          ลูกสามเณรขอบรรยายเรื่อง “ความพอเพียง”  ด้วยนิทาน ดังนี้ 

กาลครั้งหนึ่ง…มีสามเณรน้อยน่ารักรูปหนึ่ง ตอนที่บวชใหม่ๆ ตอนเช้าออกบิณฑบาต กลับมานั่งสมาธิรอ และหิวมาก จึงตักอาหารมาเยอะคิดว่าจะฉันหมดแน่นอน แต่ฉันไปได้สักพักก็อิ่ม อาหารเหลือตั้งเยอะ พระอาจารย์จึงสอนว่า อย่าฉัน อย่าใช้ สิ่งต่างๆ ด้วยความโลภ แต่จงฉัน จงใช้อย่างเพียง พอดี ให้มีสติ

          ลูกเณรจึงได้  ทำตามที่พระอาจารย์สอน วันหลังจึงตักอาหารแต่พอดี ไม่ฉันเล่น ไม่ฉันเพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนาน แล้วก็ได้รู้ว่า ถ้าเรารู้จักพอเพียง พออิ่ม เราก็มีความสุขได้ ไม่สิ้นเปลือง ไม่เดือดร้อนภายหลัง สามเณรรูปนั้น ได้จดจำและตั้งใจว่า เมื่อลาสิกขาไปแล้ว จะนำไปปรับใช้ ไม่โลภ ไม่ฟุ่มเฟือย แต่จะรู้จักกิน รู้จักอยู่ รู้จักดู รู้จักใช้สิ่งของอย่างถูกต้อง พอดี และให้มีประโยชน์ (สามเณรในนิทานนั้น ก็คือกระผมเอง)

           สุดท้ายนี้ ลูกเณร ขอฝากข้อคิดธรรมะ เรื่อง “๙ พอ พาพบสุข” ให้ญาติโยมนำไปใช้ ดังนี้

กิน ให้พอประมาณ ทำงานให้พอดี

มีชีวิตให้พอเพียง มีเสบียงให้พอใช้

แต่งกายให้พองามความสำเร็จให้พอดู

ความรู้ ให้พอตัว

ความชั่ว ให้พอที ความดี ให้พอควร  

          บรรยายธรรมมาก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายที่สุดนี้ สามเณรขออำนวยพร สาธุชนทุกท่าน  จงพบกับความพอเพียง พอใจ พอดี งานดี เงินดี กินดี สุขภาพดี จิตใจดี ครอบครัวดี มีความสุข ความเจริญรุ่งเรือง ยิ่งๆขึ้นไป โดยทั่วกันเทอญ

          นี่ก็เป็นบางส่วนของการฝึกฝนตนเองของสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี ๕ ที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันที่อากาศร้อน แต่ใจไม่ร้อนตามเพราะเห็นความงามในความดีที่เราต่างทำกันแม้ต่างวาระต่างเวลาแต่เมื่อมีโอกาสมาเล่าสู่กันฟังก็แบ่งกันอนุโมทนา พลอยชื่นชมยินดีไปด้วยกัน

          เพราะการอนุโมทนา พลอยยินดีในความดีที่คนอื่นทำก็เป็นหนึ่งใน บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่ตั้งแห่งการกระทำความดีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ อันหมายถึง กุศลจิตที่มีกำลังจนทำให้มีการกระทำออกมาทางกาย  วาจาหรือทางใจ  ในข้อ ๗. คือ ปัตตานุโมทนามัย  บุญสำเร็จจากการยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำแล้ว

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน

กระบวนการเรียนของสามเณรผู้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมในปี ๕ นี้ อยู่ภายใต้กรอบแนวคิด “รัก-รอ-พอ-ให้” สู่เป้าหมายแห่งการ “ตามรอยบาทพระศาสดา” เป็นการปลูกความรู้คู่คุณธรรมให้เยาวชน อันเป็นการส่งต่อสิ่งดีงามแก่ผู้อื่น ด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมได้สนใจธรรมะ ”
คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒
คอลัมน์ จาริกบ้านจารึกธรรม โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here