มนทิรา : คนเราควรกลัวความตายหรือไม่
แม่ชีศันสนีย์ : กลัวเป็นทุกข์ ความกลัวตายน่ากลัวกว่าความตาย คุณแม่พูดเสมอว่า ความกลัวเป็นทุกข์ ความตายไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ความกลัวตายของเราต่างหากที่เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะฉะนั้น จงเผชิญกับความตายอย่างไม่ต้องกลัวตาย
เรียนรู้ ความรัก ความจากพราก และความตาย…ในใจเรา
กับ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และ มนทิรา จูฑะพุทธิ
เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ผ่านมาเดือนกว่าๆ แล้ว ย้อนระลึกได้ว่า พี่หน่อยจากเสถียรธรรมสถานชวนไปฟังเสวนาธรรมเกี่ยวกับหนังสือสามเล่มในชุดเดียวกันชื่อว่า “The Book of Truth” บทสนทนาว่าด้วย ความรัก…ความจากพราก…และ ความตาย…โดยท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และพี่อ้อย มนทิรา จูฑะพุทธิ บรรณาธิการอำนวยการ มูลนิธิเสถียรธรรมสถาน ณ ห้อง Meeting Room ๔ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในยามเช้าของวันนั้นเวลา ๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ไปด้วย เพราะติดภารกิจไปช่วยดูแลเด็กๆ ที่กำลังเตรียมบวชศีลจาริณีมาวันหนึ่ง เมื่อกลับมาบ้านไม่นานพี่หน่อยก็ส่งหนังสือสามเล่มมาให้ ก็ค่อยๆ อ่านไป ตั้งใจว่า สักพักจะมาเล่าให้ฟัง
ผ่านไปเดือนกว่าอย่างรวดเร็ว
โชคดียังมีลมหายใจอยู่ จึงย้อนกลับไปดูใน fb ธรรมสวัสดี Live ของเสถียรธรรมสถาน ก็ได้ความรู้สึกถึงคำว่า “อกาลิโก” ธรรมะเหนือกาลเวลาจริงๆ แม้ว่า วันเวลาผู้ซื่อสัตย์นั้นไม่เคยคอยใคร ชีวิตก็เช่นเดียวกับเวลาเดินหน้าอย่างเดียวไม่ย้อนหลัง เราจะต่อรองกับความรัก ไม่ให้มีความจากพราก และจะหนีจากความตายอย่างไร ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะสามสิ่งนี้ก็เช่นเดียวกับเวลา มาแล้วไป ไม่คอยใครแม้แต่ตัวเจ้าของเอง…
แต่ว่า บทสนทนาในวันเสาร์นั้นยังอยู่ ก็เลยได้ฟังท่านแม่ชีศันสนีย์ กล่าวเกี่ยวกับหนังสือตอนหนึ่งว่า เป็นหนังสือที่คนอ่านเห็นว่า มันง่าย ถ้าจะเป็นธรรมะก็ง่าย การใช้ชีวิตง่าย หรือจะเป็นเรื่องของการสื่อสารกับหัวใจของตนเองก็สื่อสารง่ายๆ ให้กลับไปดูด้านในว่า การปฏิบัติไม่ได้อยู่ในรูปแบบ แต่การปฏิบัติอยู่ที่กรรมของเรา หมายถึง มโนกรรมของเราที่เจริญสติไว้อย่างมั่นคง ก็จะเห็นของยากให้เป็นของง่าย ไม่เป็นอะไรที่อวดตัว แต่เป็นเรื่องของการลดอัตตาตัวตนของเราเพื่อเข้าถึงความจริงอย่างเรียบง่าย
“หนังสือสามเล่มนี้จึงเป็นการย่อยของยากให้ง่าย หนังสือไม่ได้บอกว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร เรามักจะบอกเสมอว่า เรา ในฐานะที่เป็นธิดาของพระองค์ สิ่งเหล่านี้เราตั้งคำถามมาก่อน แต่ถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราก็จะตอบคำถามในทุกๆ เรื่อง ในโลกนี้ได้..”
ด้วยความที่หนังสือสามเล่มนี้อ่านง่าย ก็เพราะมาจากประสบการณ์ตรงของท่านแม่ชีศันสนีย์ และ พี่อ้อย มนทิรา จูฑะพุทธิ ผู้สนทนากับคุณแม่มาหลายปี แล้วอุทิศเวลาเขียนหนังสือสามเล่มนี้ด้วยความเข้าใจ ได้กล่าวไว้ในคำนำว่า
“ถ้าเรารักใคร เราต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เรารักอยู่กับเราน้อยลงทุกขณะ ความจริงของชีวิตบางเรื่องเราก็ลืมเลือนไปเสียสนิท ถ้าความตายไม่มายืนโบกมือทักทายอยู่ตรงหน้า ฉันคงใช้ชีวิตไปวัน-วัน “
จริงสินะ เราแทบทุกคนส่วนใหญ่บนโลกก็เป็นเช่นนี้ เราบอกว่า จะเตรียมตัวตายอย่างมีสติ แต่เราไม่เคยให้เวลากับการหายใจอย่างมีสติในขณะนี้ เราจะตายอย่างมีสติได้อย่างไร
พระพุทธองค์จึงตรัสปัจฉิมวาจาว่า อย่าประมาท คุณแม่ของข้าพเจ้าเองก็จดบันทึกปัจฉิมวาจาของพระพุทธเจ้าสำหรับสวดมนต์ทุกวัน“
ปัจฉิมโอวาท ฉบับคุณแม่
หันทะทารนิภิกขเว อามันตะยามิโว
วะยะธัมมาสังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราจักเตือนท่านทั้ังหลายว่า สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลาย จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด …
“ข้าพเจ้า ขอน้อมถวายทานอันนี้แด่พระสงฆ์ผู้มีศีลทั้งหลาย ทานที่ข้าพเจ้าถวายแล้วนี้ จงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานด้วยเทอญ …
ข้าพเจ้านำบันทึกของคุณแม่มาติดไว้หน้าโต๊ะทำงานและอ่านทุกวัน ข้าพเจ้าคิดถึงคุณแม่มาก ทุกวันเลย และตัวหนังสือของท่าน สัญญาในใจของข้าพเจ้ามีท่านอยู่ในใจตลอดเวลา
ความรัก ความจากพราก และความตาย จึงอยู่ในใจของข้าพเจ้าตลอดเวลาเช่นเดียวกัน …
คุณแม่ของข้าพเจ้าศรัทธาในท่านแม่ชีศันสนีย์มาก ข้าพเจ้าก็ตั้งใจเล่าเรื่องนี้ให้คุณแม่ฟัง…
ท่านแม่ชีศันสนีย์ก็เตือนสติพวกเราไว้ในทุกทางเหมือนกันว่า เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายวันไหน แต่เราต้องเตรียมตัวตายทุกวัน และจะเตรียมตัวตายอย่างไรให้ดีที่สุด
ท่านแม่ชีศันสนีย์โยงทั้งสามเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน
หากจะสรุปหัวใจของหนังสือสามเล่มนี้ก็คือ
จงมีชีวิตอย่างมีสติ แล้วชีวิตที่มีสติ จะทำให้เรามีความรักอย่างมีสติ
เมื่อนั้นจะทำให้เรายอมรับความจากพรากอย่างมีสติ
และต้อนรับความตายอย่างมีสติในที่สุด
ดังที่ท่านแม่ชีศันสนีย์กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า จงขอบคุณที่ได้รัก ขอบคุณทุกสิ่งที่ได้รัก ใช้ความรักเป็นการลงทุนคือ ลงทุนในปัจจุบันขณะ ทำปัจจุบันให้มีค่าที่สุด ประเสริฐที่สุด
“ความรักต้องให้อภัย แม้สิ่งที่รักไม่น่ารัก ความรักต้องถอดถอนความเห็นแก่ตัว ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขของความเห็นแก่ตัวจะทำให้เราถนอมรักอย่างที่สุด
“ดังนั้น จงรักอย่างคนที่ไม่ครอบครอง ไม่ยึดติด ไม่แสวงหาผลประโยชน์ จะเป็นความรักที่ยิ่งให้ยิ่งได้ และสุดท้าย ไม่มีใครที่อยู่ข้างหน้าเราที่เราไม่เคยรักมาก่อน อย่าอยู่กับใครที่อยู่ข้างหน้าเราอย่างผูกเวรหมายมั่นด้วยรักอีกเลย แต่จงไปถึงอิสระที่ได้รัก ก็คือ การใช้โอกาสที่เราจะได้เรียนรู้กับคนข้างหน้า แล้วรู้จักรักอย่างเห็นคุณค่า ที่เราจะผูกเวรอย่างไม่หมายมั่นนี้ ส่งเสริมและยินดีที่จะได้เห็นผู้ที่เรารักมีอิสรภาพอย่างแท้จริง”
ความรักจึงต้องไปให้ถึงอิสรภาพ ท่านแม่ชีศันสนีย์ว่าอย่างนั้น
มีความจำเป็นมากที่จะต้องไปให้ถึงอิสรภาพ ไม่งั้น เราจะไม่ได้ปัญญาจากความรักเลย
เพราะความรักที่มีสติปัญญา จะทำให้เราเข้าถึงความสงบเย็น ความรักที่เข้าถึงความสงบเย็นคือความรักที่รู้จักการปล่อยวางสิ่งที่รัก อย่างไม่มี “ฉัน “ไม่มี “ของฉัน”
ทำได้ไหมนะ (ข้าพเจ้าบอกกับตัวเอง)
ท่านแม่ชีศันสนีย์ บอกว่า ทำได้สิ เพราะเมื่อเราระลึกถึงความตาย…
“ความตายจะเป็นเรื่องที่เตือนให้เราดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท ความรักที่ปล่อยวาง ไม่ครอบครอง เป็นการฝึกให้เราตายเสียก่อนตายก่อน ซึ่งเป็นศิลปะที่มนุษย์ไปถึงได้ และต้องไปให้ถึง
“ความตายเป็นหินลับมีดที่จะทำให้เราคม แล้วสามารถตัดขาดความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจที่จะใช้ชีวิตอย่างประมาทขาดสติ เพราะความตายคือความจริงที่มนุษย์สุดเลี่ยง… และความตายก็คือความงอกงาม ที่จะให้เราไปพบกับสิ่งที่ดีงามและมิตรใหม่ ผที่เป็นผลจากที่การลงทุนไว้ในปัจจุบันขณะ”
เมื่อเรารักเป็น เราก็จะน้อมรับความจากพรากเป็น และตายเป็นในที่สุด
นี้คือสิ่งที่เรากำลังปรารถนาในชีวิตกันหรือเปล่า…