เรียนรู้ประวัติศาสตร์บอกเล่าผ่าน “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม” เห็นอดีตเข้าใจปัจจุบัน อนาคตไม่ใช่แค่ฝัน… โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
มีหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งพิมพ์แจกในงานถวายพระราชทานเพลิง สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
งานเขียนเป็นการเล่าเรื่องผ่านความจำและการจดบันทึกของหลวงพ่อ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ท่านยังเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ก่อนจะขยับมาเป็นผู้บริหารและมีช่วงเวลาทำงานกับหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่ท่านดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พระเทพคุณาภรณ์ พระธรรมคุณาภรณ์ และพระพรหมคุณาภรณ์ โดยลำดับ ในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๗ – ๒๕๒๑ เป็นเวลา ๑๕ ปี จะเห็นได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานแต่ถ้าได้อ่านเนื้อหาในเล่มก็จะเห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่ลำบากแสนสาหัสสำหรับมหาจุฬาฯ ที่จะต้องฟันฝ่ากับสถานการณ์ที่คณาจารย์และ ผู้บริหารสำคัญถูกจับขังคุกทั้งหมดในข้อหาคอมมิวนิสต์ หลายปีก่อนจะถูกยกฟ้อง แล้วปล่อยตัวออกมา
“มหาจุฬาฯ อยู่ในสะภาพแห้งโหยว้าเหว่แทบจะวังเวง”
เป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายสภาพขณะนั้น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้วิเคราะห์ สภาพการณ์ขณะนั้นได้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน และเชื่อมโยงให้เห็นถึงขบวนการคอมมิวนิสต์และสงครามเย็น เห็นเป็นฉากๆ ที่ชัดเจน ทำให้มองเห็นพัฒนาการสถานการณ์การเมืองภายนอกประเทศ ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไร และกระทบต่อพระสงฆ์อย่างไร ทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างทั้งโลกและลงลึกถึงที่มาที่ไปของคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย
พระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เข้ามารับภาระในช่วงที่สถานการณ์โลกก็วุ่นวาย การเมืองไทยก็แปรปรวน กำลังสำคัญคือ พระกวีวรญาณ (ปัจจุบันคือ ศาตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต) และพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ
มหาจุฬาฯ ยุคนั้น ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐ พูดง่ายๆ คือไม่มีกฎหมายรับรอง จึงเป็นงานสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนในขณะเดียวกัน พระกวีวรญาณก็ได้ดำเนินการส่งพระมหาจุฬาฯ ไปเรียนต่อที่อินเดีย โดยส่งไปรุ่นแรกนั้น ๕ รูป เป็นจุดเริ่มต้นให้พระสงฆ์ไทยได้ไปเรียนต่อที่อินเดีย เพราะในไทยไม่ยอมรับ แต่ที่อินเดียยอมรับ ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมพระไทยถึงไปเรียนต่อที่อินเดียกันมากในสมัยก่อน การต่อสู้เรื่องการรับรองวุฒิ มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก่อนจะได้มาซึ่ง พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐
ความสำเร็จนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่ลึกซึ้ง เป็นบทเรียนและประสบการณ์มากมาย ในการพยายามก้าวมาให้ถึงจุดนี้ได้ และการก้าวไปสู่การพัฒนาชีวิตและสังคมให้ยั่งยืน
พระราชวิสุทธิเมธี (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ริเริ่มทำสิ่งต่างๆ เพื่อพัฒนามหาจุฬาฯ ทั้งด้านการขับเคลื่อนการศึกษาให้รัฐบาลรับรองวุฒิ และสร้างความมั่นคงให้กับมหาจุฬาฯ ในด้านต่างๆ เช่น หนุนให้ตั้งสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ เพื่อให้เป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสารกับสังคมภายนอกและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสร้างประโยชน์ต่อโลกในวงกว้างต่อไป
พุทธศาสนาจึงเกิดความสัมพันธ์กับนานาชาติขึ้น ซึ่งมีมหาจุฬาฯ นำโดย พระเทพคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เลขาธิการ สมัยนั้น และมีพระมหาประยุทธ์ ปยุตฺโต เป็นเลขานุการ ได้เดินทางสร้างสัมพันธไมตรีกับสถาบันการศึกษาชั้นสูงทางพระพุทธศาสนา ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ลาว สิงคโปร์ ลังกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ก่อนที่จะเดินทางไปอเมริกา โดยเยี่ยมมหาวิทยาลัยในอเมริกา ที่สอนพระพุทธศาสนาและอาเซียอาคเนย์ศึกษา พร้อมทั้งสานสัมพันธ์กับสำนักวาติกัน จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำพระธรรมทูตจากไทยไปต่างแดน นำไปสู่การพัฒนาพระสงฆ์เพื่อไปต่างประเทศ
“มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม” สะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ของมหาจุฬาฯ ที่จะต้องผ่าพายุร้าย มีช่วงเวลาที่สั่นไหว โคลงเคลงกลางทะเล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ก้าวมาเป็นผู้บริหารพาฝ่าคลื่นลมก้าวไปสู่ความงามสง่า สดชื่นส่งไม้ต่อแห่งความมั่นคงสู่รุ่นต่อไป
สีสันสำคัญของเล่มนี้ อยู่ที่การวิเคราะห์ วิพากษ์และบรรยายเชื่อมโยงบรรยากาศทางการเมืองและสังคมทั้งของไทย และสังคมโลก ได้อย่างลึกซึ้งน่าสนใจ ทำให้เห็นความเหนื่อยยากของบูรพาจารย์ที่ต่อสู้กันอย่างพากเพียร นำพามหาจุฬาฯ ก้าวข้ามพายุเหตุบ้านการเมือง และบางเรื่องก็โยงใยไปกับพระ อย่างเลี่ยงไม่ได้
พออ่านไปได้สักพัก ใจมันพลันคิดขึ้นว่า “เหมือนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย” จากอดีตที่เห็น ทำให้พอเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ปัจจุบันนี้ อนาคตไม่ใช่แค่ฝันไป
เรียนรู้ประวัติศาสตร์บอกเล่าผ่าน “มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม” เห็นอดีตเข้าใจปัจจุบัน อนาคตไม่ใช่แค่ฝัน… โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป