"เกราะใจ" โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก  วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ )
“เกราะใจ” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ )

เมตตา ให้อภัย และวางใจให้เป็น”

สร้างเกราะใจให้ชีวิต

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ )

 “วิธีคิดที่ใช้กฎหมายแก้ปัญหา เป็นวิธีคิดที่แก้ปัญหาไม่รอบด้าน เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และวิธีคิดที่ว่ากฎหมายช่วยเหลือ ป้องกัน และเยียวยาเราได้ เป็นวิธีคิดที่ใช้ชีวิตโดยประมาท เพราะกฎหมายป้องกัน ดูแล และเยียวยาเราได้เฉพาะภายนอกเท่านั้น”

เมื่อสองปีก่อน หรือย้อนไปไกลกว่านั้นในสมัยพุทธกาล หรือไปไปกว่านั้นอีก เรื่องนี้ก็เคยเกิดมาแล้ว…ต่างกันก็เพียง เวลา สถานที่ และเหตุการณ์ ดังนั้น อาตมาจึงชวนมาถอดบทเรียนกัน เพื่อความไม่ประมาทในชีวิตและบุตรหลานของทุกท่านที่อยู่ในวัยที่มักจะใช้อารมณ์มากกว่าสติ …

            ตามข่าวที่คนในสังคมให้ความสนใจ คือ หญิงสาววัย ๑๘ ปี จ้างมอเตอร์ไซด์รับจ้างถือโทรศัพท์ให้ถ่ายทอดสดสดลงเฟซบุ๊คแล้วกระโดดตรงสะพานพระราม ๘ จนเสียชีวิต เพราะถูกแฟนทิ้ง อกหักจากความรัก

ตามข้อเท็จจริงที่เป็นข่าวยังพบหลักฐานอันจะเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ และมีการปล่อยคลิป ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและความผิดทางละเมิด คู่กรณียังเป็นข้าราชการ ต้องรับผิดทางวินัยอีก ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมฝ่ายบ้านเมืองจะดำเนินการ ผู้เขียนมิอาจจะไปก้าวล่วงได้

            จะเห็นว่าถ้าข้อเท็จจริงเป็นไปตามข่าว หญิงสาววัย ๑๘ ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายของฝ่ายบ้านเมืองอย่างรอบด้าน แต่กฎหมายไม่ได้ช่วยทำให้หญิงสาวไม่ต้องฆ่าตัวตาย เพราะกฎหมายปกป้อง และเยียวยาแต่ภายนอกเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองเข้าไปถึงภายในของหญิงสาวนั้นก็คือ “ใจ” ซึ่งถือว่าเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ที่เศร้าสลดใจของสังคมในครั้งนี้

             เหตุการณ์ครั้งนี้ควรเป็นอุทาหรณ์ให้สังคมได้เรียนรู้ไปด้วยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับลูกหลานหรือคนใกล้ตัว จะรักแบบไหนหรือมีท่าทีอย่างไรกับความรักที่ไม่ต้องเกิดความสูญเสียเช่นนี้อีก ผู้เขียนเห็นว่าความรักนั้นควรประกอบไปด้วยหลัก ๓ ประการ คือ เมตตา ให้อภัย และวางใจให้เป็น ดังนี้

            ประการที่หนึ่ง ความเมตตา

เป็นความรักที่มีฐานของความเมตตา มีความเห็นอก เห็นใจ มีความปรารถนาและหวังดีต่อกัน ความรักที่ประกอบด้วยความเมตตาจะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนรวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว และเพิ่มคุณค่าของชีวิตคู่ทำให้โลกใบนี้น่าอยู่และงดงามเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่สอง การให้อภัย

คือ การแสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ทางจิตใจของมนุษย์มากที่สุด เพราะคนสองคนอยู่ด้วยกันก็ย่อมต้องมีกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชน เมื่อมีเหตุที่ไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น ให้มองหาความดีของกัน นึกถึงช่วงเวลาที่ร่วมทุกข์ ร่วมสุขกันมา อย่าให้ความผิดพลาดบางอย่าง หรืออารมณ์โกรธชั่ววูบมาทำร้ายความสัมพันธ์ที่สร้างมาด้วยกัน

อย่ากลัวที่จะเอ่ยคำว่าขอโทษ และให้อภัย   

ประการที่สาม วางใจให้เป็น

กล่าวคือ เข้าใจความจริงอยู่กับปัจจุบัน ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนที่สุด เขาไม่จากเราไปก่อน เราก็จะจากเขาไป เพราะไม่จากกันเป็นก็จากกันตายนี้คือสัจธรรมของชีวิตที่ทุกคนต้องพบเจอ เมื่อเราเข้าใจในหลักการนี้เราก็สามารถจัดการกับใจหรือวางใจได้ วางใจเป็น

ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ขอขอบคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ทั้งนี้นอกจากหลักสามประการที่กล่าวมาแล้ว ต้องเป็นความรักถูกที่ ถูกเวลา ถูกกาลเทศะ เหมาะสมกับวัย เป็นความรักที่ไม่เกินเลยไม่ขาดสติ อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่

โดยเฉพาะผู้ปกครองควรมีเวลาให้กับบุตรหลาน สามารถเป็นเพื่อนเป็นพี่ให้กับเขาได้ในบางเวลาเพราะเขาจะกล้าพูดและปรึกษากับเราได้ทุกอย่าง และเราก็จะรับรู้ถึงปัญหาสามรถให้คำแนะนำและกำลังใจเขาได้ทันเวลา

ดังนั้น การดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน เมื่อเรามีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครอง ปกป้อง และเยียวยาชีวิตภายนอก ก็ต้องประกอบกับมีธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ก็เหมือนมีเกราะใจที่คอยปกป้อง คุ้มครอง หรือช่วยบริหารจัดการกับสิ่งที่เป็นอกุศลเข้ามากระทบใจ ชีวิตของเราก็จะมีภูมิคุ้มกันทั้งกายและใจ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข    

พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

“เมตตา ให้อภัย และวางใจให้เป็น สร้างเกราะใจให้ชีวิต” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนธรรมให้ถึงโลก (หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑ )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here