วันนี้ วันพระ วันศุกร์ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๘. วัดเฉวงในอดีต ๙. อสุภสัญญา มรณานุสติกรรมฐาน

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

.

วัดเฉวงในอดีต

               วัดสว่างอารมณ์  เดิมชื่อว่า วัดเฉวง  แปลว่า สว่าง เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อผุด  อำเภอเกาะสมุย  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ตามประวัติระบุว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๗ โดยพระอาจารย์แก้ว เป็นผู้มอบที่ดินมรดกเนื้อที่จํานวน ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๔๙ ตารางวา  เพื่อสร้างวัด พระประธานภายในอุโบสถหลังเดิม ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีบรรพชาสามเณรเกี่ยวนั้น เป็นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๒๗ นิ้ว สูง ๔๒ นิ้ว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕  เขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง ๘ เมตร  ยาว ๑๐ เมตร โดย พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) เจ้าคณะแขวง  เป็นผู้ดําเนินการขอพระราชทานวิสุงคามสีมา

ภายหลัง เมื่อ พระครูประภาตธรรมคุณ (สงัด สุธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส เห็นว่า อุโบสถหลังเก่าที่สร้างมาพร้อมกับการตั้งวัดนั้นเล็กไป จึงได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น พระประธานปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๙๙ นิ้ว  โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘  ผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม  พ.ศ.๒๕๕๙ เขตวิสุงคามสีมา ขนาดกว้าง ๓๙ เมตร ยาว ๕๓ เมตร

     นอกจากนั้น วัดเฉวง (วัดสว่างอารมณ์) ยังมีที่ธรณีสงฆ์อีกแห่ง อยู่บนเขาหัวจุก เป็นที่สำหรับปลีกวิเวกเจริญวิปัสสนาของพระวิปัสสนาจารย์เกาะสมุย โดยในปี พ.ศ.๒๔๗๙ หลวงปู่กลบ อินฺทสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดเฉวง ได้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทจําลองมาประดิษฐานบนเขาหัวจุก  เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา 

ต่อมา ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทได้ผุพังไปตามกาลเวลา พระครูประภาตธรรมคุณ (สงัด สุธมฺโม) ได้หารือเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ที่จะสร้างเจดีย์สำหรับประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ขึ้นบนเขาหัวจุก เจ้าประคุณสมเด็จ ฯ จึงได้มอบเงินสำหรับเริ่มต้นในการก่อสร้าง

พระครูวิสุทธิปัญญาคม(โอวาท ปญฺญาโสภโณ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์(วัดเฉวง) เล่าว่า ตอนนั้น หลวงพ่อสมเด็จ ฯ มอบเงินให้เป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างเจดีย์เขาหัวจุก  เดิมทีท่านปรารภว่า จะให้สร้างเจดีย์จำลองแบบไปจากภูเขาทอง เวลาเครื่องบินขึ้นลง ก็จะเห็นเจดีย์เขาหัวจุกเป็นสัญลักษณ์ของสมุย

พระครูประภาตธรรมคุณ ได้รวบรวมเงินจากศรัทธาชาวสมุยและเงินที่ท่านสะสมไว้สร้างเจดีย์จนแล้วเสร็จ ภายหลังจากสร้างเสร็จแล้ว หลวงพ่อสมเด็จ ฯ ได้มอบพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนด้วย ”

.

อสุภสัญญา มรณานุสติกรรมฐาน

            การบรรพชาเป็นสามเณร นับว่า เป็นผู้ทรงศีล  แม้จะเป็นเพียงการรักษาศีล ๑๐ ก็ตาม แต่ก็เป็นศีลแห่งพรหมจรรย์  ชื่อว่า เป็นบรรพชิต เมื่อยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  ย่อมทำให้ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์แห่งศีลได้ เพราะนอกจากจะเป็นการละเว้นการกระทำในสิ่งอันเป็นบาปอกุศลแล้ว  ยังเป็นการไม่สร้างเวรและอกุศลกรรมต่อไปอีกด้วย 

จากการที่สามเณรเกี่ยวได้บรรพชาตามคำแนะนำของตาผ้าขาว เพื่อบนให้หายจากอาการเจ็บไข้ และผู้เป็นบิดา  มารดา ตั้งใจจะให้บวชเพียงแค่ ๗ วัน ตามที่บนเอาไว้  เมื่อครบเวลาตามกำหนด ก็จะให้ลาสิกขามารับการศึกษาต่อไป

แต่ความอัศจรรย์บนโลกใบนี้ เกิดขึ้นได้เสมอ นับแต่วันที่ได้บนเอาไว้ อาการป่วยของเด็กชายเกี่ยวก็ดีขึ้น  และหลังจากบวชได้เพียงไม่กี่วัน อาการเจ็บป่วยซึ่งมีทีท่าว่าจะทรุดลงเรื่อย ๆ ก็ทุเลาลง  แล้วหายเป็นปลิดทิ้งในที่สุด         

การที่พระอุปัชฌาย์ ไม่ปล่อยสามเณรน้อยผู้เป็นศิษย์ ให้ตกอยู่ในสภาพเซื่องซึมเพราะฤทธิ์ไข้  กลับสอนให้เห็นความไม่ตั้งมั่นแห่งสังขาร ด้วยการให้พิจารณาซากศพเป็นอารมณ์  ในวันแรกที่เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เหมือนจะเป็นนิมิตหมายแห่งการฝึกจิต  ในการเจริญอสุภสัญญา อันจะเป็นเหตุให้เจริญในพระศาสนาต่อไป 

“เปลว” เป็นคำเรียกหลุมศพของชาวสมุย  ธรรมเนียมคนตายในชนบทสมัยก่อน  เมื่อนำศพมาถึงเปลวแล้วต้องเปิดฝาโลงออก ทำพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ  พระอุปัชฌาย์ได้นำสามเณรเกี่ยวผู้ซึ่งเพิ่งก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ในวันนั้น ไปพิจารณาอสุภกรรมฐาน

สามเณรเกี่ยวเห็นศพคนตาย ซึ่งเป็นศพคนแก่ในหมู่บ้าน ที่รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี  จึงเกิดภาพจำติดตา แม้จะรู้สึกหวาดกลัวตามประสาผู้อยู่ในวัยเด็ก แต่ก็ปฏิบัติตามคำสอนของพระอุปัชฌาย์อย่างว่าง่าย 

ภาพซากศพบนหลุมศพ ที่พระอุปัชฌาย์ให้สาเณรเกี่ยวไปพิจารณา ได้เกิดเป็นอสุภสัญญา  กลายเป็นภาพติดตาสามเณรน้อยเหมือนกล้องที่มีเลนซ์ดี  จนไม่อาจสลัดให้หายไปจากความทรงจำได้ 

แม้จะผ่านไปนานวัน แต่ภาพใบหน้า รูปร่างลักษณะ และเสื้อผ้าอาภรณ์ปรากฏชัดเจนในความทรงจำของสามเณรเกี่ยวตลอดมา

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘. วัดเฉวงในอดีต ๙. อสุภสัญญา มรณานุสติกรรมฐาน เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here