เด็กรุ่นใหม่เขาคิดอะไรกัน …
ตามมาฟังไอเดียและหนทางที่จะนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จอย่างมีเป้าหมายอันงดงาม
และพร้อมที่จะปล่อยวาง แล้วเริ่มต้นใหม่ เมื่อมันไม่ใช่อย่างที่คิดฝัน…
โชคดีที่มีพระเป็นโค้ช…
“เป้าหมายที่ชอบ กับวิธีการที่ใช่“
โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
ชีวิตของคนสมัยใหม่ ถูกถาโถมด้วยข้อมูลตอกย้ำว่า “ต้องสำเร็จให้เร็ว” แม้แต่ผู้เขียนก็ยังถูกเชิญให้เข้ากลุ่ม “รวยเร็ว” ซึ่งเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ไฟแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะเป็น “อายุน้อยร้อยล้าน” ก็ได้แต่อวยพรให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คิดว่าไม่ดีนะ แค่คิดว่าไม่น่าจะใช่ทางของเราเท่านั้นเอง เพราะเราไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายเดียวกันทุกคน ความสุนทรีของชีวิตเราแตกต่างกัน บางคนมีความสุนทรีกับการนำเสนอตัวตนในสื่อออนไลน์ แต่บางคนชอบที่จะสุนทรีในมุมเงียบๆ กับหนังสือเล่มโปรดโดยไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงของหน้าฟีดข่าวในสังคมออนไลน์ ไม่มีอะไรผิดเพราะมันคือ ไลฟ์สไตล์ lifestyle ที่เราเลือก
สิ่งที่อยากจะเติมเต็มก็คือ อย่าปล่อยให้ตัวเองทุกข์ในวันที่เรามีไม่เท่าคนอื่น หรืออย่ากระหายความสำเร็จมากจนเกินไป กระทั่งละเลยที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว
มีหนังสือทั้งไทยและเทศมากมายที่เขียนเชิง แนะนำให้ทำตามเพื่อประสบความสำเร็จ ก็มีแนวคิดและอาจเกิดแรงกระตุ้นให้ผลักดันตัวเองพัฒนาและก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น ให้ไปลองหาอ่านดู แต่มีบางอย่างที่หนังสือเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เขียน ก็คือ จุดจบของการไขว่คว้า อยู่ตรงไหน?
ในชีวิตจริงของคนทั่วไป จะไม่มีวันจบ แค่เราจะเปลี่ยนสิ่งที่คว้าไปเรื่อย ๆ เท่านั้นเอง และบ้างครั้งได้มาแล้วก็ยิ่งถวิลหาอยากจะคว้ามาครองเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา และตอบโจทย์การพัฒนาทางด้านวัตถุ ซึ่งถ้าเป็นไปตามกติกาที่ดีสังคมก็มีความสุข ก้าวหน้าพัฒนา แต่ถ้าไม่เป็นไปตามกติกาอย่างสุจริต สังคมก็จะเต็มไปด้วยทุจริต ผูกขาด และการไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการสร้างอาชีพ สังคมก็จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย ไม่เกิดการพัฒนา
คนชั้นสูงจะก้าวหน้าแต่รากหญ้าจะล้าหลัง นายทุนผูกขาดกลไกการตลาดไม่เอื้อให้กับเกษตรกร ข้าวสารถูกข้าวเปลือกแพง ค่าแรงต่ำค่าครองชีพสูง สังคมจะกดดันคนรุ่นใหม่ให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้น แต่ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งแบ่งแยกก็จะมีมากขึ้น การเลือกข้างจะไม่ใช่เพื่อถูกต้องแต่จะมองที่ผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้มากกว่า จุดจบของการไขว่คว้า ก็จะมาพร้อมกับความล้มละลายทางสังคม เหมือนหลายประเทศที่กำลังเผชิญอยู่
รวยเร็วเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ารวยเพราะทำเลว ผลที่ตามมา อาจจะไม่งดงามตามที่หวัง
อย่าให้ตัวเองต้องทำผิด เพียงเพราะเราคิดอยากมีเท่าคนอื่น
ถ้ามันยังไม่สำเร็จ และล้มเหลวอยู่บ่อยครั้ง ก็อย่าเพิ่งท้อแท้ใจ
ประเทศของเรานั้นเป็นดินแดนแห่งโอกาส (Land of opportunity) ผู้คนทั่วโลกต่างมุ่งมาบ้านเรา ชาวต่างชาติหลายคนปักหลักสร้างตัวที่นี่จนประสบความสำเร็จ เราเป็นคนไทยเอง มีหรือจะทำไม่ได้ เคยคุยกับคนที่รวยมากท่านหนึ่ง เป็นคนจีน ที่มาสร้างตัวในเมืองไทย ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า “แค่คิดทำ คิดหาทางทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างอดทน อดออม และฉลาดในการใช้ชีวิต” ฟังดูเป็นหลักคิดง่ายๆ ทั่วไปมาก อยากรู้สิ่งที่แตกต่างคืออะไร ได้รับคำตอบว่า “คำพูดมันเหมือนกันหมดนั่นแหละ ต่างกันที่การกระทำ”
เราส่วนใหญ่มัวแต่คิดแต่ไม่เคยลงมือทำ และเมื่อจะทำกลับไม่ศึกษาสิ่งที่ตนเองจะทำอีกทั้งยังตัดสินใจอย่างไม่รอบคอบ ทำให้คำตอบที่ได้ก็คือ ล้มเหลว แต่การล้มเหลวไม่ใช่สิ่งผิด ขั้นต่อไปเราจะต้องเรียนรู้มัน ว่าล้มเหลวเพราะอะไร แล้วจะทำให้ดีขึ้นได้ยังไง?
เมื่อไรที่ผิดพลาดและล้มเหลว อย่าจมอยู่กับอารมณ์นั้นนานจนเกินไป จงลุกขึ้นแล้วก้าวต่อ บทเรียนจากความผิดพลาดจะทำให้เราฉลาดขึ้น บอกตัวเองว่า ทุกๆ ครั้งที่ล้มเราจะก้มลงดูว่า การล้มครั้งนี้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
“ล้มเลิกได้ไหม” เคยมีคนถามหลังจากที่ล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง
ล้มเลิกไม่ใช่เรื่องผิดอะไรร้ายแรงขนาดต้องเป็นทุกข์กับมันมาก เราเลิกเพราะรู้แล้วว่า ทำไปก็ไม่รอด ดีกว่ารู้ว่ากำลังจะล่มก็ยอมจมไปกับมัน บางทีเป้าหมายเราชัดเจนแล้วแต่วิธีการมันอาจจะยังไม่ใช่ก็เป็นได้
นึกถึงเจ้าชายสิทธัตถะ ทรมานร่างกายมานานตั้ง ๖ ปี ไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จ
แต่เมื่อเลิกทางผิด กลับมาเลือกทางใหม่และเป็นทางที่ “ใช่” ก็สามารถสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจไว้
เพราะฉะนั้น เป้าหมายที่ชอบ อาจจะต้องมีวิธีการที่ใช่ด้วย
เหมือนอย่างหลายคนเขาพูดกัน “ขยันผิดที่ ๑๐ ปี ก็ไม่รวย”
ฉะนั้นแล้ว ก็ขอให้กำลังใจทุกคนที่กำลังไขว่คว้าล่าความฝัน และส่งแรงใจให้คนท้อขอให้กลับมามีแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ชีวิตต่อไป บางทีฝันที่เป็นจริงอาจรออยู่ไม่ไกลนี่เอง
คอลัมน์ โชคดีที่มีพระ โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒