จงทำใจให้หนักแน่นเหมือนพระพุทธ
จงทำวาจาให้บริสุทธิ์เหมือนพระธรรม
จงทำกายให้งามขำเหมือนพระสงฆ์

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

 คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๑

“หนังสือ สามชีวิตในอเมริกา บันทึกของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” นี้  หลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระราชมังคลาจารย์  ได้บันทึกไว้ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวรเวที  เมื่อพ.ศ.๒๕๑๕  เป็นบันทึกประจำวันในรูปจดหมาย  เขียนถึงพระเถระ ๓ รูปของวัดปากน้ำคือ ๑. พระครูปลัดพาย  ๒. พระครูวินัยธรจรูญ  และ ๓. พระครูสังฆรักษ์สงัด รวม ๘๒ ฉบับ

เล่าเหตุการณ์ในแต่ละวัน  โดยระบุสถานที่  ชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้อง  พร้อมทั้งสอดแทรกธรรมะและอารมณ์ขันไปโดยตลอด  แสดงให้เห็นความเป็นอยู่ของชาวไทยในสหรัฐอเมริกาเวลานั้น  ภาพความรักความเคารพต่อพระสงฆ์  รวมถึงความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาของชาวตะวันตกสมัยนั้นด้วย

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว  ได้มีการซ่อมตึกมงคลจันทสร  ที่สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งประสบปัญหาปลวกทำลายเครื่องไม้และเอกสารเสียหายเป็นจำนวนมาก  ท่านเจ้าคุณพระวิเทศโพธิคุณ (ปัจจุบัน ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ญี่ปุ่น เขตนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งพำนักอยู่บนตึกดังกล่าว  ได้มอบสมุดบันทึกที่รอดพ้นจากปลวกให้ผู้รวบรวมได้ศึกษาและเก็บรักษาไว้

ในปีนี้หลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้มีเมตตาถามผู้รวบรวมว่า  มีต้นฉบับหนังสืออะไรที่จะพิมพ์แจกได้บ้าง  ผู้รวบรวมจึงได้เสนอเพื่อจัดพิมพ์บันทึกดังกล่าวเป็นธรรมบรรณาการ  ดังที่ปรากฏอยู่ในมือของท่านผู้อ่านนี้

ขออนุโมทนา  คุณครูโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) และคณะศิษย์ มจร. วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์  ที่ได้ช่วยพิมพ์ต้นฉบับภายใน ๓ วัน  และโรงพิมพ์เอกพิมพ์ไทย ที่ได้อนุเคราะห์เร่งจัดพิมพ์ภายใน ๔ วัน

ด้วยเวลาในการจัดพิมพ์ที่จำกัด  ย่อมมีข้อบกพร่องเป็นธรรมดา  ผู้รวบรวมขอน้อมรับ และขออภัยมา ณ ที่นี้  ความดีทั้งปวงขอน้อมเป็นเครื่องบูชาแด่หลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เทอญ ฯ

พระมหา ดร.วรัญญู วรญฺญู

คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๒

หนังสือ “สามชีวิตในอเมริกา” เป็นสมุดบันทึกประจำวันของข้าพเจ้า  เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่  พระเทพวรเวที  ได้รับเชิญชวนจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.๙ ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่  พระธรรมคุณาภรณ์  ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) (ปัจจุบัน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี  ให้ร่วมเดินทางไปเผยแผ่และศึกษางานพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อปี  ๒๕๑๕  เป็นเวลา ๘๐ วัน  ได้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๖ เมื่อคราวทำบุญอายุ ๘๘ ปีของข้าพเจ้า

ต่อมาเมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ถึงแก่มรณภาพลง  จึงได้นึกถึงว่าจะทำของที่ระลึกเป็นอนุสรณ์ในงานออกมาเมรุพระราชทานสักอย่าง   เห็นว่าหนังสือ “สามชีวิตในอเมริกา” นี้  มีประโยชน์เพราะบันทึกเหตุการณ์ที่เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ ได้ปฏิบัติศาสนกิจในฐานะผู้บุกเบิกงานพระธรรมทูตไทย  ในต่างแดนยุคแรก ๆ จึงได้มอบหมายให้พระครูปลัดสัมพิพัฒนปัญญาจารย์ วรัญญู ผจล.วัดปากน้ำ  ได้ดำเนินการจัดพิมพ์ โดยพิมพ์ประวัติของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไว้เบื้องต้น  และเพิ่มเติมรูปที่เกี่ยวข้อง 

ขอขอบใจพระครูมงคลรัตนวิเทศ  วัดมงคลเทพมุนี  สหรัฐอเมริกา  ที่ได้ประสานกับคุณมนัส โอวาทสาร  ขอภาพเก่า และถ่ายภาพบ้านเก่าส่งมาให้

ขอคุณความดีจากหนังสือนี้  จงอำนวยผลให้เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้บรรลุที่สุดแห่งทุกข์ คือ พระนิพพานเทอญฯ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

เปิดบันทึก “สามชีวิตในอเมริกา ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)” ฉบับที่ ๖๑

 บ้านโอวาทสาร เมืองฟิลาเดลเฟีย  รัฐเพนน์ซิลวาเนีย ๒๒ เมษายน ๒๕๑๕

 ท่านพระครูวินัยธรจรูญที่รัก

พรุ่งนี้แล้วที่คณะของเราจะเดินทางออกจากสหรัฐอเมริกา  โดยออกจากเมืองฟิลาเดลเฟีย  รัฐเพนซิลวาเนีย  บ้านโอวาทสารของคุณมนัส  คุณบุญเจียม  เปรียบเสมือนวัดอันเป็นสำนักที่อาศัยตลอดระยะเวลานั้น  ทุกท่านตั้งต้นแต่ท่านนายกสมาคมไทย  เมืองฟิลาเดลเฟีย  คือคุณหมออุดม  สุวรรณศรี  ได้ให้อุปการะทุกประการ  คณะของเราไม่มีอะไรอื่นที่จะให้เป็นของปฏิบัติการะ  นอกจากขออนุโมทนาให้ทุกท่านประสบสุข  ปราศจากทุกข์  ขอให้สำเร็จสมมโนรถในสิ่งที่พึงปรารถนา  อันเป็นไปในทางที่ชอบ

 ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นชาวพุทธ  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาไปอยู่ในแดนไกล  ห่างเหินต่อการได้เห็นพระภิกษุสงฆ์  ในคราวนี้ที่มีคณะของเรา ๓ รูป  เดินทางไปพักอยู่นาน  จึงมีความยินดี  แต่พรุ่งนี้พระก็จะลาแล้ว  จึงถือจึงขอถือโอกาสนี้มอบอนุโมทนาไว้อีกอย่างหนึ่งคือ

ขอให้ท่านทั้งหลาย  จงสร้างพระขึ้นในตัวของท่านเอง  ทั้งพระพุทธ  ทั้งพระธรรม  ทั้งพระสงฆ์  การสร้างนี้ก็คงจะสร้างด้วยการเปรียบเทียบ  พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้  จะขอเปรียบด้วยความรู้  พระธรรมเป็นสภาพทรงความจริง  จะขอเปรียบด้วยการทรงความจริง   พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระพุทธเจ้า  จะขอเปรียบด้วยการประพฤติปฏิบัติของตัวเอง

ความพากเพียรพยายามศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้  สร้างความรู้ให้แก่ตนเอง  เท่ากับว่าได้สร้างพระพุทธไว้กับตน 

การกำหนดจดจำทรงจำวิชาความรู้เหล่านั้นไว้ได้แม่นยำ  ไม่เลอะเลือน  เท่ากับว่าได้สร้างพระธรรมไว้กับตน

การประพฤติดีปฏิบัติชอบของตนเอง  ตามความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาและที่ได้ทรงจำไว้นั้น  เท่ากับว่าได้สร้างพระสงฆ์ไว้กับตน

ขอให้ท่านทั้งหลายจงสร้างความรู้  จงทรงจำความรู้ จงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามความรู้ให้แก่ตนเองเถิด  จะเกิดประโยชน์โสตถิผลอย่างยิ่งใหญ่ไพศาล  จะอำนวยความสุขความเจริญตลอดกาลทุกเมื่อ

เช่นนี้  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะมีอยู่แก่ตัวของท่านเองและการเปรียบอย่างนี้  คงจะเป็นเพียงอัตโนมัติ ต้องขออภัยต่อท่านผู้รู้ไว้ด้วย…

พระเทพวรเวที (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์)

ประวัติโดยสังเขป

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)

สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏฝ่ายมหานิกาย

อดีตเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ,

อดีตประธานสมัชชามหาคณิสสร และอดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ นามเดิม ช่วง นามสกุล สุดประเสริฐ เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๘ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

บรรพชา -อุปสมบท

เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี จึงได้บรรพชาเมื่อวันจันทร์ที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๒ ณ วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยมีพระครูศีลาภิรัต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยมีพระครูบริหารบรมธาตุ (ป่วน เกสโร) วัดนางชี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายานามว่า “วรปุญฺโญ”

เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี ๒๔๙๙ และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี ๒๕๐๘ สร้างสำนักเรียนวัดปากน้ำให้มีชื่อเสียงด้วยเป็นสำนักเรียนที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นสนามสอบบาลีชั้นประโยค ป.ธ.๕ ในภูมิภาค

เจ้าพระคุณสมเด็จช่วง มีความแตกฉานทางภาษาบาลี สามารถสนทนาภาษาบาลีได้ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่กองบาลีสนามหลวง เมื่อปี ๒๕๓๙ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญยิ่งของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของพระภิกษุสงฆ์

การศึกษา 

พุทธศักราช ๒๔๘๐ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนประชาบาล วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

พุทธศักราช ๒๔๘๔ นักธรรมชั้นโท วัดสังฆราชา เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

พุทธศักราช ๒๔๙๐ นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

พุทธศักราช ๒๔๙๒ เปรียญธรรม ๗ ประโยค สำนักเรียนวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

พุทธศักราช ๒๔๙๗ เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ทั้งยังได้รับการถวายปริญญาอีกหลายแห่ง เช่น ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ,ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย ประเทศศรีลังกา ,ได้รับถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสังฆสภาอินเดีย ประเทศอินเดีย

และได้รับการถวายสมณศักดิ์จากหลายประเทศ อาทิได้รับสมณศักดิ์จากบังกลาเทศ ที่พระศาสนธชมหาปัญญาสาระ ,ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกาย ที่ พระชินวรศาสนโสภณเตปิฏกวิสารทคณปาโมกขาจริยะ ,ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายอัสสคิริยะ ที่ พระศาสนโชติกสัทธัมมวิรทวิมลกิตติสิริ และได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกาสยามวงศ์ ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิริเตปิฏกวิสารโท ,ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระติปิฏกบัณฑิตธัมมกิตติสสิริยติสังฆปติ ,ได้รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฏเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายธรรมธีรราชมหามุนีเถระ

ต่อมา รัฐบาลเมียนมา ถวาย “อัคคมหาบัณฑิต” ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระองค์ที่ ๒๐ มีพระบัญชาตั้งท่านเป็นประธานอำนวยการโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มมาแต่ต้น

งานด้านสาธารณประโยชน์  สร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ตั้งชื่อวัดว่า “วัดมงคลเทพมุนี” เมืองฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่เผยแผ่และปฏิบัติธรรมของชาวไทยและชาวต่างชาติมาถึงปัจจุบัน ,ได้ริเริ่มก่อสร้างวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นตั้งชื่อว่า “วัดปากน้ำญี่ปุ่น” เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ,ก่อตั้ง “มูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ” เพื่อนำดอกผลของมูลนิธิใช้ในการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ และได้ชักชวนสาธุชนร่วมสมทบทุนในโอกาสต่าง ๆได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย  เป็นต้น

ตำแหน่งฝ่ายปกครอง

พุทธศักราช ๒๔๙๕ เป็นเลขานุการสังฆนายก สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภโณ)

พุทธศักราช ๒๔๙๙ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พระอารามหลวง)

พุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นพระอุปัชฌาย์

พุทธศักราช ๒๕๐๗ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๓

พุทธศักราช ๒๕๐๘ เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พระอารามหลวง)

พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๑๖ เป็นเจ้าคณะภาค ๓ รวม ๒ สมัย

พุทธศักราช ๒๕๑๗ – ๒๕๒๘ เป็นเจ้าคณะภาค ๑๗ รวม ๓ สมัย

พุทธศักราช ๒๕๒๘ – ๒๕๓๗ เป็นเจ้าคณะภาค ๗

พุทธศักราช ๒๕๓๒ – ๒๕๖๒ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

พุทธศักราช ๒๕๓๓ -๒๕๔๘ เป็นคณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.)

พุทธศักราช ๒๕๓๓ – ๒๕๖๔ เป็นคณะกรรมการ ศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.)

พุทธศักราช ๒๕๓๗ – ๒๕๕๘ เป็นเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ

พุทธศักราช ๒๕๔๘ เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พุทธศักราช ๒๕๕๖ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พุทธศักราช ๒๕๕๗ – ๒๕๖๐ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

พุทธศักราช ๒๕๕๖ – ๒๕๖๔ ประธานสมัชชามหาคณิสสร

ตำแหน่งพิเศษ

พุทธศักราช ๒๕๙๘ เป็นองค์สังคีติการกคณะสงฆ์ไทย ไปร่วมประชุมปฏิบัติงานสังคายนาพระไตรปิฎกภาษาบาลี

พุทธศักราช ๒๕๒๔ – ๒๕๖๔ เป็นประธานมูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ ม.ส.จ.

พุทธศักราช ๒๕๓๔ – ๒๕๖๔ ประธานคณะอนุกรรมการจัดหาทุนสร้างพุทธมณฑลฝ่ายสงฆ์

กรรมาธิการแห่งสังคีติการกสงฆ์ในการสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระเกียรติกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ ฝ่ายบรรพชิต

คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายจัดหาทุนก่อสร้างวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล

เป็นประธานในพิธีมอบสัญญาบัตรพัดยศแก่พระครูสัญญาบัตรที่ได้รับพระราชทานตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์

เป็นประธานในพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม ๓ ประโยค

เป็นประธานในพิธีประสาทปริญญาบัตร แก่มหาวิทยาลัยของคณะสงฆ์ไทย ทั้ง ๒ แห่ง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สมณศักดิ์

พุทธศักราช ๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี

พุทธศักราช ๒๕๐๕ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที ตรีปิฎกภูสิต ธรรมบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พุทธศักราช ๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพวรเวที นรสีห์ธรรมานุนายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พุทธศักราช ๒๕๑๖ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณ วิศาลปริยัติกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พุทธศักราช ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระธรรมปัญญาบดี ศรีวิสุทธิคุณ สุนทรวรนายก ดิลกธรรมนุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พุทธศักราช ๒๕๓๘ ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไพศาลหิตานุหิตวิธาน ปฏิภาณสุธรรมภาณี ศรีสังฆโสภณ วิมลศีลาจารย์นิวิฐ ตรีปิฏกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) มรณภาพด้วยอาการสงบในช่วงเช้าของวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ สิริอายุ ๙๖ ปี พรรษา ๗๖

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here