“เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลังสร้างสรรค์ไม่รู้จบ” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
“ความรู้สึกเจ็บจึงเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัย
ให้ระมัดระวัง หรือรอบคอบมากขึ้น”
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
“เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลังสร้างสรรค์ไม่รู้จบ”
ธรรมชาติให้ความรู้สึกเจ็บปวดมาไว้เป็นเครื่องเตือนสติ กระตุ้นให้เห็นอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น เหมือนขณะที่เราเดินเท้าเปล่าไปช้า ๆ ที่สนามหญ้า ทันใดนั้นผิวผ่าเท้าสัมผัสวัสดุแข็งแหลมจนรู้สึกเจ็บจี๊ดๆ ขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ปลายประสาทก็ส่งข่าวให้สมองรับรู้อย่างรวดเร็วสั่งเท้าอย่าพึ่งเหยียบลงไป ยั้งและยกออกมาพบว่า เป็นตะปูขนาดเล็ก ถ้าเหยียบลงไปมากกว่านี้คงระทมทุกข์ไปนาน ความรู้สึกเจ็บจึงเป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัย ให้เราระมัดระวังในการเดิน หรือมีความรอบคอบต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงศ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
ความทุกข์
หรือความรู้สึกเจ็บปวดเพราะความผิดหวัง
จึงเป็นสิ่งที่ดี
เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิต
ซึ่งมักคอยเตือนเราอยู่เสมอ
ถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
คนที่เคยรักกันจนแต่งงาน ไม่กี่วันก็สามารถที่จะทะเลาะขัดแย้งกันได้ ยิ่งถ้ายังไม่แต่งงานกลับมาขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ก็ถือว่าดีมากๆ เพราะขนาดยังไม่แต่งงานเขาก็ยังเห็นกำไรตัวเองเป็นสำคัญ ไม่คำนึงถึงทุนที่เราขาดไป โดยเฉพาะความจริงใจที่ทุ่มเทให้ไป เขาเผยธาตุร้ายตั้งแต่วันนี้ยังดีกว่าเรานึกว่าเขาดีจนถึงวันที่สายไป
ชีวิตคู่หากอยู่กันอย่างเข้าใจมีอะไรก็ยืดหยุ่นแก่กันและกัน มันก็จะเป็น “คู่สร้างคู่สม” แต่ถ้าอยู่กันแบบคู่มวยซ้อมหมัดศอกกันทุกวัน ไม่นานก็กลายเป็น “คู่แค้น” และส่วนใหญ่ผู้หญิงก็จะแค้นนานลึกจนกลายเป็น “นางแค้น” ในที่สุด ชีวิตก็หาสุขไม่ได้ (แต่ก็ไม่แน่เสมอไป ขึ้นชื่อว่า ความแค้น ผู้ชายที่แค้นนาน แค้นลึกก็มีเหมือนกัน ไม่ต่างกัน หากขาดสติให้กิเลสครองใจจนตกเป็นทาส ) สุดท้ายก็ทำร้ายตนเองและคนอื่น สร้างทุกข์ต่อกันผูกพันกันในอีกรูปแบบหนึ่งเรียกว่า “คู่เวร” จองเวรกันข้ามภพข้ามชาติ ไม่มีใครอยากให้ชีวิตเป็นแบบนั้นแน่นอน
หากสุดท้ายคำว่า “หย่า” เป็นสิ่งที่ทั้งคู่คิดจะเลือก มันก็ยากที่ใครจะทัดทานได้ ถึงจะเสียใจอยู่บ้างแต่เส้นทางชีวิตยังอีกไกล ถึงอย่างไรก็ต้องเดินต่อ บางทีจากแล้วจบให้ความรู้สึกเจ็บบรรเทา อาจจะดีกว่าเจ็บไม่จางเพราะอยู่ด้วยกันอย่างไม่ถนอมรัก แรกๆ ใจอาจจะยังไม่หายเจ็บ สักพักมันก็จะกลายเป็นแค่ความทรงจำเก่าๆ
หลายคนเมื่อพูดถึงชีวิตคู่ ก็มักจะคิดแค่คนสองคน แต่จริงๆ แล้ว บางครั้งมีมากกว่า ๒ คน เมื่อพ่อแม่แยกทางกัน แล้วลูกน้อยนั้นจะอยู่อย่างไร บ่อยครั้งที่คุยกันกับพระที่สอนศีลธรรม ได้รับเสียงสะท้อนว่า พักหลังๆ มานี้ พูดเรื่องกตัญญูต่อพ่อแม่ได้ลำบากมาก เพราะเด็กบางกลุ่มไม่เคยได้มีพ่อแม่เป็นบุพพการี ความรู้สึกว่าจะต้องมีความกตัญญูจึงไม่ค่อยรู้สึก
“เหมือนพ่อแม่ได้สร้างตัวหนูขึ้นมา แล้วก็พรากจิตวิญญาณหนูไป”
สหายธรรมท่านหนึ่งเล่าถึงความรู้สึกบางอย่างที่ได้รับรู้มาจากเด็ก
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป ในค่าย “ปลูกจิตอาสานาข่าวิทยาคม” จัดขึ้น ณ พุทธมณฑลอีสาน พระธาตุนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
เรามีการอบรมให้เด็กเกิดความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่
ก็น่าจะมีการอบรมพ่อแม่ให้ทำหน้าที่ที่ดีต่อลูกเช่นเดียวกัน
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
เพราะการส่งเสริมคุณธรรมความดี ใช้การปลูกฝังให้เกิดเป็นนิสัยอยู่ในใจ ไม่ใช่แค่สอนให้จำแต่ไม่ได้เอาไม่ทำ แค่นำไปสอบอย่างเดียว เป็นส่วนหนึ่งของบทสรุปจากการถอดบทเรียนร่วมกัน
หน้าที่ของคู่ครอง คือการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ให้กำเนิดเกิดลูกรักขึ้นมาแล้ว ก็ต้องอบรมเลี้ยงดูทั้งทางกาย ให้เติบโตมีพลานามัยที่แข็งแรง และหน้าที่ของพ่อแม่ใน สิงคาลสูตร บอกว่า
๑.ห้ามไม่ให้ลูกทำชั่ว
๒. สอนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓.ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔.หาคู่ครองที่สมควรให้
๕.มอบสมบัติให้ในเวลาอันสมควร
ขั้นต้นจะเห็นว่าเป็นการบ่มเพาะให้ลูกเป็นคนดีตั้งแต่ที่บ้าน การสร้างนิสัยจึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะกล่อมเกลาให้เด็กมีลักษณะอย่างไร เด็กดีจึงเริ่มต้นที่บ้าน พ่อแม่คือสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของลูก
จากนั้นพ่อแม่ก็มีหน้าที่ส่งเสริมให้ลูกได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี คำว่าศึกษาศิลปวิทยา ในที่นี้ไม่ใช่แค่การศึกษาในห้องเรียนตามระบบ แต่หมายถึงการปลูกฝังอุปนิสัยรักการเรียนรู้และฝึกทักษะสำคัญประจำตัว ให้มีทักษะพื้นฐานเอาตัวรอดและมีความสามารถในการประกอบอาชีพ สังเกตได้ถึงอดีตที่พ่อแม่จะให้ลูกช่วยงานและฝึกงาน จนสามารถสืบทอดกิจการของบ้านได้ การศึกษามีเงินพ่อแม่ก็ส่งเรียนได้ หรือมีทุนให้กู้ยืม แต่นิสัยรักการเรียนรู้นั้น ขึ้นอยู่ที่พ่อแม่จะปลูกฝังให้ตั้งแต่เด็กๆ
ส่วนเรื่องคู่ครองและการมอบทรัพย์มรดกนั้น สมัยนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่พ่อแม่ก็ต้องดูแลให้ความรักของลูกให้อยู่ในครรลองที่เหมาะสม พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมให้ลูกได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้นำครอบครัวในอนาคต ไม่ว่าลูกสาวลูกชาย เมื่อโลกผ่านมาถึงยุคนี้ ทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะการบริหารจัดการตนเองที่ดี (oneself management) โดยเฉพาะการดูแลตนเองในด้านอารมณ์ เพื่อให้จิตใจมั่นคงเข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญปัญหาและอุปสรรคในอนาคต
คนที่มีจิตใจมั่นคงจะสามารถปรับตัวได้ทันทีเมื่อมีวิกฤติ เก็บทุกเรื่องเจ็บให้เป็นบทเรียน เปลี่ยนทุกอุปสรรคให้กลายเป็นอุปกรณ์ในการฝึกตน ต่อให้เจอสักร้อยความผิดหวังพลังแห่งการสร้างสรรค์ก็ยังคงเต็มเปี่ยม จะดีแค่ไหนลองคิดดู?
“เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลังสร้างสรรค์ไม่รู้จบ” เขียนโดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
(หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐)