เปิดมุมมองการศึกษาของเด็กและเยาวชนจากเชียงตุง

ศึกษาวิถีชีวิตผ่านการศึกษา วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา และพระพุทธศาสนาอันเป็นรากเหง้าของชาวไทใหญ่ที่กำลังก้าวไปในอนาคต ที่น่าสนใจเรียนรู้ จากมุมมองของพระสงฆ์ไทย ที่ชวนให้เรากลับมาหารากเหง้าของเราเอง

กับคำถามว่า เรา …กำลังทำให้พระพุทธศาสนาหายไปจากระบบการศึกษาไทยกันหรือเปล่า ? และเราจะช่วยกันพลิกฟื้นวิถีพุทธในการศึกษาของเด็กและเยาวชนอย่างไร เพื่อให้การก้าวไปข้างหน้าอุดมด้วยปัญญาพร้อมคุณธรรมความดีงามในจิตใจ

เชียงตุง : ศึกษาบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาเยาวชนเพื่อศตวรรษที่ ๒๑

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

           ได้มีโอกาสติดตามคณะนักวิจัยของศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ลงพื้นที่ทำวิจัยเชิงอาณาบริเวณศึกษาในเชียงตุง สหภาพเมียนมาร์ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์สำคัญที่ทำให้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้แต่แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย 

           เชียงตุง มีประชากรส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ซึ่งก็มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกไปอีกมากมาย  แต่บนความหลากหลายนั้นกลับร้อยรัดกันด้วยแนวคิดทางพระพุทธศาสนา ทำให้เสน่ห์ของที่นี่ก็คือความเป็นวิถีพุทธ 

           วิถีพุทธในเชียงตุงเป็นไปโดยธรรมชาติ  กิจกรรมทุกๆ อย่างเกิดขึ้นด้วยความเป็นวิถีชีวิตและเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของตนเอง  หากดูโดยผิวเผินก็จะเห็นแค่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่จะไม่เข้าใจในความหมายของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นแล้ว  นักวิจัยจึงต้องค้นหาความหมายที่ซ่อนอยู่หลังปรากฏการณ์นั่นเอง เพื่อให้รู้เหตุปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน 

           แม้จะมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย แต่ที่สะดุดใจผู้เขียนเป็นพิเศษก็คือ การค้นพบแหล่งเรียนรู้ของกลุ่มคนไทใหญ่ ที่ใช้เป็นสถานที่บ่มเพาะสมาชิกใหม่ของตนเองให้เป็นคนที่มีความรู้  มีความเข้าใจและซาบซึ้งในความเป็นไทใหญ่ของตนเอง 

เชียงตุง : ศึกษาบทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาเยาวชนเพื่อศตวรรษที่ ๒๑ โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

แห่งแรกคือ วัดหนองม้า อยู่นอกเชียงตุงไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร พื้นที่ไม่กว้างมากประมาณ ๔ ไร่ กว่า มีอาคารกุฏิสงฆ์ ๑ หลัง พระ ๑ เณร ๕ วิหาร ๑ หลัง อาคารโล่งใช้เป็นห้องเรียน ๓ หลัง ศาลามุงหญ้าคา ๑ หลังใหญ่ใช้เป็นห้องประชุมรวม และต้นไฮใหญ่ ๑ ต้น ใช้เป็นร่มให้ทุกคนได้อาศัย  ที่นี่เปิดเป็นโรงเรียนภาคฤดูร้อน  หลังจากปิดเทอมใหญ่ เชียงตุงจะปิดเรียนประมาณเกือบ ๓ เดือน  ช่วงนี้ วัดหนองม้า จึงเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมไทเขิน และพระพุทธศาสนา ให้กับเด็กๆ ซึ่งมีจำนวน เกือบ ๔๐๐ คน เปิดเรียนทุกวัน หยุดแค่วันพระ  เรียนฟรี มีอาหารเลี้ยง  เด็กมาจากหลายตำบล แบ่งเป็น ๓ ชั้น ต้น กลาง, ปลาย  วิชาที่เรียนเน้น ภาษาไทเขิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มภาษาไทใหญ่ อักษรมีลักษณะหัวกลม  เพราะนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนจะต้องเรียนภาษาพม่า เพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้าของตนเอง พระสงฆ์และพ่อแม่จึงส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ของตนเอง 

นอกจากเรียนภาษาแล้วก็มีการสอนวัฒนธรรม และสอนพระพุทธศาสนา การเรียนแบ่งเป็น เช้า และ บ่าย ครูส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ และมีอาสาสอนวิชาอื่นๆ  ความเข้มข้นของการพยายามให้เด็กไทใหญ่ดำรงไว้ซึ่งรากเหง้าของตนเอง เห็นแล้วก็น่าชื่นชม โรงเรียนในลักษณะนี้ในไทยไม่ค่อยมี แม้จะมีโครงการบวชเณรฤดูร้อน ก็น่าจะไม่เพียงพอ แต่เราก็ยังต้องแข่งกับระบบการเรียน ทั้งซัมเมอร์ เรียนพิเศษ ฯลฯ

แห่งที่สอง  ศูนย์ภาษาอังกฤษ วัดยางปู เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ตั้งอยู่ที่วัดยางปู โดยมีหลวงพ่อโชติกะ เป็นเจ้าอาวาสและเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียน  ที่นี่ถือว่าเป็นโรงเรียนกินนอน  หรือโรงเรียนประจำ มีอาคารที่พักชาย – หญิง หันหน้าเข้าหากันกั้นด้วยสนามฟุตบอล  ห้องเรียนก็คือศาลาวัด และใต้กุฏิพระ  เปิดสอนภาษาอังกฤษ ในหลักสูตร ๘ เดือน ค่าเทอมประมาณ ๓๐,๐๐๐ บาทไทย ตลอดหลักสูตร

นักเรียนกินและนอนที่นี่ มีการแบ่งงานทำครัว ผ่าฟืน และทำสวนผัก ทำความสะอาด  นักเรียนส่วนมากเป็นไทใหญ่ ที่มาจากหลายเมือง มีบางคนพูดได้ ๕ ภาษา ไทใหญ่ พม่า ไทย จีน และภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นรุ่นโต ส่วนใหญ่จะจบการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนรัฐมาแล้ว แต่มาที่นี่เพื่อฝึกภาษาอังกฤษโดยตรง

แต่ว่าเพิ่งเปิดเทอมมาได้ไม่กี่วัน ทำให้ยังไม่คล่องมากนักสำหรับเด็กเล็ก น่าสนใจที่หลวงพ่อ ไม่พัฒนาศาลาเจดีย์หรือสถานบูชา แต่มุ่งพัฒนาการศึกษาของเด็กมากกว่า ห้องเรียนไม่ต้องสะดวกมาก หลวงพ่อบอกว่า “เรียนในชีวิตเลย” หมายถึง เรียนในชีวิตประจำวัน และก็จะมีการสอนวัฒนธรรมไทใหญ่  และฝึกทักษะชีวิต  ทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อโชติกะพูดภาษาอังกฤษ ไม่ได้ แต่ว่าท่านพูดภาษาท้องถิ่นได้ ๖ ภาษา

ผลผลิตของที่นี่ จากที่พบเห็นศิษย์เก่าที่เป็นพระกำลังจะจบเอแบค กับม่อนแก้วนักธุรกิจนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ของเชียงตุง และได้รับคำชมจากคณาจารย์ มจร. หลายท่านเกี่ยวกับนักเรียนที่จบจากสถาบันแห่งนี้ถือว่ามีคุณภาพมาก  เป็นอีกแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจมากสำหรับการจัดการศึกษาของพระสงฆ์ไทใหญ่เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน แต่ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าเด็กที่มาที่นี่ล้วนแต่ตั้งใจและมุ่งมั่นมาก

เมื่อถอดบทเรียนของทั้งสองแห่ง พบว่า

๑. พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญมากต่อการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม หรือรากเหง้าของชุมชน  เพราะศูนย์ศึกษาสำคัญที่ลงพื้นที่ไป  พบว่า พระสงฆ์ขับเคลื่อนงานด้านนี้อย่างมีประสิทธิภาพและดูเหมือนจะเป็นความหวังของประชาชน

๒. การใช้ภาษอังกฤษเป็นเครื่องมือในการดึงเยาวชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบ  ต่อวิถีชีวิตของความเป็นไทใหญ่  และยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพให้เด็กนักเรียน ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือเพื่อก้าวไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑

๓.  รัฐบาลส่งเสริมได้เฉพาะการศึกษาตามแกนหลักของกระทรวง  วัดหรือพระสงฆ์จึงต้องร่วมกับชุมชนเพื่อจัดระบบการศึกษาในรูปแบบของหลักสูตรท้องถิ่นศึกษาขึ้นมาเอง  เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นและความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง  และด้วยความประสานกันอย่างเหนียวแน่นระหว่างสงฆ์และประชาชน ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านนี้มีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลอย่างมาก 

๔.  ความสามัคคีของสงฆ์คือหัวใจสำคัญ พระสงฆ์ไทใหญ่ในเชียงตุง แม้จะมีอัตลักษณ์บางอย่างที่แตกต่างกัน แต่ก็มีความกลมเกลียวเหนียวแน่นอย่างมาก  และส่งเสริมซึ่งกันและกัน แม้จะไม่เห็นด้วยแต่ก็เห็นประโยชน์ร่วมกัน จึงสามารถขับเคลื่อนงานพัฒนาเยาวชนได้อย่างน่าสนใจ

นอกจากความสามัคคีของสงฆ์ที่น่าสนใจแล้ว  ยังพบว่า วิสัยทัศน์ของผู้นำสงฆ์  เป็นตัวเปิดทางให้พระสงฆ์ได้ทำงานเพื่อพัฒนาเด็กอันเป็นอนาคตของชาตินั้นได้มีความฉลาดในการใช้ชีวิต  และการใช้โอกาสตามยุคสมัยให้เป็นเครื่องมือในการทำนุรักษาไว้ซึ่งรากเหง้าของตนเอง ตลอดจนถึงแผ่ขยายออกไปให้ถึงที่สุด

พระพุทธศาสนาในอาเซียนยังมีอีกมากมายให้ค้นหา  และคนไทยเองนั้นก็ยังไม่ค่อยได้รู้จัก  การศึกษาให้รู้เขา  รู้เราจึงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น  แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นก็คือ  อย่าไปมองเขาแล้วเอาตัวเองไปตัดสิน  ให้มองเขาอย่างที่เขาเป็น  แล้วเราก็จะเห็นและเข้าใจตามความเป็นจริง

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป
พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here