ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาบรรยากาศบ้านเรานั้นอบอวนไปด้วยการทำบุญวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา อีกทั้งเป็นช่วงเวลาอันงดงามที่ได้ทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ถวายสิ่งอันจำเป็นแก่พระสงฆ์เพื่อที่จะดำรงสมณธรรมในช่วงเข้าพรรษา

มีคนถามผู้เขียนว่าจะถวายอะไรดี เพราะถวายเทียนก็มีไฟฟ้าแล้วสมัยนี้ ซึ่งก็จริงอย่างที่เราเข้าใจกันนั่นแหละ

แต่อยากจะขยายความเพิ่มแง่มุมอีกสักหน่อยว่า ในสังคมไทยนั้นบ่อยครั้งสิ่งที่ส่งต่อให้กับเรานั้นมันเป็นปริศนาธรรม ซึ่งเราอาจจะต้องตีความหรือกระตุ้นให้ตนเองต้องคิด หรือไตร่ตรองและพยายามมองให้เห็นทั้งเชิงลึกและคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในนั้น

เช่น การถวายเทียนพรรษา เทียนเป็นเครื่องมือในการให้แสงสว่าง ในคติพุทธศาสนานั้นเน้นให้เป็นการจุดเทียนให้เกิดแสงสว่างภายใน คือ ปัญญา

ดังนั้น การถวายเทียนเพื่อให้เป็นเครื่องมือสร้างปัญญา เราก็สามารถที่จะทำได้มากกว่าถวายเทียนหรือหลอดไฟ ไม่ใช่แค่ให้แสงสว่างภายนอกเราสามารถให้แสงสว่างภายในได้ด้วยเช่นเดียวกัน …

“เข้าพรรษา”…คุณค่าและปริศนาธรรม 

เทศกาลแห่งการศึกษาเชิงลึก

โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

เป็นต้นว่า ถวายหนังสือเรียน ถวายอุปกรณ์การเรียน ถวายค่าเทอม หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อการศึกษา ผู้เขียนยังจำได้สมัยเป็นสามเณรน้อยต้องเดินไปเรียนที่วัดในอำเภอ หลังจากฉันเพลเสร็จแล้ว บางวันนั้นแดดร้อน และบางวันฝนตก การเดินเท้ากางร่มก็สะดวกบ้างแต่ถ้าวันไหนมีโยมใจดีขับรถผ่านมาแล้วอาสาไปส่ง ความรู้สึกอิ่มและปลาบปลื้มอนุโมทนาเยอะมาก แต่ต่างจังหวัดไม่ใช่จะมีรถผ่านมาบ่อยพอที่จะไปรับส่งได้ทุกวัน

แต่ปัจจุบันบางโรงเรียนพระปริยัติธรรมจึงจำเป็นที่จะต้องหารถรับส่งพระเณรที่กระจายอยู่ในวัดต่างๆ มาเรียนที่โรงเรียนและไปส่งหลังเลิกเรียน  ในต่างจังหวัดหลายๆ วันมีพระบวชเข้าพรรษาน้อย เจ้าอาวาสก็อายุมากไม่มีกำลังในการสอน บางครั้งก็ให้อ่านหนังสือเอง แต่หนังสือก็หายาก และบางอำเภอจัดการอบรมเพื่อถวายความรู้แก่พระสงฆ์ที่บวชใหม่ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ก็เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่พระสงฆ์ หรือพระบวชใหม่ การที่เราถวายการอุปถัมภ์กิจการสงฆ์ดังกล่าว ก็เป็นการช่วยกันจุดแสงธรรมแห่งปัญญาให้แก่พระบวชใหม่ด้วยเหมือนกัน และยังมีอีกหลายกรณีที่เราอาจจะลองมองดูให้ดี

           เทียน ยังมีความหมายอีกประการก็คือ เป็นสิ่งที่เราใช้จุดเพื่อบูชาพระรัตนตรัย การจุดเทียนบูชานั้นก็ถือเป็นอามิสบูชา  จุดไปแล้วเทียนก็หมดสิ้นเปลวไฟ แต่ถ้าเราจุดไฟบูชาให้เกิดขึ้นในใจของเราเอง ด้วยการถือโอกาสในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ทำการบูชาที่เรียกว่า  ปฏิบัติบูชา คือการปฏิบัติตนตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจริงๆ เราก็ปฏิบัติกันอยู่แล้วละนับตั้งแต่ศีลห้าเป็นต้น หากเพียรพยายามก็เป็นไปได้  แต่เป็นไปได้ไหมที่จะทบทวนและพัฒนาให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณภาพจาก สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคง
แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา และพระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

เช่น สำรวจตนเองว่า อยากจะพัฒนาตนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา อย่างไรบ้าง จากนั้นเราก็ศึกษาเสาะหาหลักธรรมที่จะนำมาใช้ อาจจะเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ

เช่น ด้านปัญญา อยากจะพัฒนาตนเองทางการเรียนรู้และประสบความสำเร็จในการศึกษา ก็อาจจะเอาหลักอิทธิบาทธรรม มาประยุกต์ใช้เขียนเป็นแผนพัฒนาการตน เป็นการเฉพาะ แล้วก็ลองทำจริงๆ จังๆ

ผ่านไป ๓ เดือนเราก็มาประเมินกันดูว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงพัฒนาขึ้นบ้าง แบบนี้ก็เป็นการใช้ตัวเราเองนี่แหละเป็นภาชนะเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย ผู้เขียนก็ทำเหมือนกัน อย่าไปเขียนให้ยากเกินไป เอาให้ง่าย ทำได้จริง แล้วก็ค่อยๆ ทำ เดี๋ยวพอออกพรรษาเราก็มาแบ่งปันกันว่า ประสบการณ์ของการประยุกต์ธรรมนำชีวิต เป็นอย่างไรกันบ้าง

           ที่กล่าวมาก็เป็นเพียงตัวอย่างเปิดประเด็น เผื่อผู้อ่านบางท่านจะเห็นมุมมองเพิ่มเติม เพื่อให้เทศกาลเข้าพรรษาของเรานั้น เป็นช่วงเวลาแห่งการศึกษาและปฏิบัติธรรม ตราบใดที่ยังมีการศึกษาและปฏิบัติธรรมกันอยู่พระพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่คู่กับเรา และเราก็จะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการนับถือพระพุทธศาสนา

           พระพุทธศาสนาเป็นหลักการแห่งการเรียนรู้และพัฒนาตน  ก็อยากจะเชิญชวนให้เราได้ศึกษาและนำธรรมะบางข้อมาขบคิดและประยุกต์ใช้กับชีวิตตนเอง

           อยากให้เรานั้นเป็นผู้รู้จักธรรมและรู้จักทำ ถ้ารู้จักแค่ธรรม จำได้ใช้ไม่เป็น เห็นอะไรก็จะผิดหูผิดตาไปเสียหมด เดี๋ยวจะอดไม่ได้ที่จะไปตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น ก็เลยอยากให้เรา รู้จักทำ คือลงมือทำด้วยตัวเราเอง ทำตัวของเราให้เป็นที่พอใจแก่ตนเอง คนอื่นเป็นอย่างไรก็ไม่เท่าตัวเราเป็นหรอก

           บ่อยครั้งที่รับฟังคนดีมีปัญหามาปรึกษา ไม่ใช่ปรึกษาปัญหาของตนเอง แต่ปรึกษาเพราะคนอื่น คือเอาคนอื่นมาเป็นปัญหาของตนเอง  

           ฉะนั้นแล้ว พรรษานี้ก็เป็นเทศกาลและการศึกษาธรรมและศึกษาตนในเชิงลึก เจาะใจให้เห็นตนอย่างแท้จริง และเข้าใจธรรมอย่างลึกซึ้ง เห็นอะไรก็ไม่ดีเท่าเห็นธรรม เข้าใจใครก็ไม่ดีเท่าเข้าใจตนเอง

(ติดตามคอลัมน์ โชคดีที่มีพระ ตอน “เข้าพรรษา”…คุณค่าและปริศนาธรรม “เทศกาลแห่งการศึกษาเชิงลึก ” โดย พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป นสพ.คมชัดลึก หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒ )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here