
พระอภิธรรมนี้พระพุทธองค์แสดงให้เทวดาฟัง จากทรงปรารภความกตัญญูที่มีต่อพระพุทธมารดา ซึ่งเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ สู่การแสดงปรมัตถธรรม อันมีนัยหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด ละเอียด ประณีตยิ่ง
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)


เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”
(ตอนที่ ๑)
ปฐมบท
ความเป็นมาของพระอภิธรรม
: เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์
(เทอด ญาณวชิโร)
พระพุทธเจ้าทรงทบทวนพระอภิธรรมนี้ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ณ สัตตมหาสถาน อันหมายถึง สถานที่เสวยวิมุตติสุขที่ยิ่งใหญ่ ๗ แห่ง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง) โดยแต่ละแห่งเป็นสถานที่รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลาแห่งละ ๑ สัปดาห์ รวม ๗ สัปดาห์ หรือ ๔๙ วัน

ในสัปดาห์ที่ ๑ ทรงประทับนั่งเข้าสมาบัติเสวยวิมุตติสุข ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ บัลลังก์เดียว ไม่ลุกไปไหน ตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้น เรียกว่า “โพธิบัลลังก์”

สัปดาห์ที่ ๒ ทรงเหาะขึ้นไปในอากาศ แสดงยมกปาฏิหาริย์แล้วกลับลงมาประทับยืนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเพ่งมองโพธิบัลลังก์ ตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้น เรียกว่า “อนิมิสสเจดีย์”

สัปดาห์ที่ ๓ ทรงเนรมิตที่จงกรม เสด็จจงกรมไปมาระหว่างต้นพระศรีมหาโพธิ์ กับ อนิมิสสเจดีย์ ตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้นเรียกว่า “รัตนจงกรมเจดีย์”

สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวาย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมในเรือนแก้วนั้น ตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้น เรียกว่า “รัตนฆรเจดีย์”

ขณะทรงนั่งพิจารณาพระอภิธรรมในเรือนแก้วตั้งต้นแต่ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัตติ กถาวัตถุ เรื่อยไปจนถึง ยมก พระฉัพพรรณรังสี ยังไม่ปรากฏ

ครั้นทรงหยั่งลงสู่การพิจารณา คัมภีร์ปัฏฐาน อันมีนัยหลากหลายไม่สิ้นสุด พระฉัพพรรณรังสี ได้แก่ รัศมี ๖ สี ประกอบด้วย นีละ(สีเขียวเข้ม) ปีตะ (สีเหลือง) โลหิตะ (สีแดง) โอทาตะ(สีขาว) มัญเชฏฐะ (สีหงสบาท หรือสีแสด) และประภัสสร (สีเลื่อมประภัศร คือ สีทั้ง ๕ ข้างต้นรวมกัน) ได้แผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธองค์ ปกคลุมไปทั่วทุกโลกธาตุ ไม่มีช่องว่าง

สัปดาห์ที่ ๕ ประทับนั่งขัดสมาธิเสวยวิมุตติสุข ณ โคนต้นอชปาลนิโครธ ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์ผู้ชอบตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ ขณะนั้น พญามาร เกิดความเสียใจว่า ไม่สามารถขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ได้ จึงหลบไปนั่งจับเจ่าเอามือขีดแผ่นดินอยู่ ธิดามารทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี และ นางราคา จึงมาอาสาช่วยพญามาร

สัปดาห์ที่ ๖ ประทับนั่งขัดสมาธิเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ โคนต้นมุจลินท์ อยู่ไกลออกไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เกิดฝนปนลมหนาวตกพรำตลอดสัปดาห์ พญามุจลินท์นาคราช ออกมาแผ่พังพานกั้นลมฝนให้พระพุทธองค์

สัปดาห์ที่ ๗ ประทับนั่งขัดสมาธิเสวยวิมุตติสุขอยู่ ตลอดสัปดาห์ ณ โคนต้นราชายตนะ อยู่ไกลออกไปทางด้านทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์

ครั้นเสวยวิมุตติสุขครบ ๗ สัปดาห์ พระพุทธองค์ทรงกระทำพระสรีระกิจ สรงพระพักตร์ ชำระพระทนต์ บ้วนพระโอษฐ์ แล้วทรงถ่ายพระบังคนหนักด้วยสมออันเป็นยาสมุนไพร ที่พระอินทร์นำมาถวาย จากนั้น ทรงรับข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน จากตปุสสะและภัลลิกะ พ่อค้าเกวียนสองพี่น้องที่เดินทางผ่านมา

จากลำดับเหตุการณ์นี้ เห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรม ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังการตรัสรู้
พระอภิธรรมนี้พระพุทธองค์แสดงให้เทวดาฟัง จากทรงปรารภความกตัญญูที่มีต่อพระพุทธมารดา ซึ่งเป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ สู่การแสดงปรมัตถธรรม อันมีนัยหลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด ละเอียด ประณีตยิ่ง
เหตุการณ์นี้มีอธิบายไว้ ใน อรรถกถาอัฏฐสาลีนี (คัมภีร์ที่แต่งขยายธรรมสังคณี อันเป็น ๑ ในพระอภิธรรม)

พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ในพรรษาที่ ๗ หลังจากทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ทรมานเดียรถีย์ ณ โคนไม้คัณฑามพฤกษ์ ทรงดำริว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต หลังจากแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว จะไปจำพรรษา ณ สถานที่ใด ทรงทราบด้วยพระญาณ ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประทับนั่งเหนือพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่โคนต้นไม้ชื่อว่า “ปาริฉัตตกะ” แสดงพระอภิธรรม ทั้ง ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา ท่ามกลางทวยเทพจากหมื่นจักรวาล
ข้อนี้เป็นพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในอดีตกาล…


คำปรารภ
หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหา ก่อนอ่านความเป็นมาของพระอภิธรรม
จึงขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ความเป็นมาของพระอภิธรรม มีเนื้อความตรงตามชื่อ มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรม เป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย
ผู้ที่มีความสนใจข้อธรรมในพระอภิธรรมที่ละเอียดลงไป ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้จากคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วไป
เนื่องจากพระอภิธรรมมีความละเอียดประณีตยิ่ง มีนัยหลากหลาย ไม่สิ้นสุด บางกรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของ และภาษาในสมัย เทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่มีความละเอียดยิ่งนั้น ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
กรณีดังกล่าว มิใช่การนำข้อความเข้าไปปลอมปนในพระอภิธรรม เพราะมิได้มุ่งอธิบายข้อธรรมในพระอภิธรรม ดังกล่าวแล้ว หากแต่เห็นว่า การยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของก็ดี การใช้ภาษาในสมัยก็ดี เป็นวิธีที่พอจะสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาที่แตกต่างกัน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสถานะ
ด้วยห้วงเวลานั้น ทุกคนล้วนมีจิต ละเอียด เป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรมที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
กาลนั้น จึงนับได้ว่า เป็นมงคลกาล เหมาะแก่การฟังธรรมที่ละเอียด
ขออนุโมทนาขอบคุณพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร., คุณมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และคุณวันทนี เจริญวานิช ที่รับเป็นภาระธุระในการจัดพิมพ์ จนหนังสือสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ดีงาม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น แผ่ไพศาลแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา
พระราชกิจจาภรณ์
วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร


คำชี้แจง
คัมภีร์พระอภิธรรมปิฎกเป็นหนึ่งในคัมภีร์พระไตรปิฎกอันเป็นคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยเนื้อหานั้นแบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกว่า สัตตัปปกรณ์ ประกอบด้วย ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก ปัฏฐานโดยเนื้อหาสำคัญนั้น แสดงถึงสัจจะ คือ ความจริงแบบปรมัตถสัจจะโดยแยกเป็นเรื่องจิต เจตสิก รูป นิพพาน และแสดงลักษณะภาษาหรือคำบัญญัติในแบบของสมมติสัจจะ
ส่วนการเข้าใจเนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและเป็นไปตามยุคตามสมัย ถ้าในสภาพความเป็นอยู่แบบชาวบ้านที่หาเลี้ยงชีพ คงต้องการเพียงหลักธรรมที่พอปฏิบัติได้ เหมาะสมสำหรับชีวิตประจำวัน หรือสร้างความสงบสุขให้กับครอบครัวและสังคมเท่านั้น
ดังเนื้อความในสิงคาลกสูตรที่สอนเรื่องการทำหน้าที่ต่อคนอื่นรอบตัวเรา ในกูฎทันตสูตรก็สอนวิธีการระงับยับยั้งอาชญากรรมด้วยการให้ประชาชนได้เรียนรู้สัมมาชีพ รู้จักความซื่อสัตย์สุจริต และยังมีคำสอนอีกมากที่เน้นให้คนทั่วไปได้มีความสุขจากการมีทรัพย์ ใช้จ่ายทรัพย์ ไม่มีหนี้ และการงานไม่มีโทษ รวมถึงความสุขที่เหมาะสมกับชาวบ้าน ในเรื่องความขยันหาทรัพย์ รักษาทรัพย์ คบเพื่อนดี และเลี้ยงชีวิตที่เหมาะสม เป็นต้น
สมัยนั้นธรรมะในการดำเนินชีวิตแบบนี้จึงเหมาะสมและเป็นเรื่องง่ายที่คนที่เป็นชาวบ้านจะเข้าใจได้และปฎิบัติได้จริง
แต่เนื้อหาของพระอภิธรรมนั้นถูกจัดไว้ในหมวดปรมัตถธรรมซึ่งเหมาะสมสำหรับผู้มีสติปัญญา ผู้สั่งสมภูมิธรรมมาพอสมควรจึงจะช่วยชี้แนะแจกแจงให้คนทั่วไปได้รับทราบรายละเอียดที่ลึกซึ้ง เพราะคงยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจหรือสนใจเรียนรู้ ถ้าเขาเหล่านั้นยังต้องทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงชีพไปวันๆ จึงเป็นความปรารถนาดีกอปรด้วยกุศล เปี่ยมล้นไปด้วยภูมิปัญญา เหล่านักปราชญ์จึงได้นำพาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโปรดพระพุทธมารดา ท่ามกลางทวยเทพจากหมื่นจักรวาลบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาใช้ในพิธีกรรมการสวดศพจนกระทั่งทุกวันนี้
ถ้าจะบอกว่าพระอภิธรรมนั้นเหมาะสมกับใครแล้ว ก็คงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังจะละทิ้งร่างกายหยาบทุกท่าน โดยมองเสียใหม่ว่าทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุ
เมื่อทุกอย่างถูกแยกออกจากกันจะไม่มีความเป็นใครหรืออะไรให้เรายึดมั่นถือมั่นได้เลย มีลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป โดยคำสอนเหล่านี้คงไม่มีช่วงไหนจะเหมาะที่จะนำมาชี้แจงเท่ากับตอนที่ทุกคนกำลังพบเจอกับความตายอันเกิดขึ้นกับคนที่เรารู้จักอย่างแน่นอน
เหมือนเมื่อครั้งอนาถปิณฑกเศรษฐีผู้นอนป่วยซมใกล้จะสิ้นชีวาพอได้ฟังปรมัตถธรรมแล้วก็ถึงกับเอ่ยปากกับพระสารีบุตรว่า “ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ขอธรรมกถาเห็นปานนี้ จงแจ่มแจ้งแก่คฤหัสถ์ผู้นุ่งผ้าขาวบ้างเถิด เพราะมีกุลบุตรผู้เกิดมามีกิเลสธุลีในดวงตาน้อย จะเสื่อมคลายจากธรรม จะเป็นผู้ไม่รู้ธรรม โดยมิได้สดับ”
การกล่าวสอนและแสดงธรรมแก่คนใกล้ตายหรือคนที่เสียใจในการจากไปของคนรัก จึงมีการปรารภถึงปรมัตถธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนากันต่อๆ กันมา

ผู้เขียนได้อ่านและทบทวนเนื้อหาของหนังสือเรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ของเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ผสมผสานระหว่างเนื้อหาที่เข้าใจยาก ศัพท์บาลีที่ต้องขยายความ และการตีความที่ต้องละเอียดอ่อนแล้วรู้สึกว่าเรื่องนี้มีความลงตัวพอสมควร แม้ผู้ที่ไม่เคยอ่านหนังสืออภิธรรมมาก่อนก็อาจจะได้ลองศึกษาเรียนรู้ และสำหรับผู้ที่ผ่านหนังสืออภิธรรมมาบ้างแล้วก็จะได้ทบทวนเนื้อหาได้ชัดเจนและกว้างขวางยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้เขียนต้องกราบขอบพระคุณเจ้าคุณอาจารย์ฯ ที่ได้เมตตาไว้ใจมอบต้นฉบับ และไว้ใจให้อ่านเนื้อหาและปรับเปลี่ยนภาษาบ้างตามความเหมาะสม ตลอดทั้งอนุโมทนากับโยมมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และโยมวันทนี เจริญวานิช ที่มาร่วมกันอีกแรงในการช่วยกันปรับ ช่วยกันแก้จนเป็นที่พอใจ จนกระทั่งต้นฉบับแล้วเสร็จ
ความสำเร็จของการสร้างหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” ของเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เล่มนี้จะเป็นดังแสงสว่างอีกหนึ่งดวงให้กับผู้แสวงหาแสงสว่าง และช่วยต่อลมหายใจของพระพุทธศาสนาให้ยาวนานยิ่งขึ้น ด้วยตัวอักษรที่สื่อผ่านธรรมะเล่มนี้
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี, ป.ธ.๙,ดร.
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ

จากใจศิษย์
หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เล่มนี้ เกิดจากมโนปณิธาน และเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของท่านเจ้าคุณอาจารย์พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ที่ตั้งใจเขียนน้อมถวายเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ หลังจากเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ให้กับนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ๒๔ ตอน (ก่อนที่นิตยสารจะปิดตัวลงในเดือน มิถุนายน ๒๕๖๐) เพื่ออธิบายความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นผลการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเสด็จไปบนสวรรค์เพื่อโปรดพระพุทธมารดาอย่างเป็นลำดับด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นดั่งแผนที่นำจิตที่ชอบท่องเที่ยวกลับมาสู่ใจได้อย่างน่าทึ่ง สำหรับท่านผู้อ่านที่ไม่เคยลิ้มรสพระอภิธรรมอยากให้อ่านบทสุดท้ายก่อน ซึ่งกล่าวถึง “จากรากฐานแห่งพระอภิธรรมสู่รากฐานชีวิตชาวพุทธ” ที่จะทำให้เราทราบถึงการนำพระอภิธรรมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนเกิดความสงบสุขภายในใจได้ จากหลักการทำบุญ ๑๐ ประการ
ท่านเจ้าคุณอาจารย์ได้อธิบายเรื่อง ทิฏฐุชุกัมม์ คือ การทำความเห็นให้ตรงก่อนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นเข็มทิศกำหนดทิศทางของชีวิตด้วย
เนื่องจากเมื่อมีความเห็นตรงแล้ว การทำบุญข้ออื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมา รวมไปถึงบุญจากการภาวนา เพื่อชี้ทางไปสู่ความพ้นทุกข์ในที่สุด อันจะเป็นแรงจูงใจให้อ่าน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เล่มนี้ด้วยฉันทะ
ขอกราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระราชกิจจาภรณ์ที่ให้เกียรติเขียนบทนำ ทำให้กลับมาทบทวน “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” อีกหลายๆ เที่ยว และท่านยังเมตตาให้เขียนภาพประกอบด้วย จึงเป็นความอิ่มใจยิ่งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ในวาระสำคัญ และยังได้รับใช้ครูบาอาจารย์ ในการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนา ผ่านหนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”
กราบขอบพระคุณพระมหาขวัญชัย กิตติเมธี ป.ธ.๙,ดร.,ที่ช่วยดูแลหนังสือเล่มนี้แทนท่านจนสำเร็จลุล่วงด้วยดี และขอขอบพระคุณเป็นที่สุดคือ “คนข้างหลัง” ที่มาร่วมบุญกุศลในครั้งนี้อย่างเต็มกำลังในการออกแบบปกและจัดรูปเล่มให้ด้วยความใส่ใจในทุกอักขระธรรมจนปรากฏออกมาอย่างงดงาม

กราบขอบพระคุณและกราบนมัสการ
จากใจศิษย์
มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
Manasikul.com

ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)/ จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ/ ภาพประกอบ หมอนไม้ /ออกแบบปก-รูปเล่ม คนข้างหลัง / สนใจติดต่อต้นฉบับพิมพ์เป็นธรรมทานได้ที่ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ๓๓๔ ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
โปรดติดตาม “เข้าพรรษา กับ ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (ตอนต่อไป ) เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)