ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๕) จิตในสมาธิ อยู่นอกเหนือขอบเขตกาลเวลา” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๙ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๕) จิตในสมาธิ อยู่นอกเหนือขอบเขตกาลเวลา” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๙ วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙

เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

(บทที่ ๕)

พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ที่ชาวพุทธควรรู้

(คัมภีร์ที่ ๑) “ธัมมสังคณี”

คัมภีร์รวมหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม

“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๖ ) : คัมภีร์ที่ ๑ “ธัมมสังคณี” คัมภีร์รวมหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม ”  เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๐ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๖ ) : คัมภีร์ที่ ๑ “ธัมมสังคณี” คัมภีร์รวมหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม ” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๐ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙

คัมภีร์ที่ ๑  “ธัมมสังคณี”

คัมภีร์รวมหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม

หลังจากที่ได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระอภิธรรมพอสมควร เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการทำความเข้าใจเนื้อหาหลักของพระอภิธรรมที่กล่าวถึงปรมัตถธรรม คือ สภาวธรรมซึ่งดำรงอยู่ตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง โดยมีพระนิพพานเป็นประโยชน์สูงสุด พระอภิธรรมบางข้อจึงเป็นหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวธรรมตามธรรมชาตินั้น เช่น กรณีที่พูดถึงเรื่องจิต ขณะดำรงวาระจิตในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน เป็นต้น แม้จะเป็นการพูดถึงสภาวะจิตตามธรรมชาติ แต่ก็เป็นการพูดให้เห็นสภาวะจิตของผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง

แม้เนื้อหาหลักของพระอภิธรรมจะลึกซึ้ง ละเอียด ประณีต มีนัยพิสดารครอบคลุมถึง จิต เจตสิก รูป ซึ่งยังอยู่ภายใต้เหตุปัจจัยปรุงแต่ง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมชาติ สรุปลงแล้ว ก็กล่าวถึงสภาวธรรมซึ่งดำรงอยู่ตามธรรมชาติ สภาวธรรมซึ่งดำรงอยู่ในรูปปรากฏการณ์ และหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวธรรมตามธรรมชาตินั้น โดยมุ่งยึดเอาพระนิพพานเป็นประโยชน์สูงสุด

ดังนั้น พระอภิธรรม จึงชื่อว่า “ปรมัตถถธรรม” เพราะยึดเอาพระนิพพานอันไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเป็นประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

ขอขอบคุณ จิตรกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดย อ.พีร์ ขุนจิตกร  ศิลปินต้นธารศิลป์
ขอขอบคุณ จิตรกรรมฝาผนัง ศาลาหลวงพ่อดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดย อ.พีร์ ขุนจิตกร ศิลปินต้นธารศิลป์

พระอภิธรรม ๗  คัมภีร์ที่ชาวพุทธควรรู้

จากนี้ จะพูดถึงเนื้อหาพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ไปตามลำดับ โดยสรุปเนื้อหาตามพระไตรปิฎกเพื่อให้ได้หลักก่อน แล้วจะยกเนื้อหาพระอภิธรรมบางส่วนที่เห็นว่าชาวพุทธควรรู้และนำไปปฏิบัติได้ มาอธิบายคราวหลัง ในฐานะชาวพุทธจะได้อะไรจากการเรียนรู้พระอภิธรรม

คัมภีร์ที่ ๑ ธัมมสังคณี

เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมหัวข้อแห่งปรมัตถธรรมทั้งหมดไว้เป็นหมวดหมู่ตามประเภท คัมภีร์ที่เหลืออีก ๖ คัมภีร์ ทำหน้าที่ขยายความให้มีเนื้อหาพิสดารออกไป

ธัมมสังคณีแสดงหัวข้อสภาวธรรมตามธรรมชาติ ตั้งแต่จิต เจตสิก รูป โดยมีพระนิพพานอันเป็นประโยชน์สูงสุด มีเนื้อหาอยู่ ๕  ส่วน คือ

ส่วนที่เป็นแม่บท หรือเนื้อหาหลักของพระอภิธรรม เรียกว่า “มาติกา” และ ส่วนขยายความ เรียกว่า “กัณฑ์” มี ๔ กัณฑ์ คือ จิตตุปปาทกัณฑ์ รูปกัณฑ์ นิกเขปกัณฑ์ และ อัตถุทธารกัณฑ์ ดังนี้

๑. มาติกา

ว่าด้วยส่วนที่เป็น “แม่บท” หรือเนื้อหาหลักของพระอภิธรรม หัวข้อแห่งปรมัตถธรรมที่แสดงภาวะการดำรงอยู่ตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง รวมอยู่ในมาติกานี้ และมาติกาจะกล่าวถึงเฉพาะหัวข้อธรรมซึ่งเป็นแม่บทล้วนๆ เท่านั้น ไม่มีคำอธิบาย เป็นการตั้งหัวข้อเรื่องไว้ในเบื้องต้นก่อน แล้วยกหัวข้อไปอธิบายขยายความอย่างละเอียด เป็นเรื่องๆ ทีหลัง

มาติกาแม่บทแห่งปรมัตถธรรม หากเปรียบกฎหมายบ้านเมืองก็เหมือนรัฐธรรมนูญที่เป็นแม่บทแห่งกฎหมายทั้งปวง

๒. จิตตุปปาทกัณฑ์

ว่าด้วยเนื้อหาส่วนที่ขยายความเรื่องการเกิดของจิต และสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิต(เจตสิก) ทำให้จิตมีสภาพปรวนแปรไปตามสิ่งที่มาปรุงแต่ง เช่น จิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล จิตขณะดำรงวาระอยู่ในปฐมฌาน จิตขณะดำรงวาระอยู่ในทุติยฌาน จิตขณะดำรงวาระอยู่ในตติยฌาน จิตขณะดำรงวาระอยู่ในจตุตถฌาน จิตพระอริยบุคคล และ สูงขึ้นไปจนถึงจิตของพระอรหันต์ เป็นต้น

เนื้อหา “จิตตุปปาทกัณฑ์” นี้ ยกหัวข้อธรรมบางส่วนของมาติกาที่เกี่ยวกับจิตและเจตสิกมาอธิบายไว้อย่างละเอียด แสดงเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้เห็นว่า

จิต คือ สภาวธรรมอย่างหนึ่งที่รับรู้อารมณ์ มีการเกิดดับอยู่ทุกขณะ นอกจากนั้น จิตยังทำหน้าที่สะสมกรรมและกิเลสทั้งหลาย อันเป็นปัจจัยแห่งการเกิดต่อไป

โดยสรุป จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ ในส่วนที่เป็น “นามธรรม”

๓. รูปกัณฑ์

ว่าด้วยส่วนที่ขยายความเรื่องรูป แสดงการจำแนกรูปอย่างละเอียด ในลักษณะรูปแบบองค์รวม และรูปแบบแยกกลุ่ม ทั้งรูปหยาบ ได้แก่ ธาตุ ๔  (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เรียกว่า “มหาภูตรูป” แปลว่า รูปใหญ่ และรูปละเอียด ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ภาวะที่แสดงความมีชีวิต ภาวะความเปลี่ยนแปลง แสดงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นต้น เรียกว่า อุปาทายรูป แปลว่า รูปอาศัย

โดยสรุป รูปกัณฑ์ แสดงสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติ ในส่วนที่เป็น “รูปธรรม”

๔. นิกเขปกัณฑ์

ว่าด้วยการยกหัวข้อธรรมที่เป็นแม่บทในมาติกาทุกข้อ มาอธิบาย แบบพอเป็นตัวอย่าง โดยย่อเนื้อหาเก็บใจความให้กระชับเข้า ไม่สั้น ไม่ยาวเกินไป (ต่างจากจิตตุปปาทกัณฑ์ และรูปกัณฑ์ ที่ยกมาติกามาอธิบายเป็นบางข้อ เป็นการอธิบายอย่างละเอียด)

๕. อัตถุทธารกัณฑ์ หรือ อัตถกถากัณฑ์

ว่าด้วยการยกหัวข้อธรรมที่เป็นแม่บทในมาติกาทุกข้อ มาอธิบายแบบย่อความเหมือนในนิกเขปกัณฑ์ แต่อธิบายแบบให้คำจำกัดความอย่างรวบรัด เป็นการประมวลสรุปความทั้งหมดก่อนจบ

อีกทั้งในอัตถุทธารกัณฑ์นี้ยังมีการอธิบายบางประเด็นเกี่ยวกับจิตเพิ่มเติมเข้ามา คือ กัณฑ์ก่อนเป็นการบอกรายละเอียดประเภทของจิต แต่ในอัตถุทธารกัณฑ์ได้อธิบายถึงสภาวะของจิตเพิ่มเติม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า

ตามนัยแห่งพระอภิธรรมสามารถอธิบายจิตได้หลากหลายนัย คือ มีนัยไม่สิ้นสุด เป็นอนันตนัย

มีเรื่องเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตถุทธารกัณฑ์ว่า เมื่อพระสารีบุตรฟังอัตถุทธารกัณฑ์จากพระพุทธองค์แล้วนำมาแสดงต่อให้ลูกศิษย์ฟัง ลูกศิษย์ทั้ง ๕๐๐ รูป ของพระสารีบุตรไม่เข้าใจความ เนื่องจากคำอธิบายย่อสั้นมาก

พระสารีบุตรต้องพาท่านเหล่านั้นไปเข้าเฝ้าฟังอธิบายขยายความจากพระพุทธองค์โดยตรง จึงเข้าใจเนื้อหา

(โปรดติดตามตอนต่อไป )

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์เป็นธรรมทานโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

คำปรารภ

หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหา ก่อนอ่านความเป็นมาของพระอภิธรรม

จึงขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ความเป็นมาของพระอภิธรรม มีเนื้อความตรงตามชื่อ มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรม เป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย

ผู้ที่มีความสนใจข้อธรรมในพระอภิธรรมที่ละเอียดลงไป ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้จากคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วไป

เนื่องจากพระอภิธรรมมีความละเอียดประณีตยิ่ง มีนัยหลากหลาย ไม่สิ้นสุด บางกรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของ และภาษาในสมัย เทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่มีความละเอียดยิ่งนั้น ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น

กรณีดังกล่าว มิใช่การนำข้อความเข้าไปปลอมปนในพระอภิธรรม เพราะมิได้มุ่งอธิบายข้อธรรมในพระอภิธรรม ดังกล่าวแล้ว หากแต่เห็นว่า การยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของก็ดี การใช้ภาษาในสมัยก็ดี เป็นวิธีที่พอจะสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาที่แตกต่างกัน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสถานะ

ด้วยห้วงเวลานั้น ทุกคนล้วนมีจิต ละเอียด เป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรมที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

กาลนั้น จึงนับได้ว่า เป็นมงคลกาล เหมาะแก่การฟังธรรมที่ละเอียด

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ผู้เขียน ความเป็นมาของพระอภิธรรม จัดพิมพ์เป็นธรรมทนาโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ผู้เขียน ความเป็นมาของพระอภิธรรม จัดพิมพ์เป็นธรรมทนาโดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ขออนุโมทนาขอบคุณพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร., คุณมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และคุณวันทนี เจริญวานิช ที่รับเป็นภาระธุระในการจัดพิมพ์ จนหนังสือสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ดีงาม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น แผ่ไพศาลแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา

พระราชกิจจาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here