เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า
เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๙
เรื่อง “คิดถึงบ้านเกิด”
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
ก่อนจะเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อเล่าถวายให้พระพุทธองค์ได้ฟัง ทำให้อาตมาระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์บ้านเมืองของพระองค์เองเพื่อโปรดพระญาติ
เช่นเดียวกันกับอาจารย์พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย ป.ธ.๙ (ขณะเป็นสามเณร),ดร. เมื่อเห็นกระบวนการอบรมของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามได้ผลค่อนข้างดี ก็อยากจะนำสิ่งดีงามไปให้กับเด็ก ๆ หรือเยาวชนที่ โรงเรียนหนองห้างพิทยา ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเอง
พระอาจารย์เคยเล่าให้อาตมาฟังว่าส่วนหนึ่งที่พระอาจารย์อุปสมบวชอยู่ในบวรพระศาสนาจนได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ขณะเป็นสามเณร ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็น “นาคหลวง” ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เพราะ “ท่านเคยได้รับโอกาสรับพระธรรมจากครูบาอาจารย์ที่ท่านมาจัดบวชสามเณรภาคฤดูร้อน”
ในสมัยที่ท่านเป็นสามเณร ท่านจึงมีความปรารถนาอยากจะให้รุ่นน้อง ๆ ในหมู่บ้านของท่านได้รับโอกาสเข้าอบรมเหมือนที่ท่านเคยได้รับตอนบวชเป็นสามเณรภาคฤดูร้อน ท่านจึงได้ชวนเพื่อน ๆ มาจัดอบรมนักเรียนระดับประถม และมัธยมที่บ้านเกิดของตนเอง
เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๔๗ พระอาจารย์จึงมีโอกาสจะได้กลับไปทำค่ายอบรมที่บ้านเกิดของพระอาจารย์อีกครั้ง โดยท่านได้เล่าให้ฟังว่า
หลังจากที่ได้มาร่วมงานค่ายกับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม รู้สึกว่ากระบวนการน่าสนใจ และทำให้ความเข้มข้นในการรับรู้ธรรมะเกิดขึ้นแก่นักเรียนที่เข้ารับการอบรมค่อนข้างมาก และได้ไปจัดในสถานที่ทั่ว ๆ ไปในหลาย ๆ จังหวัด จึงคิดว่าอยากให้ลูกหลานบ้านเกิดของตนเองได้รับสิ่งดี ๆ เหล่านี้บ้าง
จึงได้ชักชวนเพื่อน ๆ ที่ทำงานด้วยกันในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม มาช่วยอบรมบ้าง ก็ได้รับคำตอบรับอย่างดี และร่วมใจกันทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่เกี่ยงงอน แม้กระทั่งอาจารย์พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙ จะเกิดอาพาธขึ้น ณ ตอนนั้น แต่ท่านก็ไม่เคยเกี่ยงงอนที่จะลงไปบรรยายที่เวทีกลางอย่างเต็มที่ รู้สึกประทับใจกับทุก ๆ รูปที่มาช่วยงาน
และตั้งใจไว้ว่า ถ้าเพื่อน ๆ รูปอื่นใดมีงานที่ไหน ต้องการให้ไปช่วย แม้จะติดภารกิจ ก็จะพยายามไปช่วยให้ได้ จึงเป็นที่มาของความผูกพันในพระวิทยากรแต่ละรูปตั้งแต่วันนั้นมาจนกระทั่งถึงวันนี้ แม้ตอนนี้ จะแยกย้ายไปตามวิถีทางของแต่ละรูป แต่ก็ยังระลึกถึงกันเหมือนเดิม เหมือนกลอนที่ว่า
“…แม้ทางเดินอาจเปลี่ยนไป แต่จุดหมายจุดเดียวกัน
เพื่อชีวิตดีงาม อยู่อย่างนั้น และมีทุกคนเป็นคนสำคัญ เสมอไป”
(เนื้อหาบางส่วนของบทกลอนประจำกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ประพันธ์โดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท)
พระอาจารย์หนึ่งในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามที่ได้ไปช่วยสานฝันของอาจารย์พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย ด้วยการสร้างค่ายธรรมะให้กับคนในบ้านเกิดของท่านได้สำเร็จ เล่าให้อาตมาฟังว่า งบประมาณ หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จัดดำเนินงาน เป็นเงินที่เก็บเล็กผสมน้อยจากที่โยมทำบุญร้อยบาท สองร้อยบาท ของท่านเองทั้งหมด
หลังจากนั้นมีการพูดแซวเล่นขำ ๆ ว่าค่าใช้จ่ายทุกอย่างในการสร้างค่ายธรรมะท่านหาเงินมาเองหมด ออกให้หมดทุกอย่าง แต่ค่าพาหนะของคณะพระวิทยากรที่ไปช่วยงานไปกลับกรุงเทพมหานคร-กาฬสินธุ์ ให้แต่ละท่านออกเองหมด ฮา ๆ
อาตมาเป็นรุ่น ๓ ที่ได้เข้ามาร่วมอุดมการณ์ในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม จึงไม่แปลกใจว่าหัวใจของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามที่ถูกปลูกฝังให้กับเหล่าพี่น้องที่มาร่วมเดินในอุดมการณ์เดียวกันคือความเป็น “หัวใจจิตอาสา” และ “การเสียสละ” เพราะมีรุ่นพี่ได้วางแนวทาง และทำเป็นแบบอย่างเอาไว้
โดยเฉพาะเรื่องการเสียสละ อาจารย์พระครูสิริวิหารการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, ที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ในขณะนั้น ได้กล่าวให้โอวาทกับคณะพระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามว่า “การทำงานเพื่อส่วนรวม ต้องเสียสละเวลา เสียสละกำลังกาย เสียสละกำลังทรัพย์ เสียสละกำลังสติปัญญา และที่สำคัญต้องเสียสละความรู้สึก”
การสร้างค่ายธรรมะที่บ้านเกิดของท่านจึงเป็นการทำงานด้วยจิตอาสาและความเสียสละของพระหนุ่มเณรน้อยในยุคนั้น และค่ายธรรมะนี้ เสมือนเป็นการ “สร้างพระให้เกิดขึ้นในใจคน” สืบเนื่องจากสิ่งดีงามของค่ายธรรมะ ท่านได้ต่อยอดความดี ด้วยการ “สร้างพระให้เกิดขึ้นในใจของชุมชน” คือ สร้างพระอุโบสถ ณ วัดบ้านเกิด เป็นการพัฒนาทั้งทางจิตใจและวัตถุควบคู่กันไปอีกด้วย
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า …เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๙ เรื่อง “คิดถึงบ้านเกิด” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม จากคอลัมน์ เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒