เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า “เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง” ตอนที่ ๔ ถอดรหัสเส้นทางธรรม(ทำ) “หัวใจของการทำงานเป็นทีม” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

0
1885
ค่ายรวมพลังแผ่นดินเพื่อต่อสู้เอาชนะยาเสพติด อบรมผู้ติดยาเสพติดและผู้ค้า(รายย่อย) ในภาพเป็นทีมงานจากสาธารณสุขและตำรวจที่ร่วมอบรม หลักสูตร ๙ วัน ณ อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อปี ๒๕๔๔ (กลุ่มเพื่อชีวิตดีงามรับผิดชอบการอบรม ๕ วันแรก)
ค่ายรวมพลังแผ่นดินเพื่อต่อสู้เอาชนะยาเสพติด อบรมผู้ติดยาเสพติดและผู้ค้า(รายย่อย)
ในภาพเป็นทีมงานจากสาธารณสุขและตำรวจที่ร่วมอบรม หลักสูตร ๙ วัน
ณ อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อปี ๒๕๔๔ (กลุ่มเพื่อชีวิตดีงามรับผิดชอบการอบรม ๕ วันแรก)

เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า

เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๔

ถอดรหัสเส้นทางธรรม(ทำ) “หัวใจของการทำงานเป็นทีม”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

          จดหมายฉบับที่ผ่านมาอาตมาเล่าเรื่องของรุ่นพี่ ครูบาอาจารย์ที่เป็นรุ่นบุกเบิกของ “กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม” คือ พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ซึ่งเป็นอดีตประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม แต่ฉบับนี้อาตมาจะถอดรหัสเรื่องเล่าของพระอาจารย์เพราะมีหลายเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกันอยู่ นี่คือสิ่งที่อาตมาอยากจะกราบทูลให้พระพุทธองค์ได้ฟัง ดังนี้

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ซึ่งเป็นอดีตอดีตประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาพระวิทยากร
ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ ซึ่งเป็นอดีตประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม

        ประการที่หนึ่ง ไม่คุ้นเคย ไม่รู้จักกัน และไม่เคยร่วมงานกัน แต่ทำไมถึงทำงานด้วยกันได้ ?

จากเรื่องเล่าของพระอาจารย์พระมหาขวัญชัยว่าเหตุหนึ่งที่ท่านไม่รู้จักใครเลยแต่ทำงานกับคนที่ไม่รู้จักได้ เพราะรูปแบบการอบรมนั้น “เป็นรูปแบบในวิชาจิตวิทยาที่เคยเรียนร่วมกันมา”

        เห็นได้ว่าจุดเริ่มแรกคนเราจะทำงานด้วยกันได้ต้อง “มีอุดมการณ์เดียวกัน” เพราะกระบวนการแนวทางการอบรม หรืออุดมการณ์ในการทำงาน เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็น และเข้าใจ ไปในทางเดียวกันจึงสามารถทำงานร่วมกันได้ และทุกคนมีหัวใจที่เสียสละทำงานจิตอาสาเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

        ที่สำคัญต้อง “เปิดใจ พร้อมที่จะเรียนรู้

และมีความเป็นกัลยาณมิตร

กับทุกคนที่ร่วมงาน”

อาตมาเชื่อว่าหากขาดสิ่งนี้ไป

ก็ยากที่จะร่วมงานกับคนที่ไม่รู้จักได้

ประการที่สอง ทำงานเป็นทีม ไปกันครั้งละกว่า ๑๐ รูป

ถ้าพูดถึงกลุ่มพระวิทยากรทำงานอบรมค่ายคุณธรรม จริยธรรม หรือเป็นพระวิทยากรอบรมตามหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่พวกเราทุกคนคุ้นชินคือเห็นพระวิทยากรไปรูปสองรูปหรืออย่างมากก็น่าจะไม่เกินสามรูป

          แต่กลุ่มกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม เป็นที่รู้จักกันในวงการทำงานเผยแผ่ของพระวิทยากรในสังคมไทยยุคปัจจุบันก็ว่าได้คือต้องไปกันเป็นทีม ๑๐ รูปขึ้นไป และหลายคนอาจจะสงสัยว่าแค่ไปอบรม ทำไมต้องไปถึง ๑๐ รูป แต่ละรูปมีหน้าที่อะไรบ้างในโอกาสต่อไปถึงจะเล่าให้ฟัง

          สิ่งที่พระอาจารย์เล่ามานั้นทำให้อาตมาเห็นภาพเลย เวลาเดินทางด้วยรถตู้ ก็จะเต็มคันพอดี หรือนั่งรถทัวร์ก็จะนัดกันไปขึ้นรถที่หมอชิตนั่งรถไปด้วยกันเป็นหมู่คณะ ทำงานด้วยกันเป็นหมู่คณะ มันทำให้เราทำงานโดยไม่เหงา ไม่เหนื่อย เพราะอยู่กันอย่างพี่น้องคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน คนทำงานก็มีความสุข งานก็สำเร็จ  

          เหมือนสุภาษิตแอฟริกาที่ว่า “To go fast, go alone. To go far, go together” หมายความว่า“อยากไปเร็วให้ไปคนเดียว อยากไปไกลต้องไปด้วยกัน”

ประการที่สาม ผ่านอุปสรรคปัญหาทุกอย่างไปได้ด้วยความ “อ่อนน้อมถ่อมตน”

ด้วยการที่พระอาจารย์เป็นพระหนุ่มทำงาน เวลาเดินทางไปทำงานในสถานที่ต่าง ๆ ตามวัด โรงเรียน หน่วยงานราชการ สิ่งหนึ่งที่ต้องเจอคือ การถูกปรามาสว่าเป็นพระเด็ก ๆ จะทำงานได้หรือ แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการใช้ความ “อ่อนน้อมถ่อมตน” เข้าสู้

 อาจารย์พระครูสิริวิหารการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม (รูปที่ ๔ จากขวามือ)
อาจารย์พระครูสิริวิหารการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม (รูปที่ ๔ จากขวามือ)

ในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามเรามี อาจารย์พระครูสิริวิหารการ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม เป็นต้นแบบของความอ่อนน้อมถ่อมตนมาโดยตลอด เวลาทำงานก็จะมีการพูดถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของอาจารย์พระครูสิริวิหารการ เพื่อให้พระวิทยากรตระหนักถึงความสำคัญของความอ่อนน้อมถ่อมตนในการทำงานอยู่เสมอ

          ความอ่อนน้อมถ่อมตน นอกจากคณะพระวิทยากรจะยึดถือเป็นสรณะแล้ว ก็ยังถ่ายถอดบทเรียนนี้ให้กับผู้เข้าอบรมทุกที่ เวลาไปอบรม เพราะในหลักการทางพระพุทธศาสนา “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” จะมีอานิสงส์ ๓ ประการ คือ ได้บุญ ได้พร และได้ดี (มงคล)

          หนึ่ง ได้บุญ คือ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ข้อที่ ๔ อปจายนมัย  “บุญสำเร็จจากการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน”

          สอง ได้พร คือ อภิวาทนสีลีสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ “พร ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้ มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ เป็นนิตย์ ฯ”

          สาม ได้ดี คือ มงคล ๓๘ ประการ ข้อที่ ๒๓ นิวาโต จ “ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นมงคลอันสูงสุด”

          นี่คือบทเรียนจากเรื่องเล่าของพระอาจารย์ในสมัยรวมตัวกันทำงานในนาม “กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม” เป็นกลุ่มพระวิทยากรที่มีความโดดเด่นในด้านการทำงานเป็นทีมและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ได้เดินตามรอยบาทพระศาสดา “ทำเพื่อทาง ทางเพื่อธรรม ทุกย่างก้าว”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๔

ถอดรหัสเส้นทางธรรม(ทำ) “หัวใจของการทำงานเป็นทีม”

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ “เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า” นสพ.คมชัดลึก หน้าพระไตรสรณคมน์ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ พฤศจิกายนพ.ศ.๒๕๖๒

พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here