บทความพิเศษ ตอนที่ ๘
“อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานพุทธฯ กับกรณีการดำเนินคดีเงินทอนวัด“
โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
- ครั้งหนึ่งเกิดกรณีพิพาทระหว่างนายทาสกับทาส และมีท่านผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีนี้คือ วิลเลียม เมอร์รีย์ เอิร์ล ได้ขึ้นผลการตัดสินด้วยภาษิตกฎหมายที่ว่า “จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที” และคำตัดสินนี้ส่งผลสะเทือนไปทั่วอังกฤษ จนนำไปสู่การเกิดสงครามปลดปล่อยทาส ในปี ค.ศ. ๑๘๖๑
เหตุที่อาตมายกสุภาษิตกฎหมายนี้ขึ้นมา เพราะจากที่เขียนบทความเกี่ยวกับมหากาพย์เงินทอนวัด หรือที่หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อว่า “เงินทอนวัดเป็นแค่เพียงวาทกรรมเท่านั้น” ซึ่งบทความนี้เป็นตอนที่ ๘ เพื่อต้องการจะถอดบทเรียน และให้องค์ความรู้กับสังคมได้เรียนรู้ และช่วยมาค้นหาความจริงไปด้วยกัน และสิ่งสำคัญคือ “อยากเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม”
ใครผิดก็ควรถูกลงโทษตามกฎหมายอันจะดำรงความยุติธรรมให้อยู่คู่กับสังคม โดยให้คนที่มีความทุกข์ สิ้นหวังหมดที่พึ่ง แต่มีกระบวนการยุติธรรมเป็นที่ต่อลมหายใจสุดท้ายให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยเทอญ
ก่อนจะอ่านบทความนี้ อาตมาอยากให้ผู้ที่สนใจในประเด็นนี้ตามไปอ่านย้อนหลังทั้ง ๗ ตอน แล้วท่านจะอ่านบทความนี้เข้าใจ และเห็นภาพชัดที่สุด ซึ่งในตอนนี้จะกล่าวถึง ๒ ประเด็นใหญ่ ๆ เท่านั้น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง อำนาจและหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖๗ ได้กล่าวเกี่ยวกับรัฐกับพระพุทธศาสนามีสาระสำคัญอยู่ว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธ ศาสนา เพราะพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน และรัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลาย พระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด ทั้งต้องส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย
การเกิดขึ้นของสำนักงานพุทธฯ จึงเป็นการตอบโจทย์ของมาตรา ๖๗ เพราะเป็นหน่วย งานที่มาทำหน้าที่แทนรัฐในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๗
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๒ ให้สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีภารกิจเกี่ยวกับการดําเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐ โดยการทํานุบํารุง ส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริม พัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแล รักษา จัดการศาสนสมบัติ พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลาง ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งให้การสนับสนุน ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรทางศาสนา โดยให้มีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ และกฎหมายว่าด้วยการกําหนดวิทยฐานะ ผู้สําเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(๒) รับสนองงาน ประสานงาน และถวายการสนับสนุนกิจการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์
(๓) เสนอแนวทางการกําหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองพระพุทธศาสนา
(๔) ส่งเสริม ดูแล รักษา และทํานุบํารุงศาสนสถานและศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา
(๕) ดูแล รักษา และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง
(๖) พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา
(๗) ทํานุบํารุงพุทธศาสนศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม
(๘) สนับสนุนและส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
(๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักงานหรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
จะเห็นว่าตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสํานักงานพุทธฯ สาระสำคัญคือมีหน้าที่ช่วยสนองงานคณะสงฆ์ แต่สิ่งที่อาตมาจะตั้งข้อสังเกตคืออำนาจหน้าที่ในข้อ (๙) “ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักงานหรือตามที่นายก รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย” ข้อความในข้อนี้คือเป็นการเปิดช่องโหว่ให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ เพราะเป็นการเขียนให้อำนาจรัฐไว้กว้างมากที่จะกระทำการใดกับคณะสงฆ์ก็ได้ เพียงแต่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีสั่งการ แล้วสำนักงานพุทธฯ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเท่านั้น อาตมามองว่าคณะสงฆ์ต้องกลับมาถอดบทเรียนหรือฉุกคิดในประเด็นนี้ว่ามันมีอะไรซ้อนอยู่อย่างไรหรือไม่ ไม่ควรนิ่งเฉยหรือปล่อยผ่านไป
นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังได้กำหนดบทบาทของสำนักงานพุทธฯ ให้ชัดเจนลงไปอีกใน มาตรา ๑๓ “ให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม”
ดังนั้น สำนักงานพุทธฯ ถ้ามองบริบทในทางพระพุทธศาสนาเปรียบเสมือนเป็น “กัปปิยการก” หมายถึง “ผู้ทำของที่สมควรแก่สมณะ, ผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ลูกศิษย์พระ” (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)) กล่าวคือ สำนักงานพุทธฯ เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแล สนองงาน อุปถัมภ์ ปกป้อง คณะสงฆ์เพื่อให้ “การคณะสงฆ์” ทั้ง ๖ ด้าน คือ ๑) การรักษาความเรียบร้อยดีงาม ๒) การศาสนศึกษา ๓) การศึกษาสงเคราะห์ ๔) การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕) การสาธารณูปการ และ ๖) การสาธารณสงเคราะห์ ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อันจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และประเทศชาติในที่สุด
เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสนใจและชวนสังคมมาคิดไปด้วยกัน กล่าวคือ กัปปิยการก เป็นบุคคลที่เข้ามาช่วยงานพระสงฆ์ ซึ่งมีมาแต่โบราณกาลแล้ว อย่างเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็จะมีตัวแทนฝ่ายอาณาจักรที่เรียกว่า “สังฆการี” มาช่วยสนองงานคณะสงฆ์ ในเวลาต่อมาตัวแทนฝ่ายอาณาจักรที่มาช่วยงานคณะสงฆ์มีการตั้งเป็นกรมธรรมการ พัฒนาการเรื่อยมาจนมาเป็นกรมการศาสนา และสำนักงานพุทธฯ ในยุคปัจจุบัน
ปัจจุบันมีสำนักงานพุทธฯ ทำหน้าที่เป็นกัปปิยการก ที่คอยถวายคำปรึกษา คำแนะนำ ช่วยเหลือพระสงฆ์ในเรื่องที่ท่านไม่รู้ และทำไม่ได้ หรือเมื่อเกิดปัญหาจากการดำเนินการคณะสงฆ์ ก็ต้องคอยเป็นพี่เลี้ยง หรือผู้ให้คำปรึกษาหาทางออกให้
โดยเฉพาะกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด ฯ ส่วนมากท่านล้วนบรรพชาตั้งแต่เป็นสามเณรและอุปสมบทต่อเนื่อง ได้ศึกษาแต่ความรู้ทางศาสนา ปรัชญา จึงเป็นการยากที่ท่านจะมีความรู้ด้านกฎหมาย การจัดทำบัญชี หรือการบริหารงบประมาณต่าง ๆ ในการคณะสงฆ์ จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานพุทธฯ ที่ต้องคอยถวายคำแนะนำ ให้คำปรึกษา และคอยช่วยเหลือท่านในเรื่องนี้
แต่เรื่องกลับตาลปัตร กล่าวคือ สำนักงานพุทธฯ มีหน้าที่คอยให้ถวายคำแนะนำ ช่วยเหลือคณะสงฆ์ในเรื่องที่ท่านไม่รู้ และทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย การบริหารงบอุดหนุนที่ได้จากรัฐเพื่อการคณะสงฆ์ แต่สำนักงานพุทธฯ กลับตาลปัตรนำเรื่องที่คณะสงฆ์ไม่รู้ และทำไม่ได้ มาแจ้งดำเนินคดีอาญา
ในทางปฏิบัติสำนักงานพุทธฯ เมื่อรู้ว่ามีการใช้งบผิดวัตถุประสงค์ ก็ควรรีบถวายคำแนะนำท่าน หรือให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือคณะสงฆ์ ในทางที่กฎหมายหรือกระบวนทางราชการให้กระทำได้
ครั้งหนึ่งอาตมาได้ยินครูกฎหมายของเมืองไทยท่านหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายของพระสงฆ์ ท่านกล่าวว่า “ในอดีตมีกรมธรรมการ ที่ทำให้ฆราวาสมีอำนาจเหนือพระ มีอำนาจปกครองพระได้ หรือให้อำนาจฆราวาสจับพระลาสิกขาได้” อาตมาก็อดคิดไม่ได้ หรือว่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในปัจจุบันหรือเปล่า และจะทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร ?
ประเด็นที่สองการดำเนินคดีเงินทอนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวคือ การดำเนินคดีเงินทอนวัดของสำนักงานพุทธฯ มีหลายจุดที่ยังตั้งคำถามให้กับสังคม โดยเฉพาะประเด็นการกล่าวหาอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมเจ้าคุณอีก ๗ รูป ในครั้งนี้ ไม่ได้มีการแจ้งหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหา แต่กลับใช้อำนาจออกหมายจับและเข้าจับกุมอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมเจ้าคุณอีก ๗ รูปทันที
โดยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่จับท่านบังคับถอดจีวรโดยไม่ได้กล่าวคำลาสิกขา แล้วนำตัวท่านเข้าคุมขังในเรือนจำเป็นปี และในที่สุดเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ ท่านจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการดำเนินกระบวนการพิจารณา
แต่เมื่อไปดูต้นเหตุของการที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมพระมหาเถระในครั้งนี้ คือการที่สำนักงานพุทธฯ เข้าแจ้งความดำเนินคดีอาญากับวัดสามพระยา วัดสัมพันธวงศ์ และวัดสระเกศ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตั้งคำถามได้อีกว่าในฐานะที่สำนักงานพุทธฯ เป็น “กัปปิยการก” กล่าวคือ สำนักงานพุทธฯ ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคม และทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม อยู่ ๆ ด้วยเหตุใดจึงได้แจ้งคดีอาญาต่อกรรมการมหาเถรสมาคม มีแรงจูงใจหรือเจตนาซ้อนเร้นอะไรหรือไม่โดยไม่ดำเนินตามขั้นตอนดังต่อไปนี้เสียก่อน
๑) สำนักงานพุทธฯ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมตามกฎหมาย เข้าร่วมประชุมกับมหาเถรสมาคมทุกครั้ง ทำไมไม่ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้งบอุดหนุน เพราะหากเป็นการใช้งบอุดหนุนผิดวัตถุประสงค์จริง ก็เรียกงบนั้นคืนตามขั้นตอน และระเบียบของทางราชการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและภาพลักษณ์ในวงกว้างของคณะสงฆ์เสียหาย แต่กลับใช้วิธีดำเนินคดีอาญาและเทคนิคทางกฎหมายต่างๆ กับอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม พร้อมทั้งตีปี๊บก้องร้องป่าวออกสื่อเป็นหลักทางจิตวิทยาให้สังคมพิพากษาให้พระเป็นจำเลยโดยปริยาย ทำเหมือนอย่างกับว่ามีเจตนาซ่อนเร้นหรือไม่ ซึ่งวิธีการดังกล่าวมันไม่ใช่ทางออกของปัญหา เพราะควรจะหันหน้าพูดคุยกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตรน่าจะเป็นทางออกดีที่สุดในเวลานั้น
๒) ก่อนสำนักงานพุทธฯ จะแจ้งความดำเนินคดีอาญากับวัดหรืออดีตกรรมการมหาเถรสมาคม สำนักงานพุทธฯ ได้ดำเนินการตามกระบวนการตามขั้นตอนของทางราชการ โดยมีการแจ้งเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรไปยังวัดนั้น ๆ ให้นำเงินมาคืนเพื่อให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดินแล้วหรือยัง
๓) สำนักงานพุทธฯ ให้เหตุผลว่าวัดนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ แต่ทำไมหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายและเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงไม่มีการทักท้วง หรือเข้าไปตรวจสอบเสียก่อน เพราะมีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่ใช้เงินผิดวัตประสงค์เช่นเดียวกันนี้ เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจพบและแจ้งให้คืนเงิน หากไม่คืน ก็ต้องดำเนินการทางแพ่ง
ดังนั้น อาตมาจึงอยากให้สังคมมาร่วมกันตั้งคำถามไปพร้อม ๆ กันว่าสำนักงานพุทธฯ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม ทำไมไม่ดำเนินการตามขั้นตอน ๓ ประเด็นที่อาตมาตั้งข้อสังเกตไว้ ทำไมไม่ดำเนินการเช่นนั้น เพราะอะไร ?
แต่สำนักงานพุทธฯ กลับรีบไปแจ้งความดำเนินคดีอาญากับบางวัดเท่านั้น หรือแจ้งความจับอดีตกรรมการมหาเถรสมาคมพร้อมเจ้าคุณอีก ๗ รูป อย่างเร่งรีบ การกระทำดังกล่าวนี้มีเจตนาพิเศษอะไรซ้อนอยู่หรือไม่ ?
อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวร้ายต่อสำนักงานพุทธฯ หรือทำให้สำนักงานพุทธฯ เสียหาย แต่พูดไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบกับข้อกฎหมายและอยู่บนหลักการเท่านั้น จึงอยากชวนสังคมให้ตื่นตัวกับเรื่องนี้ และมาร่วมค้นหาความจริงไปด้วยกัน เพราะมีหลายประเด็นที่สำนักงานพุทธฯ ดำเนินการแล้วมันเกิดคำถามขึ้นในใจว่าทำไปเพื่ออะไร ?
แล้วท่านล่ะ…คิดว่าการกระทำของสำนักงานพุทธฯ มีแรงจูงใจ หรือมีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่อย่างไร !!
สำนักงานพุทธฯ ให้งบอุดหนุน ปปช., สำนักงานอัยการสูงสุด,สำนักงานศาลยุติธรรมได้หรือไม่ ทำไมวัดรับงบอุดหนุนจึงเป็นคดีความ”
คลิ๊กลิงค์
https://www.manasikul.com/%e0%b8%aa%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%9e%e0%b8%b8%e0%b8%97%e0%b8%98%e0%b8%af-%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%b8%e0%b8%94/
%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9e/