อานาปานสติภาวนา พูดกับผู้เข้าปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกข์นานาชาติ (๒) “ด้วยความรักและความเสียสละของโยมแม่ท่านพุทธทาส ก่อเกิดสวนโมกขพลาราม ” โดย คุณเมตตา พานิช

จากบทความเรื่อง “อานาปานสติภาวนา พูดกับผู้เข้าปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกข์นานาชาติ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” โดย คุณเมตตา พานิช : วารสาร “ธรรมมาตา” ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๑ พฤษภาคม -มิถุนายน-กรกฎาคม -สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ : อุบาสิกาสุภาวิณี วิบูลย์เขตร์ บรรณาธิการ

เมื่อตอนสร้างสวนโมกข์เริ่มแรกเลยไม่มีพระพุทธรูป ท่านพุทธทาสต้องการทำตัวอย่างให้วัดในประเทศไทยเห็นว่า การสร้างโบสถ์ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินมาก ท่านถึงกับยอมยกสวนโมกข์ให้กรมการศาสนา สวนโมกขพลาราม หรือวัดธารน้ำไหล เดิมซื้อด้วยเงินของโยมแม่ท่าน เมื่อคิดก่อตั้งสวนโมกข์

คุณเมตตา พานิช

สองคนพี่น้อง (ท่านพุทธทาส และครูธรรมทาส พานิช )ไปขอเช่าที่วัดร้างที่พุมเรียง ชื่อวัดตระพังจิก ไม่มีที่ดินของตัวเอง ไม่มีทรัพย์สินอะไร แต่เมื่ออยากจะมีสำนักปฎิบัติธรรมของตัวเอง มาพบที่สวนเก่ารกร้างเจ้าของเป็นข้าราชการบำนาญทำสวนผลไม้ วัดธารน้ำไหลนี่แหละ ก็อยากจะได้ พอดีเจ้าของต้องการจะขาย คิดจะซื้อไว้ แต่ก็ไม่มีเงินซื้อ ท่านก็ไปขอจากโยมแม่ โยมแม่ของท่านก็เสียสละ ด้วยความมั่นใจในลูกชายว่าจะทำประโยชน์ได้ เพราะเลี้ยงมา เลี้ยงมาทั้งสองคนพี่น้อง จึงเห็นว่าเมื่อคิดทำอะไรจะเป็นประโยชน์

คนแก่ ๆ สมัยก่อนท่านจะมีเงินไว้

เรียกว่าเงินเพื่อนผี

เงินเพื่อนผีก็คงรู้จัก

ไว้เมื่อเจ็บไข้และเมื่อตายจะต้องมี

แต่เมื่อลูกชายขอ

หรือจะซื้อที่สร้างวัด

ท่านก็ยอมเสียสละ โยมแม่ท่านก็เสียสละ

คุณเมตตา พานิช

สุดท้ายก็ได้ซื้อ ซื้อมาเป็นของคณะธรรมทาน ไม่ได้ตั้งเป็นวัดอยู่นาน จนกระทั่งท่านพุทธทาสมีความคิดในเรื่องที่จะทำวัดตัวอย่าง อยากจะสร้างวัดตัวอย่างในประเทศไทย คือวัดไม่ต้องสร้างอุโบสถ ไม่ต้องสร้างสถูป สร้างเจดีย์ให้ใหญ่โต อยากจะสร้างวัดที่มีโบสถ์เป็นโบสถ์ธรรมชาติ ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยลงทุนเพียงปักเสาปูน ที่เรียกว่าเสาแสดงเขตพัทธสีมา ปักไว้แสดงแนวเขตของพระอุโบสถ และก็ไปปรับที่บนยอดเขาให้ราบเรียบ แล้วสร้างเป็นโบสถ์ขึ้นมา ไม่ต้องมีหลังคา หรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ


ท่านจึงยอมที่จะยกสวนโมกขพลารามให้เป็นวัดธารน้ำไหล ให้กรมการศาสนา แล้วก็ขออนุญาตกรมการศาสนาทำโบสถ์แบบนี้ ทำไมถึงทำได้ เพราะสมัยนั้นท่านมีชื่อเสียงแล้ว ผู้หลักผู้ใหญ่รู้จักท่านมาก การจะสร้างโบสถ์แบบไม่เหมือนใคร แล้วก็ไม่มีพระพุทธรูปด้วย คือมีแต่ลานดินและต้นไม้ตามธรรมชาติเฉย ๆ ปักเสาสี่ต้นไว้เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นโบสถ์ ในที่สุดท่านก็โอนที่ดินสร้างเป็นวัดธารน้ำไหล เป็นอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เพื่อให้เห็นว่า การสร้างโบสถ์ไม่ต้องลงทุนอะไรให้ใหญ่โต วัดเวฬุวันที่เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสารถวายให้กับพระพุทธองค์ เป็นพระราชอุทยานก็เป็นอย่างนี้ เรียกว่าสวนป่าไผ่ ไม่ได้มีสิ่งปลูกสร้างอะไร

ท่านก็ต้องการแบบนั้น ท่านอุตส่าห์เดินทางไปประเทศอินเดีย มีคนหลายคน มีลูกศิษย์ลูกหาพยายามชวนท่านพุทธทาสไปอินเดีย ท่านไม่ยอมไป แต่สุดท้ายท่านก็เกิดความคิดขึ้นอย่างหนึ่งว่า น่าจะไปอินเดียเพื่อไปถ่ายภาพ เอามาแกะเป็นภาพปูนหินสลักในตอนสร้างโรงมหรสพทางวิญญาณ ท่านจึงเดินทางไป เตรียมกล้องเตรียมอะไรไป ท่านมีความสามารถในการถ่ายภาพ แต่เดิมทั้งสองคนพี่น้องได้เปิดร้านถ่ายรูป รับจ้างถ่ายรูป ล้างรูปเอง

ท่านพุทธทาสก็มีความสามารถในการถ่ายรูปล้างรูป ท่านก็ทำเองได้หมดในสมัยนั้น เดินทางไปอินเดียไม่ได้ตั้งใจอย่างอื่น ตั้งใจจะไปถ่ายภาพพุทธประวัติที่เป็นการสร้างในยุคแรกๆ พุทธประวัติที่มีการปั้นเป็นภาพหินสลักในยุคแรก ไม่มีการปั้นรูปพระพุทธเจ้า เขาเว้นเป็นสัญลักษณ์ไว้เป็นที่ว่างบ้าง เป็นดอกบัวบ้างแทนพระพุทธเจ้า เขาาไม่ทำรูปพระพุทธเจ้า

ดังนั้นหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานมาเกือบพันปี ไม่มีการสร้างพระพุทธรูป การสร้างพระพุทธรูปเกิดขึ้นมาภายหลัง กลายเป็นรูปเคารพอย่างในปัจจุบัน ถ่ายภาพกลับมาท่านก็ให้แกะเป็นภาพปูนปั้นแล้วเอาไปติดไว้ตรงผนังรอบโรงมหรสพทางวิญญาณด้านนอก คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดูกัน เพราะไม่มีใครอธิบายไม่มีใครแนะนำ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ท่านพุทธทาสต้องการให้พุทธบริษัทได้รู้ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้นไม่มีการปั้นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์จริงปั้นเป็นรูปไม่ได้

และเมื่อสร้างโบสถ์ในสมัยแรก ก็ไม่มีพระพุทธรูปเป็นพระประธาน ทำพิธีกรรมทางศาสนาแบบง่ายๆ แบบนั้น แต่ต่อมาก็มีการทำพระพุทธรูปไปวางอะไรต่ออะไรเข้าไปอีกเรื่องหนึ่ง คือต่อมาหลังจากนั้น

อานาปานสติภาวนา พูดกับผู้เข้าปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกข์นานาชาติ (๒) “ด้วยความรักและความเสียสละของโยมแม่ท่านพุทธทาส ก่อเกิดสวนโมกขพลาราม ” โดย คุณเมตตา พานิช

จากบทความเรื่อง “อานาปานสติภาวนา พูดกับผู้เข้าปฏิบัติธรรม ณ สวนโมกข์นานาชาติ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๖” โดย คุณเมตตา พานิช : วารสาร “ธรรมมาตา” ปีที่ ๑๗ เล่มที่ ๑ พฤษภาคม -มิถุนายน-กรกฎาคม -สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ : อุบาสิกาสุภาวิณี วิบูลย์เขตร์ บรรณาธิการ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here