“วิถีโลกเปลี่ยน แต่วิถีธรรมไม่เปลี่ยน”
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
สัปดาห์ที่ผ่านมาพระอาจารย์จิรศักดิ์ เกตุเมโธ เจ้าอาวาสวัดพุทธารามเกาหลี พาไปเยี่ยมเพื่อนภิกษุณีชาวเกาหลี ที่เคยเรียนปริญญาโทด้วยกันที่ประเทศศรีลังกา ที่วัดเมืองคังวอนโด (Gangwon-do) เมืองนี้จะอยู่ทางใต้ของเกาหลีเลยก็ไม่ใช่ แต่ค่อนๆ ไปทางใต้ อยู่ติดฝั่งญี่ปุ่น นั่งรถจากเมืองอันซันใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง ถึงแม้เป็นเขตชนบท แต่ถนนหนทางมีความสะดวกสบาย เกาหลีเป็นประเทศที่มีภูเขาประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สองข้างทางที่นั่งรถมาจึงมีแต่ภูเขา
รถวิ่งไปตามไหล่เขา ไม่ต่างจากถนนสายอำเภอลี้ ลำพูน ถนนสายอำเภอฮอด-แม่สะเรียง แต่ท่ามกลางหุบเขา มีคอนโดมีเนียมตั้งเรียงกันเป็นแถวจำนวนมาก แล้วก็มีโรงเรือนสำหรับทำการเกษตรเกือบทุกพื้นที่ อยู่คอนโดมีเนียมแต่ทำการเกษตรน่าจะประมาณนั้น
สำหรับบ้านเรือนปกติก็มีเรียงไปตามไหล่เขาเหมือนกัน แล้วก็มีโรงเรือนทำการเกษตรบ้านละหลังสองหลัง ใหญ่บ้างเล็กบ้างตามขนาดของพื้นที่ที่ตนมี พื้นที่ที่ไม่ได้ทำโรงเรือนก็เห็นแต่ร่องรอยการทำการเกษตร ตอต้นข้าวโพด ต้นพริกหยวกที่ตายแล้ว กะหล่ำปลีที่กำลังจะเน่า ต้นแอปเปิล ต้นสาลี่ที่ยืนต้นล่วงใบรอหน้าร้อนในปีหน้า ชาวบ้านจะใช้ฟางฟันรอบโคนต้น
เราไปถึงวัดในช่วงบ่ายแก่ๆ วัดอยู่ติดเชิงเขา สัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ ข้างๆ วัดมีแม่น้ำไหลผ่าน วัดมีศาลาหนึ่งหลัง ดูภายนอกเหมือนเล็กๆ แต่ด้านในแบ่งเป็นห้องต่างๆ ห้องสวดมนต์ ห้องต้อนรับสำหรับฉันน้ำชา ห้องน้ำ ห้องครัว (ครัวสำหรับล้างแก้ว เก็บอาหารแห้ง ข้าวสาร ของใช้ที่ชาวบ้านนำมาถวายบูชา) ห้องนอนมีสองฝั่ง ห้องนอนใช้ระบบพื้นอุ่นแบบโบราณ ก่อไฟไว้ใต้ถุน
ภิกษุณีจัดที่พักให้อีกที่หนึ่งแล้วก็สอนวิธีการก่อไฟบอกว่า ใช้ฟืนสองท่อนอุ่นตลอดทั้งวันทั้งคืน วันที่ไปถึงเริ่มก่อไฟในช่วงสองทุ่ม ก็อุ่นไปถึงเย็นของอีกวัน ผนังห้องนอนก่อด้วยดิน พื้นห้องชั้นแรกปูด้วยดินทำเป็นช่องลมให้ความร้อนกระจายไปทั่วพื้นห้อง แล้วทำปล่องอากาศปล่อยควันออกด้านบนหลังคา แล้วตามด้วยหินเพื่อให้เก็บความร้อน ปูทับอีกทีด้วยดิน พื้นห้องบนสุดปูด้วยกระดาษมันชนิดไม่ทำให้ติดไฟ
ภูมิปัญญาของคนเกาหลีในสมัยโบราณเพื่อจะเอาตัวรอดจากความหนาวเก่งมาก วันนั้นขณะอยู่ในห้องกลางคืนอุณหภูมิจะติดลบ ๗ องศา แต่เข้ามาในห้องรู้สึกอุ่นสบาย ที่สำคัญทำให้ประหยัดและสุขภาพดีด้วย
ด้านหน้าศาลามีเจดีย์หนึ่งองค์ ถัดไปก็มีโรงครัว ห้องฉันอาหาร มีโรงจอดรถ สำหรับสิ่งที่มีเยอะที่สุดของวัด และดูเหมือนจะมีค่ามากด้วย นั่นก็คือฟืน มีกองไว้เยอะมากทุกอาคาร เมื่อใกล้ถึงฤดูหนาวชาวบ้านก็จะนำไม้ฟืนมาถวายวัด
การถวายของให้วัดของคนเกาหลี จำพวกของฉัน อาหาร ข้าวสาร ผลไม้ ผักต่างๆ ชาวบ้านก็จะนำมาตั้งไว้หน้าพระในวิหาร ไม่ได้มีพิธีกรรมว่า พระสงฆ์หรือภิกษุณีจะต้องมารับแล้วให้พร ผู้เขียนก็นั่งดูวันนั้นชาวบ้านถือส้มมาถวาย ก็ถือไปตั้งไว้หน้าพระประธาน แล้วก็กราบพระ เสร็จแล้วก็มานั่งฉันน้ำชา ซึ่งเป็นทำเนียบการต้อนรับของวัด การถวายอย่างอื่นเช่น ไม้ฟืน เชื้อเพลิงต่างๆ ก็นำมากองไว้ตามจุดที่เก็บไว้ของวัด
ช่วงเย็นก็เดินขึ้นไปบนเขา สักการะพระพุทธรูปแกะสลักบนก้อนหินสวยงามมาก สร้างในสมัยราชวงศ์โครายอ คนทั่วไปเรียกโคเรีย คำว่าโคเรีย มาจากโครายอนี้แหละ ข้างๆองค์พระมีศาลาหลังเล็กๆ สร้างมาร้อยกว่าปี ภิกษุณีเล่าให้ฟังผ่านพระอาจารย์จิรศักดิ์ว่า บริเวณนี้เป็นกุฏิเก่า มีก้อนหินที่เป็นฐานกุฏิเดิมเรียงรายอยู่ วันนั้นอากาศหนาวเย็นมาก มือชาไปหมด
เล่าให้ฟังถึงวัดที่อยู่ของภิกษุณีในเกาหลีนั้น วัดภิกษุณีก็จะแยกจากพระสงฆ์ จะปกครองกันเอง มีตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งจะสับเปลี่ยนกันบริหารเป็นวาระครั้งละ ๔ ปี มีวัดขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ซึ่งวัดก็มีมากพอสมควร การทำกิจวัตรก็เหมือนกับวัดของพระสงฆ์ทั่วไป ทำวัตรวันละ ๓ ครั้ง ช่วงเช้าตีห้า ก่อนฉันเพล และก็ทำวัตรอีกครั้งตอนเย็น ก่อนหน้าที่เราเดินทางไปมีชาวบ้านเสียชีวิต เขาก็จะเอารูปภาพมาให้สวดที่วัด พระอาจารย์จิรศักดิ์เล่าให้ฟังว่า วัดเกาหลีจะต้องสวดให้ครบ ๔๙ วัน เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ
เล่าถึงวิถีชีวิตของภิกษุณีที่อยู่วัดในเขตชนบท ภิกษุณีก็จะต้องทำอาหารฉันเอง ในฤดูร้อนก็จะปลูกผักเอง ถนอมอาหารเอง รวมถึงไปจ่ายตลาดเอง บางวัดไม่มีโยมนำไม้ฟืนมาถวายก็ต้องไปหาตัดตามป่าเอง ก็เป็นชีวิตที่ต้องพึ่งตัวเองอยู่พอสมควร
วันรุ่งขึ้นได้มีโอกาสไปชมความงดงาม ความยิ่งใหญ่ของวัด ในเขตคังวอนโด ซึ่งห่างจากวัดของภิกษุณีไปอีกประมาณ ๑๑ กิโลเมตร มีวัดใหญ่แห่งหนึ่งตั้งอยู่ ชื่อวัดพ็อบฮึงชา (Beopheungsa) มีอายุ ๑,๔๐๐ ปี ตั้งอยู่บนเชิงเขา ไล่ขึ้นไปจนถึงเกือบยอดเขา พื้นที่ของวัดนั้นแบ่งเป็น ๓ ส่วน
ส่วนแรกเข้าไปมีลานจอดรถกว้างมาก มีห้องน้ำ มีอาคารโรงครัว มีห้องรับรอง มีอาคารขนาดใหญ่ ๓-๔ หลัง สำหรับทำกิจกรรมและต้อนรับผู้คนมาเยือน มีอาคารขายของที่ระลึก ทางขึ้นจะเห็นหอกลอง หอระฆังสวยงามมาก
ก่อนจะขึ้นไปส่วนที่สองจะมีป้ายสีแดงขนาดใหญ่ เขียนบอกว่า เป็นทางไปพระนิพพาน หรือทางไปสวรรค์ ซึ่งเป็นทางไปวิหาร กุฏิที่พักสงฆ์ และส่วนที่สามเป็นวิหารที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อยู่บนสุด
เราขึ้นไปที่วิหารที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุก่อน ซึ่งเป็นบริเวณที่สูงสุดของวัด ขึ้นไปแล้วจะเห็นวิหารที่สวยงามมาก หน้าวิหารมีลานกว้างปูพื้นด้วยทรายขาว มองดูทำให้เห็นวิหารสีฟ้าดูโดดเด่นงดงามวิจิตรตระการตามาก
ภิกษุณีพาไปไหว้เจดีย์เล็กๆ ที่อยู่หลังวิหารก่อน ผู้เขียนสงสัยก็เลยถามพระอาจารย์จิรศักดิ์ว่า เป็นเจดีย์อะไร ท่านเล่าให้ฟังว่า เป็นเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ความพิเศษของวิหารหลังนี้ ด้านในจะไม่มีพระประธาน บริเวณที่ตั้งพระประธานจะมีแค่แท่นที่ประทับและหมอน ด้านหลังจะเป็นกระจกใสมองเห็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อยู่ด้านนอก ซึ่งเป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุถือว่าเล็กมาก ชาวเกาหลีนิยมสร้างเป็นเจดีย์ขนาดไม่ใหญ่ ด้านหน้าเจดีย์มีกำแพงแกะหินสลักเรื่องราวพุทธประวัติให้ผู้คนได้ศึกษา
จากวิหารเดินลงไปในส่วนหมู่กุฏิที่พักพระสงฆ์ ในระหว่างทางเดินลงไปตามหลังภิกษุณีความคิดก็นึกไปว่า พระสงฆ์ที่อยู่วัดนี้เช้าๆ ก็คงเดินขึ้นมาสวดมนต์แล้วก็เดินลงอย่างนี้ ตอนเย็นเดินขึ้นมาสวดมนต์แล้วก็เดินลงไปอย่างนี้ ความรู้สึกสงบมาก เดินลงจากภูเขาด้วยความเงียบ ประกอบกับในเวลานั้น ๑๗ นาฬิกา หรือ ห้าโมงเย็นแต่พระอาทิตย์ตกดินแล้ว ความมืดเริ่มปกคลุม ตอนนั้นมองเห็นปล่องไฟมีควันขึ้นมา ก็พลางคิดไปว่าพระท่านคงจุดไฟสำหรับให้พื้นอุ่น เดินลงมาใกล้ๆ กุฏิ เห็นไม้ฟืนกองเต็มอยู่ก็คิดไปอีกว่า กลางวันท่านคงช่วยกันไปตัดฟืนที่อยู่รอบๆ ป่านี้แหละ
เดินลงก่อนจะพ้นหมู่กุฏิสงฆ์ พระอาจารย์จิรศักดิ์ชี้ให้ดูต้นดอกบัวสรรค์ ท่านบอกว่า เดือนมีนาคมจะบานขาวเต็มต้น ดอกจะเหมือนจำปีจำปา แต่ดอกใหญ่กว่า ขาวสวยเต็มต้น ใครอยากจะมาดูก็ให้มาในเดือนมีนาคม
ในระหว่างนั่งรถกลับวัด นึกถึงความยิ่งใหญ่ของวัดเกาหลีแล้วก็เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า
พระสงฆ์สร้างวัดได้อย่างไร รักษาวัดได้อย่างไร รักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ได้อย่างไร ในช่วงเวลาที่เกิดสงคราม ถูกกดขี่ข่มเหงทุกอย่าง แต่สามารถรักษาวัดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่เป็นพันกว่าปี ก็เลยถามพระอาจารย์จิรศักดิ์ชวนเป็นการแลกเปลี่ยนว่า เขาบริหารจัดการวัดอย่างไร เขามีวิธีการสอนอย่างไร เขาสอนอะไรกัน
พระอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังว่า มีหลายเหตุปัจจัย กล่าวถึงพระสงฆ์ ภิกษุณีเขาก็มีน้อยนะ แต่ทุกคนบวช เพราะต้องการสละวิถีชีวิตอย่างฆราวาส ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง เอาชีวิตตัวเองมาใช้อย่างเรียบง่าย ไม่กินเนื้อ แต่กินเจ ไม่ได้บวชตามประเพณี ไม่ได้บวชสั้นๆ แล้วก็ลาสิกขา ส่วนใหญ่ตั้งใจบวชตลอดชีวิต คนที่บวชแล้วลาสิกขาก็มี แต่ก็น้อยมาก
งานของพระสงฆ์เกาหลีหลักๆ เลยคือการปฏิบัติ การศึกษา และการเผยแผ่ เขาทำเป็นอันเดียวกัน เรื่องของการก่อสร้างแทบไม่มี เพราะวัดสมบูรณ์หมดแล้ว ใครมารับตำแหน่งก็บริหารก็มุ่งปฏิบัติแล้วก็เผยแผ่เป็นหลัก การศึกษาคือการพัฒนาบุคลากร มีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา มีศูนย์ปฏิบัติธรรม เรียนจริงจัง ปฏิบัติจริงจัง ช่วงเวลาเข้าพรรษาก็ให้ปฏิบัติธรรมอย่างเดียว มีการปรับตัวส่งไปเรียนตามประเทศต่างๆ ที่มีพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่ได้รับมาจากอินเดีย อย่างศรีลังกา พม่า เวียดนาม พอไปเรียนก็ได้เรียนภาษาอังกฤษไปด้วย เป็นต้น
อีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาอยู่ได้ พระพุทธศาสนาเป็นรากของวัฒนธรรมเกาหลี เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ แม้เขาจะตัดกิ่งก้านใบอย่างไร แต่เขาก็ตัดรากไม่ได้ ยุคหนึ่งเมื่อคนไปถึงความเจริญสูงสุด มีครบทุกอย่าง ได้กิน ได้เที่ยว เปลี่ยนรูปร่างหน้าตาศัลยกรรม เมื่อสูงสุดแล้วคนก็หันหน้าเข้าหาความสุขภายใน ความอิสระของใจ พระพุทธศาสนาจึงไม่หายไปจากวิถีชีวิตของคนเกาหลี
ติดตามเรื่องราวการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยในเกาหลีใต้ ผ่านเฟสบุ๊ค วัดพุทธาราม เกาหลี
“วิถีโลกเปลี่ยน แต่วิถีธรรมไม่เปลี่ยน”
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดพุทธารามเกาหลี เมืองอันซัน ประเทศเกาหลีใต้
จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒)