กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
กราบขอบพระคุณ ภาพถ่ายโดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า

เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง ตอนที่ ๗

เรื่อง ค่ายแรกของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

 พระใบฎีกาคทาวุธ  คเวสกธมฺโม ผู้เขียน
พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ผู้เขียน

         จดหมายฉบับที่ผ่านมาอาจารย์พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร. อดีตประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ได้เล่าถวายพระพุทธองค์ว่า พระอาจารย์กับเพื่อน ๆ ได้รวมกันทำงานจิตอาสาด้วยการขับเคลื่อนการอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรม โดยมีอาจารย์พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ป.ธ.๙ ท่านเคยเป็นประธานกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม เป็นผู้นำในการชักชวนเพื่อน ๆ มาทำงานร่วมกัน และท่านได้ออกแบบกระบวนการฝึกอบรม แต่ขณะนี้ท่านได้ไปขับเคลื่อนงานด้านสันติวิธีทั้งในและต่างประเทศ

           ทั้งนี้ กระบวนการฝึกอบรมดังกล่าวนั้นได้พัฒนามาเป็น “พระวิทยากรกระบวนธรรม” ในปัจจุบันมีกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ เป็นผู้รับผิดชอบหลักสูตรนี้และมีเครือข่ายการทำงานอยู่ในทุกพื้นที่ของภูมิภาค

           ส่วนพระวิทยากรกระบวนธรรม ที่มีจุดเริ่มต้นและพัฒนาการมาจากกระบวนการอบรมของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม และที่น่าสนใจค่ายแรกของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามที่ใช้กระบวนการอบรมนี้บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง

           อาตมาเคยได้ยินครูบาอาจารย์อีกท่านที่เป็นหนึ่งในรุ่นที่รวมตัวกันทำงานคืออาจารย์พระมหาไกรวรรณ์  ชินทตฺติโย ป.ธ.๙, ดร. (ขณะเป็นสามเณร) นอกจากจะเป็นพระนักเผยแผ่ ยังเป็นพระนักการศึกษา และปัจจุบันนี้ท่านทำงานฝ่ายปกครองคณะสงฆ์เป็นรองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม ที่สำคัญพระอาจารย์ยังเป็นนาคหลวง รูปที่ ๑๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย

           พระอาจารย์เคยเล่าให้อาตมาฟังว่า ค่ายแรกที่ทำงานร่วมกัน (ถ้าจำไม่ผิด) จัดเมื่อปี ๒๕๔๔. ที่โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา ในระดับชั้น ม.๔. (แบ่งเป็น ๓ รอบ เนื่องจากนักเรียนเยอะ)

ภาพ จากขวา พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย , พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี และ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท
ภาพ จากขวา พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย , พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี และ พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท

         “เป็นค่ายที่คล้ายๆ ลองผิดลองถูก เพราะพระวิทยากรแต่ละรูป มีความชำนาญบ้าง ยังไม่มีบ้าง และแม้หลายรูปเคยผ่านการอบรมค่ายมาแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเน้นการบรรยายเดี่ยวเป็นหลัก เมื่อมารวมกลุ่มกันครั้งแรก เลยยังไม่คล่องตัวนัก แต่ทุกรูปมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ทุก ๆ คาบที่มีการบรรยาย จึงไปนั่งร่วมให้กำลังใจกันแบบเต็มที่ คอยสังเกตการณ์ในทุกๆ ช่วง โดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท กับ พระมหาวีระพันธ์ ชุติปญฺโญ เป็นตัวยืนหน้าเวที ส่วนที่เหลือก็ลงกลุ่มย่อยและกิจกรรมอื่น ๆ

           และพระอาจารย์ยังเล่าต่ออีกว่า ส่วนกระบวนการอบรม ใช้แนวทางแห่งวิชาจิตวิทยาพระพุทธศาสนา ซึ่ง อาจารย์โสรีช์ โพธิ์แก้ว และอาจารย์วีณา เนาวลักษณ์ ที่ผู้บรรยาย ได้พาไปเข้าค่ายทดลองปฏิบัติที่วัดปัญญานันทาราม จึงเป็นไปทางเดียวกัน และประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากนักเรียนผู้เข้ารับการอบรม เป็นนักเรียนค่อนข้างดีและเก่ง รวมทั้งกิจกรรมที่พระวิทยากรพาทำ ไม่น่าเบื่อและมีสาระค่อนข้างดีมาก ทั้งในเวทีกลางก็สนุกสนาน เป็นกันเอง เต็มไปด้วยความรู้ ทั้งในกลุ่มย่อย พระวิทยากรก็ใช้วิทยาการที่ได้เรียนรู้มาอย่างเต็มที่ นักเรียนก็ชอบที่จะสนทนาธรรมกับพระอาจารย์และเพื่อน ๆ จึงถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี

         “เมื่อเข้าค่ายครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ (นักเรียนม.๔). ก็ปรับปรุงข้อผิดพลาด เสริมข้อดีลดข้อด้อย รวมทั้งเริ่มให้พระวิทยากรแต่ละรูป มีส่วนร่วมในเวทีกลางมากขึ้น ผลก็ออกมาดีตามลำดับ

         “แต่ค่ายที่มีความรู้สึกว่าดีมากที่สุด และได้เสียงตอบรับในระดับดีมากที่สุด คือ ค่ายช้างเผือก (คัดเฉพาะนักเรียนดีเด่นชั้นม.๕) เป็นค่ายที่พระวิทยากรก็ทำกระบวนการอบรมที่ดีมากที่สุด และนักเรียนก็สามารถรับการอบรมและต่อยอดเพิ่มเติมได้มากที่สุด บรรยากาศเต็มไปด้วยวิชาการธรรมะและแทรกไปด้วยความรื่นเริงอย่างยิ่ง ไม่มีช่วงไหนที่นักเรียนเครียดหรือเบื่อหน่ายเลย และในปีต่อ ๆ มา กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ (ม.๔ และม.๕) ก็ได้อาสาสมัครเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงดูแลรุ่นน้องต่อ ๆ มา และเป็นลูกศิษย์ที่ตามดูแลคณะพระอาจารย์มาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้

           จากที่พระอาจารย์เล่าให้อาตมาฟังจะเห็นว่าค่ายแรกนั้นค่อนข้างได้ผลดีเป็นอย่างมากกับการใช้กระบวนการอบรมตามแนวทางของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ที่อาตมาทราบจากการจัดค่ายในช่วงแรก ๆ ครูบาอาจารย์ที่ทำงานร่วมกันในยุครุ่นบุกเบิกเห็นว่าได้ผลดี จึงอยากจะเอาค่ายนี้ไปจัดค่ายที่บ้านเกิดของตนเอง (เป็นที่มาของหลักสูตรจาริกบ้าน จาริกธรรมที่ใช้ใน ๕ จังหวัดพื้นที่เสี่ยงแดงชายแดนใต้ และกิจกรรมพาพระวิทยากรกลับบ้าน) นอกจากนั้นลูกศิษย์รุ่นแรกยังได้มาเป็นอุบาสก อุบาสิกา ด้วยใจที่มั่นคงในพระพุทธศาสนาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะได้เล่าถวายพระพุทธองค์ในฉบับต่อไป

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า …เรื่องที่อยากเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง (ตอนที่ ๗) “ค่ายแรกของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จากคอลัมน์ เขียนจดหมายถึงพระพุทธเจ้า (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพระ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here