เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระ

ผู้มีคุณูปการต่อประเทศชาติ

พระพุทธศาสนา

สถาบันพระมหากษัตริย์

อย่างอเนกอนันต์

สำหรับสองบทนี้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสระน้ำสรงมูรธาภิเษก ซึ่งเป็นจุดกำเนิดวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับพระประธานในพระอุโบสถ

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๓๐. สระน้ำสรงมูรธาภิเษก (๓)

๓๑. พระประธานในพระอุโบสถวัดสระเกศฯ (๔)

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๓๐.สระน้ำสรงมูรธาภิเษก (๓)

วัดสระเกศฯ เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา  เป็นราชธานี เกี่ยวข้องกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ไปราชการสงครามที่กรุงกัมพูชา ทรงทราบข่าวว่า กรุงธนบุรีเกิดจลาจล  จึงยกทัพกลับมาถึงบริเวณวัดสะแก ทรงเห็นว่า เป็นสถานที่ต้องตามหลักพิชัยสงคราม  จึงเสด็จเข้าโขลนทวาร ประกอบพิธีมูรธาภิเษกบริเวณสระน้ำที่วัดสะแก ก่อนเสด็จไปปราบจลาจลในกรุงธนบุรี ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ผ่านพิภพเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ 

ภายหลังเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทรงเปลี่ยนนาม “วัดสะแก” เป็น  “วัดสระเกศ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติให้ต้องตามสถานที่ที่พระองค์ประกอบพิธีสรงมูรธาภิเษก

ในปัจจุบัน สระที่นำน้ำขึ้นมาทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีมูรธาภิเษกนั้น พระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาการเปรียญครอบเอาไว้ 

ใกล้กับศาลาการเปรียญที่ประทับสรงมูรธาภิเษก ยังมีพระตำหนักรัชกาลที่ ๑  พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระตำหนักเดิมที่ประทับครั้งดำรงพระยศเป็น   สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาถวายวัดสระเกศ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างไว้ข้างพลับพลา  ที่ประทับสรงมูรธาภิเษกนั้น

พระตำหนักรัชกาลที่ ๑ หลังเดิมเป็นเรือนไม้  ต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนจากเรือนไม้เป็นตึกก่ออิฐถือปูน ในคราวที่บูรณะวัดสระเกศทั้งพระอาราม โปรดเกล้าฯ นำฝาปะกนกั้นห้องบรรทมรัชกาลที่ ๑  มากั้นไว้ภายในพระตำหนักหลังนี้ตามเดิม  ภายในห้องยังมีเตียงสำหรับบรรทมของรัชกาลที่ ๑ อยู่ด้วย

๓๑.พระประธานในพระอุโบสถวัดสระเกศ (๔)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงย้ายพระนครมาตั้งอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประดิษฐานพระแก้วมรกต ขณะก่อสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่นั้น ได้ทรงปรารภถึงระฆังของวัดสะแก ซึ่งเป็นวัดที่พระองค์ประกอบพิธีสรงมูรธาภิเษกว่า  มีเสียงดังไพเราะมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายระฆังจากวัดสะแกไปแขวนไว้ที่หอระฆังวัดพระแก้ว และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างระฆังขึ้นแทน ระฆังที่โปรดให้สร้างขึ้นแทนยังอยู่บนหอระฆังวัดสระเกศจนถึงปัจจุบัน

ต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองรอบวัดสะแก พระราชทานชื่อว่า “ คลองมหานาค และ คลองโอ่งอ่าง ” จึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสะแกไปพร้อมกัน โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถวัดสะแกขึ้นใหม่ โดยใช้เชลยชาวเขมรถึงหนึ่งหมื่นคนในการก่อสร้าง   เมื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ปรากฏว่า ฐานชุกชีสูงกว่าเดิมมาก ทำให้พระประธานองค์เดิมที่สร้างด้วยศิลาสลักปางสมาธินั้นดูเล็กไป ไม่สมกับขนาดของพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระประธานองค์ใหม่ขึ้น โดยใช้ปูนปั้นพอกครอบองค์พระประธานองค์เดิม ให้คงเป็นปางสมาธิเช่นเดิม  แล้วลงรักปิดทอง

พระอุโบสถวัดสระเกศ จึงเป็นพระอุโบสถที่มีพระประธานซ้อนกันอยู่สององค์    ด้วยไม่ได้มีการพระราชทานพระนามมาแต่เดิม พระประธานประจำพระอุโบสถวัดสระเกศฯ คนทั่วไปคงเรียกว่า “หลวงพ่อพระประธาน”  สืบมา

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เล่าว่า เคยทูลถามเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ว่า ทำไมพระประธานวัดสระเกศจึงไม่มีพระนาม

เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ตรัสว่า คงเห็นว่า พระประธานพระอุโบสถ   วัดสระเกศ เป็นพระประธานที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างด้วยพระองค์เอง และไม่ได้ถวายพระนามเอาไว้ จึงไม่มีใดผู้ถวายพระนาม คงเรียกกัน สืบมาว่า “หลวงพ่อพระประธาน”

หมายเหตุ

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และทรงสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เนื่องในโอกาสที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี ๒๔๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ วัดสระเกศฯ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

และก่อนที่ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนิน คณะสงฆ์วัดสระเกศฯ ได้ประชุม เมื่อวันที่ ๗ เมษายน เพื่อรับเสด็จฯ หนึ่งในหัวข้อการประชุมนั้น คือ การถวาย “นามพระประธาน” ซึ่งเจ้าอาวาสได้ให้มีการตั้งพระนามพระประธาน เพื่อนำเสนอให้สำนักพระราชวังเลือก(๓-๔ ชื่อ) และในที่สุด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระประธานประจำพระอุโบสถว่า “พระพุทธมงคลชินสีห์วชิรมุนี”

ส่วนเศวตรฉัตรพระประธานประจำพระอุโบสถวัดสระเกศนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) บอกว่า ได้ยินจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช   (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) ทรงเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓  ทรงรับสั่งให้สร้างถวาย เมื่อคราวเสด็จทอดผ้าพระกฐินปีหนึ่ง โดยพระองค์  เสด็จทางชลมารค ขึ้นที่ท่าน้ำด้านหน้าพระวิหารพระอัฏฐารส ทรงบวงสรวงพระอัฏฐารส   ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดพิหารทอง เมืองพิษณุโลก จากนั้น จึงเสด็จ เข้าพระอุโบสถถวายผ้าพระกฐิน

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๓๐. สระน้ำสรงมูรธาภิเษก (๓) ๓๑. พระประธานในพระอุโบสถวัดสระเกศฯ (๔) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here