วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๒๖. ประวัติ พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร)

๒๗. ผู้สืบต่อสำนวนเทศน์มหาชาติตำรับวัดสระเกศ

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

วันนี้วันพระ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ

น้อมเศียรเกล้า ปฏิบัติจิตภาวนา ถวายแด่ พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) เนื่องในวันคล้ายวันครบรอบมรณภาพ ปีที่ ๕๓ วันที่ ๒๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓

และ

ศึกษาชีวิต และปฏิปทาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

พระมหาเถระผู้เกิดมาเพื่อต่อลมหายใจให้กับพระพุทธศาสนา

ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับพระสงฆ์รุ่นใหม่

สำหรับสองบทนี้ เล่าถึงประวัติพระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) พระมหาเถระคู่พระบารมีของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถร) และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ผู้อุทิศตนเพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระบวรพุทธศาสนารูปหนึ่งในสังฆมณฑล

๒๖.

ประวัติ พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร)

              นามเดิม  เทียบ  นามสกุล  อรุณศรี  นามมคธ  ธมฺมธโร  นามบิดา  นายทิม  นามมารดา  นางเหม ชาติกาล  ณ  วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน  พุทธศักราช ๒๔๔๑  ตรงกับ  ๑๕ ๒ฯ๑ ค่ำ  ปีจอ  ที่บ้านสามเรือน  ตำบลสามเรือน  อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

บรรพชา อุปสมบท

พ.ศ. ๒๔๕๔  บรรพชา  ที่วัดขนอนใต้  ตําบลบ้านกรด  อําเภอบางปะอิน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พ.ศ. ๒๔๖๒  อุปสมบทที่วัดสระเกศ  โดยมีพระธรรมปิฎก (น่วม จนฺทสุวณฺโณ)  เป็นพระอุปัชฌาย์   สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร)  ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระปิฏกโกศล เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และ พระมงคลรังษี (ปาน อินทโชโต) วัดเทพธิดา เมื่อครั้งยังเป็นเปรียญอยู่วัดสระเกศฯ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 การศึกษา

              พ.ศ. ๒๔๕๐  ศึกษาวิชาหนังสือไทยที่โรงเรียนขนอนใต้  การศึกษาระดับประถมศึกษาสมัยนั้น เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์และวัด โดยแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ มูลศึกษา  และประโยค ๑ ถ้าสอบได้ประโยค ๑ ถือว่า จบระดับประถมศึกษา  การสอนระดับประถมศึกษา  พ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียนรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องเล่าเรียน  โดยชุมชนอาจเกื้อกูลบ้าง  กรมศึกษาธิการ (สมัยนั้น) มีหน้าที่ในการสอนระดับมัธยมศึกษา  ซึ่งมีอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น

พ.ศ. ๒๔๕๔  สอบได้ชั้นปีที่ ๑ ของประโยคมูลศึกษา

พ.ศ. ๒๔๕๘  ย้ายมาอยู่วัดสระเกศฯ  และสอบได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ. ๒๔๕๙  สอบได้เปรียญธรรม ๓  และนักธรรมชั้นโท  ตามลำดับ

พ.ศ. ๒๔๗๑  พระครูปลัดพรหมจริยวัตร (พระครูปลัดของพระราชาคณะชั้นธรรม)

พ.ศ. ๒๔๘๙  พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (พระครูปลัดของสมเด็จพระราชาคณะ)

พ.ศ. ๒๔๙๗  พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระธรรมธราจารย์

พ.ศ. ๒๕๐๒  พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชธรรมธราจารย์ นวการกิจโกศล วิมลธรรมาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ. ๒๕๐๕   พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ สุนทรนวกรรมโกวิท โศภิตสุวรรณบรรพตพิทักษ์ บริรักษ์ธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ. ๒๕๐๖  พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเจดีย์ กวีวงศนายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระธรรมเจดีย์ได้สนองงานของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถร) อย่างใกล้ชิดมาโดยลําดับ  ในด้านสาธารณูปการ  ก็ได้เป็นกําลังสําคัญ  ในการควบคุมการบูรณะ พระอุโบสถ พระวิหารพระอัฏฐารส และบรมบรรพต (ภูเขาทอง)  เป็นต้น 

เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  ญาโณทยมหาเถร  ก็ได้สานงานปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุ  และเสนาสนะภายในวัด  ต่อจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  โดยตลอดมิได้หยุด

หน้าที่การงาน

              พ.ศ. ๒๕๐๗  เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม 

พ.ศ. ๒๕๐๗  เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๐๘  เป็นเจ้าคณะภาค ๑ 

พ.ศ. ๒๕๐๙  – ๒๕๑๓ เป็น เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

พ.ศ. ๒๕๑๒  เป็นเจ้าคณะภาค ๒

สมณศักดิ์
-พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็น พระครูสังฆรักษ์
-พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็น พระครูวินัยธร
-พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็น พระครูปลัดพรหมจริยวัตร
-พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ
-พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระธรรมธราจารย์
-พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชธรรมธราจารย์ นวการกิจโกศล วิมลธรรมาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
-พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ สุนทรนวกรรมโกวิท โศภิตสุวรรณบรรพตพิทักษ์ บริรักษ์ธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
-พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมเจดีย์ กวีวงศนายก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

มรณกาล

พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร ป.ธ.๓) มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ เวลา ๑๑.๓๐ น. ที่โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุได้ ๗๑ ปี พรรษา ๕๑

๒๗.

พระธรรมเจดีย์ (เทียบ)

ผู้สืบต่อสำนวนเทศน์มหาชาติตำรับวัดสระเกศฯ

              พระธรรมเจดีย์ (เทียบ) เป็นพระมหาเถระที่ได้อุทิศตนเพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระบวรพุทธศาสนา รูปหนึ่งในสังฆมณฑล ท่านประพฤติพรหมจรรย์ ยั่งยืนตลอดมาตั้งแต่ต้นจนถึงแก่มรณภาพ ไม่คืนคลายเข้าสู่เพศคฤหัสถ์ นับว่า เป็นผู้ที่ตั้งใจบําเพ็ญกิจในทางพระพุทธศาสนา   น้อมชีวิตของตนไปในทางบําเพ็ญเนกขัมมบารมี ปลีกตนออกจากฆราวาสวิสัยทางโลกทุกประการ 

พระธรรมเจดีย์ (เทียบ) มีชาติภูมิเป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้เข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสระเกศจนได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค  เมื่อเป็นเปรียญแล้ว  ก็ได้รับภาระงานในด้านต่างๆ ของสำนัก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะงานด้านนวกรรม  ทำหน้าที่บูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม

นอกจากงานนวกรรม และการสนองงานเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชในด้านต่างๆ แล้ว พระธรรมเจดีย์ ยังได้ชื่อว่า เป็นผู้มีศิลปะในทางเทศน์มหาชาติอีกด้วย  ทั้งยังเป็นผู้สืบต่อสำนวน และทำนองเทศน์มหาชาติของสำนักเอาไว้   จนต่อมา วัดสระเกศฯ ได้ชื่อว่า เป็นวัดที่มีสำนวนเทศน์มหาชาติเป็นของสำนัก และเป็นที่ต้องการในหมู่พระสงฆ์ผู้เทศน์มหาชาติ  โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชก  มีผู้นิยมนับถือว่า ท่านเป็นนักเทศน์กัณฑ์นี้ได้ดีอย่างเป็นเอก 

พระธรรมเจดีย์ (เทียบ) เป็นคู่พระบารมีของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (ญาโณทยมหาเถร)  มีนิสัยน้อมไปในทางบูรณปฏิสังขรณ์  ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูฐานานุกรม  เริ่มตั้งแต่เป็นพระครูสังฆรักษ์  แต่ชั่วระยะเวลาอันสั้น  ก็ได้เลื่อนเป็นพระครูวินัยธร จากนั้น ก็ได้เลื่อนเป็นพระครูปลัด  และท่านได้ดำรงตำแหน่งพระครูปลัดอยู่เป็นระยะเวลายาวนานร่วม ๒๐ ปี ตามเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงครองสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมเจดีย์” ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นที่ทราบกันในหมู่พระสงฆ์ในยุคนั้นว่า พระองค์ไม่เป็นที่โปรดปรานของผู้ใหญ่  เนื่องเพราะไม่ยอมเปลี่ยนวิธีครองจีวร ตามความนิยมของพระในเวลานั้น บ้างก็ว่าพระองค์เป็นพระพาณิชย์สร้างตึกรอบวัดให้คนเช่า บ้างก็ว่า พระองค์เป็นพระโหร ไม่ตรงตามธรรมตามวินัย

พระธรรมเจดีย์ (เทียบ) เป็นกําลังสำคัญของสำนัก  และเป็นทักษิณหัตถ์  คือ มือขวาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  มาตั้งแต่ก่อนที่พระองค์จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  เป็นผู้มีความละเอียดลออ เป็นคู่คิด  คู่ทำ  เป็นผู้มีความเข้าใจในนวกรรม  จึงเป็นที่ไว้วางพระทัยของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  เมื่อไม่ควรเสีย  เป็นไม่ยอมเสีย  เพื่อให้ได้ประโยชน์แก่พระอารามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

พระธรรมเจดีย์ (เทียบ)

มีลักษณะพูดตรง ฉะฉาน

มีความคิดเห็นอย่างไร 

ก็มักจะแสดงให้ปรากฏโดยชัดแจ้ง

ตามความคิดเห็นนั้น

อย่างตรงไปตรงมา  

เมื่อสมัยที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช  ยังไม่ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช บางคราว มีความเห็นที่ไม่ตรงกันกับพระธรรมเจดีย์  ปรึกษาหารือกันสององค์ก็เหมือนกับคนสักหมู่หนึ่ง  ต่างก็แสดงความคิดเห็นให้เป็นที่ประจักษ์ 

บางเรื่อง เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ก็ทรงยอมตามหลักฐานและเหตุผลที่พระธรรมเจดีย์ยกขึ้นแสดง ที่ต้องเป็นอย่างนี้ ก็เพราะเหตุอย่างนี้

เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ในขณะนั้น พระธรรมเจดีย์ ยังไม่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระธรรมเจดีย์  ได้เป็นกําลังของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ไม่ใช่เฉพาะในการบูรณปฏิสังขรณ์  ในการปกครอง หรือในการศึกษาเท่านั้น  แม้ในการบริหารอันเป็นหน้าที่ของสกลมหาสังฆปริณายก  พระธรรมเจดีย์ก็มีบทบาทสำคัญ  ถ้ามีผู้ถวายความคิดเห็นพระองค์ ไม่ชอบด้วยเหตุผล  ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริง  ก็มักจะกราบทูลทัดทาน อยู่เสมอ

บางคราว ได้ทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงกริ้ว เพราะคำกราบทูลทัดทาน และการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมานั้น กระทบต่อผู้ถวายความคิดเห็น แต่ก็กริ้วไปไม่นาน  ผลที่สุดก็มักจะทรงดําเนินการตามที่พระธรรมเจดีย์กราบทูลถวายความคิดเห็น 

ทั้งนี้ เนื่องมาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นการณวสิโก คือ เป็นผู้ตกอยู่ในอํานาจแห่งเหตุและผล   ทรงรับฟังคำทัดทานและคำถวายความคิดเห็น โดยมิได้ทรงถือเอาตําแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกเป็นสําคัญ 

เมื่อข้อเท็จจริงประกอบด้วยเหตุผลเป็นอย่างไร ควรจะจัดจะทําอย่างไร ให้เหมาะสม  ก็ทรงให้จัดให้ทําอย่างนั้น  ตามที่พระธรรมเจดีย์กราบทูล  จึงไม่ปรากฏว่า ในสมัยที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ทรงดํารงตําแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม หรือทรงดํารงตําแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก  จะทรงดําเนินกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นที่ผิดพลาด  ก่อให้เกิดความเสียหาย  ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงมีพระธรรมเจดีย์เป็นพระหัตถ์ข้างขวา

แม้พระธรรมเจดีย์จะมีความรู้ทางพระปริยัติธรรมไม่มาก ไม่ได้เป็นเปรียญสูง   แต่ท่านเป็นผู้เสาะแสวงหาความรู้  มีความฉลาดหลักแหลม จึงมีความรอบรู้ เมื่อท่านดําเนินกิจการในทางใดทางหนึ่ง  อันอยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของท่าน  เพื่อสนองพระเดชพระคุณเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ก็จะศึกษาให้รู้จริง และทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่ปล่อยตนให้เป็นไปตามอํานาจแห่งกิเลสตัณหา  หรือตามอํานาจของความถือตัว มัวเมาในยศศักดิ์  ว่าเป็นผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราช

ความตรงไปตรงมาของพระธรรมเจดีย์กลับเป็นปราการอันสำคัญ ป้องกันผู้ที่คิดจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

 โดยมองว่า พระองค์ทรงชราภาพ  ซึ่งเป็นเหตุให้พระธรรมเจดีย์ได้รับผิดชอบหน้าที่สำคัญๆ ตามลําดับ  เมื่อพ้นจากตําแหน่งพระครูปลัด  ก็เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ  เป็นพระราชาคณะชั้นราช  เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ  และเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมเป็นที่สุด

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าถึงความเป็นเอกในด้านการเทศน์มหาชาติของพระธรรมเจดีย์ (เทียบ) ว่า นอกจากท่านจะเป็นผู้มีศิลปะในทางเทศน์มหาชาติแล้ว ท่านยังเป็นผู้สืบต่อสำนวน และทำนองเทศน์มหาชาติของสำนักเอาไว้อีกด้วย   เพราะตอนหลัง เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นเจ้าสำนักเรียนบาลีแล้ว ก็ทรงมุ่งเรื่องการศึกษา พระที่สนใจด้านการเทศน์มหาชาติในสำนักก็มีน้อยลง จะมีพระธรรมเจดีย์เท่านั้นที่ยังรักษาเอาไว้ 

ครั้งหนึ่งเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (เมื่อครั้งเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์) ได้รับกิจนิมนต์ให้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดเบญจมบพิตร  ระหว่างเทศน์นั้น  สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร  ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า พระองค์ไม่ทรงโปรดการเทศน์มหาชาติ  ทรงตรัสถามว่า  นี่เสียงใครเทศน์  พอทราบว่าเป็นพระธรรมเจดีย์  ตรัสว่า “องค์นี้เทศน์  ต้องไปฟัง”

เพราะความที่พระธรรมเจดีย์ เป็นผู้สืบทอดสำนวน และทำนองเทศน์มหาชาติของสำนักเอาไว้ วัดสระเกศฯ จึงมีสำนวนกัณฑ์เทศน์มหาชาติของสำนักเป็นการเฉพาะ  ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้แสวงหาโดยทั่วไป โดยเฉพาะกัณฑ์ชูชกของเจ้าคุณธรรมเจดีย์ เป็นที่กล่าวขานของคนในยุคนั้น 

เรื่องดังกล่าวนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) วัดสามพระยา  เมื่อครั้งเป็นพระราชาคณะชั้นพระธรรม ที่พระธรรมปัญญาบดีก็ได้เคยชื่นชมในหนังสือสำนวนธรรมเทศนาของวัดสระเกศเอาไว้เช่นกัน

หนังสือเทศน์มหาชาติสำนวนของวัดสระเกศฯ

ได้พิมพ์เป็นที่ระลึกในคราวออกเมรุพระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร)

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๒๖. ประวัติ พระธรรมเจดีย์ (เทียบ ธมฺมธโร) ๒๗. ผู้สืบต่อสำนวนเทศน์มหาชาติตำรับวัดสระเกศ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here