๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๖

น้อมเศียรเกล้าอภิวาท รำลึก ๙๕ ปีชาตกาล

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

พระเถระผู้มีวิสัยทัศน์ในการประกาศธรรมและเผยแแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๑๐๗. การจัดการความรู้ทางพุทธศาสนา

๑๐๘. การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕  จังหวัดชายแดนใต้  

 เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

สำหรับสองบทนี้ ผู้เขียนอธิบายการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผ่านการทำงานของ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  ที่ได้ขยายงานการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งหกด้าน อย่างรอบด้าน ด้วยการลงพื้นที่และส่งเสริมสนับสนุนให้พระในพื้นที่เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างเครือข่ายสังคมอุดมธรรม ตั้งแต่ในครอบครัว ไปจนถึงชุมชนให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือกันและกันในยามทุกข์ รวมไปถึงการสร้างสันติสุขขึ้นในสังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแแดนใต้

๑๐๘. การจัดการความรู้ทางพระพุทธศาสนา

    

              การจัดการความรู้ทางพุทธศาสนา  มีหลักเกณฑ์และการวางแผนในการให้การอบรมเผยแผ่หลักธรรมคำสอนใช้เครื่องมือสื่อสาร  เช่น  โทรศัพท์  คอมพิวเตอร์ในการเผยแผ่  อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร ในการผลิตสื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย  ในการถ่ายทอดความรู้ให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น  แต่ละวัย  และมีการทำงานเชิงรุกในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับความรู้ทางพระพุทธศาสนา

              การสร้างภูมิปัญญาในการพัฒนาประเทศ  โดยเฉพาะหนังสือที่เพิ่มหลักการด้านคุณธรรมจริยธรรม  ตามคำกล่าวของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่า “การปฏิรูปประเทศ  ต้องปฏิรูปที่ตัวคน  ปฏิรูปที่ตัวคนต้องปฏิรูปที่พฤติกรรมของคนปฏิรูปถ่ายทอดภาษาได้ตรงกับผู้อ่าน  จึงเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจในด้านคุณธรรมจริยธรรมได้อีกทางหนึ่ง  พฤติกรรมของคนต้องพัฒนาระบบค่านิยมคุณธรรม และจริยธรรมที่กำกับพฤติกรรมของคน” 

และตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๕๕ -๒๕๕๙ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึง  “คนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม  โดยผลการวิจัยและการสำรวจต่างๆ พบว่าปัญหาสำคัญที่สุด คือ ความซื่อสัตย์สุจริต และการทุจริตคอร์รัปชัน  โดยเห็นว่าต้องส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสังคมไทยเร่งด่วน”

ฉะนั้น  การส่งเสริมให้เกิดนักเขียนทางศาสนา  ที่มีองค์ความรู้และขยายความรู้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม  มีเนื้อหาที่น่าสนใจเหล่านี้  จึงควรนำมาวิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่เน้นไปที่หลักคุณธรรม จริยธรรม  และศึกษารูปแบบวิธีการเขียน  ภาษาที่เข้ากันได้กับสังคมในยุคปัจจุบัน

              สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์  ได้ขยายงานการดำเนินภารกิจด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก  ได้ดำเนินการอบรมพระวิทยากรทั่วประเทศ  ที่ผ่านมามีการจัดโครงการพระนักเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๔ เป็นต้นมา  เพื่อสร้างศักยภาพพระวิทยากรให้มีประสิทธิภาพในการเขียนธรรมะเพื่อการเผยแผ่  และจากโครงการในปีที่ผ่านมา  ผู้ผ่านการอบรมได้สร้างผลงานเขียนอย่างต่อเนื่อง  และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระวิทยากรทุกภูมิภาค  ให้มีความสามัคคี  อันจะส่งผลให้เครือข่ายการทำงานของพระวิทยากรมีความเข้มแข็งในการทำงานเผยแผ่พระศาสนาสืบต่อไป  ในการนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีการจัดอบรมพระนักเขียนต่อไป

              สรุปได้ว่า  การทำงานด้านนโยบายการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตอาสา  ในการให้บริการทางสังคมของพระสงฆ์  เพื่อการพัฒนาจิตใจของประชาชน  คือ การให้คำแนะนำทางด้านจิตใจ เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่าง ๆ  และเป็นที่พึ่งให้ความสุขทางใจ  ส่งเสริมการศึกษาของประชาชนและเยาวชน  ช่วยพัฒนาชุมชนให้เป็นแผ่นดินธรรม  แผ่นดินทอง  ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา  ผู้ประนีประนอม ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่บ้านได้

๑๐๙. การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕  จังหวัดชายแดนใต้             

              การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ประกอบด้วย  ด้านการรับฟัง  ด้านการร่วมกิจกรรม  และด้านการนำไปปฏิบัติ

๑. ด้านการรับฟัง  การแก้ปัญหา  ทำให้คนเกิดความรู้สึกสามารถที่จะเดินตาม  เครือข่ายจึงเกิดขึ้นมากในพื้นที่  โดยการประชาสัมพันธ์  ออกสื่อออนไลน์  ออกเฟซบุ๊ก  ทุกวันนี้พระธรรมทูตอาสามีกลุ่มไลน์ กลุ่มเฟซบุ๊กอยู่  เวลาไปทำงานอบรมเผยแผ่ตรงไหน  เราจะทำประชาสัมพันธ์งานของพระในการทำคุณงามความดีไปด้วย   แต่ส่วนใหญ่ไม่คอยได้ออกเผยแผ่  ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในกระแส  เท่าที่สังเกตดู  เรื่องที่ไม่ดีส่วนใหญ่จะออกสื่อ  อยากจะฝากทางไลน์  ทางเฟซบุ๊กพระธรรมทูตอาสาว่า  ไปทำอะไร  ตรงไหน จะได้รู้  ให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ  การทำงานเผยแผ่ หรืองานสงเคราะห์ต่างๆ  ก็เป็นการลงทุนปัจจัยที่ญาติโยมถวายมา  ตามกิจกรรมต่างๆ ทางศาสนา  พระธรรมทูตอาสาเองไม่ได้เก็บเป็นปัจจัยส่วนตัวเลย 

พอมีงานที่ไหนที่พระธรรมทูตอาสาต้องไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที  ก็รวบรวมชาวบ้านเหมารถไปช่วยกัน  บางครั้งก็ดูงานที่อื่น  วัดอื่น  จังหวัดอื่น  อำเภออื่น  เพื่อให้เขาได้เห็นว่าข้างนอกที่อื่นเขาเป็นอย่างไรบ้าง   พูดง่ายๆ ให้ได้เปิดหูเปิดตาว่าข้างนอกเขาเป็นยังไง  ทำให้เราดึงใจเขามาว่าข้างนอกเขาไปถึงไหนแล้ว  ทำให้เขาอยากจะมีส่วนร่วมกันทางศาสนา  ปีหนึ่งๆ พาญาติโยมออกไปหลายเที่ยว  ปลูกจิตสำนึกในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่  ไม่ว่าคนไทยพุทธหรือพระสงฆ์ถูกกระทำจากเหตุการณ์ที่ไม่สงบ  พระธรรมทูตอาสาจะชักชวนชาวบ้านให้เขาไปกัน  ไม่วันรดน้ำศพก็วันฌาปนกิจ  ปลูกจิตสำนึกคนไทยไม่ทิ้งกันนี้คือการนำประชาชนมาร่วมในงานเผยแผ่

              ๒. ด้านการร่วมกิจกรรม  จัดกิจกรรมทุกอย่างที่มีในวัด  อาทิ วันพระก็มีเทศน์  มีสวดมนต์  วันสำคัญก็จัดงานมีเทศน์  มีสวดมนต์  มีเวียนเทียน  ประเพณีลากพระที่กำลังทำอยู่ก็ให้โยมในหมู่บ้านมาช่วยกันประกอบเรือพระใครว่างก็มา  มาช่วยทำที่ช่วยได้  ทอดกฐิน  ทอดผ้าป่า  ใครจะขัดแย้งกับใครไม่เป็นไร  แต่ว่าให้มาช่วยวัด  จะโกรธจะเกลียดกัน  ไม่มีปัญหา  พระเป็นคนกลางไม่เข้าข้างใคร  โครงการเยี่ยมพระพบปะโยม  ก็เพื่อให้เรากับชาวบ้านชาวพุทธได้มีส่วนทำบุญร่วมกัน  ฆราวาสต่างถิ่น  ต่างหมู่มาเจอกันในงานบุญ  ได้ใกล้ชิดกัน แตะมือกัน  ให้กำลังใจกัน  เป็นญาติธรรม  ก็ให้เขารับรู้ถึงความปรารถนาดีของพระ  การเอาใจใส่ของพระต่อญาติโยมเป็นความเมตตาเสมอกัน  และเมื่อพระเราสื่อสารออกไปยังโลกกว้าง  แม้คนที่เราไม่ได้ไปเยี่ยมโดยตรง  แต่ก็ได้รับรู้ถึงสิ่งที่พระเราทำมันก็น้อมใจเขา  คนที่เราเข้าถึงก็ง่ายเมื่อเขามีสุขมีทุกข์  พระเราไปเยี่ยม  เราใส่ใจ  เราแสดงออก  เขาพร้อมที่จะรับฟังสิ่งที่พระบอก  สิ่งที่พระสอนเขาได้กำลังใจ  ส่วนคนที่อยู่ภายนอก  เห็นสิ่งที่เราทำหลายคนก็อยากเข้าช่วย  เข้ามาร่วมมือ  เพราะรับทราบสิ่งที่เราทำนั้นดีงามต่อใจของผู้คน  พระเราก็เปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วม  ซึ่งมีทั้งชาวพุทธที่อยู่ใกล้และอยู่ไกลมาสื่อสารด้วย  และก็เปิดช่องทางให้มาร่วมกิจกรรมเผยแผ่และสงเคราะห์ชาวบ้านกันด้วย  ก็เป็นการยึดให้ประชาชนพี่น้องชาวพุทธมีส่วนร่วมในการทำงานการเผยแผ่ด้วย  พูดคุยบอกต่อๆ กัน  นำญาติโยมไปสวดมนต์  เด็กของแต่ละวัดไปรวมกัน  ไปทำกิจกรรมกันที่เป็นการเผยแผ่อย่างหนึ่ง

              บางครั้งไปเยี่ยมชาวบ้าน  ไปเยี่ยมโรงเรียน  ไปเยี่ยมครู ทหาร ตำรวจ  พระธรรมทูตอาสาเราก็ทำ หรืออาจจะบรรยายธรรมแค่ลง Facebook เล็กๆ น้อยๆ ชาวบ้านที่เห็นเราทำ  เขาเห็นว่าเราเสียสละ  เรามีใจที่จะช่วยอย่างเต็มกำลัง  พูดง่ายๆ คือถึงเป็นส่วนเล็กๆ ในพื้นที่  อย่างน้อยเขาก็เห็นความสำคัญตรงนี้  เพราะชาวบ้านเขาเห็นถึงความเสียสละ  เขาก็อยากมีส่วนร่วมกับเราเอง  เช่นว่าการบริจาคสิ่งของข้าวสารอาหารแห้งให้เราได้ต่อยอดในการทำงาน  นี่สิ่งที่เขาก็เห็นความสำคัญขึ้นมาเอง  คือการทำงานเชิงประจักษ์ให้เขาเห็นกับตาเขาเอง  มันก็จะเกิดผลดี  คือเขาจะพูดปากต่อปาก 

เช่น  พระธรรมทูตอาสาไปเยี่ยมคนแก่คนป่วยคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ  พอพระเราไป  เขาก็จะพูดโฆษณาประชาสัมพันธ์เขาเองว่า  พระรูปนี้ได้ไปเยี่ยม  และไปให้กำลังใจ  เพราะฉะนั้นคนที่เขามีกำลังทรัพย์พอเขาเห็น  ก็จะเข้ามาสนับสนุน  อย่างเช่นล่าสุดลง Facebook  ลงเรื่องการทำงานพระธรรมทูตอาสา

              ๓. ด้านการนำไปปฏิบัติ  พระธรรมทูตอาสาทำด้วยใจ  ทำให้เขาเห็นเอง  เขาก็เห็นว่าเราทำจริงมีประโยชน์ต่อสังคม  ต่อพื้นที่ที่เราทำ  แล้วเขาก็จะมีส่วนร่วมกับพระเราเอง  ใช้วิธีการให้  ให้ธรรมะ  ให้ความคิด  ให้ความรู้สึกเขาถึงที่  หรือมีสิ่งของก็ให้เขา  แบ่งปันเขาไป  ทำให้เขาเห็นว่าพุทธศาสนามีเป็นตัวช่วยทั้งร่างกาย  จิตใจและความคิด  พอทำให้เขารู้จัก  ให้เขาได้มักคุ้นแล้ว  รู้ว่าเราไม่เป็นภัยแล้ว  เขาก็จะรับรู้เรื่องราวเหล่านั้น  และเขาก็จะเรียนรู้จากพระเราและนำไปใช้  นำวิธีการให้การช่วยเหลือไปต่อยอดตามความสามารถของเขา  เช่น พระเลี้ยงไก่  วันพระก็แจกจ่ายไข่  พอตอนเช้าเขาก็ทำกับข้าวมาถวายเป็นบุญร่วมกัน  พอเขาไว้ใจ  เชื่อใจพระแล้ว  เราก็สามารถสอนธรรมะให้เขาเข้าใจได้

              พระธรรมทูตอาสาจึงจำเป็นจะต้องออกไปหาชุมชน ไม่จำกัดกาล  ไม่มีการนัดหมาย  ในการออกเยี่ยมบ้าน  ออกเยี่ยมตามค่ายทหารเหมือนที่ทำอยู่  ไม่มีการเรียกรวมแต่จะไปถึงบ้าน  ซึ่งเป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจได้มาก  เพราะบางบ้านมีข้อจำกัด  การจะมีส่วนร่วม  ต้องมีการทำงานเชิงรุกให้พระธรรมทูตอาสาเหมือนที่มี โครงการธรรมะเยี่ยมโยม  และธรรมะเยียวยาใจ ๓ จังหวัดชายแดนใต้   มี ๒ กลุ่มที่กำลังทำ  พระธรรมทูตอาสาเราต้องเข้าหา  ถ้ารอให้โยมมา  โดยเฉพาะ ๓ จังหวัดชายแดนภายใต้เป็นไปได้ยาก

              การจัดตั้งเครือข่าย  การจัดตั้งกลุ่มในการทำงานเป็นกลุ่มๆ เป็นส่วนๆ เช่น  ดูว่าในส่วนไหนผู้คนมีส่วนร่วมได้ก็จัดตั้งเป็นองค์กร  เป็นเครือข่ายขึ้นมา  และก็ใช้เครือข่ายเชื่อมโยงกัน  ดึงคนที่มีศักยภาพแต่ละด้านเข้ามา  อย่างเช่นกรณีของกลุ่มศิลปินที่มีความรู้ความสามารถทางด้านศาสนา  มีจิตสาธารณะก็จัดกลุ่มขึ้นมาและให้การสนับสนุน  กลุ่มนักเขียน  กลุ่มนักคิดและเยาวชนที่ทำกิจกรรมกับชุมชน  ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยการจัดตั้งเครือข่าย 

และการจะให้มีเครือข่ายเพิ่มขึ้น  ต้องใช้หลักความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรเป็นตัวนํา  เมื่อพระธรรมทูตอาสาไปในสถานที่ใด  จะต้องมีหลักธรรมแห่งกัลยาณมิตร  เพื่อจะไปแนะนําประชาชนได้ทุกชนชั้น  ทําหน้าที่เป็นพระสาวกเผยแผ่หลักธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  สร้างความคุ้นเคย  สนิทสนมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า  ให้คําปรึกษาในเรื่องต่างๆ ได้

              สรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ในการรับฟัง ร่วมกิจกรรม และนำไปปฏิบัติ  โดยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายจิตสาธารณะ  ทำให้เขาเห็นว่าพุทธศาสนามีเป็นตัวช่วยทั้งร่างกาย  จิตใจและความคิด

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๑๐๘. การจัดการความรู้ทางพุทธศาสนา ๑๐๙. การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕  จังหวัดชายแดนใต้   เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here