วันนี้วันพระ วันปวารณาอออกพรรษา

วันจันทร์ที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

วันอังคารที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

เวลา ๐๗.๐๐ น. เป็นต้นไป

ตักบาตรพระสงฆ์สามเณรจำนวน ๑๓๔ รูป

บริเวณทางขึ้นพระบรมบรรพตภูเขาทอง

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหา

“ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.

ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์

ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”

เรียนรู้ปฏิปทาพระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก

ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต

บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน

เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”

สำหรับสามบทนี้ ผู้เขียนสรุปเนื้อหาจากหนังสือ “เย็นหิมะในรอยธรรม” ถึงที่มาการก่อเกิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือผู้คนบนโลกให้พ้นทุกข์ทางใจผ่านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตามรอยพระพุทธเจ้า ตามรอยฏิปทา เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระองค์ที่ ๑๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกี่ยวกับวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  จนเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติในปัจจุุบัน นั้นเกิดขึ้นเพราะการทำงานอย่างมุ่งมั่นของพระสงฆ์ไทยที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)

๗๕-๗๗. เย็นหิมะในรอยธรรม (๑-๓)

: เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

 ๗๕. “เย็นหิมะในรอยธรรม (๑)

กว่าจะเกิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ

              สมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว อุปเสนมหาเถร) ได้แต่งหนังสือ “เย็นหิมะในรอยธรรม” โดยเนื้อหาของหนังสือทั้งหมดได้กล่าวถึง ปณิธาน  อุดมการณ์  วิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  ท่านกล่าวถึงความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจนเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ เกิดขึ้นเพราะการทำงานอย่างมุ่งมั่นของพระสงฆ์ไทย  จากอดีตจนถึงปัจจุบัน  ผ่านงานการเผยแผ่ที่เรียกว่า พระธรรมทูตสายต่างประเทศ  แต่กว่าจะเกิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการ

              เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์  เป็นพระเถระผู้ได้รับการยอมรับว่ามีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดวัดไทยในต่างประเทศ  ซึ่งเป็นโอกาสให้พระสงฆ์ไทยได้แสดงความสามารถจนเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ  นับเป็นก้าวใหม่ และย่างก้าวที่สำคัญแห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยในเวทีโลก และวันนี้ พระพุทธศาสนาได้เดินทางไปสู่ทั่ว ทุกมุมโลกแล้ว 

              “เย็นหิมะในรอยธรรม”  รวบรวมขึ้นจากโอวาทเกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชประทานในโอกาสต่างๆ ซึ่งทำให้ชาวพุทธเกิดความเข้าใจว่า  เหตุไร  ที่ประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธทั่วโลก จึงออกแถลงการณ์ร่วมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก 

“พระพุทธศาสนา คือ ลมหายใจของแผ่นดิน

พระพุทธศาสนาในเมืองไทย มีภัยรอบด้าน”

                           สมเด็จพระพุฒาจารย์  (เกี่ยว อุปเสนมหาเถร)

๗๖. “เย็นหิมะในรอยธรรม”  (๒)

การก้าวไปข้างหน้าของพระพุทธศาสนาอยู่ที่พระเณร  

              ในโลกปัจจุบัน  การจะรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้ได้นั้น  จำเป็นอย่างยิ่ง  ที่จะต้องให้พระเณรได้มีความรู้  มีการศึกษาทั้งธรรมะและวิชาการทางโลก  ความรู้อย่างพระก็ต้องรู้  เพราะเป็นเรื่องพระศาสนา แต่ก็ต้องรู้ความรู้ชาวบ้านเขาด้วย  ในขณะเดียวกัน  ก็ต้องมีการวางแผน  เพื่อให้พระพุทธศาสนาไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก   

              ผู้ที่จะรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงนี้ได้ ก็คือ พระเณรนั่นเอง  จึงจำเป็นจะต้องให้พระเณรมีการศึกษา รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  อายุยังน้อยต้องเรียน   เรียนอะไรก็ได้  ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย อย่าอยู่เฉยๆ เพราะพระเณรจะต้องรับภารธุระพระศาสนา  แต่หลวงพ่อแก่แล้ว  คนแก่จะทำอะไรได้  แค่ให้หายใจอยู่เฉยๆ ก็ยังแย่แล้ว

              พระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีภัยรอบด้าน  ซึ่งกำลังแทรกเข้ามาทุกรูปแบบ  พระพุทธศาสนาอาจจะล้มครืนลงวันใดก็ได้  แต่พระก็ยังเหมือนปลาอยู่ในน้ำเย็น  จึงตายใจว่า  พระพุทธศาสนาตั้งมั่นเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทย  เลยไม่รู้สึกถึงความล่มสลาย  ซึ่งกำลังใกล้เข้ามา 

              ให้มองไปข้างหน้าอีก ๕๐ ปี  โดยกำหนดดูผลแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งละ ๑๐ ปี และในทุก ๑๐ ปีนั้น  ก็ยังต้องดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีด้วย  จนกว่าจะถึง ๕๐ ปี  เพื่อให้คาดการณ์ว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น  ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างที่เคยขึ้นในอดีตแล้ว  เราจะทำอย่างไร  มองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต  ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต  ของสังคม  และของโลก   

              ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา  แม้กระทั่งกับพระพุทธศาสนา  มิเช่นนั้นแล้ว  พระพุทธศาสนาในอินเดีย  ในปากีสถาน  บังกลาเทศ  และในอัฟกานิสถาน  เป็นตัวอย่าง  ก็คงไม่ล่มสลาย

              ถ้าสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต  ของสังคม และของโลก ที่จะเกิดขึ้นในอีก ๕๐ ปีข้างหน้า  ก็จะทำให้สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทยได้ด้วย  ซึ่งก็คืออนาคตของพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั่นเอง

              เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ที่มหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต  จนเป็นเหตุให้พระที่ยอมสละชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา  ต้องถูกฆ่าตายหมู่พร้อมกันมากกว่า ๘.๐๐๐ องค์ (๑)  เหตุการณ์นี้ เป็นสิ่งที่พระและชาวไทยควรจะนำมาเตือนสติยู่เสมอว่า “อย่าประมาท” 

              อย่านึกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ  มองไปที่ไหนก็มีแต่วัด  มองไปที่ไหน  ก็เห็นแต่จีวรเหลืองอร่าม แล้วเหตุการณ์อย่างมหาวิทยาลัยนาลันทาจะเกิดขึ้นไม่ได้  “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย”  ชั่วเพียงวินาทีเดียว ทุกอย่างก็พลิกได้

              “นี่มองอย่างประวัติศาสตร์ 

ประวัติศาสตร์มันมีมันเกิดมาแล้ว 

อย่าประมาท  ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ”

๗๖. เย็นหิมะในรอยธรรม  (๓)

วันนี้ โลกเปลี่ยนไปแล้ว

ดังนั้นการพัฒนาประเทศไทย  ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทางบ้านเมือง  ไม่เว้นแม้กระทั่งพระพุทธศาสนา  ที่จริงการพัฒนาประเทศไทยที่เรียกว่า  “ความเจริญ” อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน เพิ่งเริ่มมาได้ ๕๐ ปีนี้เอง  ให้รู้ว่า ๕๐ ปีที่ผ่านมายังเปลี่ยนแปลงไปขนาดนี้   ถ้าลองนับต่อไปอีก ๕๐ ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน  เปลี่ยนสมัยก่อนนั้น  มันเปลี่ยนแปลงช้า  ระยะเวลา ๑๐ ปีสมัยก่อน เท่ากับ ๑ ปีในปัจจุบัน  และ ๑๐ ปีสมัยก่อน  เดี๋ยวนี้ก็เพียงปีเดียวเท่านั้นเอง นี่ความเปลี่ยนแปลงเร็วอย่างนี้

ทุกวันนี้  พระเณรยังได้เรียนนักธรรม  เรียนภาษาบาลี  และในหลวงยังพระราชทานสมณศักดิ์  ยังได้เป็นพระครู  เป็นเจ้าคุณ  ต่อไปข้างหน้าจะไม่มีอย่างนี้แล้ว  แต่นั่นก็ไม่ใช่หลักที่สำคัญ  หลักที่สำคัญนั่น ก็คือ  การศึกษา  ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เร็ว  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  พระเณรต้องมีการศึกษา  จึงจะนำพาพระพุทธศาสนาให้อยู่รอดได้

              ดังนั้น ในอนาคตมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง จะต้องเป็นหลักให้พระเณรได้ศึกษาเล่าเรียน  มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่รู้จะเรียนอะไรกันอย่างไร  เลยกลายเป็นพระพุทธศาสนาไร้หลัก  ถ้าไม่มีการเรียนการสอนเป็นของเราเอง  ก็ต้องไปเรียนกับของชาวบ้าน  ถ้าไปเรียนกับชาวบ้าน  เณรกับเด็กจะต่างอะไรกัน

              ไม่ต้องอื่นไกล  ก็เหมือนประเทศเพื่อนบ้าน  เมื่อสถาบันศาสนาไม่มี  พระเณรก็ต้องไปเรียนร่วมกับชาวบ้าน  พ.ศ. ๒๕๑๘ ประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง  วินาทีเดียวเท่านั้นเปลี่ยนหมด  ล้มระบบพระมหากษัตริย์หมด  ล้มระบบศาสนาหมด  ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์  ไม่มีสถาบันพระพุทธศาสนา  แล้วพระเณรต้องไปเรียนกับชาวบ้านเหมือนเด็กนักเรียนทั่วไป  ตื่นเช้าก็ต้องสะพายย่ามถือร่มถือกระเป๋าไปโรงเรียน  ไปยืนเข้าแถวร้องเพลงชาติเหมือนเด็กชาวบ้านคนหนึ่ง 

              แล้วอย่างนี้ศาสนาจะเหลืออะไร  พระเณรถูกสั่งให้เลิกเรียนอย่างพระ แล้วให้ไปเรียนอย่างชาวบ้าน พระเณรเลิกการเรียนธรรมเรียนวินัยแล้วจะเหลืออะไร  อย่างนี้พระศาสนาก็หมด แม้แต่พระมหากษัตริย์ หากไม่หนีออกนอกประเทศ  ก็ถูกส่งออกไปท้องนาทำการกสิกรรม  อย่างชาวบ้านทั่วไป  นี่ประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง

              หลวงพ่อจึงได้บอกมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  และมหามกุฏราชวิทยาลัยว่า  มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนี้  ต้องทำให้เป็นหลักเข้าไว้  ต้องเป็นหลักในการให้การศึกษาแก่พระเณร  หาไม่แล้วพระพุทธศาสนาในเมืองไทย  ก็จะไม่ต่างอะไรจากประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งก็เห็นกันอยู่แล้ว

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๗๕-๗๗. เย็นหิมะในรอยธรรม (๑-๓) : เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here