วันนี้วันพระ วันเสาร์ที่ ๑๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต
บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน
เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”
ศึกษาเรียนรู้ปฏิปทาพระเถระแห่งยุคสมัยกึ่งพุทธกาล พระผู้สร้างพระเณรรุ่นใหม่ให้ยืนหยัดในโลกปัจจุบันให้ได้ เพื่อช่วยเหลือผู้คนอย่างสมสมัยโดยไม่ออกนอกพระธรรมวินัยและให้จารีตประเพณีวัฒนธรรมหุ้มห่อแก่นธรรมไว้มิให้สูญสิ้นไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”
สำหรับตอนนี้ ผู้เขียนเล่าถึงที่มาของการพระราชทานสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์เพื่อให้กำลังใจในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ พระมหากษัตริย์ไทยทรงให้โอกาสกับทุกศาสนาในการเข้าถึงแก่นธรรมในศาสนาที่ตนนับถือ
วิถีแห่งผู้นำ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
๖๙. การพระราชทานสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์ มีความเป็นมาสืบเนื่องยาวนาน
: เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
๖๙.การพระราชทานสมณศักดิ์แด่พระสงฆ์ มีความเป็นมาสืบเนื่องยาวนาน
ในประเทศไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะตามโบราณราชประเพณี และด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่หนักแน่นในพระพุทธศาสนา ทรงยกย่ององค์พระสงฆ์ในพระศาสนาที่พระองค์ทรงนับถือ พระสงฆ์ในพระศาสนาที่พระองค์นับถือนั้น ได้ทรงยกย่องโดยประการต่าง ๆ ด้วยวิธีต่าง
การพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นหนึ่งในการที่ทรงยกย่องพระสงฆ์อย่างสูงในพระพุทธศาสนา ประเทศไทยของเรา ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศขึ้นในโลก มีพระมหากษัตริย์ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ทรงนับถือพระพุทธศาสนาอย่างไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลงโดยการประการใด ๆ ทั้งสิ้น แม้จะมีลัทธิต่างๆ มีศาสนาต่างๆ เข้ามาในพระราชอาณาจักรของพระองค์ก็ไม่ได้ทรงรังเกียจ กลับทรงให้โอกาสกับทุกศาสนา
ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสแก่พระสันตะปาปา จอห์น พอลที่ ๒ ในโอกาสที่เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๗ มีข้อความบางประการว่า
“คนไทย เป็นศาสนิกชนที่ดีทั่วกัน ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ…การที่ประเทศไทยและชาวไทยยินดีต้อนรับผู้เผยแผ่ศาสนาต่างๆ ด้วยไมตรี และด้วยความจริงใจฉันมิตรทุกสมัยมานั้น เป็นเพราะชาวไทยซึ่งเป็นพุทธมามกะชนมีจิตสำนึกมั่นคงอยู่ในกุศลสุจริต และในความเมตตากรุณา เห็นว่าศาสนาทั้งปวงย่อมสั่งสอนความดี ให้บุคคลประพฤติแต่ในทางที่ถูกที่ชอบ ที่เป็นประโยชน์ ให้ใฝ่หาความสุข ความผ่องใสให้แก่ชีวิต ทั้งเรายังมีประเพณีขนบธรรมเนียมให้ต้อนรับนับถือ ชาวต่างชาติต่างศาสนาด้วยความเป็นมิตร แผ่ไมตรีต่อกันด้วยเมตตาจิตและด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจมิให้ดูแคลนเบียดเบียนผู้ถือสัญชาติและศาสนาอื่น ด้วยจะเป็นเหตุทำความแตกร้าว และความรุนแรงเดือดร้อนมาให้ ดังนี้ คริสต์ศาสนาจึงเจริญงอกงามขึ้นได้ในประเทศไทย”