วันนี้วันพระ วันศุกร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙
ศึกษาปฏิปทาพระเถระแห่งยุคสมัย ผู้พลิกฟื้นพระพุทธศาสนาบนแผ่นดินไทยให้ขจรขจายไปทั่วโลก ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างพระสงฆ์รุ่นใหม่เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ทันท่วงที
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์
ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ”
สำหรับสองตอนนี้ผู้เขียนเล่าสรุปในช่วงภายหลังสิ้นสุดยุคพระธรรมทูตทั้ง ๙ สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาก็เริ่มอ่อนแอลงทุกขณะ แล้วค่อยๆ เลือนหายจากโลกไปทีละสาย …จนเหลือที่มั่นสุดท้ายบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ และหลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านมีแนวทางในการปักหมุดพระพุทธศาสนาดด้วยการสร้างพระสงฆ์และสื่อธรรมให้มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน
ร่องรอยความทรงจำแห่งอดีต
บอกเล่าปฏิปทาในการครองตน ครองคน ครองงาน
เพื่อจรรโลงความดีงาม ตามครรลอง “วิถีแห่งผู้นำ”
วิถีแห่งผู้นำ
: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร)
๖๔. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
๖๕. งานด้านสาธารณูปการ
เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)
๖๔. การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
ภายหลังสิ้นสุดยุคพระธรรมทูตทั้ง ๙ สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาก็เริ่มอ่อนแอลงทุกขณะ แล้วค่อยๆ เลือนหายจากโลกไปทีละสาย แม้ประเทศศรีลังกาที่เป็นปราการที่แข็งแกร่งที่สุดของพระพุทธศาสนาในยุคนั้น ก็ถึงกาลล่มสลายลง จนเหลือที่มั่นสุดท้ายบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ อันเป็นผลงานการวางรากฐานของพระธรรมทูตต่างประเทสายที่ ๘ โดยมีพระโสณะและพระอุตตระเป็นหัวหน้าคณะ
แต่พระพุทธศาสนาในแผ่นดินสุวรรณภูมิ ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร หรือพม่าก็ตาม ต่างก็เริ่มอ่อนแรงลงตามกาลเวลา เพราะการเมืองของประเทศนั้นๆ และการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ จนพระพุทธศาสนาเหลือปราการสุดท้ายบนผืนแผ่นดินไทย พระพุทธศาสนาที่ดูท่าว่าจะเริ่มเลือนหายไปจากโลก กลับทอประกายเจิดจรัสขึ้นมาอีกครั้ง และแผ่รัศมีเรืองรองไปทั่วทุกมุมโลก เพราะความมุ่งมั่นที่จะรักษาพระพุทธศาสนาของพระสงฆ์ไทยทุกยุคทุกสมัย
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่นที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก ด้วยจริยวัตรและปฏิปทาที่งดงาม ภายใต้ใบหน้าที่อ่อนโยน มีรอยยิ้มฉายอยู่บนหน้าตลอดเวลา บ่งบอกพลังแห่งเมตตาธรรม เป็นภาพที่ติดตาและตรึงใจแก่ผู้พบเห็นอยู่ตลอด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการฝึกฝนในพระกรรมฐานอย่างหนัก สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เรียนพระกรรมฐานในเบื้องต้นจากหลวงพ่อพริ้ง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของเกาะสมุย โดยหลวงพ่อพริ้งได้นำเจริญพระกรรมฐานบนหลุมฝังศพขณะมีอายุ ๑๒ ปี เท่านั้น
ต่อมา ได้เรียนพระกรรมฐานจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พระองค์ท่านมีความชำนาญด้านกสิณ และเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ให้ความสนใจวิธีการเจริญพระกรรมฐานตามแนวต่างๆ
ในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ริเริ่มเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ริเริ่มการสร้างวัดไทยในต่างประเทศ และริเริ่มให้มีการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปประจำ ณ วัดไทยในต่างประเทศ ริเริ่มสานศาสนสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และริเริ่มฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศจีน ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจจากสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นอาจารย์
ในการเดินทางไปต่างประเทศช่วงแรกๆ สมเด็จพระพุฒาจารย์เน้นประเทศที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และประเทศที่พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรือง แต่ถึงกาลล่มสลายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ เนปาล อินเดีย และอัฟกานิสถาน เป็นต้น จากนั้น ได้เดินทางไกลออกไปยุโรป และสหรัฐอเมริกา
จากการเดินทางต่างประเทศบ่อยครั้ง สมเด็จพระพุฒาจารย์มีโอกาสพบปะกับชาวไทย และผู้นำทางการเมืองของไทยที่พลัดถิ่นอยู่ต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทราบถึงการเป็นอยู่และความลำบากของชาวไทย ที่มีความจำเป็นต้องลี้ภัยการเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้สมเด็จพระพุฒาจารย์มุ่งการสร้างวัดในต่างประเทศในโอกาสต่อมา
๖๕. งานด้านสาธารณูปการ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา จัดพิมพ์แถลงการณ์คณะสงฆ์ รวบรวมกิจการต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์ ตลอดทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งมหาเถรสมาคม เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์และการพระศาสนา ออกเป็นรายเดือนทุกวันที่ ๒๕ ของเดือน และหนังสือธรรมะอื่นๆ ในราคาที่ถูก
บริจาคเงินสร้างตึกสงฆ์อาพาธในท้องถิ่นชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญหลายแห่งในนาม “อาคารผู้มีพระคุณ” เพื่อพยาบาลพระภิกษุสามเณร ผู้อาพาธ และสาธุชนทั่วไป