สืบเนื่องจากงานแถลงข่าวการจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ที่ผ่านมา

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ในการนี้ สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด ได้พิจารณาแล้วเห็นประโยชน์อันควรนำออกเผยแพร่ให้กว้างขวาง จึงได้ร่วมกันจัดพิมพ์หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ อีกทั้ง บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนการจัดทำหนังสือทศชาติ เป็น E-Book และ Audiobook เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจสามารถติดตามได้ในหลากหลายช่องทาง ซึ่งหนังสือ ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวนี้ ใช้ภาษาที่เรียบง่าย เพื่อให้เป็นพุทธชาดกที่ประชาชนในทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงแก่นธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน

โดยในงานแถงข่าวมี พลตำรวจโท เผ่าไทย ทองธิว กรรมการบริหาร บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวด้วย ซึ่งมีรายละเอียดอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมอุดมเมตตา ปัญญาทุกภาคส่วนตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ทุกแนวทางการศึกษา ไปจนถึงสังคมคนทำงาน การดูแลผู้สูงอายุ ให้เกิดความเกื้อกูลกัน และเกิดความรักความสามัคคีไปพร้อมๆ กัน จึงขอนำมาบันทึกไว้ในความทรงจำของเว็บไซต์เล็กๆ แห่งนี้

บันทึกการเดินทาง… “ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ตอนที่ ๒) มหากุศลแห่งทานบารมีอันยิ่งใหญ่ : เปิดคำแถลงข่าวฉบับเต็ม โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  แถลงข่าวการจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ ณ ศูนย์ แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. โดยมีรายละเอียด ดังนี้

            เรียนท่านสื่อมวลชน และ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

            ครั้งนี้เป็นการแถลงข่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นการประชาสัมพันธ์หนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง    ซึ่งกำลังจะออกสู่บรรณภิภพตอนปลายเดือนนี้ แต่ว่า มันเป็นข่าวล่วงหน้ามาก่อนนานพอสมควรแล้วละ   ถ้าหากว่าไม่ประชาสัมพันธ์ ไม่บอกกล่าวกันให้รู้ หลายคนก็จะไม่รู้ว่า เรากำลังจะมีหนังสือสำคัญเกิดขึ้นในโอกาสสำคัญ

อยากเรียนอย่างนี้นะครับว่า ในโอกาสมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ต้องถือว่า    เป็นโอกาสสำคัญพิเศษ ซึ่งการที่สมเด็จพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ในพระราชวงศ์จะทรงเจริญพระชนมายุ หรือพระชนมพรรษายาวนานขนาดนี้นั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่หาง่ายโดยทั่วไป บัดนี้ สมเด็จพระองค์นี้ ได้ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๙๐ พรรษา ไปเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็นธรรมเนียมตามโบราณ พระราชประเพณีที่จะต้องมีการเฉลิมฉลองกัน ทั้งในส่วนของการทำบุญหรือศาสนพิธี ในส่วน ของการทำทาน คือ การเผยแพร่ จำหน่ายจ่ายแจกอะไรก็ตาม ที่สามารถทำได้ ซึ่งอาจจะเป็นการจำหน่ายจ่ายแจกสิ่งที่เรียกว่า อามิสทาน เป็นเงินเป็นทอง เป็นข้าวเป็นของ

“แต่ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ 

การจำหน่ายจ่ายแจกวิทยาทาน

คือ ความรู้ หรือธรรมทาน คือธรรมะ

ให้แก่ประชาชนทั้งหลาย

ถือว่า  เป็นการบำเพ็ญกุศล

เพื่อที่จะขอประทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระพันปีหลวง”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ในการนี้ รัฐบาลก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการ อำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน แล้วก็มีคณะกรรมการย่อย ๆ ลงมา ผมเองก็เป็นประธานกรรมการย่อยในส่วนของ พิธีการ เราก็มาคิดกันถึงกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งหลายกิจกรรมก็ได้ผ่านไปแล้วเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา  มีการตักบาตรที่ท้องสนามหลวง มีการสวดมนต์ 5 ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ แล้วก็มี   การจัดมหรสพสมโภช กิจกรรมที่ทำนั้น มีทั้งในกรุงเทพมหานครแล้วก็ในต่างจังหวัด บางอย่างก็ทำในต่างประเทศด้วย

ทีนี้ ก็มาถึงเรื่องหนึ่ง คือ คณะกรรมการอำนวยการ ต้องการให้การจัดงานเฉลิมฉลองครั้งนี้นั้น ทุกคนมีโอกาสและมีส่วนร่วม จึงได้เชิญชวนทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และ ภาคส่วนอื่น ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม ตามที่คิดว่าจะสามารถทำได้ ก็มีส่วนร่วมสำคัญเกิดขึ้นจากภาคเอกชนโดยที่เราไม่ได้คาดหมายมาก่อน นั่นก็คือว่า มีพระเถระจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร  ๕ รูป ซึ่งท่านรวมกันแล้ว ก็ใช้นามปากกาแทนทั้ง ๕ รูป ว่า “ญาณวชิระ” แต่ละท่านเป็นนักเทศน์  เป็นนักเขียน เป็นนักพูด มีบทบาทสำคัญมาในอดีต ท่านก็ไปช่วยกันรังสรรค์ คือ เขียนหนังสือขึ้นมา   เล่มหนึ่ง ตั้งชื่อว่า “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง”

ผมขออธิบาย คำว่า “ปณิธาน”

ปณิธาน คือ ความมุ่งมั่น ตั้งใจแน่วแน่ คำว่า มหาบุรุษ ในที่นี้ ก็คือ หมายถึง พระพุทธเจ้า หรือ พระโพธิสัตว์ ที่กำลังจะไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คำว่า ที่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็คือว่า เป็นการตั้งมั่นปณิธานนี้เอาไว้นานแสนนานแล้ว จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็ยังยึดมั่น ในความตั้งใจนั้น คือ การตั้งใจที่จะไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ ถ้าหากว่า เราพูดกันตามความเชื่อหรือคตินิยมของพุทธศาสนา ท่านก็อาจจะได้ยินมาแล้วว่า คนเรากว่าจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น   จะต้องไปเกิดหรือเสวยพระชาติ เป็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ กันมากมาย หลายกัปหลายกัลป์ อสงไขย มีทั้ง  ไปเกิดเป็นมนุษย์ มีทั้งไปเกิดเป็นสัตว์ มีทั้งที่ไปเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ มีทั้งที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเป็นยาจกเข็ญใจ ไปเป็นพราหมณ์ จนกระทั่งแม้แต่เป็นสัตว์ เช่น เป็นนกยูง เป็นช้าง  เมื่อเสียชีวิตก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีกหลายภพหลายชาติ เพื่อสะสมบารมีเอาไว้ จนกระทั่งบารมี แข็งแกร่ง มั่นคง ก็จะมาถึงสิบชาติสุดท้าย ก่อนที่จะไปถึงชาติที่สิบเอ็ด ชาติที่สิบเอ็ดก็คือชาติที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่คนเรากว่าจะไปถึงชาติที่สิบเอ็ด คือ สามารถตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณได้  จะต้องผ่านภพผ่านชาติมามากเหลือเกิน โดยเฉพาะชาติที่สำคัญที่สุด ก็คือ สิบชาติสุดท้ายก่อนที่จะมาถึงชาติที่สิบ

พระพุทธเจ้าของเรานั้น ได้เสวยพระชาติสิบชาติสุดท้าย ก่อนที่จะมาถึงชาติที่สิบเอ็ด  ต่อเนื่องกันด้วยการบำเพ็ญบารมีต่าง ๆ กัน คำว่า บำเพ็ญบารมี ก็คือ สะสมประสบการณ์หรือทำ   คุณงามความดีเก็บเอาไว้ เพื่อส่งต่อไปยังภพหรือชาติต่อไป

แต่ละชาตินั้น เราเคยเรียกกันว่า ชาดก “ชาดก” ก็คือ “ชาติ”

“ชาติ” ก็คือ “การเกิด” สิบชาตินี้ เขาเรียกว่า “ทศชาติ” และเป็นชาติที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าชาติใด ๆ ทั้งหมด ที่มีมาก่อนหน้านี้ ชาติที่หนึ่งในสิบชาติสุดท้ายนั้น พระโพธิสัตว์ได้เสด็จมาบังเกิดเป็นพระเตมีย์ แล้วบำเพ็ญบารมีที่สำคัญยิ่ง คือ เนกขัมมบารมี คือ ความที่ตั้งใจเหมือนกับนักบวช ความอดกลั้น ความไม่พูดไม่จา ไม่วอกแวกใด ๆ จนเราเคยได้ยินใช่ไหมครับ ที่เราไปอุปมาเปรียบเทียบ  ใครสักคนที่ไม่พูดอะไรเลย เอาแต่ทำงานอยู่อย่างเดียวว่า เหมือนกับพระเตมีย์ใบ้

พระเตมีย์ นี่คือชาติ ที่หนึ่ง ในจำนวนสิบชาตินั้น ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เมื่อตายไปแล้ว ก็ได้บังเกิดในชาติที่สอง เป็นพระมหาชนก ที่เรารู้จักดี พระมหาชนกที่เรือแตกแล้วก็ว่ายน้ำอยู่ในมหาสาคร ด้วยความพากเพียร  จนกระทั่งนางเมขลาอุ้มไปส่งที่ฝั่ง นั่นแหละครับ คือ พระมหาชนกองค์เดียวกันนี่ นี่เป็นชาติที่สอง   ในจำนวนทศชาติหรือสิบชาติ แล้วทรงบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ คือ วิริยบารมี ความเพียร

ต่อจากนั้น  ก็ไปถึงชาติที่สาม คือ พระสุวรรณสาม ชาติที่สี่ก็คือ เป็นพระเนมิราช ชาติที่ห้า คือเป็นพระมโหสถ  ชาติที่หกคือเป็นพระภูริทัต ชาติที่เจ็ดคือเป็นพระจันทกุมาร ชาติที่แปดคือเป็นพระนารทะ ชาติที่เก้า คือเป็นพระวิธูรบัณฑิต แล้วก็ชาติที่สิบ ชาติสุดท้าย เป็นพระเวสสันดร ซึ่งในชาติที่สิบนี้ ทรงบำเพ็ญ บารมีอันยิ่งใหญ่เหนือบารมีทั้งหมด ที่เคยมีมาในอดีตกาล ก็คือ ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน  เงินทองต่าง ๆ ทรงบริจาคแม้กระทั่งลูกและเมีย แล้วจากการบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ในสิบพระชาติ    นี้เอง เมื่อสิ้นพระชนม์หรือหมดชีวิตไป ก็ได้บังเกิดเป็นชาติที่สิบเอ็ด คือเป็นเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร จนกระทั่งเสด็จออกบวช ที่เรียกว่า เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ แล้วก็ได้ตรัสรู้  เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ในทางคติพุทธศาสนา ถือว่า

สิบชาติ ทศชาตินี้ สิบบารมี

ที่ได้ทรงบำเพ็ญในแต่ละชาตินี้  

เป็นความยิ่งใหญ่มหาศาล

และนี่คือ ปณิธานของมหาบุรุษที่ไม่เปลี่ยนแปลง”

เราเคยรู้จักพระชาติต่าง ๆ หรือชาดกต่าง ๆ คนละชาติสองชาติ แต่นาน ๆ ที่เราจะรู้ หมดทั้งหมดทั้งสิบชาติสักทีหนึ่ง ถ้าให้ไปซื้อหาอ่านจากในหนังสือ มันก็มีแต่ยาวมาก แล้วก็ที่สำคัญก็คือ เขียนด้วยสำนวนโวหารแบบชาววัด อ่านยาก เข้าใจยาก แปลยาก แล้วก็มีธรรมะแทรกมาก จนกระทั่งเรารู้สึกว่าเราทำความเข้าใจได้ยาก

การที่คณะพระเถระ คือ ญาณวชิระ ได้เรียบเรียง หนังสือเรื่อง ทศชาติ ปณิธาน มหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลงขึ้น มีความหนาประมาณ ๖๐๐ หน้า ได้ยินก็น่ากลัว ผมได้อ่านหมดแล้ว  หลายครั้ง แล้วมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะว่า หนึ่ง ได้เก็บเอาความสำคัญของสิบชาติมาเรียงต่อกันเป็นเรื่อง สอง ได้แสดงหรือจุดเน้นในทุกชาติให้เห็นว่า อะไรคือปณิธานของมหาบุรุษที่จะเกิด   จะตายกี่ภพกี่ชาติ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ท้อถอย ไม่เลิกล้มความตั้งใจ จะมุ่งมั่นที่จะไปสู่ชาติที่ได้ตรัสรู้ เพื่อที่จะได้เผยแผ่ธรรมะ สอนแก่ชาวโลก ด้วยพระมหากรุณาธิคุณให้จงได้

ประการต่อไป ที่ผมชอบใจมาก ก็คือ ท่านไม่ใช้สำนวนชาววัดเลย แต่ก็ไม่ใช่สำนวนชาวบ้าน เป็นสำนวนที่อ่านง่าย ๆ ด้วยภาษาไทย แล้วก็ปะปนไปกับธรรมะพอสมควรที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี ผมเชื่อว่า หนังสือเล่มนี้ ต่อไปจะเป็นวรรณคดีที่สำคัญของชาติที่ทุกคนควรจะได้อ่าน    ควรจะมีเอาไว้ประจำบ้าน

เมื่อคณะผู้จัดทำหรือผู้เขียน ได้แจ้งมายังรัฐบาลว่า ประสงค์จะมีส่วนร่วมในงาน  มหามงคลที่จะมีการเฉลิมฉลองโอกาส ๙๐ พรรษา ของสมเด็จพระพันปีหลวง รัฐบาลก็เกิดความปีติ ยินดีเป็นอย่างมาก เมื่อสักครู่ ผมก็ได้คุยกับคุณเมตตาว่า ปกติในงานใหญ่ ๆ สำคัญอย่างนี้ จะมีการทำหนังสือออกมามากมายหลายเล่ม แต่พอมาถึงคราว ๙๐ พรรษา สมเด็จพระพันปีหลวงนั้น ความที่จะฉุกละหุกกันหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วก็โควิดระบาดแพร่หลาย นักเขียนก็ไม่รู้หายไปไหนกันหมด

การที่จู่ ๆ มีการเสนอต้นฉบับหนังสือเล่มนี้มา แล้วก็เสนอให้ไปจัดพิมพ์โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ  เลย โดยให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพนั้น เป็นเรื่องที่น่าปีติยินดีเป็นอย่างมาก รัฐบาลก็ได้รับมาพิจารณาได้อ่าน ตั้งกรรมการ มีท่านรองปลัดสำนักนายก ท่านรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อรนุช เป็นประธาน  ควบคุมดูแล เห็นว่า สามารถที่จะจัดพิมพ์เฉลิมฉลองได้ ก็ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า จะขอพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้น โดยใช้ตราสัญลักษณ์ของงาน  ๙๐ พรรษานี้ ประทับไว้บนหน้าปก คราวนี้ก็ถือว่า เป็นการมีส่วนร่วมมาจากภาคประชาชน แต่เพื่อให้สมกับที่ประชาชนจะเป็นเจ้าของงานชิ้นนี้ ผู้เขียนก็เป็นภาคประชาชน เมื่อปรากฏข่าวออกไปว่า  รัฐบาลจะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ก็ต้องขอขอบคุณ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด ซึ่งท่านรับเป็นเจ้าภาพ   ในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ทั้งหมด ประมาณหนึ่งหมื่นเล่ม

เท่านั้นไม่เพียงพอ เมื่อคุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริษัทอมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) ทราบเรื่องเข้า  ท่านก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ด้วยการที่จะเอาต้นฉบับหนังสือนี้ ไปแปลงเป็น E-book แล้วก็  Audiobook เพื่อที่จะเผยแพร่ทางช่องทางสื่ออื่น ๆ นอกจากจะเป็นรูปเป็นเล่ม รูปเล่มจะออกมา ปลายเดือนสิงหาคมนี้ หนึ่งหมื่นเล่ม แต่ว่า E-book กับ Audiobook ได้จัดทำเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว  ยิ่งไปกว่านั้น ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ได้ทราบเข้า ก็รับเอาต้นฉบับนี้ไปออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย อ่านทุกวันตั้งแต่วันจันทร์จนถึงวันศุกร์  ตอน ๑๓.๐๐ – ๑๓.๓๐ น. ต่อเนื่องไปจนกว่าจะจบสิบชาติ ซึ่งก็ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม

ขณะเดียวกัน พระสงฆ์องค์เจ้าอยู่ในต่างจังหวัด ท่านทราบเรื่อง ท่านคุ้นอยู่แล้ว  เรื่อง ทศชาตินี้ พวกเราฆราวาสอาจจะไม่คุ้นหรือคุ้นไม่หมดทุกชาติ พระท่านคุ้นอยู่แล้ว ท่านก็หาอยู่แล้ว ที่จะมีต้นฉบับง่าย ๆ ภาษาไทยง่าย ๆ ที่จะไปอ่านไปบอกบุญให้แก่ประชาชน เพราะฉะนั้น  จังหวัดอุบลราชธานี ทางท่านเจ้าคณะจังหวัด ก็แจ้งมายังรัฐบาลว่า ได้เอาต้นฉบับหนังสือนี้ ไปแปลงเป็นแหล่ทศชาติ ซึ่งก็ได้ทำไปแล้วเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ที่ผ่านมา เจ้าคณะจังหวัดสระบุรี และเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ก็แจ้งมาว่า จะเอาต้นฉบับนี้ ไปใช้เป็นกัณฑ์เทศน์ ในจังหวัดของท่าน เผยแพร่ไปตามวัด ต่าง ๆ ในจังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี มูลนิธิไทยทรงดำ ซึ่งมีสมาชิกหลายล้านคน ก็จะส่งเสริมเผยแพร่ เอาไปอ่าน เอาไปพิมพ์ เอาไปจัดการอะไรต่ออะไรกันอีก

เพราะฉะนั้น วันนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มนี้ ทศชาติ แปลว่า พระชาติหรือชาดกสิบชาติของพระพุทธเจ้า ก่อนที่ท่านจะได้มาเป็นพระพุทธเจ้าในสิบชาตินี้ ชาติที่สำคัญที่สุด ก็คือ  ชาติที่สิบ พระเวสสันดร เราถึงเรียกว่า มหาชาติ สมัยก่อน พระเจ้าแผ่นดินจะต้องแต่งมหาชาติ  คำหลวง ซึ่งบรรยายเรื่องพระเวสสันดร เพราะฉะนั้น เราก็มักจะหลงลืม ละเลย ชาติที่ ๙,๘,๗,๖,๕,๔,๓,๒,๑ ในบรรดาสิบชาตินี้ ผมเข้าใจว่า โดยทั่วไป จะคุ้น จะรู้จักอยู่สามชาติเท่านั้น คือ  ชาติที่หนึ่ง คือพระเตมีย์ ชาติที่สอง คือ พระมหาชนก ซึ่งเราทราบจากเรื่องพระมหาชนก ก็ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ที่ได้ทรงนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็อาจจะไม่รู้จักพระชาตินี้อีกชาติหนึ่ง วันนี้ เรารู้จากชาติที่หนึ่ง พระเตมีย์ รู้จักชาติที่สอง คือ   พระมหาชนก แล้วก็รู้จักข้ามไปชาติที่สิบ คือ พระเวสสันดร ส่วนชาติอื่นนั้น เราจะไม่ค่อยรู้ 

“แต่ความจริง

แต่ละชาติมีบารมีที่พิเศษของพระองค์ทั้งนั้น

เช่น ปัญญาบารมี ศีลบารมี เมตตาบารมี 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้

เอามาใช้ประยุกต์ได้

ไม่ใช่ประยุกต์เพื่อที่เราจะไปตรัสรู้อะไร

แต่เพื่อที่เราจะได้เจริญรอยตาม

พระยุคคลบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

เพราะฉะนั้น ในนามของรัฐบาล ต้องขอบพระคุณทางญาณวชิระ ผู้ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น ขอบพระคุณทางบริษัท เมืองโบราณ จำกัด ที่กรุณารับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ ถือว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ เมื่อกี้ ท่านก็ได้บอกผมว่า ท่านดีใจเหลือเกินที่ได้มาทำบุญในเรื่องนี้   สร้างหนังสือสำคัญที่จะเป็นวรรณคดีของชาติ ขอขอบพระคุณ คุณเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการบริษัทอมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน) ที่ได้เอื้อเฟื้อในการจัดทำ e-book และ audiobook และก็ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้จะได้มีการเผยแพร่กันทางเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรี เว็บไซต์ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และก็เฟสบุ๊คของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วย คือ จะใช้ช่องทางผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อให้มันไปถึงประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ครั้งนี้ ก็เลยต้องมาบอกบุญ และบอกกล่าวท่านสื่อมวลชนทั้งหลาย ช่วยกรุณาประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ด้วย ถ้าผู้ใดต้องการหนังสือในลักษณะของรูปเล่ม ช่วยกรุณาติดต่อมาที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หนังสือนี้ เล่มอย่างนี้ จะพิมพ์ออกมาปลายเดือนนี้ ท่านก็แจ้งมาตามคิว   ตามวิธีการที่สำนักงานปลัดสำนักนายก จะได้แจ้งให้ท่านทราบ แล้วขอรับไปได้ฟรี โดยไม่คิดมูลค่า  เพราะว่า เป็นการทำบุญของภาคเอกชนทั้งหลาย

“ด้วยมหากุศลผลบุญที่ได้กระทำครั้งนี้

เป็นวิทยาทาน เป็นธรรมทาน

รัฐบาล ภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

ขอน้อมทูลเกล้าทูลกระหม่อม

ถวายเป็นพระราชกุศล

แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ขอทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

มีพระสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์

เสด็จสถิตเป็นมิ่งขวัญ

ของประชาชนชาวไทยสืบไป

และขอกุศลผลบุญนี้

ได้คุ้มครองรักษาประเทศไทยให้เจริญยั่งยืน

มั่นคง มั่งคั่ง อย่างถาวร  ตลอดไปครับ

ขอบคุณมาก”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
LIVE]การแถลงข่าว เรื่อง การจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” จากช่อง Youtube
ไทยคู่ฟ้า ทําเนียบรัฐบาล โดย รองนายกรัฐมนตรี (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิษณุ เครืองาม) เป็นประธานการแถลงข่าว เรื่อง การจัดทำหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับญาณวชิระ ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่่อวันจันทร์ที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

บันทึกการเดินทาง…”ทศชาติ” ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ตอนที่ ๒) มหากุศลแห่งทานบารมีอันยิ่งใหญ่ : เปิดคำแถลงข่าวฉบับเต็ม โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here