"ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๙) "ปัญหาปุจฉกะ" และธัมมหทัย : หัวใจแห่งธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๒๘๓ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙
“ความเป็นมาของพระอภิธรรม (๙) “ปัญหาปุจฉกะ” และธัมมหทัย : หัวใจแห่งธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๒๘๓ วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙

“เข้าพรรษา กับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

(บทที่ ๘)

คัมภีร์ที่ ๒ วิภังค์

: คัมภีร์ที่จำแนกหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม

(ตอนที่ ๒)

“ธัมมหทัย : หัวใจแห่งธรรม

(เนื้อหาหลักของคัมภีร์วิภังค์)”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ธรรมนิพนธ์ "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ฉบับธรรมทาน

ธัมมหทัย: หัวใจแห่งธรรม

(เนื้อหาหลักของคัมภีร์วิภังค์)

เนื้อหาหลักของคัมภีร์วิภังค์นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงสภาวธรรมซึ่งดำรงอยู่ตามธรรมชาติ  สภาวธรรมซึ่งดำรงอยู่ในรูปปรากฏการณ์ และหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวธรรมตามธรรมชาติ โดยเนื้อหาทั้ง ๑๘ วิภังค์ บางวิภังค์ก็อธิบายไว้ครบทั้ง ๓ นัย คือ สุตตันตภาชนีย์ อภิธรรมภาชนีย์ และปัญหาปุจฉกะ บางวิภังค์ก็อธิบายไว้เพียงนัยเดียว บางวิภังค์ก็อธิบายจากน้อยไปหามาก บางวิภังค์ก็อธิบายจากง่ายไปหายาก ดังนี้

๑. ขันธวิภังค์ 

อธิบายเรื่องขันธ์ ๕ คือ รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ อย่างละเอียด  ทั้งที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว แปรไปแล้ว ดับไปแล้ว ที่เป็นอนาคต ยังไม่เกิดขึ้น และที่เป็นปัจจุบัน กำลังเกิดอยู่

๒. อายตนวิภังค์

อธิบายเรื่องอายตนะ ๑๒ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖ คือ ตา: เห็นรูป, หู: ได้ยินเสียง, จมูก: ดมกลิ่น,  ลิ้น: ลิ้มรส, กาย: สัมผัส, ใจ: นึกคิด

“คำว่า “อายตนะ” หมายถึง จุดเชื่อมต่อระหว่างสิ่งภายในกับสิ่งภายนอก ซึ่ง เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัจจยาการอื่นๆ นำมาซึ่งภพ ชาติ ชรา มรณะ ทุกข์ โสกะ ปริเทวะ คือ ความทุกข์ ความโศกเศร้า ความร่ำไร รำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เป็นต้น”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
"อายตนะ" ภาพประกอบ ลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้
“อายตนะ” ภาพประกอบ ลายเส้นพู่กันจีน โดย หมอนไม้

๓. ธาตุวิภังค์

อธิบายเรื่องธาตุ ๑๘ ที่ได้ชื่อว่า “ธาตุ” เพราะเมื่อแยกส่วนประกอบออกไปจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่มีอะไรเลย ที่เห็นเป็นรูปปรากฏโดยอาการต่างๆ เพราะมีส่วนประกอบกันเข้าของธาตุตามเหตุปัจจัย ธาตุ ๑๘ มี ๓ หมวดๆ ละ ๖ ดังนี้

หมวดที่ ๑ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ

หมวดที่ ๒ ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา อวิชชา

หมวดที่ ๓ ได้แก่ กาม พยาบาท วิหิงสา เนกขัมมะ อัพยาบาท อวิหิงสา

๔. สัจจวิภังค์

อธิบายเรื่อง อริยสัจ ได้แก่ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ ทุกขอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์, ทุกขสมุทยอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ คือ เหตุให้เกิดทุกข์, ทุกขนิโรธอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ คือ ความดับแห่งทุกข์, ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ความจริงอันประเสริฐ คือ หนทางปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความดับทุกข์

๕. อินทริยวิภังค์

อธิบายเรื่อง อินทรีย์ คือ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน เช่น จักขุนทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของตา หมายความว่า ตามีหน้าที่ในการเห็น โสตินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของหู หมายความว่า หูมีหน้าที่ในการได้ยิน ฆานินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของจมูก หมายความว่า จมูกมีหน้าที่ในการดมกลิ่น เป็นต้น

แต่ละข้อมีหน้าที่และเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน จึงเรียกว่า “อินทรีย์

๖. ปัจจยาการวิภังค์

อธิบายเรื่องปฏิจจสมุปบาท หรืออาการที่เป็นปัจจัยสืบเนื่องซึ่งกันและกัน และอาการของจิตประเภทต่างๆ หลักตถตา ภาวะที่เป็นอย่างนั้น อวิตถตา ภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อนไปได้ อนัญญถตา ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ อิทัปปัจจยตา ภาวะที่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย ที่กล่าวมาทั้งหมด เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” หรือ “ปัจจยาการ

๗. สติปัฏฐานวิภังค์

อธิบายเรื่อง สติปัฏฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ๔ ได้แก่ ๑. พิจารณากายในกาย ทั้งภายในภายนอก (กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ๒. พิจารณาเวทนาในเวทนา ทั้งภายในภายนอก (เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ๓. พิจารณาจิตในจิต ทั้งภายในภายนอก (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ๔. พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งภายในภายนอก (ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน)

การพิจารณาสติปัฏฐานนี้ เป็นหลักปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวธรรมตามธรรมชาติ โดยพระพุทธองค์ทรงให้เอากายของตนเป็นที่ตั้ง พิจารณากายในกายของตนตามความเป็นจริง ให้เห็นว่า ร่างกายของเราก็เป็นอย่างนี้ๆ มีอาการ ๓๒ มีความเจ็บป่วย มีความแก่ชราเปื่อยเน่าไปเป็นธรรมดา เรียกว่า “พิจารณากายในกาย

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

จากนั้นให้ “พิจารณากายในกาย ทั้งภายในภายนอก” คือ ครั้นพิจารณากายของตนให้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็ให้พิจารณากายของผู้อื่น ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกันกับกายของเรา

แม้ในการพิจารณาเวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์ เจ็บปวด สุขสบาย การพิจารณาจิต คือ ความคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน และ การพิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย มีความโกรธ เกลียด อาฆาต พยาบาท อัสสมิมานะ ความอวดดื้อถือดี เป็นต้น ทั้งของตนและของผู้อื่น ก็ให้พิจารณาเช่นเดียวกัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

คำปรารภ

หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหา ก่อนอ่านความเป็นมาของพระอภิธรรม จึงขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ความเป็นมาของพระอภิธรรม มีเนื้อความตรงตามชื่อ มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรม เป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย

ผู้ที่มีความสนใจข้อธรรมในพระอภิธรรมที่ละเอียดลงไป ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้จากคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วไป เนื่องจากพระอภิธรรมมีความละเอียดประณีตยิ่ง มีนัยหลากหลาย ไม่สิ้นสุด บางกรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของ และภาษาในสมัย เทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่มีความละเอียดยิ่งนั้น ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กรณีดังกล่าว มิใช่การนำข้อความเข้าไปปลอมปนในพระอภิธรรม เพราะมิได้มุ่งอธิบายข้อธรรมในพระอภิธรรม ดังกล่าวแล้ว หากแต่เห็นว่า การยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของก็ดี การใช้ภาษาในสมัยก็ดี เป็นวิธีที่พอจะสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาที่แตกต่างกัน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสถานะ ด้วยห้วงเวลานั้น ทุกคนล้วนมีจิต ละเอียด เป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรมที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ กาลนั้น จึงนับได้ว่า เป็นมงคลกาล เหมาะแก่การฟังธรรมที่ละเอียด

ขออนุโมทนาขอบคุณพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร., คุณมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และคุณวันทนี เจริญวานิช ที่รับเป็นภาระธุระในการจัดพิมพ์ จนหนังสือสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ดีงาม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น แผ่ไพศาลแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา

พระราชกิจจาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

เข้าพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” (บทที่ ๘) คัมภีร์ที่ ๒ วิภังค์ : คัมภีร์ที่จำแนกหัวข้อแห่งปรมัตถธรรม (ตอนที่ ๒) “ธัมมหทัย : หัวใจแห่งธรรม (เนื้อหาหลักของคัมภีร์วิภังค์)” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here