วันนี้วันพระ วันอาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖

เรียนรู้ปฏิปทาพระเถระ

ผู้ริเริ่มวางรากฐานแนวคิดนำพระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่

และสร้างพระสงฆ์ผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย

จาริกธรรมไปทั่วโลกเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์และสรรพชีวิต

สำหรับสี่ตอนนี้เล่าย้อนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อหลวงพ่อพริ้งพาสามเณรเกี่ยวไปฝากไว้กับพระอาจารย์มหากลั่น ปิยทสฺสี  เพื่อเรียนบาลีอยู่ที่พุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงนั้นเอง ท่านได้พบกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ  ขณะยังเป็นพระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ  ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มหากลั่นเช่นเดียวกัน แม้เป็นช่วงสั้นๆ แต่สายสัมพันธ์ระหว่างหลวงพ่อสมเด็จฯ กับหลวงพ่อพุทธทาสนั้นยืนยาว

วิถีแห่งผู้นำ

: สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

๑๘. หลบสงครามเรียนบาลีที่พุมเรียง ๑๙.พระมหากลั่น ปิยทสฺสี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนภาษาบาลีผดุงพุทโธวาท ที่พุมเรียง ๒๐. พบหลวงพ่อพุทธทาส ๒๑.ประวัติพระราชสุธรรมเมธี(สังข์ ภูริปญฺโญ)

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๑๘.

หลบสงครามเรียนบาลีที่พุมเรียง

              ครั้นถึงสุราษฏร์ธานี  หลวงพ่อพริ้งทราบข่าวว่า เกาะสมุยถูกพันธมิตรทิ้งระเบิด เพราะกลัวญี่ปุ่นจะยึดเป็นฐานทัพ มีเรือรบหลายลำถูกทิ้งระเบิดจมลง หลวงพ่อพริ้งเกรงไม่ปลอดภัย  และเข้าใจความรู้สึกของลูกศิษย์ว่า ตั้งใจอยากเรียนบาลี  จึงเปลี่ยนใจนำสามเณรเกี่ยวไปฝากไว้กับพระอาจารย์มหากลั่น ปิยทสฺสี  เพื่อเรียนบาลีอยู่ที่พุมเรียง  อำเภอไชยาไปพลางๆ ก่อน  จนกว่าเหตุการณ์สู้รบในกรุงเทพมหานครจะสงบลง

คุณธรรม คือ ความกตัญญู เป็นสิ่งที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ  ยึดถือปฏิบัติและพร่ำสอนอยู่เสมอว่า  อาจารย์มหากลั่น  เป็นหนึ่งในพระเถระที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ  รำลึกถึงพระคุณอยู่เสมอ แม้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติอยู่กับท่านไม่นานนัก  แต่ด้วยวิสัยแห่งปราชญ์ทั้งหลาย  ย่อมยึดถือความกตัญญูเป็นที่ตั้ง  ไม่ว่าน้อยหรือมาก  อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความเจริญในชีวิต ทั้งในคติโลกและคติธรรม  เมื่อมีโอกาสเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะบำเพ็ญกุศลให้เสมอมา

๑๙.

พระมหากลั่น ปิยทสฺสี

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนภาษาบาลีผดุงพุทโธวาท ที่พุมเรียง

พระมหากลั่น ปิยทสฺสี เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๓ ณ บ้านบางผักคราด ตำบลตะกรบ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในวัยเยาว์ ขณะอายุ  ๑๒ ขวบ ท่านได้ออกจากบ้านไปอาศัยอยู่กับพระอาจารย์ชู วัดพุมเรียง เพื่อเรียนหนังสือไทย เมื่ออาจารย์ชู มรณภาพแล้ว พระใบฎีกาเซี้ยง ได้รับเด็กชายกลั่นไปอุปการะต่อ เมื่อเด็กชายกลั่น อ่านออกเขียนได้  จึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนโพธิพิทยากร จนกระทั้งจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓

ต่อมา เมื่ออายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพุมเรียง (เมืองไชยา) กับพระใบฎีกาเซี้ยง หลังจากนั้น ได้เดินทางติดตามพระใบฎีกาเซี้ยง โดยเรือทางทะเลเข้ากรุงเทพ ฯ

ตามประวัติระบุว่า เมื่อถึงกรุงเทพท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ณ วัดปทุมคงคา เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี พระครูกัลยาณคุณ (ใช้) เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่ออายุครบอุปสมบท ท่านได้กลับมาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดพุมเรียง วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมี พระครูโสภณเจตสิการาม (คง) เป็นพระอุปัชฌาย์  พระสมุห์คง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูคณานุกูล (ศักดิ์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ปิยทสฺสี แล้วจำพรรษา ณ วัดพุมเรียง ๑ พรรษา จากนั้น ได้กลับไปเรียนบาลีที่วัดปทุมคงคา ตามเดิม จนสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค หลังจากสอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยคแล้ว ท่านได้เดินทางกลับบ้านเกิด ตั้งโรงเรียนภาษาบาลีขึ้นที่พุมเรียง ชื่อว่า  “โรงเรียนภาษาบาลีผดุงพุทโธวาท ”

              ต่อมา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม ที่ “พระครูชยาภิวัฒน์”  

พระครูชยาภิวัฒน์ได้มรณภาพด้วยโรคชราภาพ เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒  ณ กุฏิของท่าน วัดพุมเรียง สิริรวมอายุได้ ๘๙ ปี ๓ เดือน พรรษา ๖๘

๒๐.

พบหลวงพ่อพุทธทาส

              ที่พุมเรียงนี้เอง  สามเณรเกี่ยวได้พบกับหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ  ขณะยังเป็นพระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ  ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์มหากลั่น ท่านกลับจากกรุงเทพฯ มาอยู่บรมธาตุไชยา และได้ไปตั้งสวนโมกข์อยู่ที่พุมเรียง บางครั้งท่านก็มาพบปะสนทนากับอาจารย์ของท่านอยู่บ่อยครั้ง นับได้ว่า เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน  ท่านทั้งสองจึงมีความผูกพันกันนับตั้งแต่นั้นมา

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า

หลวงพ่อได้พบกับท่านพุทธทาส  เพราะเป็นศิษย์อาจารย์มหากลั่นด้วยกัน  ก็ได้พบกัน จึงรู้จักมักคุ้นมาตั้งแต่ตอนหลวงพ่อยังเป็นเณร” 

” พบกันตอนแรกเป็นช่วงระยะสั้นๆ ตอนนั้น  เกิดทหารพันธมิตรทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ  สะพานผ่านฟ้าก็ถูกระเบิดด้วย หลวงพ่อพริ้ง  อาจารย์ของหลวงพ่อ  ท่านกลัวไม่ปลอดภัย  จึงมารับไปอยู่ที่พุมเรียง  อำเภอไชยา  จึงได้พบกับท่านพุทธทาส  ซึ่งท่านอยู่พุมเรียงก่อนแล้ว  พอเหตุการณ์บ้านเมืองเริ่มปกติ  หลวงพ่อพริ้งก็มารับกลับกรุงเทพฯ  แต่หลังจากนั้น ก็ยังได้พบกันอยู่บ่อยครั้ง

จดหมายจากสหธรรมมิก

ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระเทพคุณาภรณ์ เขียนจดหมายถึงหลวงพ่อพุทธทาส เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชชัยกวี โดยในจดหมายลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๐ สรุปความว่า พระภิกษุประสงค์ ปวโร ซึ่งในขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดวชิราลงกรณวรารามวรวิหาร ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สนใจทางปฏิบัติและชอบสงบ มีความปรารถนาจะมาศึกษาที่สวนโมกขพลารามบ้าง ด้วยเคยอ่านหนังสือและฟังเกี่ยวกับสวนโมกข์มา จึงขอแนะนำและฝากฝังกับหลวงพ่อพุทธทาสตามที่เห็นสมคาร

การเกื้อกูลกันฉันพี่น้อง

ต่อมา  ท่านพุทธทาสมีอาวุโสมากขึ้น  ท่านก็มาหาที่วัดสระเกศฯ  บอกว่า อยากได้พระไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุไชยา  เพราะท่านแก่แล้ว อยากหยุดงานบริหาร อยากดูแลสวนโมกข์อย่างเดียว  แต่ขอเป็นพระวัดสระเกศฯ  จึงบอกท่านไปว่า  “ได้” 

แล้วท่านก็มีหนังสือมา  หนังสือฉบับนั้นท่านพุทธทาสเขียนด้วยลายมือท่านเอง  โดยเขียนมาขอท่านเจ้าคุณสังข์ (เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระศรีธรรมเมธี ) หลวงพ่อจึงขอให้เจ้าคุณสังข์ไป เพราะเห็นว่า คุ้นเคยกับท่านพุทธทาสอยู่ก่อน  เจ้าคุณสังข์ท่านก็ยอมไป และอยู่มาจนมรณภาพ เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๗

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เล่าว่า “ตอนนั้น ท่านพุทธทาสมีหนังสือ มาขอเจ้าคุณสังข์ เห็นว่า ทางวัดสระเกศฯ ยังเงียบๆ อยู่ ท่านก็ตามมาถึงวัด คงเกรงว่า จะไม่ให้เจ้าคุณสังข์ไป หลวงพ่อก็บอกว่าให้ไป ท่านพุทธทาสก็บอกว่า ให้ตอบหนังสือด้วย จะได้มีหลักฐานไปยืนยันกับเจ้าคุณสังข์ หลวงพ่อจึงตอบหนังสือท่านไป

๒๑.

ประวัติ พระราชสุธรรมเมธี (สังข์ ภูริปญฺโญ ป.ธ.๙)

เจ้าคุณสังข์มีความคุ้นเคยกับหลวงพ่อพุทธทาสเพราะเป็นคนไชยาด้วยกัน  ท่านจึงมาขอให้ไปอยู่ไชยา จากหนังสือประวัติ พระราชสุธรรมเมธี (สังข์ ภูริปญฺโญ ป.ธ.๙) บันทึกไว้ว่า  พระราชสุธรรมเมธี (สังข์ ภูริปญฺโญ ป.ธ.๙) เดิมชื่อ สังข์  นามสกุล ขวัญชู  เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๘  ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๒ ปีฉลู  ณ บ้านเลขที่ ๑๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลป่าเว  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

อุปสมบทเมื่อวันจันทร์ที่  ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๙  ตรงกับวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ เวลา ๑๕.๒๐ น. ณ วัดเววน  ตำบลป่าเว  อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยมี พระครูโสภณเจตสิการาม (ขำ ธมฺมโชโต) วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์  พระอธิการครื้น ติสฺโส เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และ พระครูสมบูรณ์  ปิยะวัฒน์(พร้อม ปิยธมฺโม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า  ภูริปญฺโญ 

ท่านสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๓ ขณะอายุ ๔๕ ปี นับว่า เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยครูปแรกของเมืองไชยา

ท่านเจ้าคุณพระราชสุธรรมเมธี ได้มาพำนักศึกษาพระปริยัติธรรม ณ สำนักวัดสระเกศ  จนสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค  และได้ช่วยเหลืองานในสำนักเป็นเอนกประการ  จนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ 

ต่อมา หลวงพ่อพุทธทาส ได้มีหนังสือมาขอตัวจากสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้น เพื่อไปช่วยดูแลวัดบรมธาตุไชยา  ซึ่งเจ้าคุณพระราชสุธรรมเมธีก็ยอมเสียสละไปตามที่หลวงพ่อพุทธทาสมีหนังมาขอ  และได้บริหารงานคณะสงฆ์ด้วยความเสียสละ  จนได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุราษฏร์ธานี  นับเป็นเกียรติ และนำความภาคภูมิใจมาสู่สำนักวัดสระเกศ เป็นอย่างยิ่ง

วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ๑๘. หลบสงครามเรียนบาลีที่พุมเรียง ๑๙.พระมหากลั่น ปิยทสฺสี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนภาษาบาลีผดุงพุทโธวาท ที่พุมเรียง ๒๐. พบหลวงพ่อพุทธทาส ๒๑.ประวัติพระราชสุธรรมเมธี(สังข์ ภูริปญฺโญ) เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here