วันนี้วันพระ วันศุกร์ที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐
ศึกษา “มงคลสูตร : พระสูตรว่าด้วยมงคลอันสูงสุดแห่งชีวิต”
จากหนังสือ “พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์”
เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม
โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) อดีตพระราชกิจจาภรณ์
มงคลสูตร : หลักปฏิบัติเพื่อชีวิตที่เป็นมงคล
มงคลสูตร พระสุตันตปิฎก ขุทกนิกาย ขุทกปาฐะ
ตำนานและอานุภาพการป้องกัน (โดยย่อ)
โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม)
พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน
มงคลสูตร เป็นพระสูตรที่แนะนำวิธีการดำเนินชีวิตที่เป็นมงคลสูงสุดอย่างชาวบ้าน จนถึงชีวิตที่เป็นมงคลสูงสุดอย่างพระสงฆ์ พระพุทธองค์ตรัสพระสูตรนี้แก่เทวดาผู้ทูลถามถึงสิ่งที่เป็นมงคล สาเหตุมาจากการที่ประชาชนประชุมกันที่สภา เพื่อฟังกถาที่แสดงเรื่องราวต่างๆ โดยได้เชิญผู้มีความรู้ในแต่ละเรื่องมาแสดงตามวาระ เรื่องที่แสดงนั้น บางเรื่องต้องใช้เวลานานถึง ๔ เดือน จึงจะจบลงได้
วันหนึ่ง ได้มีการหยิบยกเรื่องปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อว่าเป็นมงคลสำหรับชีวิตขึ้นมาแสดง ณ สภาแห่งนั้น ปัญหานี้ ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง จนไม่สามารถหาข้อยุติได้ ต่างคนต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนแนวคิดของตน ปัญหาดังกล่าวมิใช่เพียงถกเถียงกันในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังขยายวงถกเถียงกว้างออกไปจนถึงหมู่เทพทั้งหลาย ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้นจากเมืองมนุษย์จนถึงสวรรค์
สิ่งที่คนสมัยพุทธกาลเชื่อกันว่า เป็นมงคลสูงสุดสำหรับชีวิต แยกออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มที่ถือเอาสิ่งที่ตาเห็นว่าเป็นมงคล กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “ทิฏฐมังคลิกะ” กลุ่มนี้มีความเห็นว่า การที่ได้เห็นสิ่งที่คนยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าดีนั่นเอง ถือว่าเป็นมงคล
๒. กลุ่มที่ถือเอาสิ่งที่หูได้ยินว่าเป็นมงคล กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “สุตมังคลิกะ” กลุ่มนี้มีความเห็นว่า การได้ยินเสียงที่คนยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าดีนั่นแหละเป็นมงคล
๓. กลุ่มที่ถือเอาสิ่งที่จมูกดมกลิ่นว่าเป็นมงคล กลุ่มนี้ถูกเรียกว่า “มุตมังคลิกะ” กลุ่มนี้มีความเห็นว่า การได้ดมกลิ่น ลิ้มรส ที่คนยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าดีนั่นเองเป็นมงคล
ปัญหาดังกล่าว ได้ถกเถียงกันกินเวลานานถึง ๑๒ ปี ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าอะไรเป็นมงคล จึงเกิดข้อถกเถียงขยายวงกว้างออกไปตั้งแต่หมู่มนุษย์จนถึงเหล่าเทวดาทั้งหลาย ในที่สุดพระอินทร์ เทวาธิบดีแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้มีบัญชาให้เทพบุตรตนหนึ่ง เป็นตัวแทนเหล่าเทพไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อทูลถามมงคล พระพุทธเจ้าได้ตรัสมงคลสูงสุดสำหรับชีวิตตอบเทพบุตร ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นมงคลสูงสุดสำหรับชีวิตที่ถกเถียงกันนานถึง ๑๒ ปี จึงยุติลงตั้งแต่นั้นมา
เนื้อความโดยย่อของมงคลสูตร กล่าวถึงมงคล ๓๘ ประการ ซึ่งพระพุทธองค์แสดงไว้ว่าเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต หากทุกคนดำเนินชีวิตตามมงคลที่พระพุทธองค์แสดงไว้ เขาก็จะประสบแต่สิ่งที่เป็นมงคล โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหามงคลมาจากไหน
อานุภาพการป้องกัน
มงคลสูตร เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักปฏิบัติเพื่อให้เกิดมงคลในการดำเนินชีวิต การนำมงคลสูตรมาสวดก็เพื่อเป็นการน้อมเอามงคลต่างๆ ตามที่ปรากฏในพระสูตรมาแสดงให้เกิดเป็นมงคลขึ้นกับชีวิต นอกจากนั้น มงคลสูตร ยังมีอานุภาพในการป้องกันภัยอันตรายอันจะเกิดจากความไม่เที่ยงธรรมของเหล่าคนพาลสันดานหยาบทั้งหลาย
ในงานบุญโดยทั่วไป พระสงฆ์นิยมสวดมงคลสูตร พร้อมกับเจ้าภาพจุดเทียนมงคล อันแสดงถึงความส่องสว่างรุ่งเรืองแห่งมงคลในชีวิต
ขอขอบคุณ ภาพจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
การสวดมงคลสูตรก่อนสูตรอื่นทั้งหมด เหมือนกับการแนะนำผู้ฟังว่า ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามหลักมงคลทั้ง ๓๘ ประการตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั้นเป็นชีวิตที่เป็นมงคล ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองเหมือนเปลวเทียนที่ส่องสว่าง ชีวิตเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหามงคลจากภายนอกที่ไหน เพราะเป็นชีวิตที่เป็นมงคลอยู่ในตัวแล้ว หากทำได้ก็จะปราศจากทุกข์โศกโรคภัยในการดำเนินชีวิต และถึงความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด เหมือนเปลวเทียนที่มีความสว่างในตัวเอง
ในบทขัดตำนาน คือการบอกเล่าความเป็นมาของพระสูตรและอานุภาพการป้องกัน เพื่อให้ผู้ฟังเกิดศรัทธาเชื่อมั่นในอานุภาพพระพุทธมนต์ ท่านได้ประพันธ์เป็นคาถาแสดงอานุภาพของมงคลสูตรไว้ดังนี้
“ทั้งมนุษย์และเทวดาต่างก็คิดหาสิ่งที่เป็นมงคลมานานถึง ๑๒ ปี แม้คิดหาอยู่เช่นนั้นก็ไม่ทราบมงคล ความโกลาหลจึงเกิดไปทั่วหมื่นจักรวาลจนกระทั่งถึงพรหมโลก มงคลที่สมเด็จโลกนาถเจ้า ทรงแสดงไว้สามารถนำบาปทั้งปวงให้เสื่อมหายไปสิ้น หมู่ชนมีจำนวนนับไม่ถ้วน ได้พ้นทุกข์ทั้งปวง เพราะฟังมงคลใด เราทั้งหลาย จงสวดมงคล ซึ่งประกอบด้วยคุณตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เทอญฯ “
บทขัดมงคลสูตร
เย สันตา สันตะจิตตา ติสะระณะสะระณา เอตถะ โลกันตะเร วา
ภุมมาภุมมา จะ เทวา คุณะคะณะคะหะณัพยาวะฏา สัพพะกาลัง
เอเต อายันตุ เทวา วะระกะนะกะมะเย เมรุราเช วะสันโต
สันโต สันโต สะเหตุง มุนิวะระวะจะนัง โสตุมัคคัง สะมัคคัง ฯ
สัพเพสุ จักกะวาเฬสุ ยักขา เทวา จะ พรัหมุโน
ยัง อัมเหหิ กะตัง ปุญญัง สัพพะสัมปัตติสาธะกัง
สัพเพ ตัง อะนุโมทิตวา สะมัคคา สาสะเน ระตา
ปะมาทะระหิตา โหนตุ อารักขาสุ วิเสสะโต
สาสะนัสสะ จะ โลกัสสะ วุฑฒี ภะวะตุ สัพพะทา
สาสะนัมปิ จะ โลกัญจะ เทวา รักขันตุ สัพพะทา
สัทธิง โหนตุ สุขี สัพเพ ปะริวาเรหิ อัตตะโน
อะนีฆา สุมะนา โหนตุ สะหะ สัพเพหิ ญาติภิ ฯ
ยัญจะ ทวาทะสะ วัสสานิ จินตะยิงสุ สะเทวะกา
จิรัสสัง จินตะยันตาปิ เนวะ ชานิงสุ มังคะลัง
จักกะวาฬะสะหัสเสสุ ทะสะสุ เยนะ ตัตตะกัง
กาลัง โกลาหะลัง ชาตัง ยาวะ พรัหมะนิเวสะนา
ยัง โลกะนาโถ เทเสสิ สัพพะปาปะวินาสะนัง
ยัง สุตวา สัพพะทุกเขหิ มุจจันตาสังขิยา นะรา
เอวะมาทิคุณูเปตัง มังคะลันตัมภะณานะ เห ฯ
มงคลสูตร (มังคะละสุตตัง)
เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน
อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม อะถะ โข อัญญะตะรา เทวะตา อะภิกกันตายะ รัตติยา,
อะภิกกันตะวัณณา เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตวา เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะมิ
อุปะสังกะมิตวา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตวา เอกะมันตัง อัฏฐาสิ
เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา, ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ
พะหู เทวา มะนุสสา จะ มังคะลานิ อะจินตะยุง
อากังขะมานา โสตถานัง พรูหิ มังคะละมุตตะมัง
อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา
ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
ปะฏิรูปะเทสะวาโส จะ ปุพเพ จะ กะตะปุญญะตา
อัตตะสัมมาปะณิธิ จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
พาหุสัจจัญจะ สิปปัญจะ วินะโย จะ สุสิกขิโต
สุภาสิตา จะ ยา วาจา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง ปุตตะทารัสสะ สังคะโห
อะนากุลา จะ กัมมันตา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ ญาตะกานัญจะ สังคะโห
อะนะวัชชานิ กัมมานิ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
อาระตี วิระตี ปาปา มัชชะปานา จะ สัญญะโม
อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
คาระโว จะ นิวาโต จะ สันตุฏฐี จะ กะตัญญุตา
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
ขันตี จะ โสวะจัสสะตา สะมะณานัญจะ ทัสสะนัง
กาเลนะ ธัมมะสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
ตะโป จะ พรัหมะจะริยัญจะ อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง
นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ
อะโสกัง วิระชัง เขมัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ
เอตาทิสานิ กัตะวานะ สัพพัตถะมะปะราชิตา
สัพพัตถะ โสตถิง คัจฉันติ ตันเตสัง มังคะละมุตตะมันติ ฯ
คําแปล
ข้าพเจ้าได้ฟังอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
ครั้งผ่านยามแรกแห่งราตรีไปแล้ว เทวดาตนหนึ่งมีรัศมีงดงามยิ่ง นัก ทำให้พระเชตวันส่องสว่างไปทั่ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืนอยู่ข้างหนึ่ง เทวดานั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ต่างก็หวังความสวัสดี จึงได้พากันคิดเรื่องมงคล คือเหตุให้ถึงความเจริญทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดตรัสมงคลอันสูงสุดเถิด ฯ (พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสิ่งที่เป็นมงคลตอบว่า)
การไม่คบคนพาลทั้งหลาย ๑ การคบบัณฑิตทั้งหลาย ๑ การบูชผู้ที่ควรบูชา ๑ ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ๑ ความมีบุญที่ได้ทำไว้ในกาลก่อน ๑ การวางตัวเหมาะสมชอบธรรม๑ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นมงคลสูงสุดฯ
ความเป็นผู้มีการศึกษาเล่าเรียนมาก ๑ ความเป็นผู้มีศิลปวิทยา ๑ ความเป็นผู้มีระเบียบวินัยที่ได้รับการอบรมมาดี ๑ การพูดจาปราศรัยดี ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
การเลี้ยงดูบิดามารดา ๑ การสงเคราะห์บุตร ๑ การสงเคราะห์ภรรยา ๑ การทำงานไม่คั่งค้าง ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
การให้ทาน ๑ การประพฤติตามหลักธรรม ๑ การสงเคราะห์ญาติทั้งหลาย ๑ การทำงานที่ปราศจากโทษ ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
การงดเว้นจากความชั่ว ๑ การบังคับตนจากการดื่มน้ําเมา ๑ ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ๑ ทั้ง ๓ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
การมีความเคารพ ๑ การทีความอ่อนน้อมถ่อมตน ๑ การมีความสันโดษ ๑ การมีความกตัญญู ๑ การฟังธรรมตามกาล ๑ ทั้ง ๕ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุด
ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ๑ การพบเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
การมีความเพียรเป็นเครื่องแผดเผากิเลส ๑ การประพฤติพรหมจรรย์ ๑ การเห็นอริยสัจทั้งหลาย ๑ การทําพระนิพพานให้แจ้ง ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
ผู้มีจิตถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว ๑ จิตไม่มีความโศกเศร้า ๑ จิตหมดธุลีกิเลส ๑ จิตถึงความปลอดโปร่ง คือปลอดจากกิเลสทั้งปวง ๑ ทั้ง๔ ประการนี้เป็นมงคลสูงสุดฯ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพากันปฏิบัติตามมงคลอันเป็นเหตุนำไปสู่ความเจริญนี้แล้ว จะเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นมงคลสูงสุดของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฯ