๒๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
เป็นวันเยี่ยมสวนโมกข์ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี
เป็นวันทำวัตรท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ซึ่งเป็นวันขอขมาครูบาอาจารย์

ต่อมาท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้เปลี่ยนเป็น “วันเยี่ยมสวนโมกข์” และ วันนี้ในเวลาต่อมาก็ยังเป็น วันเผาสรีระสังขารท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุอีกด้วย คือวันที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๖

ในวันเยี่ยมสวนโมกข์วันนี้ จึงขอชวนท่านผู้อ่านมาเยี่ยม โรงมหรสพทางวิญญาณ ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสสร้างขึ้นมา เพื่อให้เราศึกษาดูกายใจของเราเอง ผ่านภาพวาดที่เป็นปริศนาธรรมทางพระพุทธศาสนา

และเยี่ยมชม หนังสือสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น ฉบับสำนักสวนโมกขพลาราม ในบท “ทวัตติงสาการปาฐะ (พิจารณาอาการ ๓๒)” เพื่อเจริญจิตภาวนา กายคตาสติ พิจารณากายใจไปพร้อมๆ กัน

ใน คู่มืออุบาสก อุบาสิกา ภาค ๑-๒ ทำวัตรเช้า-เย็น และสวดมนต์พิเศษบางบท แปลไทย ของ สำนักสวนโมกขพลาราม ไชยา ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาส และคณะธรรมทานมูลนิธิ รวบรวมและแปลเป็นภาษาไทยไว้ โดยมีบทพิเศษอยู่หลายบท

หนึ่งในนั้น คือ บท ทวัตติงสาการะปาฐะ เป็นบทที่กลับมาพิจารณาอาการ ๓๒ กายคตาสติ อสุภกรรมฐาน ภายในกายเรานี้เอง จนกว่าจะเห็นความเป็นจริงของชีวิต อันประกอบด้วยธาตุทั้งหก คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ ที่ห่อหุ้มจิตไว้ไม่ให้เห็นตัวจิตเอง ทำให้เราหลงไปกับสังขาร คือความคิดปรุงแต่ง เกี่ยวกับตัวเราไม่ตรงตามความจริง ทำให้เราหลงไปกับโลกมายาภายนอก ที่หลอกเราตลอดเวลา ทำให้กิเลสมีกำลังในการปรุงแต่งตัวตนต่อไปข้ามภพชาติ เพื่อการเกิดของกิเลสที่ไม่สิ้นสุดในสังสารวัฏ แต่การเห็นอาการ ๓๒ นี้ จะทำให้จิตกลับมาหากาย และอยู่กับกายตามความเป็นจริง เพื่อนำไปสู่การตัดภพชาติที่สั้นขึ้นๆ จนกว่าจะหมดความยึดถือในกายใจนี้ว่าเป็นตัวเราของเรา …

ความพิเศษของบทนี้ ก็คือ เวลาเราสวดอย่างตั้งใจให้มีสติอยู่กับทุกอักขระ เราจะเห็นไปตามแต่ละอาการ แต่ละส่วนในร่างกายที่มันกระเพื่อมไหว ไม่ได้อยู่นิ่ง ทุกอย่างเป็นสภาวะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไม่เที่ยง และเมื่อเราสวดทุกวัน เราจะเห็นลึกลงไป ชัดขึ้นๆ เหมือนส่องแว่นขยายอวัยวะภายในร่างกายเราเอง เหมือนออกเดินทางเข้าไปในกายเราเอง ที่กกว้างใหญ่ไพศาล น่ากลัว ไม่น่าอยู่ จนกระทั่ง เราจางคลายความยึดถือในกายเรา จนเห็นตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีอยู่ภายในกาย ด้วยใจที่มีสติปัญญามากยิ่งขึ้น

บทสวดมนต์พิเศษ “ทวัตติงสาการปาฐะ (อาการ ๓๒)” และที่มา

เพื่อการพิจารณากายคตาสติ และอสุภกรรมฐาน

“ทวัตติงสาการปาฐะ (อาการ ๓๒)

(หันทะ มะยัง ทวัตติงสาการะปาฐัง ภะณามะ เส)

อะยัง โข เม กาโย กายของเรานี้แล

อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา

อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป

ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ

ปุโรนานัปปะการัสสะ อะสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ

อัตถิ อิมัสมิง กาเย มีอยู่ในกายนี้

เกสา   คือผมทั้งหลาย

โลมา  คือขนทั้งหลาย

นะขา  คือเล็บทั้งหลาย

ทันตา คือฟันทั้งหลาย

ตะโจ  หนัง

มังสัง  เนื้อ

นะหารู   เอ็นทั้งหลาย

อัฏฐิ   กระดูกทั้งหลาย

อัฏฐิมิญชัง    เยื่อในกระดูก

วักกัง  ไต

หะทะยัง       หัวใจ

ยะกะนัง       ตับ

กิโลมะกัง      พังผืด

ปิหะกัง      ม้าม

ปัปผาสัง   ปอด

อันตัง ไส้ใหญ่

อันตะคุณัง    สายรัดไส้

อุทะริยัง      อาหารใหม่

กะรีสัง อาหารเก่า

ปิตตัง น้ำดี

เสมหัง น้ำเสลด

ปุพโพ น้ำเหลือง

โลหิตัง     น้ำเลือด

เสโท    น้ำเหงื่อ

เมโท   น้ำมันข้น

อัสสุ   น้ำตา

วะสา  น้ำมันเหลว

เขโฬ   น้ำลาย

สิงฆานิกา    น้ำมูก

ละสิกา   น้ำมันไขข้อ

มุตตัง น้ำมูตร

มัตถะเก มัตถะลุงคัง    เยื่อในสมอง

เอวะ มะยัง เม กาโย กายของเรานี้อย่างนี้

อุทธัง ปาทะตะลา เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา

อะโธ เกสะมัตถะกา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป

ตะจะปะริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ

ปุโรนานัปปะการัสสะ อะสุจิโน

เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆอย่างนี้แลฯ

เมื่อกลับมาศึกษาที่มาของบทสวด “ทวัตติงสาการปาฐะ (อาการ ๓๒)” จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ๓. พรรณนาทวัตติงสาการ  พรรณนาการสัมพันธ์แห่งบท  อาการ ๓๒ ไว้ตอนหนึ่งว่า   กรรมฐาน คือ กายคตาสติ เพื่อจิตตภาวนาของกุลบุตร ผู้มีประโยชน์อันบริสุทธิ์ด้วยสิกขาบท ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญไว้โดยอาการเป็นอันมากในพระสูตรนั้นๆ อย่างนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อสังเวคะ (ความสลดใจ) ใหญ่ เป็นไปเพื่ออรรถะ (ประโยชน์) ใหญ่ เป็นไปเพื่อโยคักเขมะ (ความเกษมจากโยคะ) ใหญ่ เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ (ความระลึกรู้ตัว) ใหญ่ เป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ (ความเห็นแจ้ง) เป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน) เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งวิชชาวิมุตติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าไม่บริโภคอมตะ ภิกษุเหล่าใดบริโภคกายคตาสติ ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่าบริโภคอมตะ ภิกษุเหล่าใดไม่บริโภคกายคตาสติ ชื่อว่าไม่ได้บริโภคอมตะ ภิกษุที่บริโภคกายคตาสติ ชื่อว่าได้บริโภคอมตะ ภิกษุที่เสื่อมกายคตาสติ ชื่อว่าเสื่อมอมตะ ภิกษุที่ไม่เสื่อมกายคตาสติ ชื่อว่าไม่เสื่อมอมตะ ภิกษุที่พลาดกายคตาสติ ชื่อว่าพลาดอมตะ ภิกษุที่สำเร็จกายคตาสติ ชื่อว่าสำเร็จอมตะ ฯลฯ ( จาก พระไตรปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อาการ ๓๒)

๒๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ วันเยี่ยมสวนโมกข์ ศึกษาบทสวดมนต์ “ทวัตติงสาการปาฐะ (พิจารณาอาการ ๓๒)”

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here