วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๒๐ (ตอนที่ ๒๑) คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน (๑) : “สรรพสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการตามเหตุปัจจัย” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน

สรรพสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการตามเหตุปัจจัย” (๑)

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศฯ

ต่อจากนี้ไปจะพูดถึงคัมภีร์ปัฏฐาน ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายในพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ และเป็นเนื้อหาส่วนสุดท้ายของพระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่พระพุทธองค์ทรงประมวลสภาวธรรมที่ได้แสดงไว้แล้วในคัมภีร์แรก คือ ธรรมสังคณี  (กุศลธรรม อกุสลธรรม เป็นต้น) มาแสดงไว้โดยพิสดาร ให้เห็นความเกี่ยวเนื่องกันเป็นกระบวนธรรม ทุกสรรพสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนตามเหตุปัจจัย โดยตรัสเรียกสภาวะความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตามธรรมชาตินี้ว่า “ปฏิจจสมุปบาท” หรือ “ปัจจยาการ” อาการที่มีเหตุปัจจัยสืบเนื่องซึ่งกันและกัน “ตถตา” ภาวะที่เป็นอย่างนั้น “อวิตถตา” ภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อนไปได้ “อนัญญถตา” ภาวะที่ไม่เป็นอย่างอื่นไปได้ และ “อิทัปปัจจยตา” ภาวะที่มีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย

คำว่า ปัฏฐาน เป็นชื่อของคัมภีร์ ตำรา ปกรณ์ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือ ส่วนคำว่า ปฏิจจสมุปบาท (ปัจจยาการ อิทัปปัจจยตา) เป็นกระบวนการแห่งสภาวธรรมตามเหตุปัจจัย

พระพุทธองค์ทรงใช้ปัฏฐานเป็นเครื่องมือเพื่อให้เข้าใจรูปนามซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการแห่งสภาวธรรมตามเหตุปัจจัยนั้น

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ภายหลังตรัสรู้สัปดาห์ที่ ๔ พระพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมในเรือนแก้วนั้นตลอดสัปดาห์ สถานที่นั้น เรียกว่า “รัตนฆรเจดีย์” ขณะทรงพิจารณาพระอภิธรรมตั้งต้นแต่ ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ เรื่อยไปจนถึง ยมก พระฉัพพรรณรังสี ยังไม่ปรากฏ ครั้นทรงอาศัยกำลังแห่งพระสัพพัญญุตญาณ หยั่งลงสู่การพิจารณา คัมภีร์ปัฏฐาน อันมีนัยหลากหลายไม่สิ้นสุด พระฉัพพรรณรังสี ได้แก่ รัศมี ๖ สี ประกอบด้วย สีเขียวเข้มเหมือนสีของดอกอัญชัน สีเหลืองเหมือนสีหรดาล สีแดงเหมือนตะวันอ่อน สีขาวเหมือนสีเงินยวง สีแสดเหมือนสีดอกหงอนไก่ และเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก ได้แผ่ซ่านออกจากพระวรกายของพระพุทธองค์ สาดแสงปกคลุมไปทั่วทุกจักรวาล(ทั่วทุกโลกธาตุ) ไม่มีช่องว่าง

พระฉัพพรรณรังสีนั้น ไม่ได้เกิดจากการอธิษฐาน ไม่ได้เกิดจากการเข้าฌานของพระพุทธองค์ แต่เกิดจากการหยั่งลงสู่การพิจารณาธรรมอันละเอียด ลุ่มลึก

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ชื่อปัฏฐานนี้ซึ่งต้องอาศัยกำลังแห่งพระสัพพัญญุตญาณเท่านั้น จึงสามารถหยั่งลงพิจารณาได้ทั่วถ้วน เป็นเหตุให้พระโลหิตของพระพุทธองค์สดใส พระวรกายเปล่งปลั่ง พระฉวีวรรณผุดผ่อง วัณณธาตุ(สี)อันเกิดจากจิตที่ละเอียดได้แผ่ประกายออกมารอบด้าน พุ่งโพลงไปทั่วทุกโลกธาตุ

การที่พระฉัพพรรณรังสีแผ่ประกายออกมาขณะทรงพิจารณาคัมภีร์นี้ แสดงถึงกำลังอันละเอียด สุขุม ลุ่มลึกอย่างไพศาลแห่งพระสัพพัญญุตญาณ และยังเป็นโอกาสให้เราได้เห็นพระปัญญาญาณอันเกิดจากการตรัสรู้ที่พระพุทธองค์สำแดงออกมาอย่างเต็มที่ ด้วยการพิจารณาคัมภีร์อันลุ่มลึกนี้

เปรียบเสมือนห้วงน้ำมหาสมุทร ทั้งลึก ทั้งกว้างใหญ่ไพศาล ย่อมเป็นโอกาสให้ปลาขนาดใหญ่ชื่อว่า “ติมิระ” และ “ปิงคิละ” ได้แสดงพลังแหวกว่ายเล่นน้ำได้อย่างเสรี

ถ้าไม่ทรงพิจารณาคัมภีร์ปัฏฐานนี้ เราก็จะไม่มีโอกาสได้เห็นกำลังแห่งพระสัพพัญญุตญาณ ซึ่งผ่านการสั่งสมบารมีมานับภพชาติไม่ถ้วนว่ามีความละเอียด ประณีต สุขุม ลุ่มลึกเพียงไร

พิจารณาในแง่พระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ จะเห็นเนื้อหาแห่งพระอภิธรรมสืบเนื่องกันเป็นลำดับ โดยในขั้นแรก พระพุทธองค์ทรงประมวลมาติกาแห่งพระอภิธรรม ยกขึ้นตั้งเป็นหัวข้อไว้ก่อน ชื่อว่า “ธรรมสังคณี”  จากนั้น จึงนำหัวข้อมาแตกรายละเอียด แยกอธิบายเป็นเรื่องๆ ในคัมภีร์วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคบัญญัติ กถาวัตถุ และยมก  แล้วสรุปจบด้วยการแสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของสภาวธรรมทั้งหมดอย่างเป็นกระบวนการ ไว้ในคัมภีร์ชื่อ “ปัฏฐาน”  ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้าย

เมื่อขาดการศึกษาและปฎิบัติ

ก็ชื่อว่า นับถอยหลังไปสู่การล่มสลาย

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศฯ

วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๒๐ (ตอนที่ ๒๑) คัมภีร์ที่ ๗ ปัฏฐาน (๑) : “สรรพสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการตามเหตุปัจจัย” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here