บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๓) นั่งเงียบๆ ฟังเสียงหัวใจพูด เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

นั่งเงียบๆ ฟังเสียงหัวใจพูด

ถ้าอยากรู้จักจิตก็ลองนั่งเงียบ ๆ แล้วลองฟังเสียงพูดในหัวของเรา อยู่เฉย ๆ ไม่พูดออกมาทางปาก ไม่ได้ยินเสียงพูดทางหู แต่ก็จะได้ยินเสียงพูดอยู่ในหัว ทั้งถาม ทั้งตอบ อยู่ในคนคนเดียว บางเสียง ก็ถกเถียงกันเองสับสนอลหม่าน เหมือนมีคนอยู่ในหัวเป็นร้อย ๆ คน บางเสียงก็บ่นเพ้อรำพึงรำพันน้อยเนื้อต่ำใจ บางเสียงก็หยิ่งยโสโอหัง บางเสียงก็อวดดื้อถือดี บางเสียงก็ด่าทอท้าทาย บางเสียงก็กราดเกรี้ยวดุดัน ให้ลองนั่งเงียบ ๆ ฟังเสียงพูดดังก้องอยู่ในหัวของตัวเอง

อยากรู้จักจิตก็ต้องฟังเสียงเขาพูดบ้าง ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ว่าเขาพูดอะไร  เขาบ่นอะไร เขาไม่พอใจอะไร เขาร้องขออะไร เขาทุกข์เรื่องอะไร เขาสุขเรื่องอะไร บางทีเขายังไม่พูดให้จบเราก็ห้ามแล้ว “หยุด!” เมื่อไม่ให้จิตได้พูดบ้าง ก็เลยไม่มีโอกาสได้รู้จักจิต ถ้าอยากรู้จักจิตก็ฟังเสียงของใจพูดบ้าง จะบ่นก็ฟัง จะว่าก็ฟัง จะแสดงความขัดเคืองก็ฟัง พอใจก็ฟัง ไม่พอใจก็ฟัง จะร้องทุกข์กล่าวโทษก็ฟัง ฟังเฉย ๆ เหมือนฟังเสียงเด็กไร้เดียงสาพูด ไม่ถือสาหาความเอาเป็นประมาณ วิธีที่จะรู้จักจิต คือ หยุดฟังเสียงของใจที่ดังก้องอยู่ในหัว เมื่อฟังเสียงหัวใจพูดแล้ว เราก็จะได้ข้อยุติว่า อ๋อ! จิตก็คือความคิดนั่นเอง แต่เมื่อว่าโดยภาษา “จิต มโน วิญญาณ” ก็ทำให้เหมือนมีความหมายที่พิเศษออกไปอีก ต้องวิเคราะห์ ต้องแจกแจงศัพท์จนดูเป็นคำที่พิเศษขึ้นมา

           อันที่จริง เสียงที่ดังก้องอยู่ในหัวเรา

ก็คือความคิดนั่นแหละ 

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

การปฏิบัติสมาธิจึงเป็นเรื่องของการเฝ้าสังเกตดูความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามอารมณ์ที่จิตรับมาอย่างมีสติ เราจึงพูดว่า อารมณ์ดีบ้าง อารมณ์เสียบ้าง ภาษาของการปฏิบัติก็ว่า สังขารปรุงแต่งไปเป็นดี เป็นเสีย เป็นสุข เป็นทุกข์ สังขารก็คือการปรุงแต่ง การปรุงแต่งก็คือคิด จิตก็คิดไปเรื่อยตามแต่อารมณ์จะพาไป จิตก็เลยมีการคิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ขัดเคืองใจบ้าง วนไปไม่สิ้นสุด เมื่อต้องมาฝึกหัดสมาธิในช่วงแรก เราก็จะได้ยินเสียงพูดเสียงบ่นแบบนี้อยู่ในหัวสับสนไปหมด แล้วเราก็รู้สึกเบื่อหน่ายกับตนเองว่า “ทำไมจึงไม่สงบทำไมจึงฟุ้งซ่าน

แม้ไม่สงบ กำหนดได้บ้าง  ไม่ได้บ้าง ก็นั่งฟังจิตบ่นนั่นแหละ ฟังอย่างผู้สังเกตการณ์ ฟังอย่างผู้รู้ อย่างมีสติไม่ต้องเข้าไปร่วมวงสนทนา ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงจิต ปล่อยให้จิตพูดไปอย่าไปพูดแข่งกับจิต อย่าไปทะเลาะกับจิต บางครั้งก็ดูลมหายใจ บางครั้งก็ดูความคิด บางครั้งก็ดูความคิด บางครั้งก็ดูลมหายใจ สลับกันไปมา แล้วจิตก็จะรวมดวงลงที่ลมหายใจ แม้จิตจะรวมดวง เราก็เป็นแต่เพียงผู้รู้ที่เฝ้าสังเกตการณ์เท่านั้น อย่าไปสำคัญมั่นหมาย อย่าไปดีใจ อย่าไปเสียใจ ดูเลยๆ

ผู้รู้คือใคร?

ผู้รู้ก็คือจิตนั่นแหละเป็นผู้รู้ 

เพียงแต่เป็นจิตส่วนที่มีสติ

ทำหน้าที่ให้ระลึกรู้

เป็นจิตส่วนสติปัญญา

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

บางครั้งจิตก็ลืม บางครั้งจิตก็รู้ เมื่อเราต้องการให้จิตรู้มากกว่าลืม เราก็พยายามฝึกจิตให้รู้บ่อยๆ จิตเหมือนเด็กอ่อน สติเหมือนพี่เลี้ยง สติก็ค่อยบอกค่อยสอนจิตให้ความระลึกรู้เติบโตเข้มแข็งขึ้นมาไม่ต่างจากพี่เลี้ยงสอนเด็ก

ผู้ไม่รู้คือใคร?

ผู้ไม่รู้ก็คือจิตอีกนั่นแหละที่ไม่รู้

เป็นจิตส่วนที่ขาดสติ

พอจิตเผลอเลอขาดสติก็ไม่รู้

ก็หลงไปตลอดสาย

ก็หลงคิดปรุงแต่งไปตามอำนาจของกิเลส

ที่แฝงอยู่ในจิต

จนกว่าจะมีสติระลึกรู้ขึ้นมา 

ความรู้กับความไม่รู้อยู่ในจิตนี่แหละ

อันเดียวกัน

ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ต้องการให้จิตรู้ก็ต้องใช้สติตีเอาความไม่รู้ออกไป เมื่อมีสติระลึกรู้มากขึ้นเท่าไหร่  ความไม่รู้ก็จะยิ่งหมดไปเท่านั้นเหมือนเวลาตีดาบเพื่อให้ได้ความคม เขาก็เผาเหล็กตีเอาสนิมออก เพื่อตีดาบให้ได้คมจึงต้องเผาเหล็กแล้วก็ตี เผาแล้วก็ตี  จนกว่าเหล็กจะกล้า  ตีดาบให้ได้คมเหมาะแก่การใช้งาน

เมื่อจะฝึกจิตให้เกิดความรู้ต้องใช้สติตีเอาสนิมในใจ คือ ความไม่รู้ออกจากจิต  ต้องใช้ความเพียรพยายามที่เรียกว่า อาตาปี ขนาบเข้ามาให้ใจกล้าขึ้น พอสนิมในใจออกหมดก็เป็นใจเดิมแท้ เหมาะแก่การปรับรูปให้กลายเป็นใจผู้รู้ขึ้นมา จะปรับไปทางไหนก็ได้ เหมือนเหล็กที่ถูกเผาตีเอาสนิมออกจากเนื้อเหล็ก ก็เหลือเหล็กแท้ จะปรับรูปทรงไปทางไหนก็ได้ จะให้เป็นเล่มเล็กเล่มใหญ่ โค้งงอแบบไหนเพื่อให้เหมาะแก่การใช้งานก็ทำได้

บันทึกธรรม สัมมาสมาธิ (บทที่ ๑๓) นั่งเงียบๆ ฟังเสียงหัวใจพูด เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here