
วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๒
ศึกษา “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”
บทที่ ๑๘ (ตอนที่ ๑๙) คัมภีร์ที่ ๖ ยมก (๒)
“การจัดแบ่งเนื้อหาในคัมภีร์ยมก”
เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

การจัดแบ่งเนื้อหาในคัมภีร์ยมก

ในคัมภีร์ยมกนี้ พระพุทธองค์ทรงยกสภาวธรรมขึ้นแสดงเป็นคู่ๆ ทั้งหมด ๑๐ หมวด ได้แก่
มูลยมก คู่ธรรมที่เป็นมูลเหตุ หรือรากเหง้า หมายถึง สภาวธรรมที่เป็นมูลเหตุ เป็นต้นตอของสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากตธรรม ล้วนมีเหตุเกิด ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีรากเหง้า ยังมีคำที่ใช้เรียกแทนสภาวธรรมที่เป็นมูลเหตุ เรียกว่า “นามมูล” อีก ๙ ประการ
คือ (๑) เหตุ ที่กำเนิด (๒) นิทาน แหล่งที่นำไปสู่ผล หรือต้นเหตุ (๓) สมภพ แหล่งกำเนิด (๔) ปภวะ แดนเกิด (๕) สมุฏฐาน ที่ตั้ง (๖) อาหาร เหตุเกื้อหนุน (๗) อารัมมณะ อารมณ์ (๘) ปัจจัย เครื่องเกื้อหนุน (๙) สมุทัย เหตุเกิด
สภาวธรรมที่เรียกว่า มูล (รากเหง้า) ก็จะเรียกว่า เหตุ (ที่กำเนิด) นิทาน (แหล่งที่นำไปสู่ผล หรือต้นเหตุ) หรือ สมภพ (แหล่งกำเนิด) เป็นต้น ด้วย เช่น กุศลมูล จะเรียกว่า กุศลเหตุ ก็ได้ ซึ่งมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

มูลยมกมี ๔ นัย คือ (๑) มูลนัย นัยที่ว่าด้วยสภาวธรรมที่เป็นมูล (๒) มูลมูลนัย นัยที่ว่าด้วยสภาวธรรมแห่งมูล ที่เป็นมูล (๓) มูลกนัย นัยที่ว่าด้วยสภาวธรรมที่มีมูล (๔) มูลมูลกนัย นัยที่ว่าด้วยสภาวธรรมที่มีมูล เป็นมูล ซึ่งในแต่ละนัยยังมีรายละเอียดแยกย่อยลงไปอีก
ขันธยมก คู่ธรรมว่าด้วยขันธ์ ๕ การถามตอบขันธ์ตามวิธีแห่งยมก มุ่งอธิบายขันธ์ในมิติของกาลเวลา เพื่อให้รู้รายละเอียดขันธ์ของผู้มีคุณธรรมแตกต่างกัน เป็นเหตุทำให้เกิดในภพภูมิที่แตกต่างกัน การเคลื่อนย้ายขันธ์ (ทั้งรูปขันธ์และอรูปขันธ์) จากภพภูมิหนึ่งไปยังอีกภพภูมิหนึ่ง ผูกโยงอยู่กับความละเอียดของระดับสภาวธรรม ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นจากระบบไตรสิกขา (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)
การถามเองตอบเองจนเกิดความรู้ (ปัญญา) ที่แน่ชัดตามวิธีแห่งยมก ก็เป็นหนึ่งในวิธีพัฒนาปัญญาในระบบไตรสิกขานี้
อายตนยมก คู่ธรรมว่าด้วยอายตนะ ๑๒ ในคัมภีร์ยมกนี้ ไม่ได้อธิบายหน้าที่ของอายตนะว่าแต่ละอย่างทำหน้าที่อะไร เหมือนในคัมภีร์ก่อน แต่มุ่งอธิบายอายตนะของสัตว์ในมิติของกาลเวลา เพื่อให้รู้ว่า สัตว์ในภพภูมิต่างๆ มีอายตนะแตกต่างกันไป มีไม่เหมือนกัน มีไม่เท่ากัน สัตว์บางประเภทมีอายตนะเห็น แต่ไม่มีอายตนะฟัง (สัตว์บางประเภทมีตา แต่ไม่มีหู) สัตว์บางประเภท มีทั้งตาและหู บางประเภท มีหู แต่ไม่มีอายตนะฟัง(คือ มีหู แต่ไม่มีประสาทหู) เป็นต้น
ธาตุยมก คู่ธรรมว่าด้วยธาตุ ๑๘ การหาคำตอบในธาตุยมก เพื่อให้เข้าใจสภาวะดั้งเดิมของธรรมทั้งหลาย มี จักขุธาตุ(ธาตุเห็น) เป็นต้น ดำเนินตามวิธีในขันธยมก มุ่งอธิบายธาตุในมิติของกาลเวลา ผูกโยงอยู่กับความละเอียดของระดับสภาวธรรมที่บรรลุ ผู้มีคุณธรรมแตกต่างกัน ย่อมมีธาตุแตกต่างกัน
สัจจยมก คู่ธรรมว่าด้วยอริยสัจ ๔ มุ่งอธิบายการเกิดดับของจิตในแต่ละขณะ สัมพันธ์อยู่กับกาลทั้ง ๓ คือ ปัจจุบัน อดีต และอนาคต
สัตว์ทุกนิดเมื่อเกิดมา ขณะที่ตัณหายังไม่เกิดในจิต ย่อมเกิดทุกขสัจ (เพราะทุกขสัจนั้นมาพร้อมกับการเกิด) แต่ขณะนั้นสมุทัยสัจ (เหตุให้เกิดทุกข์) ยังไม่เกิด ครั้นเมื่อตัณหาเกิด จึงเกิดทั้งทุกขสัจและสมุทัยสัจ
สังขารยมก คู่ธรรมว่าด้วย สังขาร ๓ ได้แก่ กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งทางกาย ในที่นี้ หมายถึง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก วจีสังขาร เครื่องปรุงแต่งทางวาจา ในที่นี้ หมายถึง วิตกวิจารซึ่งเป็นการตรึกตรองอยู่ภายใน และจิตสังขาร เครื่องปรุงแต่งทางจิต หมายถึง สัญญา เวทนา และธรรมที่เกิดดับพร้อมกันกับจิต(สัมปยุตกับจิต) ในสังขารยมกมุ่งแจกแจงการปรุงแต่งไปตามความละเอียดของฌาน เชื่อมโยงอยู่กับมิติของกาลเวลา เพื่อให้เห็นความแตกต่างของสัตว์ ตามความละเอียดของฌานในภพภูมิชั้นต่างๆ
ความละเอียดของลมหายใจเข้าออก(อัสสาสะและปัสสาสะ) สัมพันธ์อยู่กับความละเอียดของจิตซึ่งเป็นขั้นตอนของการก้าวเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า “ฌาน” จิตละเอียดลง ลมหายใจก็จะละเอียดลงด้วย ได้อธิบายไว้บ้างแล้วในบทก่อน

อนุสยยมก คู่ธรรมว่าด้วยอนุสัย คือ กิเลสที่หมักหมม นอนเนื่อง หรือ แฝงตัวอยู่ในสันดาน ยังละไมได้อย่างสิ้นเชิง ร้อยเรียงผูกโยงไปตามการเกิดภพภูมิ เมื่อประสบเหตุเหมาะก็จะฟุ้งขึ้นมา อนุสัยมี ๗ อย่าง ได้แก่ กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) ปฏิฆะ (ความขัดเคืองหงุดหงิดใจ เพราะโทสะ) ทิฎฐิ (ความเห็นผิด การถือความเห็นผิดว่า เป็นจริง) วิจิกิจฉา (ความลังเล สงสัย) มานะ (ความถือตัวถือตน) ภวราคะ (ความยึดในภพ) อวิชชา (โมหะ ความรู้ไม่จริง)
ปุถุชนทั่วไปมีอนุสัยครบถ้วนทุกประการ ส่วนพระโสดาบันและพระสกทาคามี ยังมีอนุสัย ๕ อย่าง คือ กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) ปฏิฆะ (ความขัดเคือง หงุดหงิดใจ มีโทสะ) ทิฎฐิ (ความเห็นผิด การถือความเห็นผิดว่าเป็นจริง) วิจิกิจฉา (ความลังเล สงสัย) มานะ (ความถือตัวถือตน) ภวราคะ (ความยึดในภพ) อวิชชา (โมหะ ความรู้ไม่จริง)
พระอนาคามี ยังมีอนุสัย ๓ อย่าง คือ มานะ (ความถือตัวถือตน) ภวราคะ (ความยึดในภพ) อวิชชา (โมหะ ความรู้ไม่จริง) พระอรหันต์ละอนุสัยได้หมดทุกอย่าง
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
