ความเข้าใจที่ถูกธรรมเกี่ยวกับการเจริญพระพุทธมนต์ หรือ การสวดมนต์

“การสวดมนต์มิได้เป็นการอ้อนวอน ร้องขอแต่ประการใด

หากเป็นเพิ่มพื้นที่ของสติ สมาธิ และปัญญาให้ปรากฏในจิตใจ

ลดความฟุ้งซ่าน สามารถทำกิจการงานใดๆ ก็ประสบความสำเร็จ

เพราะเกิดจากสมาธิและปัญญา

ที่ได้รับจากการจดจ่อในการเจริญพระพุทธมนต์ หรือการสวดมนต์

เป็นพื้นฐานจิตที่จะนำไปสู่การมีสติจดจ่อ

มีสมาธิในการทำกิจใดๆ อย่างต่อเนื่อง

และเกิดปัญญาในการคิดพิจารณาแก้ไขปัญหาในระหว่างวันให้ลุล่วงไปด้วยดี”

ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวิโร) อดีตพระราชกิจจาภรณ์

วันนี้วันพระ

วันศุกร์ที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ศึกษาพระสูตร “พุทธชัยมงคลคาถา”

จากหนังสือ พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์

เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม

เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) อดีต พระราชกิจจาภรณ์ ปัจจุบัน พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ญาณวชิระ)

พุทธชัยมังคลคาถา เพื่อประสบชัยชนะในที่ทุกสถาน

คาถาประพันธ์ของบุรพาจารย์

จากหนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม   โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีคุณ (เทอด ญาณวชิโร, วงศ์ชะอุ่ม)   พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ฉบับธรรมทาน

ตำนานและอานุภาพการป้องกัน

พุทธชัยมังคลคาถา เป็นคาถาที่พรรณาถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ประสบชัยชนะ ผ่านพ้นอุปสรรคครั้งสำคัญไปด้วยดี ด้วยวิธีของพระองค์ โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อและความเจ็บปวดแต่ประการใด

พุทธชัยมงคลคาถา หรือ คาถาพาหุง เป็นคาถาว่าด้วยชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ที่มีต่อพญามาร หรือ พญาวสวัตตีมาราธิราช ผู้ครอบครองสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวตี ที่นำเหล่าเสนามารมาผจญ ขณะที่พระองค์ประทับนั่งบนบัลลังก์ ณ ควงต้นโพธิ์ ก่อนการตรัสรู้ ด้วยธรรมวิธี คือ วิธีการทางธรรม มีการระลึกถึงทานบารมีที่ได้บำเพ็ญมาเป็นต้น จนประสบชัยชนะ

ทรงชนะอาฬวกยักษ์ผู้เหี้ยมโหดฆ่าคนไม่เลือกหน้า สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวเมืองอาฬวีจนไม่เป็นอันทำมาหากิน พระองค์ทรงชนะด้วยขันติวิธี

ทรงชนะช้างนาฬาคีรีซึ่งตกมันดุร้ายยิ่งนัก ที่พระเทวทัตให้ควาญช้างปล่อยมาทำร้ายพระองค์ด้วยเมตตาธรรม คือการแผ่เมตตา

ทรงชนะโจรองคุลิมาลที่เที่ยวเข่นฆ่าผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก แล้วตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นมาลัย พระองค์ทรงชนะด้วยฤทธานุภาพ คือ การอธิษฐานฤทธิ์ทางใจ

ทรงชนะนางจิญจมานวิกาที่ใส่ความพระองค์ ด้วยการวางตัวอย่างสงบนิ่งน่าเคารพ ไม่ทรงแสดงอาการสะทกสะท้านประหวั่นพรั่นพรึงข้อกล่าวหาอันไม่เป็นจริง

ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ผู้มีทิฐิกล้า ดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่นว่าโง่กว่าตน ด้วยวิธีทางปัญญา

ทรงชนะนันโทปนันทนาคราชที่มีนิสัยดุร้าย เพราะคิดว่าตนเองมีฤทธิ์มากไม่มีใครสามารถสู้ได้ ด้วยวิธีใช้ฤทธิ์ต้านฤทธิ์

และทรงชนะท้ามมหาพรหม ผู้เต็มไปด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าตนมีญาณแก่กล้า พระพุทธองค์ทรงชนะท้าวมหาพรหมด้วยวิธีใช้ญาณที่กว้างขวางกว่าต้านญาณท้าวมหาพรหม

บุรพาจารย์ได้นำเอาเหตุการณ์ที่สำคัญทั้ง ๘ นี้ มาประพันธ์เป็นคาถาชื่อ “พุทธชัยมังคลคาถา” หรือ “คาถาพาหุง” เพื่อให้เกิดเป็นพุทธานุภาพในการประสบชัยชนะในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ สำหรับผู้น้อมรำลึกถึงพระพุทธคุณ

อานุภาพการป้องกัน

การสวดพุทธชัยมังคลคาถาเป็นการน้อมเอาชัยชนะของพระพุทธองค์มาเป็นสัจกิริยา ทำให้ชีวิตประสบชัยชนะในทุกที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ผ่านพ้นปัญหา อุปสรรคและภยันตรายต่างๆ ไปได้ด้วยดี นอกจากนั้น ยังถือว่าเป็นคาถาที่ทำให้ประสบผลสำเร็จในกิจการหน้าที่การงาน และสิ่งปรารถนาทุกประการ

พุทธชัยมังคลคาถา นี้ คนไทยโดยทั่วไปเรียกกันจนติดปากมาตั้งแต่โบราณกาลว่า “คาถาพาหุง” ตามคำขึ้นต้นของคาถา

ในตอนท้ายคาถา บุรพาจารย์ ได้ประพันธ์เป็นคาถาแสดงอานุภาพคาถาพาหุงไว้ว่า

“นรชนใดไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี น้อมระลึกถึงก็ดี

ซึ่งพุทธชัยมงคลคาถา ๘ บท นี้เป็นประจำทุกวัน

นรชนนั้นจะพึงได้ล่วงได้เสียซึ่งอุบัติเหตุทั้งหลายทั้งปวง

จะเป็นผู้มีปัญญาและถึงซึ่งความสุขพ้นทุกข์ภัยทั้งหลาย”

พุทธชัยมังคลคาถา

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง

ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง

ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง

โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง

ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง

ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง

เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง

ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง

อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

กัตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา

จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ

สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง

วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง

ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง

ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต

อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง

พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง

ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา

โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที

หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ

โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ ฯ

คำแปล

พญามารเนรมิตรแขนตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างคลีเมขล์สะพรึบพร้อมด้วยพลมาร โห่ร้องกึกก้องน่าสะพรึงกลัว เข้ามาผจญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชนะพญามารด้วยวิธีทางธรรม มีทานบารมีเป็นต้น ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะพญามารนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ฯ

อาฬวกยักษ์ผู้ดุร้าย หยาบช้า เหี้ยมโหดต่อคนไม่เลือกหน้า ได้เข้ามารุกรานราวีพระพุทธองค์ตลอดทั้งคืน หนักเสียยิ่งกว่าครั้งผจญพญามาร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชนะอาฬวกยักษ์ ด้วยวิธีทรมานที่ดี คือ ขันติธรรม ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะอาฬวกยักษ์นั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

พญาช้างนาฬาคิรีกำลังตกมันเต็มที่จึงดุร้ายมาก ร้องแปร๋แปร้นแล่นเข้ามาราวกับไฟป่าโหมไหม้ หรือไม่ก็เหมือนจักราวุธอันแรงร้ายราวสายฟ้าฟาด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชนะพญาช้างนาฬาคิรีด้วยวิธีรดด้วยน้ำคือเมตตา ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะพญาช้างนาฬาคิรีนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน ฯ

มหาโจรองคุลิมาล สันดานบาปหยาบช้า ทั้งฝีมือก็ยอดเยี่ยม ถือดาบเงื้อง้าวิ่งไล่ติดตามพระองค์ไปตลอดทาง ๓ โยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีทรงชนะมหาโจรองคุลิมาลด้วยการบันดาลฤทธิ์ทางใจ ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนี ที่ได้ทรงชนะมหาโจรองคุลีมาลนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

นางจินจมาณวิกา ทำมารยาเอาผ้าห่อไม้กลมผูกแนบไว้ที่ท้องแสร้งทำเหมือนหญิงท้องแก่ มาใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธองค์ท่ามกลางชุมชน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชนะนางจินจมาณวิกา ด้วยวิธีสงบนิ่ง วางพระองค์สง่าผ่าเผย เหมือนดวงจันทร์ลอยเด่น ท่ามกลางฟากฟ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้พิชิตสัจจนิครนถ์นั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน ฯ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชนะนันโทปนันทนาคราช ผู้มีฤทธิ์มาก แต่มีความหลงผิด ด้วยทะนงจิตจึงบังอาจสำแดงฤทธิ์แผ่พังพานกั้นฉนวนอากาศ ปิดทางพระพุทธองค์เสด็จ พระจอมมุนีโปรดให้พระมหาโมคคัลลานะ ผู้เป็นพุทธบุตร เนรมิตรกายเป็นนาคราชไปทรมานด้วยวิธีแสดงฤทธิ์ ต้านฤทธิ์จนได้รับชัยชนะสิ้นพยศ รู้ผิด รู้ชอบ ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะนันโทปนันทนาคราชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชนะพรหมชื่อ พกะ ผู้สำคัญตนว่ามีความบริสุทธิ์ มีรัศมีเรืองอำนาจ และมีฤทธิ์ไม่มีใครยิ่งกว่า เลยเกิดความเห็นผิดไปว่า ชีวิตของพรหมเป็นชีวิตที่เป็นอมตะจึงโต้แย้งคำสอนของพระพุทธองค์ เปรียบเหมือนคนถูกงูกัดที่มือ พระจอมมุนีทรงใช้วิธีแสดงพระญาณครอบพระญาณให้กว้างกว่า ทำให้พรหมหมดความเห็นผิดจึงได้รับชัยชนะ ด้วยเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีที่ได้ทรงชนะพรหมชื่อพกะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่านฯ

นรชนใดไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี น้อมระลึกถึงก็ดี ซึ่งพุทธชัยมงคลคาถา ๘ บทนี้เป็นประจำทุกวันๆ นรชนนั้นจะพึงได้ล่วงได้เสียซึ่งอุปัทวันตรายทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นผู้มีปัญญาและถึงซึ่งความสุขพ้นทุกข์ภัยทั้งหลายฯ

หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์” เรียนรู้พุทธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) อดีต พระรากิจจาภรณ์ จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร (ฉบับธรรมทาน)

วันนี้วันพระ วันศุกร์ที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ศึกษาพระสูตร “พุทธชัยมงคลคาถา” จากหนังสือ พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์ เพื่อชีวิตที่ดีงาม เรียบเรียงโดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) อดีต พระราชกิจจาภรณ์ ปัจจุบัน พระมหาเทอด ญาณวชิโร (ญาณวชิระ)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here