วันนี้วันพระ วันพุธที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕

จิรํ  ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ
ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน
 “ญาณวชิระ”

ลูกผู้ชายต้องบวช

บรรพ์ที่ ๕ : สิ่งที่พระภิกษผู้บวชใหม่ ควรทำความเข้าใจ เกี่ยวกับกิริยามารยาท

: เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

บรรพ์ที่  ๕

สิ่งที่พระภิกษผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิริยามารยาท

 กิริยามารยาทของความเป็นพระภิกษุ

 คำพูดสำหรับพระภิกษุ

 การรับประเคน

วินัยกรรมเกี่ยวกับการพินทุ

  อธิษฐาน  วิกัปป์  และเสียสละ

การอ่านภาษาบาลีเบื้องต้น

            เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว  ชีวิตความเป็นคฤหัสถ์สิ้นสุดลง ณ มณฑลแห่งการบรรพชาอุปสมบท   ภาวะความเป็นพระภิกษุปรากฏขึ้น ภายหลังการสวดญัตติจตุตถกรรมวาจาของพระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์จบลง  ระเบียบแบบแผนของความเป็นพระภิกษุนั้นมีมาก ทั้งในส่วนที่เป็นพระวินัย ทั้งในส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีที่เกี่ยวกับทางบ้านเมือง

          พระภิกษุใหม่จึงต้องศึกษากิริยามารยาท วัตรปฏิบัติ  และแบบแผนขนบธรรมเนียมประเพณีของความเป็นพระภิกษุด้วยความตั้ใจ  มั่นคง  และแน่วแน่

กิริยามารยาทแห่งความเป็นพระภิกษุ

พระภิกษุมีชีวิตแตกต่างจากคฤหัสถ์ เพราะเป็นชีวิตแห่งการสำรวมระวัง แม้แต่เครื่องนุ่งห่มก็เปลี่ยนไป  จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะฉัน(รับประทาน) จะพูด จะคิดต้องทำอย่างพระภิกษุ

การรับประเคน ธรรมเนียมพระภิกษุไทย เมื่อจะรับสิ่งของจากสตรีต้องใช้ผ้ารับประเคน  ไม่ให้รับต่อจากมือ  สำหรับผู้ชายให้รับต่อจากมือได้

การยืน  พระภิกษุไม่ควรยืนถ่างขาจนเกินงาม ควรยืนให้เท้าชิดกันปลายเท้าแยกพอประมาณ มือทั้งสองประสานกันข้างหน้า โดยมือขวาจับที่ข้อมือข้างซ้าย 

การเดิน  พระภิกษุไม่ควรเดินแกว่งแขนจนเกินงาม หรือไม่ควรเดินส่ายไปส่ายมา ขณะก้าวเท้าเดินไปควรยกเท้าให้พ้นพื้น  สายตาทอดมองไปหน้าประมาณ  ๔ วา  หากเดินตามกัน ในวินัยระบุว่าให้เดินตามลำดับอาวุโส  และเว้นช่วงระยะพอคนเดินผ่านได้

การนั่ง  พระภิกษุไม่ควรนั่งทับผ้าสังฆาฏิ  และไม่ควรนั่งเท้าแขนเอนไปทางด้านซ้ายหรือขวามือ ควรนั่งให้ตรง มือทั้งสองประสานกันวางไว้ระหว่างตัก เมื่อจะสลับเท้าเปลี่ยนข้างควรสลับจากด้านหลัง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย

การนอน พระภิกษุเมื่อจะนอนควรปิดประตูห้องให้เรียบร้อย ควรมีสติสัมปชัญญะมั่นคง กำหนดสบงจีวรที่นุ่งห่มให้ดีเสียก่อนแล้วจึงนอน 

            การวิ่ง   พระภิกษุไม่ควรวิ่ง เพราะเป็นกิริยาที่ไม่งาม  หากมีเหตุจำเป็นจะเดินเร็วไม่เป็นไร  สิ่งที่วิ่งแล้วดูไม่งามมีอยู่ ๔ อย่าง คือ สตรีที่แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามวิ่งไม่งาม พระเจ้าแผ่นดินที่แต่งเครื่องทรงพระมหากษัตริย์วิ่งไม่งาม ช้างทรงของพระแผ่นดินที่ประดับตกแต่งแล้ววิ่งไม่งาม และสมณะวิ่งไม่งาม

การพูด พระภิกษุไม่ควรพูดเสียงดังโหวกเหวกโวยวาย  คะนองปาก ไม่ควรพูดคำหยาบ และแสดงอาการกระด้างก้าวร้าวรุนแรง  ตลอดจนไม่ควรหัวเราะดังจนเกินงาม    

การฉัน(รับประทาน) พระภิกษุจะฉันข้าวหรือน้ำต้องนั่งให้เรียบร้อย ไม่ควรยืนหรือเดินฉัน อันเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะแก่ความเป็นสมณะ แม้แต่จะถ่ายปัสสาวะก็ต้องนั่งให้เรียบร้อย

การขอ   พระภิกษุไม่ควรเอ่ยปากขอสิ่งของจากบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ และไม่ใช่ปวารณา  เพราะนอกจากจะเป็นอาบัติแล้ว  ยังทำให้เสียสมณสารูปอีกด้วย   ญาติ  คือ ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง  ลูก หลาน และเหลน ปวารณา  คือ ผู้ที่เอ่ยปากบอกไว้ว่าต้องการอะไรที่สมควรแก่สมณะใช้สอยให้บอก

การหัวเราะ  พระภิกษุไม่ควรหัวเราะเสียงดังจนเกินงาม  หรือพูดจาเฮฮาหัวเราะกระซิกกระซี้ ซึ่งเป็นอาการไม่สำรวม ผิดสมณวิสัย  จะยิ้มแย้มบ้างไม่เป็นไร

การรับไหว้  เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว  มีศีล ๒๒๗ ข้อ จึงไม่รับไหว้จากบุคคลที่ไม่ใช่พระภิกษุ  หากมีญาติโยมกราบหรือไหว้ ให้พระภิกษุนั่ง  หรือยืนในท่าที่สงบสำรวม  ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพตามสมณวิสัย

คำพูดสำหรับพระภิกษุ

         คำพูดที่ใช้สนทนาระหว่างพระด้วยกัน  พระภิกษุนิยมใช้คำแทนตัวเองว่า  “ผม”  เช่น  ผมจะไปทำวัตร ผมจะไปบิณฑบาต ฯลฯ  ส่วนคำรับใช้คำว่า“ครับ”หรือ“ครับผม” เช่น “หลวงพี่พงษ์พลินครับ ช่วยกวาดลานวัดด้วยนะ” พระพงษ์พลินรับว่า “ครับ” หรือ “ครับผม”   “ได้ครับ” หรือ “ได้ครับผม” ฯลฯ

            คำเรียกแทนพระรูปอื่นใช้ คำว่า “ท่าน” “ท่านพระมหา” “พระอาจารย์” “หลวงพี่” “หลวงพ่อ”  “หลวงตา” “หลวงปู่”  “พระเดชพระคุณ”  หรือ เรียกตามสมณศักดิ์ เช่น “ท่านพระครู” ท่านเจ้าคุณ” “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ” ตามความเหมาะสมแก่ฐานานุศักดิ์  เช่น ท่านอรรถกฤษครับ  หลวงพี่ภูริศญ์ครับ…  วันนี้ทำวัตรเวลากี่โมงครับ ฯลฯ

คำพูดสำหรับสนทนากับญาติโยม

        คำพูดที่ใช้สนทนากับญาติโยม ใช้คำว่า อาตมา, อาตมาภาพ, รูป  แทนคำว่า  ผม, ฉัน  เช่น อาตมากำลังจะไปทำวัตร อาตมาภาพกำลังจะไปบิณฑบาตฯลฯ  ส่วนคำว่า รูป  เป็นคำโบราณที่พระภิกษุใช้เรียกแทนตัวเอง  เช่น  รูปจะไปทำวัตร  รูปจะไปบิณฑบาต  ปัจจุบัน  คำนี้ไม่นิยมใช้แล้ว   คงยังมีใช้แต่คำว่า อาตมา  อาตมภาพ

ใช้คำว่า  เจริญพร, ขอเจริญพร แทนคำรับว่า ครับ, ครับผม  เช่น ญาติโยมถามว่า “พระคุณเจ้าจะไปทำวัตรแล้วใช่ไหม”   พระภิกษุรับว่า  “เจริญพร…ขอเจริญพร  อาตมาจะไปทำวัตรแล้ว”

ใช้คำว่า “บพิตร”  “มหาบพิตร”  “บรมบพิตร”  สำหรับเรียกเจ้านายตามฐานันดรศักดิ์ของเจ้านายพระองค์นั้น และใช้คำว่า “ถวายพระพร”  เป็นคำนำหน้า หรือปิดท้ายประโยค  เป็นการแสดงความสุภาพ

ในกรณีที่โยมมาทำบุญ  หรือมาเยี่ยม  เมื่อโยมจะกลับ  พระภิกษุจะเพิ่มคำว่า “ขออนุโมทนา” ตามหลังด้วยก็ได้  เช่น “พระคุณเจ้า  โยมจะกลับแล้วนะ”  พระภิกษุรับว่า  “เจริญพร ขออนุโมทนา”

ใช้คำว่า  “โยม”  เป็นคำนำหน้าบุคคลหรือชื่อบุคคล คำนำหน้าบุคคล  เช่น  โยมพ่อ,  โยมแม่, โยมพี่, โยมป้า, โยมลุง, โยมน้อง, โยมเพื่อนฯลฯ คำนำชื่อบุคคล เช่น  โยมวชิรชัย,  โยมกนกศักดิ์,  โยมพิชามญชุ์ ฯลฯ

นอกจากนั้น  ยังสามารถใช้คำว่า “คุณ” หรือ “คุณโยม” เป็นคำนำหน้าชื่อบุคคลได้อีก  เช่น  คุณสหวัตรหรือ คุณโยมสหวัตร, คุณศิริชัยหรือ คุณโยมศิริชัยฯลฯ หากเป็นบุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือของสังคม  โดยทั่วไปนิยมใช้คำว่า “ท่าน” เป็นคำนำหน้า   เช่น  ท่านบุญชู, ท่านวิภาค, ท่านผู้พัน,  ท่านรัฐมนตรี,  ท่านนายกฯลฯ

คำพูดอื่นๆ  ที่ควรทราบ

อาบน้ำ  พระภิกษุใช้คำว่า  สรงน้ำ

 ดื่มน้ำ   พระภิกษุใช้คำว่า   ฉันน้ำ           

  กินข้าว   พระภิกษุใช้คำว่า  ฉันข้าว

 นอน   พระภิกษุใช้คำว่า   จำวัด

เข้าพรรษา   พระภิกษุใช้คำว่า   จำพรรษา

โกนผม   พระภิกษุใช้คำว่า   ปลงผม            

เจ็บป่วย   พระภิกษุใช้คำว่า   อาพาธ

 ตาย   พระภิกษุใช้คำว่า   มรณภาพ

ห่ม/สวม/ใส่/จีวร พระใช้คำว่า  ครองจีวร

  ให้  พระภิกษุใช้คำว่า   ประเคน หรือ ถวาย

   เงิน   พระภิกษุใช้คำว่า   ปัจจัย           

    เงินเดือน   พระภิกษุใช้คำว่า  นิตยภัตร     

     เชิญ  พระภิกษุใช้คำว่า  นิมนต์

     ยินดีด้วย  พระภิกษุใช้คำว่า  โมทนา/อนุโมทนา

     ชื่อภาษาบาลี  พระภิกษุใช้คำว่า ฉายา

    สวดมนต์เช้า-เย็น พระภิกษุใช้คำว่า  ทำวัตรเช้า-เย็น

การรับประเคน

ปัจจุบันชาวไทยมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการประเคนอยู่มาก  แม้พระภิกษุเองก็ยังขาดความเข้าใจจุดมุ่งหมายของการประเคน จนทำให้เกิดความสับสนแก่พุทธบริษัท ในการที่จะปฏิบัติต่อพระสงฆ์ให้ถูกต้องเหมาะสม 

การประเคน  คือ  การให้   มาจากวินัยข้อว่า ภิกษุกลืนกินของที่เขาไม่ได้ให้ล่วงลำคอลงไปต้องอาบัติปาจิตตีย์  เว้นไว้แต่น้ำและไม้ชำระฟัน

ข้อสำคัญของการประเคน คือ การให้ เมื่อให้แล้วก็เป็นสิทธิ์ขาดของพระภิกษุ จุดมุ่งหมายก็เพื่อไม่ให้พระภิกษุหยิบฉวยสิ่งของมาฉันตามชอบใจ   อันจะเป็นเหตุให้ชาวบ้านยกขึ้นมาเป็นข้อตำหนิหรือฟ้องร้องกล่าวหาว่าพระภิกษุลักขโมยหยิบฉวยสิ่งของโดยที่เขาไม่ได้ให้  และอีกอย่างหนึ่งก็เพื่อสุขภาพของพระภิกษุเองด้วย  ในกรณีที่อาจหยิบฉวยเอาของบูดเน่ามาฉัน  ถ้าเป็นของที่เขาให้ก็เป็นของที่ผ่านการตรวจแล้ว

ส่วนวิธีการประเคนนั้นเป็นระเบียบแบบแผนที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ดูงดงามแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น

ความสับสนเกิดขึ้นเพราะชาวไทยพยายามแยก “การประเคน” ออกจาก “การให้” โดยอธิบายการประเคนให้ดูวิจิตรพิสดารออกไปต่างๆ  ทั้งๆ ที่การประเคนก็คือการให้  การให้ก็คือการประเคนเป็นอย่างเดียวกัน  ตรงตามภาษาบาลีว่า ทินนัง  แปลว่า  ให้   จะให้โดยวิธีไหน ด้วยอาการอย่างไร  โดยสรุปก็คือ ให้ นั่นเอง

ในเมืองไทยมีธรรมเนียมการให้สิ่งของแด่พระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า  “การประเคน”  ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้มีรูปแบบที่สวยงาม และแสดงถึงความเคารพนอบน้อมที่ชาวไทยมีต่อพระสงฆ์ แต่การให้ด้วยวิธีที่ไม่ถูกตามแบบธรรมเนียมไทยก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ต้องอาบัติ  การประเคนที่ไม่ถูกธรรมเนียมไทย ไม่ได้ทำให้พระต้องอาบัติ แต่ทำให้ผู้ประเคนไม่รู้จักกาลเทศะตามวัฒนธรรมของชนชาติ

ตามพระวินัย การที่ลูกศิษย์รับบาตรพระภิกษุ  ไม่มีกิจที่ต้องประเคนบาตรอีกครั้ง  เพราะอาหารบิณฑบาตเป็นของพระภิกษุ  ที่ชาวบ้านถวายพระภิกษุมาโดยชอบธรรม  บิณฑบาตนั้นไม่ใช่ของลูกศิษย์ จึงไม่มีกิจที่ต้องประเคนใหม่  แต่การที่อาจารย์ให้ประเคนใหม่อีกครั้ง เพื่อต้องการสอนลูกศิษย์ให้รู้จักใกล้ชิดพระสงฆ์ แสดงความนอบน้อมอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ให้ถูกวิธี แม้พระภิกษุจะรับบิณฑบาตมาแล้ว แต่ให้ลูกศิษย์ประเคนบาตรอีกครั้ง ไม่เกี่ยวกับวินัยว่าด้วยการประเคน    ผู้ที่ไม่เข้าใจก็ตีความเอาว่า ที่ต้องประเคนบาตรอีกครั้งเพราะลูกศิษย์ไปจับต้องบาตร ถือว่าบาตรขาดประเคน หากพระภิกษุฉันอาหารบิณฑบาตที่ขาดประเคนต้องอาบัติ แต่ที่จริง ท่านต้องการสอนลูกศิษย์ให้รู้จักวิธีการอุปัฏฐากพระภิกษุสงฆ์ 

ระเบียบแบบแผนการประเคนนั้นมีความแตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น ข้อสำคัญคือให้อยู่ในหัตถบาส คือ มือส่งถึงกันได้ บางท้องถิ่นอธิบายว่า

“ผู้ประเคนจะต้องนั่งคุกเข่า ห่างจากพระสงฆ์ชั่วระยะหัตถบาส ยกของขึ้นสูงจากพื้นชั่วแมวลอดได้ น้อมศีรษะลง ประเคนของพระสงฆ์”

ผู้ที่เคร่งครัดอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าไม่ได้ยกสิ่งของขึ้นพ้นพื้นชั่วแมวลอดได้ ไม่เป็นอันประเคน  พระภิกษุฉันไม่ได้  ต้องยกประเคนใหม่   ภิกษุฉันแล้วต้องอาบัติ

อีกอย่างหนึ่ง ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในชาวไทยว่า สิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนแล้ว สามเณรหรือชาวบ้านจับต้องไม่ได้  หากจับต้องเข้าแล้ว  ของนั้นจะต้องประเคนใหม่  พระภิกษุจึงจะฉันได้ หากไม่ประเคนใหม่พระภิกษุฉันล่วงลำคอลงไปจะต้องอาบัติ  เพราะฉันของที่เขาไม่ได้ให้  

บางครั้งจึงมักเห็นคนที่เคร่งครัด หรือแม้แต่พระภิกษุเองที่เห็นคนถวายอาหารพระภิกษุแล้วอยากช่วยจัด หรืออยากช่วยพระภิกษุยกเก็บให้เข้าที่เข้าทาง   ต้องส่งเสียงร้องเอะอะวุ่นวายห้ามปรามเป็นการใหญ่  เพื่อให้ประเคนใหม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนแล้วเป็นอันประเคน เพราะของสิ่งนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุ แม้จะมีคฤหัสถ์ หรือสามเณรจับต้องไม่ถือว่าเสียการประเคน ไม่ต้องประเคนใหม่  พระภิกษุฉันก็ไม่ต้องอาบัติ สาเหตุสิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้วขาดการประเคนมี  ดังนี้

  • เพราะการกลับเพศของพระภิกษุผู้รับประเคน (เพศชายกลายเป็นเพศหญิง) 
  • เพราะการมรณภาพของพระภิกษุผู้รับประเคน
  • เพราะการลาสิกขาของพระภิกษุผู้รับประเคน
  • เพราะพระภิกษุต้องอาบัติปาราชิกหลังรับประเคน
  •  เพราะให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่พระภิกษุ
  •  เพราะสละโดยไม่มีความต้องการอีกต่อไป
  • เพราะถูกคนอื่นแย่งชิงไป

สิ่งที่รับประเคนแล้วขาดการประเคน คือต้องประเคนใหม่ข้างต้น ไม่มีข้อใดระบุว่า  หากมีคฤหัสถ์หรือสามเณรมาจับสิ่งของที่พระภิกษุรับประเคนไว้แล้ว ขาดประเคน พระภิกษุต้องรับประเคนใหม่   

ดังนั้น  เมื่อคฤหัสถ์หรือสามเณรจับอาหารที่รับประเคนแล้ว  เพื่อต้องการช่วยจัดหรือเพราะความพลั้งเผลอ พระภิกษุไม่ควรห้ามปรามเอะอะวุ่นวาย แสดงอาการรังเกียจ หรือให้ประเคนใหม่  ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าพระภิกษุไม่มีความเข้าใจในพระวินัยอย่างถูกต้องแล้ว  ยังทำให้ดูวุ่นวายยุ่งยาก  

แต่จะห้ามปรามเพราะไม่ต้องการให้ฆราวาสมายุ่งวุ่นวายขณะพระภิกษุกำลังฉัน  ก็ควรอยู่ 

อีกประการหนึ่ง  ในขณะพระสงฆ์กำลังฉันภัตตาหาร  ชาวบ้านควรปล่อยให้ท่านฉันตามอัธยาศัย ไม่ควรไปจับนั่นยกนี่ให้ท่านเกิดความอึดอัดใจ 

การรับประเคนสิ่งของจากสตรี

 ธรรมเนียมพระภิกษุไทย เมื่อจะรับสิ่งของจากสตรีต้องใช้ผ้ารับประเคน  

การปฏิบัติเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าพระภิกษุจะต้องอาบัติ  แม้ภิกษุจะรับต่อจากมือสตรีก็ไม่ได้ทำให้ต้องอาบัติ เพราะในพระวินัยระบุว่า พระภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายสตรี และหรือสิ่งของที่เนื่องด้วยกายสตรีจึงต้องอาบัติ   พระภิกษุจึงสามารถรับสิ่งของต่อจากมือสตรีได้   หากพระภิกษุมีความกำหนัด  แม้จะรับของจากสตรีด้วยผ้าก็ไม่พ้นจากอาบัติอยู่นั่นเอง  เพราะมีความกำหนัดจับต้องสิ่งของที่เนื่องด้วยกายสตรี  ในพระวินัยได้อธิบายว่า  แม้ไม่จับต้องต่อจากมือสตรี  เพียงแค่สตรีโยนก้อนหินหรือท่อนไม้ไป พระภิกษุมีความกำหนัดโยนก้อนหินไปถูกก้อนหินที่สตรีโยนไป พระภิกษุยังไม่พ้นจากอาบัติ

ธรรมเนียมพระภิกษุในประเทศไทย  บูรพาจารย์ท่านป้องกันไว้ก่อน  จึงมีธรรมเนียมให้พระภิกษุรับประเคนสิ่งของจากสตรีด้วยผ้ากราบหรือผ้ารับประเคน  เพราะธรรมชาติของจิตนั้นเปลี่ยนแปลงเร็ว  

นอกจากนั้น ในเมืองไทยยังถือเป็นธรรมเนียมว่า การใช้ผ้ารับประเคนสิ่งของจากสตรี  ถือว่าเป็นการให้เกียรติและแสดงความสุภาพตามสมณวิสัย   แม้พระสงฆ์ในประเทศอื่นๆ จะไม่ถือธรรมเนียมนี้ก็ตาม  เมื่อพระสงฆ์รับประเคนสิ่งของจากสตรี  จึงต้องใช้ผ้ารับประเคน  เพื่อให้เกียรติและแสดงความสุภาพตามสมณวิสัยพึงกระทำได้

การใช้ผ้ารับประเคนสิ่งของจากสตรี จึงไม่ใช่ท่าทีที่พระพุทธศาสนาสอนให้รังเกียจสตรี อันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศตามที่นักสิทธิมนุษยชนเข้าใจ   แต่เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจของพระภิกษุเอง และเป็นการให้เกียรติแก่สตรีทุกคนดังกล่าวแล้ว

วินัยกรรม

กิจที่พระภิกษุใหม่พึงทำเกี่ยวกับบริขารเครื่องใช้

ภายหลังจากเสร็จพิธีอุปสมบท เมื่อกลับมาถึงกุฏิแล้ว  กิจที่พระภิกษุใหม่จะต้องทำเป็นเบื้องต้นเกี่ยวกับบริขารเครื่องใช้ และกิจอย่างอื่นที่ควรทราบเป็นเบื้องต้น เพื่อให้ถูกต้องตามวินัย  คือ

  • การทำพินทุ
  • การทำวิกัปป์
  • อธิษฐาน
  • การถอนอธิษฐาน
  • การเสียสละบริขาร

การทำพินทุ

พินทุ แปลว่า หยดน้ำ, จุด หรือ เครื่องหมาย  การทำพินทุ คือ การทำจุด หรือ เครื่องหมายลงบนผ้าจีวร   ที่พระภิกษุจะใช้ เป็นบริขารเครื่องใช้  โดยใช้สีเขียวคราม สีโคลน หรือสีดำคล้ำทำเป็นจุดวงกลม

ขนาดของจุดหรือเครื่องหมายพินทุที่ระบุไว้ในวินัย อย่างใหญ่เท่าแววตานกยูง อย่างเล็กเท่าตัวเลือด  จุดมุ่งหมายของการทำพินทุตามพุทธประสงค์มี  ๒ ประการด้วยกัน  คือ

            (๑) เพื่อทำจีวรที่ได้มาใหม่ให้เสียสีจากของเดิม  หรือทำจีวรที่ได้มาใหม่ให้มีตำหนิ   เป็นการป้องกันไม่ให้พระภิกษุเกิดความยึดติดในจีวรว่าเป็นของใหม่เป็นของสวยงามหาที่ติมิได้

            (๒) เพื่อเป็นเครื่องหมายให้พระภิกษุจดจำจีวรบริขารเครื่องใช้ของตน ในกรณีที่จีวรเกิดการสูญหาย  หรือมีการสับเปลี่ยนกับจีวรของพระภิกษุอื่นในกรณีที่อยู่ด้วยกันหลายรูป 

  วิธีทำพินทุ  พระภิกษุใช้ปากกาสีเขียว  สีคราม  สีโคลน  

สีดำหรือวัสดุอย่างอื่นที่ใช้แทนกันได้ทำจุดเป็นวงกลมลงบนลงบนมุมใดมุมหนึ่งของจีวร

วิธีปฏิบัติจริงๆ ขนาดของจุดให้ดูตามความเหมาะสม อย่าให้ถึงกับเล็กเกินไปจนมองไม่เห็น หรือใหญ่เกินไปจนถึงกับเลอะเทอะ นอกจากนั้น ยังสามารถเขียนชื่อพระภิกษุกำกับลงไปข้างจุดด้วยก็ได้   เพื่อเป็นเครื่องหมายที่ชัดเจนลงไปอีก  ในกรณีที่อาจจะซ้ำกับพินทุของพระภิกษุรูปอื่น

คำพินทุกัปป์

เมื่อจะทำพินทุกัปปะ  พระภิกษุพึงตั้ง “นโม” ๓ จบแล้วเปล่งวาจา หรือผูกใจในขณะที่ทำอยู่ว่า

 อิมัง  พินทุกัปปัง  กะโรมิ  (ทำจุดหนึ่ง)

ทุติยัมปิ   อิมัง  พินทุกัปปัง กะโรมิ (ทำจุดหนึ่ง)

ตะติยัมปิ   อิมัง  พินทุกัปปัง กะโรมิ (ทำจุดหนึ่ง)

คำแปล

ข้าพเจ้าทำเครื่องหมายนี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าทำเครื่องหมายนี้  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าทำเครื่องหมายนี้

การอธิษฐาน

ในทางพระวินัย  การอธิษฐาน  แปลว่า การตั้งใจเอาไว้ 

การผูกใจเอาไว้ หรือการกำหนดใจเอาไว้ 

การอธิษฐาน  คือ การตั้งใจเอาไว้  การผูกใจเอาไว้ หรือการกำหนดเอาไว้ว่าของใช้นั้นๆ จะใช้เป็นของประจำตัวเรา  เช่น  เมื่อได้ผ้ามาก็ตั้งใจว่าผืนนี้จะใช้เป็นผ้าสังฆาฏิประจำตัว   ผืนนี้จะใช้เป็นผ้าห่มประจำตัว  ผืนนี้จะใช้เป็นสบงประจำตัว  บาตรนี้จะใช้เป็นบาตรประจำตัว

การตั้งใจ การผูกใจ หรือการกำหนดเอาไว้เช่นนี้เรียกว่า  “การอธิษฐาน

วิธีอธิษฐานตามพระวินัย สิ่งของที่ได้มาใหม่ พระภิกษุจะต้องอธิษฐานก่อนจึงจะใช้เป็นเครื่องบริขารประจำตัวได้   บริขารบางชนิดพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตพระภิกษุให้อธิษฐานได้อย่างละผืน ห้ามอธิษฐานเกินกว่านั้น ขณะอธิษฐานจะจับผ้าไว้หรือประคองผ้าไว้แล้วอธิษฐานก็ได้   โดยกล่าวคำอธิษฐาน  บริขารต่อไปนี้ทรงอนุญาตให้มีได้อย่างละผืน

คำอธิษฐานบาตร

(ตั้งนโม ๓ จบ)

อิมัง ปัตตัง อะธิฏฐามิ   ทุติยัมปิ    อิมัง ปัตตัง  อะธิฏฐามิ   ตะติยัมปิ    อิมัง  ปัตตัง   อะธิฏฐามิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรนี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรนี้  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าอธิษฐานบาตรนี้

คำอธิษฐานผ้าสังฆาฏิ

อิมัง    สังฆาฏิง  อะธิฏฐามิ    ทุติยัมปิ     อิมัง    สังฆาฏิง    อะธิฏฐามิ   ตะติยัมปิ    อิมัง    สังฆาฏิง   อะธิฏฐามิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าสังฆาฏินี้ แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าสังฆาฏินี้  แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าสังฆาฏินี้

คำอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์(จีวร)

อิมัง อุตตราสังคัง   อะธิฏฐามิ    ทุติยัมปิ   อิมัง   อุตตราสังคัง อะธิฏฐามิ  ตะติยัมปิ    อิมัง  อุตตราสังคัง   อะธิฏฐามิ ฯ

คำแปล

            ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์(จีวร)นี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์(จีวร)นี้  แม้ครั้งที่สาม     ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์(จีวร)นี้ 

คำอธิษฐานผ้าอันตรวาสก(สบง)

อิมัง  อันตะระวาสะกัง  อะธิฏฐามิ  ทุติยัมปิ อิมัง  อันตะระวาสะกัง  อะธิฏฐามิ  ตะติยัมปิ   อิมัง  อุตตราสังคัง  อะธิฏฐามิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอันตะระวาสก(สบง)นี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอันตะระวาสก (สบง) นี้  แม้ครั้งที่สาม  ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอันตะระวาสก (สบง) นี้ ฯ

คำอธิษฐานผ้าอาบน้ำฝน

อิมัง  วัสสิกะสาฏะกัง  อะธิฏฐามิ  ทุติยัมปิ อิมัง วัสสิกะสาฏะกัง  อะธิฏฐามิ  ตะติยัมปิ  อิมัง  วัสสิกะสาฏะกัง  อะธิฏฐามิ ฯ

คำแปล

 ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอาบน้ำฝนนี้ แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอาบน้ำฝนนี้ แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าอาบน้ำฝนนี้ ฯ 

คำอธิษฐานผ้านิสีทนะ(ผ้าปูนั่ง)

อิมัง นิสีทะนัง อะธิฏฐามิ ทุติยัมปิ อิมัง นิสีทะนัง  อะธิฏฐามิ  ตะติยัมปิ  อิมัง นิสีทะนัง อะธิฏฐามิฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าปูนั่งนี้  แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าปูนั่งนี้  แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าปูนั่งนี้ฯ

คำอธิฐานบริขารเล็กๆ น้อยๆ (บริขารโจล

  นอกจากนั้น  ยังมีบริขารเครื่องใช้อื่นอีกที่อธิษฐานตามบริขารข้างต้น  ของใช้เหล่านี้เป็นบริขารประกอบไม่ใช่บริขารหลัก  อธิษฐานได้มากกว่าหนึ่งผืน   ดังนี้

ปัจจัตถะระณัง   ผ้าปูที่นอนผืนเดียว

ปัจจัตถะระณานิ   ผ้าปูที่นอนหลายผืน

กัณฑุปะฏิจฉาทิง  ผ้าปิดฝีผืนเดียว

กัณฑุปะฏิจฉาทีนิ   ผ้าปิดฝีหลายผืน

มุขะปุญฉะนะโจลัง   ผ้าเช็ดหน้า , ผ้าเช็ดปากผืนเดียว

มุขะปุญฉะนะโจลานิ   ผ้าเช็ดหน้า , ผ้าเช็ดปากหลายผืน

ฯลฯ

บริขารเหล่านี้เรียกว่า  บริขารโจล  แปลว่า  บริขารที่เป็นผ้าท่อนเล็กท่อนน้อย  การอธิษฐานบริขารโจลจะอธิษฐานแยกทีละผืนตามชนิดของผ้าหรืออธิษฐานรวมก็ได้ 

หากอธิษฐานแยกให้กล่าวคำอธิษฐานทีละผืน ตามผ้าสังฆาฏิ  หากไม่อธิษฐานแยกชนิดของผ้า ให้อธิษฐานรวมเป็นบริขารโจล

บริขารโจลจะไม่อธิษฐานก็ได้  เพราะว่าไม่ได้ใช้ประจำ  เมื่อจะใช้ค่อยอธิษฐาน

คำอธิษฐานบริขารโจลผืนเดียว

อิมัง  ปะริกขาระโจลัง  อะธิฏฐามิ  ทุติยัมปิ อิมัง  ปะริกขาระโจลัง  อะธิฏฐามิ  ตะติยัมปิ  อิมัง ปะริกขาระโจลัง อะธิฏฐามิ ฯ

คำแปล

          ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยนี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยนี้  แม้ครั้งที่สาม  ข้าพเจ้าอธิษฐานผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยนี้ ฯ

คำอธิษฐานบริขารโจลหลายผืน

อิมานิ ปะริกขาระโจลานิ  อะธิฏฐามิ  ทุติยัมปิ  อิมานิ ปะริกขาระโจลานิ  อะธิฏฐามิ ตะติยัมปิ  อิมานิ ปะริกขาระโจลานิ อะธิฏฐามิฯ 

คำแปล

          ข้าพเจ้าอธิษฐานบริขารท่อนเล็กท่อนน้อยเหล่านี้ แม้ครั้งที่สองข้าพเจ้าอธิษฐานบริขารท่อนเล็กท่อนน้อยเหล่านี้  แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าอธิษฐานบริขารท่อนเล็กท่อนน้อยเหล่านี้

การถอนอธิษฐาน

            การถอนอธิษฐาน หมายถึง การจะเลิกใช้บริขารที่อธิษฐานไว้เดิม  เพื่อจะใช้บาตรหรือผ้าผืนใหม่ หากพระภิกษุได้บาตรหรือผ้าผืนใหม่มา ต้องการจะใช้ ต้องกล่าวคำถอนอธิษฐานผ้าผืนเก่าเสียก่อน  จึงจะอธิษฐานผ้าใหม่ใช้ได้  มิเช่นนั้น ก็จะเป็นการอธิษฐานบริขารซ้ำบริขารเดิม   เช่น หากต้องการเปลี่ยนสังฆาฏิใหม่  ให้ถอนอธิษฐานผ้าสังฆาฏิผืนเดิมก่อน

คำถอนอธิษฐานบาตร

อิมัง ปัตตัง ปัจจุทธะรามิ  ทุติยัมปิ  อิมัง   ปัตตัง ปัจจุทธะรามิ  ตะติยัมปิ   อิมัง   ปัตตัง   ปัจจุทธะรามิฯ

คำแปล

            ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานบาตรนี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานบาตรนี้  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานบาตรนี้

คำถอนอธิษฐานผ้าสังฆาฏิ

อิมัง  สังฆาฏิง  ปัจจุทธะรามิ  ทุติยัมปิ  อิมัง  สังฆาฏิง  ปัจจุทธะรามิ ตะติยัมปิ  อิมัง  สังฆาฏิง  ปัจจุทธะรามิฯ

คำแปล

            ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าสังฆาฏินี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าสังฆาฏินี้  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าสังฆาฏินี้

          คำถอนอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์(จีวร)

อิมัง  อุตตราสังคัง  ปัจจุทธะรามิ ทุติยัมปิ  อิมัง  อุตตราสังคัง ปัจจุทธะรามิ  ตะติยัมปิ   อิมัง   อุตตราสังคัง  ปัจจุทธะรามิฯ

คำแปล

            ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์นี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์นี้  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าอุตตราสงค์นี้

คำถอนอธิษฐานผ้าอันตรวาสก(สบง)

อิมัง  อันตรวาสกัง  ปัจจุทธะรามิ  ทุติยัมปิ  อิมัง   อันตรวาสกัง ปัจจุทธะรามิ  ตะติยัมปิ   อิมัง  อันตรวาสกัง  ปัจจุทธะรามิฯ

คำแปล

            ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าอันตรวาสก(สบง)นี้ แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าอันตรวาสก(สบง)นี้  แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าถอนอธิษฐานผ้าอันตรวาสก(สบง)นี้ฯ

ความเข้าใจ เรื่อง ผ้าไตรครองขาดราตรี

          ผ้าไตรครอง  หมายถึง  ผ้าที่พระภิกษุอธิษฐานไว้เป็นบริขารประจำมี ๓ ผืน คือ  (๑) สังฆาฏิ   (๒) จีวร  (๓) สบง    ทั้ง ๓ ผืนนี้เรียกว่า ผ้าไตรครอง   พระภิกษุจะต้องรักษาราตรี   ก่อนตะวันขึ้นจะต้องอยู่กับตัวพระภิกษุในเขตรักษาราตรีเสมอ   หากพระภิกษุลืมไว้ข้ามคืนจนตะวันขึ้นวันใหม่ ผ้านั้นขาดราตรี พระภิกษุต้องอาบัติชื่อนิสสัคคียปาจิตตีย์ เพราะอยู่ปราศจีวรเกินหนึ่งคืน  ต้องเสียสละผ้านั้นจึงจะแสดงอาบัติตก หากไม่สละยังขืนใช้ผ้านั้นต่อไป  ก็จะต้องอาบัติทุกกฎเพิ่มเข้ามาอีกตัวทุกย่างก้าว

            สำหรับเขตรักษาราตรีนั้น  วินัยกำหนดไว้ว่าหากอยู่ในกุฏิ กำหนดเอากุฏิเป็นเขตรักษาราตรี  หากกุฏินั้นมีหลายรูป  กำหนดเอาห้องเป็นเขตรักษาราตรี หากห้องนั้นอยู่หลายรูปรวมกัน กำหนดเอาหัตถบาส  คือ ช่วงที่มือเอื้อมถึงเป็นเขตรักษาราตรี  หากอยู่ในบ้าน   กำหนดเอารั้วบ้านเป็นเขตรักษาราตรี      

            พระภิกษุเก็บผ้าไตรครองไว้นอกเขต จนตะวันขึ้นวันใหม่  ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์  ต้องเสียสละผ้านั้นกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  กับคณะพระภิกษุ  หรือกับสงฆ์  แล้วจึงแสดงอาบัติ

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับผ้าไตรครองขาดราตรี

พระภิกษุนำผ้าที่ทำให้ต้องอาบัติเข้าไปหาพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เข้าใจพิธีการเสียสละผ้าครองเพราะอยู่ปราศราตรี   พร้อมกับกล่าวคำเสียสละผ้า ดังนี้

คำเสียสละผ้าครองผืนเดียว

อิทัง  เม  ภันเต (อาวุโส)  จีวะรัง รัตติวิปปะวุตถัง อัญญัตระ  ภิกขุสัมมะติยา  นิสสัคคิยัง อิมาหัง  อายัสมะโต  นิสสัชชามิฯ

คำแปล

          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  (ท่านผู้มีอายุ)  จีวรผืนนี้ ของข้าพเจ้าอยู่ปราศแล้วล่วงราตรี  เป็นของจำจะต้องสละ  เว้นแต่พระภิกษุได้รับสมมติ  ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน ฯ

คำเสียสละผ้าครองรวมกันสองผืนขึ้นไป

อิมานิ  เม  ภันเต  จีวะรานิ  รัตติวิปปะวุตถานิ  อัญญัตระ  ภิกขุสัมมะติยา  นิสสัคคิยานิ  อิมานาหัง  อายัสมะโต  นิสสัชชามิฯ

คำแปล

          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  (ท่านผู้มีอายุ)  จีวรทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าอยู่ปราศแล้วล่วงราตรี  เป็นของจำจะต้องสละ  เว้นแต่ภิกษุได้รับสมมติ  ข้าพเจ้าสละจีวรทั้งหลายเหล่านี้แก่ท่าน ฯ

            (๒) เมื่อกล่าวคำเสียสละผ้าแล้ว ส่งผ้านั้นให้พระภิกษุที่รับการเสียสละ  ต่อจากนั้นจึงแสดงอาบัติ

            (๓) เมื่อแสดงอาบัติแล้ว  พระภิกษุที่รับการเสียสละส่งผ้าให้คืน

คำให้คืน

อิมัง  จีวะรัง  อายัสมะโต  ทัมมิฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าให้ผ้านี้แก่ท่าน

  (๔) พ ระภิกษุนำผ้าไปอธิษฐานใช้  จะสละให้ผู้อื่น  หรือจะสละให้สงฆ์ก็ได้ตามความชอบใจ

ความเข้าใจ เรื่อง การวิกัปป์บริขารอดิเรก

วิกัปป์ หมายถึง  การทำบริขารที่ได้มาเพิ่มจากบริขารอธิษฐานให้เป็นสองเจ้าของ 

เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีบริขารไว้เป็นเครื่องใช้ประจำตัวได้เพียงอย่างละชิ้นเรียกว่า “บริขารอธิษฐาน”  เช่น  บาตรอธิษฐาน  จีวรอธิษฐาน   สังฆาฏิอธิษฐาน สบงอธิษฐาน

บริขารที่เกินจากนั้นเรียกว่า  “บริขารอดิเรก”  เช่น   บาตรเกินจากบาตรอธิษฐาน  เรียกว่า บาตรอดิเรก  ผ้าเกินจากผ้าที่อธิษฐาน  เรียกว่าผ้าอดิเรก  หากมีตั้งแต่สองขึ้นไปเก็บไว้ได้เพียง ๑๐ วัน  เก็บไว้เกินกว่านั้นต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์   พระภิกษุต้องสละจึงจะแสดงอาบัติตก  ถ้าจะเก็บไว้เกินกว่านี้ต้องทำวิกัปป์

คำว่า “วิกัปป์” จึงหมายถึง  การทำบริขารที่ได้มาใหม่นั้นให้เป็นสองเจ้าของ  เมื่อได้ของมาหากคิดจะเก็บไว้เป็นของใช้ส่วนตัว   ต้องทำวิกัปป์ให้ผู้อื่นรับทราบหรือเป็นเจ้าของด้วย  จะวิกัปป์ไว้กับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง   วิกัปไว้กับคณะพระภิกษุ คือภิกษุจำนวน ๓ รูป  หรือ กับสงฆ์ก็ได้  เมื่อจะใช้บาตรหรือจีวรนั้น ต้องถอนวิกัปป์ก่อนจึงใช้ได้

จุดมุ่งหมายของการทำวิกัปป์ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พระภิกษุใช้บริขารเกินความจำเป็น  จะได้ใช้ข้าวของแต่ละชิ้นอย่างรู้คุณค่า

คำวิกัปป์บาตรใบเดียว

อิมัง  ปัตตัง  ตุยหัง  วิกัปเปมิ  ทุติยัมปิ  อิมัง  ปัตตัง  ตุยหัง  วิกัปเปมิ ตะติยัมปิ  อิมัง  ปัตตัง  ตุยหัง  วิกัปเปมิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าวิกัปป์บาตรใบนี้ไว้กับท่าน  แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าวิกัปป์บาตรใบนี้ไว้กับท่าน    แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าวิกัปป์บาตรใบนี้ไว้กับท่านฯ

คำวิกัปป์บาตรหลายใบ

อิเม  ปัตเต  ตุยหัง  วิกัปเปมิ ทุติยัมปิ  อิเม  ปัตเต  ตุยหัง  วิกัปเปมิ   ตะติยัมปิ  อิเม  ปัตเต  ตุยหัง  วิกัปเปมิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าวิกัปป์บาตรทั้งหลายเหล่านี้ไว้กับท่าน  แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าวิกัปป์บาตรทั้งหลายเหล่านี้ไว้กับท่าน  แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าวิกัปป์บาตรทั้งหลายเหล่านี้ไว้กับท่านฯ

คำวิกัปป์ผ้าผืนเดียว

            อิมัง  จีวะรัง  ตุยหัง  วิกัปเปมิ    ทุติยัมปิ      อิมัง  จีวะรัง  ตุยหัง  วิกัปเปมิ  ตะติยัมปิ    อิมัง  จีวะรัง  ตุยหัง  วิกัปเปมิฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าวิกัปป์ผ้าจีวรผืนนี้ไว้กับท่าน  แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าวิกัปป์ผ้าจีวรผืนนี้ไว้กับท่าน    แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าวิกัปป์ผ้าจีวรผืนนี้ไว้กับท่านฯ

คำวิกัปป์ผ้าหลายผืน

อิมานิ  จีวะรานิ  ตุยหัง  วิกัปเปมิ  ทุติยัมปิ  อิมานิ  จีวะรานิ  ตุยหัง  วิกัปเปมิ ตะติยัมปิ อิมานิ  จีวะรานิ  ตุยหัง  วิกัปเปมิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าวิกัปป์ผ้าจีวรทั้งหลายเหล่านี้ไว้กับท่าน  แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าวิกัปป์ผ้าจีวรทั้งหลายเหล่านี้ไว้กับท่าน    แม้ครั้งที่สามข้าพเจ้าวิกัปป์ผ้าจีวรผืนนี้ไว้กับท่านฯ

การถอนวิกัปป์

จุดมุ่งหมายของการทำวิกัปป์เพื่อเป็นการป้องกันพระภิกษุไม่ไห้ใช้บริขารมากจนเกินความจำเป็น     เมื่อวิกัปป์ผ้าและบาตรไว้กับพระภิกษุรูปใดแล้ว หากต้องการใช้ต้องให้พระภิกษุรูปนั้นถอนวิกัปป์ก่อนจึงจะนำไปใช้ได้   หมายถึงพระภิกษุรูปหนึ่งสละความเป็นเจ้าของร่วมเพื่อมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุอีกรูปหนึ่งเป็นเจ้าของโดยสิทธิ์ขาด  มติเกี่ยวกับการวิกัปป์มี ๒ นัย  คือ

·  ผ้าอดิเรก ถึงแม้จะทำวิกัปป์แล้ว ต้องทำวิกัปป์ทุก ๑๐ วัน 

· ผ้าอดิเรกที่ทำวิกัปป์แล้วเก็บไว้ใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องทำวิกัปป์อีก 

อย่างไรก็ตาม มติทั้งสองเป็นที่ยอมรับกันว่าใช้ได้ พระภิกษุควรพิจารณาตามเห็นสมควรว่าจะเลือกใช้บริขารอดิเรกตามมติใด  และการปฏิบัติตามมติใดมติหนึ่งคงไม่ใช่การที่จะนำมาข่มอีกฝ่ายหนึ่งว่าเคร่งหรือไม่เคร่ง

คำถอนวิกัปป์บาตร

ผู้ถอนแก่กว่าว่า   อิมัง  ปัตตัง  มัยหัง  สันตะกัง  ปะริภุญชะ วา  วิสัชเชหิ วา  ยถาปัจจะยัง  วา กะโรหิฯ 

ถ้าผู้ถอนอ่อนกว่าว่า  อิมัง ปัตตัง มัยหัง สันตะกัง ปะริภุญชะ วา วิสัชเชถะ วา ยถาปัจจะยัง วา กะโรถะ ฯ

คำแปล

บาตรนี้เป็นของข้าพเจ้า  ท่านจงใช้สอย  จงจำหน่าย  จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยเถิด ฯ

คำถอนวิกัปป์ผ้าผืนเดียว

ผู้ถอนแก่กว่าว่า   อิมัง  จีวะรัง  มัยหัง  สันตะกัง  ปะริภุญชะ วา  วิสัชเชหิ วา  ยถาปัจจะยัง  วา กะโรหิฯ 

ถ้าผู้ถอนอ่อนกว่าว่า  อิมัง จีวะรัง มัยหัง สันตะกังปะริภุญชะ วา วิสัชเชถะ วา ยถาปัจจะยัง วา กะโรถะ ฯ

คำแปล

จีวรนี้เป็นของข้าพเจ้า  ท่านจงใช้สอย  จงจำหน่าย  จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยเถิด ฯ

คำถอนวิกัปป์ผ้าหลายผืน

ผู้ถอนแก่กว่าว่า    อิมานิ   จีวะรานิ   มัยหัง  สันตะกานิ  ปะริภุญชะ วา วิสัชเชหิ  วา  ยถาปัจจะยัง  วา  กะโรหิฯ

ผู้ถอนอ่อนกว่าว่า  อิมานิ   จีวะรานิ   มัยหัง  สันตะกานิ  ปะริภุญชะ วา วิสัชเชหิ  วา  ยถาปัจจะยัง  วา  กะโรถ ฯ

คำแปล

จีวรทั้งหลายนี้เป็นของข้าพเจ้า  ท่านจงใช้สอย  จงจำหน่าย  จงกระทำตามสมควรแก่ปัจจัยเถิดฯ

การเสียสละบริขารอดิเรก

ผ้าอดิเรก หรือบาตรอดิเรก ที่พระภิกษุเก็บไว้เกินกว่า  ๑๐ วันโดยไม่ได้ทำวิกัปป์  ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์   พระภิกษุต้องเสียสละผ้า หรือบาตรนั้นกับพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง  กับคณะพระภิกษุ  หรือกับสงฆ์  แล้วจึงแสดงอาบัติ

ผ้าอดิเรกที่พระภิกษุเก็บไว้เกินกว่า  ๑๐ วันโดยไม่ได้ทำ

วิกัปป์  ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์   พระภิกษุต้องสละผ้านั้นจึงจะแสดงอาบัติตก   ข้อปฏิบัติในการเสียสละผ้าอดิเรกที่เก็บไว้เกิน ๑๐ วัน  ดังนี้

(๑)  พระภิกษุนำผ้าที่ทำให้ต้องอาบัติเข้าไปหาพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เข้าใจพิธีการเสียสละผ้าอดิเรก  พร้อมกับกล่าวคำเสียสละผ้า  ดังนี้

คำเสียสละอดิเรกจีวรแก่พระภิกษุ

ผ้าผืนเดียวว่า  อิทัง  เม  ภันเต (อาวุโส)  จีวะรัง  ทะสาหาติกกันตัง    นิสสัคคิยัง  อิมาหัง  อายัสมะโต  นิสสัชชามิ ฯ

คำแปล

          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ(ท่านผู้มีอายุ) จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า  ล่วง ๑๐ วัน    เป็นของจำจะต้องสละ  ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน ฯ

คำเสียสละผ้าตั้งแต่ ๒ ผืนขึ้นไป

ผ้าตั้งแต่ ๒ ผืนขึ้นไปว่า  อิมานิ  เม  ภันเต (อาวุโส)  จีวะรานิ  ทะสาหาติกกันตานิ  นิสสัคคิยานิ   อิมาหัง  อายัสมะโต  นิสสัชชามิ ฯ

คำแปล

          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  (ท่านผู้มีอายุ)  จีวรทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้า  ล่วง ๑๐ วัน    เป็นของจำจะต้องสละ  ข้าพเจ้าสละจีวรทั้งหลายเหล่านี้แก่ท่าน ฯ

            (๒) เมื่อกล่าวคำเสียสละผ้าแล้ว ส่งผ้านั้นให้ภิกษุที่รับการเสียสละ  ต่อจากนั้นจึงแสดงอาบัติ

            (๓)  เมื่อแสดงอาบัติแล้ว  พระภิกษุที่รับการเสียสละส่งผ้าให้คืน

คำให้คืน

อิมัง  จีวะรัง  อายัสมะโต  ทัมมิฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าให้ผ้านี้แก่ท่านฯ

            (๔)  หากพระภิกษุจะใช้ผ้าอดิเรกนั้นต่อไปอีก  พึงทำวิกัปป์ตามขั้นตอนการวิกัปป์ผ้าอดิเรกแล้วใช้สอยตามความชอบใจ

การเสียสละบาตรอดิเรกที่เก็บไว้เกิน  ๑๐  วัน

บาตรอดิเรกที่พระภิกษุเก็บไว้เกินกว่า  ๑๐ วันโดยไม่ได้ทำวิกัปป์  ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์   พระภิกษุต้องสละบาตรนั้นจึงจะแสดงอาบัติตก   ข้อปฏิบัติในการเสียสละบาตรอดิเรกมีดังนี้

พระภิกษุนำบาตรที่ทำให้ต้องอาบัติเข้าไปหาพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เข้าใจพิธีการเสียสละผ้าอดิเรก  พร้อมกับกล่าวคำเสียสละผ้า ดังนี้

คำเสียสละบาตรอดิเรกแก่พระภิกษุ

บาตรใบเดียวว่า       อะยัง  เม  ภันเต (อาวุโส)  ปัตโต  ทะสาหาติกกันตัง    นิสสัคคิยัง  อิมัง  อะหัง  อายัสมะโต  นิสสัชชามิ ฯ

คำแปล

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ (ท่านผู้มีอายุ) บาตรใบนี้ของข้าพเจ้า  ล่วง ๑๐ วัน เป็นของจำจะต้องสละ  ข้าพเจ้าสละบาตรใบนี้แก่ท่าน ฯ

บาตร ๒ ใบขึ้นไปว่า  อิเม  เม  ภันเต (อาวุโส)  ปัตตา  ทะสาหาติกกันตา   นิสสัคคิยา   อิเม  อะหัง  อายัสมะโต  นิสสัชชามิ ฯ

คำแปล

          ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  (ท่านผู้มีอายุ)  บาตรทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้า  ล่วง ๑๐ วัน  เป็นของจำจะต้องสละ  ข้าพเจ้าขอสละบาตรทั้งหลายเหล่านี้แก่ท่าน ฯ

            (๒) เมื่อกล่าวคำเสียสละบาตรแล้ว ส่งบาตรนั้นให้พระภิกษุที่รับการเสียสละ  ต่อจากนั้นจึงแสดงอาบัติ

            (๓)  เมื่อแสดงอาบัติแล้ว  พระภิกษุที่รับการเสียสละส่งบาตรคืน

คำให้คืน

อิมัง  ปัตตัง  อายัสมะโต  ทัมมิฯ

คำแปล

ข้าพเจ้าให้บาตรนั้แก่ท่านฯ

            (๔) หากพระภิกษุจะใช้บาตรอดิเรกนั้นต่อไปอีกให้ทำวิกัปป์ตามขั้นตอนการวิกัปป์บาตรอดิเรก

การอ่านภาษาบาลีเบื้องต้น

การอ่านภาษาบาลีมีความจำเป็นมากสำหรับพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  เนื่องจากคัมภีร์ต่างๆ เกี่ยวกับหลักคำสอนทางพระศาสนา ถูกบันทึกไว้ในภาษาบาลี โดยเฉพาะบทสวดมนต์ไหว้พระที่ใช้สวดเป็นกิจวัตรประจำวันล้วนเป็นภาษาบาลี  แม้ในปัจจุบันจะนิยมสะกดแบบอักษรไทย แต่ในบางสำนักยังคงใช้วิธีสะกดตามแบบภาษาบาลี  เพื่อเป็นอุบายให้พระภิกษุที่บวชใหม่ได้มีโอกาสอ่านภาษาบาลีให้ได้ การอ่านภาษาบาลีมีหลักที่ควรทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้น ดังนี้

  • ตัวอักษรเดี่ยวๆ ไม่มีสระปรากฏให้อ่านออกเสียงเป็นสระอะ

ตัวอย่างเช่น

นโม ตสฺส ภควโต   อ่านว่า    นะ-โม-ตัส-สะ-ภะ-คะ-วะ-โต

  (๒)  วิธีอ่าน   (  _ํ  )    ( อัง)

นิคหิต  ( _ํ  )  ได้แก่ วงกลมด้านบนพยัญชนะ   มีลักษณะการอ่านอยู่ ๒  แบบ  คือ

๒.๑  ถ้าไม่มีสระอื่น ๆ ให้อ่านเหมือนไม้หันอากาศ  _ั   แล้วตัวสะกด เป็น  ง   

ตัวอย่างเช่น

            อหํ  อ่านว่า อะ-หัง   อรหํ  อ่านว่า  อะระหัง  พุทฺธํ  อ่านว่า  พุทธัง

            ๒.๒ ถ้ามีสระให้ออกเสียงสระนั้น แล้วตัวสะกดเป็น  ง

ตัวอย่างเช่น

            ตหึ , อ่านว่า   ตะ-หิง  สทฺธึ   อ่านว่า   สัทธิง  ภิคิตึ   อ่านว่า  ภิคิติง

 (๓) จุดด้านล่าง (—ฺ )

จุดด้านล่าง (ฺ ) แสดงถึงพยัญชนะที่เป็นตัวสะกดมีลักษณะการอ่านอยู่  ๔  แบบ   คือ

๓.๑ ถ้าไม่มีสระอื่นๆ ให้อ่านเหมือนมีสระ อะ (ไม้หันอากาศ _ั ) แล้วพยัญชนะที่มีจุดอยู่ด้านล่างออกเสียงเป็นตัวสะกด

ตัวอย่างเช่น

นตฺถิ  ภนฺเต อ่านว่า นัต-ถิ — ภัน-เต

๓.๒ ถ้ามีสระให้ออกเสียงสระนั้น แล้วพยัญชนะที่มีจุดอยู่ด้านล่างออกเสียงเป็นตัวสะกด

ตัวอย่างเช่น

อุปฺปชฺชติ อ่านว่า อุบ-ปัด-ชะ-ติ

๓.๓ พยัญชนะ พ ม ว ร ห ฬ หากมีจุดอยู่ด้านล่าง อ่านกล้ำกับพยัญชนะอื่น

ตัวอย่างเช่น

พฺรหฺมา อ่านว่า พรัม-มา

พฺยญฺชนํ อ่านว่า พยัญ-ชะ-นัง

ตุมฺเห อ่านว่า ตุม-เห

อมฺเห อ่านว่า อำ-เห

๓.๔ พยัญชนะ ต ท ส ที่มีจุดอยู่ด้านล่าง และนำหน้า ว ม อ่านออกเสียงครึ่งเสียง และกล้ำกับพยัญชนะอื่น

ตัวอย่างเช่น

ตสฺมา อ่านว่า ตัด-สะ-หมา

เทฺว อ่านว่า ทะ-เว

สุตฺวา อ่านว่า สุด-ตะ-วา

(๔) การอ่านออกเสียงครึ่งเสียง

ตัวอย่างเช่น

สูปพยัญชนะ… อ่านว่า สู-ปะ-พยัน-ชะ-นะ …

(๕)  การอ่านคำบางคำ

สะพรัหมะกัง  อ่าน  สะ-พรำ-มะ-กัง

กัตวา  …  กัด-ตะ-วา

กัลยาณัง  …  กัน-ละ-ยา-นัง

สะพยัญชะนัง … สะ-พะ-ยัน-ชะ-นัง

พรัหมะจะริยัง  …  พรำ-มะ-จะ-ริ-ยัง

เนยโย,เณยโย  …  ไน-โย

สุเขตตาภยะ  …  สุ-เขด-ตา-พะ-ยะ

สุตวา  …  สุด-ตวา

เสยยะถีทัง  … ไส-ยะ-ถี-ทัง

อะคารัสมา  …  อะ-คา-รัด-สะ-หมา

ตัสมิง  …  ตัด-สะ-หมิง

อุณหัสสะ  …  อุน-หัด-สะ

ยาตรา  …  ยาด-ตรา

เวยยาพาธิกานัง  … ไวย-ยา-พา-ทิ-กา-นัง

ธาตุปฏิกูลปัจจะเวก  …  ทา-ตุ-ปะ-ติ-กู-ละ-ปัด-จะ-เหวก

ปัตวา  …  ปัด-ตวา

อัตระชัง  … อัด-ตระ-ชัง

จาปยะทิฏฐา  …  จา-ปะ-ยะ-ทิด-ถา

โลกัสมิง  …  โล-กัด-สะ-หมิง

วัตตัตวะสัชชัง  ..   วัด-ตัด-ตวะ-สัด-ชัง

ตัตระ  …  ตัด-ตระ

อะสัมมุฬโห  …   อะ-สำ-มุน-โห

พรัหมัง  …  พรำ-มัง

ปูเรตวา   …   ปู-เรด-ตวา

สักยานัง  …  สัก-กะ-ยา-นัง

กายัสมิง  ..   กา-ยัด-สะ-หมิง

โอมาตยารัทธัสสะ  …  โอ-มาด-ตยา-รัด-ทัด-สะ

ระตะนัตตยัสสะ  …  ระ-ตะ-นัด-ตะ-ยัด-สะ

วัตถุตตยัสสะปิ  …  วัด-ถุด-ตะ-ยัด-สะ-ปิ

วิธิมหิ  …  วิ-ทิม-มหิ

อะสีตยานุพยัญชนะ  …  อะ-สี-ตยา-นุบ-พะ-ยัน-ชะ-นะ

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๕ : สิ่งที่พระภิกษผู้บวชใหม่ ควรทำความเข้าใจ เกี่ยวกับกิริยามารยาท : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here