วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๑๗ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

ศึกษาธรรมะจาก “ลูกผู้ชายต้องบวช ”

“หนังสือเล่มนี้ ได้ยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบวชที่ไม่ได้คลาดเคลื่อนจากหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งบูรพาจารย์ นำปฏิบัติสืบต่อกันมา จากสมัยพุทธกาลสู่ปัจจุบัน ทั้งไม่ได้ละทิ้งประเพณีนิยมแบบไทยมาแต่เดิม

“แม้ผู้เขียนเองก็เชื่อมั่นว่า ความงดงามทางวัฒนธรรม และประเพณีไทย ถูกหล่อหลอมขึ้นจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา มีความละเอียด ประณีตงดงาม และกลมกลืน โดยมีหลักคำสอนของพระพุทธองค์เป็นแกนหลัก

“ผู้เขียนได้พยายามประสานแก่นแท้ของการบวช ตามหลักพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับการบวชแบบวัฒนธรรมประเพณีไทย และให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “ลูกผู้ชายต้องบวช” เพื่อยืนยันเจตนารมณ์บูรพชนไทย ที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย และต่างก็ยืนยันอุดมคติของบรรพชนไทยว่า “เกิดเป็นลูกผู้ชาย นับถือพระพุทธศาสนา ชาติหนึ่งต้องบวช”

จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

“ญาณวชิระ” ครหลวงประเทศไทย ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑๒ : การจำพรรษาและออกพรรษา : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

บรรพ์ที่  ๑๒

สังฆกรรมและพิธีกรรมที่ควรทราบ

การจำพรรษา

 การปวารณาออกพรรษา 

 การตักบาตรเทโวโรหณะ

 การรับกฐิน

การ จำพรรษา   คือ   การที่พระภิกษุอธิษฐานจิตว่าจะไม่ไปค้างแรมที่อื่นตลอดไตรมาส ๓ เดือนในฤดูฝน เพื่อหยุดจาริก  จะได้มีเวลาศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่  และจะได้ไม่เป็นการรบกวนชาวบ้านซึ่งต้องประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว ทำการเกษตร

ธรรมเนียมของบ้านเมืองในครั้งโบราณ  เมื่อถึงฤดูฝน ชาวบ้านต่างงดการเดินทางไปมาหาสู่ต่างบ้านต่างเมืองชั่วคราว พ่อค้าวาณิช ที่เดินทางไปค้าขายก็ต้องงดการเดินทาง หรือในขณะที่เดินทางไปค้าขายต่างเมือง  พอถึงฤดูฝนที่เมืองใด เหล่าพ่อค้าวาณิชก็จะต้องหยุดพักที่เมืองนั้น เพราะสภาพถนนหนทางเป็นหล่มเป็นเลนไม่สะดวกในการเดินทาง บางครั้งอาจเกิดน้ำป่าหลากท่วม  จึงต้องรอจนกว่าจะหมดฤดูฝน พื้นดินแห้งจึงเริ่มเดินทางอีกครั้ง  

สำหรับพระภิกษุได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตามความนิยมในยุคสมัยนั้น  เมื่อถึงฤดูฝนต้องหยุดการจาริก     ไม่ไปค้างคืนที่ไหนตลอด  ๓  เดือน   เรียกว่า  “จำพรรษา

สถานที่ห้ามจำพรรษา

การจำพรรษาในระยะแรกไม่ได้มีการกำหนดสถานที่ที่ชัดเจน  จึงทำให้เกิดอันตรายต่อพระภิกษุที่จำพรรษาบ้าง  เกิดความลำบากจนเกินไปบ้าง  บางครั้งพระภิกษุก็เลือกสถานที่จำพรรษาไม่เหมาะสมแก่ความเป็นพระภิกษุบ้าง  ต่อมาพระพุทธองค์จึงมีข้อห้ามสถานที่จำพรรษา

พระภิกษุจำพรรษา  ต้องมีเสนาสนะที่มุงบังมีบานประตูปิดเปิดเพื่อความปลอดภัย   พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้พระภิกษุอยู่จำพรรษาในสถานที่ที่ไม่มั่นคง และไม่ปลอดภัยเหล่านี้  คือ

·  ห้ามจำพรรษาในกระท่อมผี

·  ห้ามจำพรรษาในร่ม  เช่น พระธุดงค์ปักกลดจำพรรษา หรือกุฎีผ้า  เช่น  กางเต็นท์เพื่อจำพรรษา

·  ห้ามจำพรรษาในตุ่ม 

·  ห้ามจำพรรษาในโพรงต้นไม้

·  ห้ามจำพรรษาบนค่าคบต้นไม้

ประวัติการจำพรรษา

ในตอนต้นพุทธกาล  พระสงฆ์สาวกยังมีไม่มาก แม้จะยังไม่มีพุทธานุญาตให้พระภิกษุจำพรรษา  แต่พระภิกษุก็ถือปฏิบัติตามธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าซึ่งประทับจำพรรษา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หลังแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕  การจำพรรษาแรกของพระพุทธเจ้าปรากฏความว่า

หลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่บริเวณต้นโพธิ์เป็นเวลา ๗ สัปดาห์  ขณะประทับนั่งอยู่ที่ต้นอชปาลนิโครธนั้น ทรงตรึกตรองว่า ธรรมที่ทรงบรรลุนั้นสุขุม ลุ่มลึก สงบ ประณีตยิ่งนัก ยากที่ผู้คนจะเห็นและล่วงรู้ด้วยปัญญาที่จะพิจารณาเอง  บุคคลผู้เป็นบัณฑิตเท่านั้นจะรู้แจ้งได้  พระพุทธองค์จึงยังไม่อยากประกาศธรรม เพราะทรงเห็นว่าเหล่าสัตว์ยังถูกอวิชชาครอบงำอยู่มาก หากแสดงธรรม สัตว์เหล่านี้ก็จะไม่เห็นและไม่เข้าใจในธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งเช่นนี้   และจะไม่ทำให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ได้ 

            ท้าวสหัมบดีพรหมทราบปริวิตกแห่งจิตของพระพุทธเจ้า ดำริว่า  ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อมพระทัยไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจะแสดงธรรม โลกนี้จะถึงกาลวินาศ

            ท้าวสหัมบดีพรหมจึงนำท้าวสักกะ ท้าวสุยามะ ท้าวสันดุสิต ท้าวนิมมานรดี ท้าวปรนิมมิตวสวัตตี และท้าวมหาพรหมมาเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาว่า

            ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดแสดงธรรม ขอพระสุคตทรงเปิดประตูแห่งอมตธรรมเถิด

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับท้าวมหาพรหมว่า ธรรมที่ตถาคตตรัสรู้เป็นธรรมที่ลึกซึ้งเห็นได้ยาก รู้ได้ยาก ทั้งสงบ และประณีต บัณฑิตเท่านั้นจะพึงรู้ได้ เหล่าสัตว์ผู้ยังเพลิดเพลินยินดี ถูกราคะ โทสะครอบงำ  ถูกอวิชชา  คือ โมหะห่อหุ้ม  ย่อมมองไม่เห็นธรรม

            ท้าวมหาพรหมกราบทูลว่า พระองค์ทรงตั้งความปรารถนา ทรงบำเพ็ญบารมีมาจวบจนบรรลุความเป็นสัพพัญญูเพื่อจะทรงแสดงธรรม หากพระองค์ไม่ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้ ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกได้ สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในจักษุน้อยมีอยู่  เมื่อไม่ได้ฟังธรรมก็จะเสื่อม   ผู้ที่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่

            พระพุทธองค์สดับคำทูลอาราธนาของพรหม ด้วยอาศัยความกรุณาในหมู่สัตว์ จึงทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุ ได้เห็นความแตกต่างของสัตว์ทั้งหลายว่า  สัตว์บางพวกมีธุลีน้อย คือ กิเลสเบาบาง บางพวกมีธุลีมาก คือ กิเลสมาก  บางพวกมีปัญญาแก่กล้า บางพวกมีปัญญาอ่อน บางพวกสอนให้รู้ได้ง่าย บางพวกสอนให้รู้ได้ยาก  บางพวกเห็นชาติหน้าและโทษว่าเป็นภัย

            ทรงเปรียบสัตว์โลกเหมือนดอกบัว บางดอกเพิ่งงอกจากเหง้าก็ตกเป็นอาหารของเหล่าสัตว์ในท้องน้ำ บางดอกเจริญแล้วแต่ยังอยู่ภายใต้ผืนน้ำ บางดอกโผล่ขึ้นสูงเสมอผิวน้ำแล้ว บางดอกก็โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมาพร้อมที่จะบานรับแสงตะวัน ครั้นพิจารณาดังนี้แล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า

          ดูก่อนพรหม เพราะเราเห็นความประณีตในธรรมอันลึกซึ้ง จึงไม่ประสงค์แสดงธรรมแก่มวลมนุษย์ บัดนี้ เราเปิดประตูอมตะแก่ท่านแล้ว   ผู้ประสงค์จะรับฟัง  จงเตรียมตัวเถิด

            ท้าวสหัมบดีพรหมทราบว่า พระพุทธองค์จะแสดงธรรมแล้ว จึงถวายอภิวาทพระพุทธองค์ กระทำประทักษิณแล้วกลับไปยังพรหมโลก

            พระพุทธเจ้า ทรงพิจารณาว่าจะแสดงธรรมกัณฑ์แรกโปรดใครก่อน จึงดำริถึงอาฬารดาบสว่าเป็นบัณฑิตจะรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้โดยพลัน ครั้นตรวจดูก็ทราบว่าอาฬารดาบสได้ตายไป ๗ วันแล้ว  จึงดำริถึงอุททกดาบส ก็ทรงทราบว่า อุททกดาบส ได้ตายไปแล้วเมื่อพลบค่ำวานนี้เอง ครั้นแล้วทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ว่าเป็นผู้มีอุปการะแก่พระองค์มาก จึงดำริว่าจะไปอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อแสดงพระธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ จึงเสด็จไปยังกรุงพาราณสี   ด้วยระยะทาง ๑๘ โยชน์ (๑) ในระหว่างทางไปยังอิสิปตนมฤคทายวัน พระองค์ทรงพบกับอุปกาชีวก  ซึ่งเป็นนักบวชอีกลัทธิหนึ่งในสมัยนั้น

            อุปกาชีวกได้ยินดังนั้นจึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ท่านบวชในศาสนาของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน  ท่านชอบใจธรรมของใคร

            พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เราไม่มีศาสดา เราตรัสรู้เองโดยธรรม เรารู้ธรรมทั้งปวงที่ทำให้ปราศจากตัณหาและทิฏฐิ เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปแคว้นกาสีเพื่อประกาศพระธรรมจักร เราจักทำสัตว์ในโลกมืดให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

            อุปกาชีวกทูลว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น  ท่านก็เป็นอนันตชินะ ผู้ชนะหาที่สุดมิได้

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุคคลเหล่าใดถึงความสิ้นอาสวะแล้ว บุคคลเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะ อุปกาชีวก เราชนะบาปธรรมอันลามกแล้ว  เราจึงชื่อว่า  เป็นผู้ชนะ

            ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดังนั้นแล้ว อุปกาชีวกทูลว่า เช่นนั้นท่านควรได้ชื่อว่าอนันตชินะ เป็นผู้ชนะไม่มีที่สุดในโลกนี้  อุปกาชีวกโค้งศีรษะลงให้แล้วแยกทางหลีกไป (๒)

เสด็จสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

            พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปโดยลำดับ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี   ได้เสด็จเข้าไปหาปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ 

            ปัญจวัคคีย์เห็นพระตถาคตเสด็จมาแต่ไกล ได้นัดหมายกันไว้ว่า  พระสมณโคดมนี้คลายความเพียร กลายเป็นคนมักมากในปัจจัย มีร่างกายสมบูรณ์ มีอินทรีย์ผ่องใส มีวรรณะดุจทองกำลังเสด็จมา พวกเราไม่ควรอภิวาท ไม่ควรลุกขึ้นต้อนรับ ไม่ควรรับบาตร แต่พระองค์ประสูติในตระกูลใหญ่ เราสมควรจัดวางอาสนะไว้ เมื่อพระองค์ทรงปรารถนาก็จะประทับนั่งเอง

            ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึง ปัญจวัคคีย์กลับลืมกติกาของตน ต่างลุกขึ้นต้อนรับ รูปหนึ่งรับบาตร รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำผ้าเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะแล้ว ตรัสบอกให้ปัญจวัคคีย์ทราบถึงการตรัสรู้ของพระองค์ว่า บัดนี้ เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว เราจะแสดงธรรมนั้นแก่พวกเธอ เมื่อเธอปฏิบัติตามแล้ว ไม่นานนักก็จักรู้แจ้งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตต้องการ  ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน

            ปัญจวัคคีย์ทูลว่า แม้ด้วยการประพฤติ ด้วยปฏิปทา และการทรมานตนอย่างหนักเช่นนั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอย่างประเสริฐ บัดนี้พระองค์คลายความเพียร กลายเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุธรรมนั้นได้เล่า

            พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ตถาคตมิได้คลายความเพียร กลายเป็นคนมักมาก ตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยปัญญาของตนเองโดยชอบ หากพวกเธอตั้งใจและปฏิบัติตามธรรมที่ตถาคตแสดง ไม่นานนัก ก็จักรู้แจ้งคุณอันยอดเยี่ยม ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ได้

            แม้เช่นนั้น ปัญจวัคคีย์ก็ยังทูลคัดค้านถึงสองครั้งสามครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสย้ำอีกเช่นเดิม

            พระบรมศาสดาทรงยืนยันการบรรลุอมตธรรมแล้ว จึงตรัสถามเหล่าปัญจวัคคีย์ว่า ตลอดเวลา ๖ ปีที่อยู่ร่วมกันมา ตถาคตเคยกล่าวคำว่า   ตรัสรู้ให้พวกเธอได้รับฟังบ้างหรือไม่

            ปัญจวัคคีย์กราบทูลว่า ถ้อยคำเช่นนี้พวกข้าพระองค์ไม่เคยได้ฟังมาก่อนเลย บัดนี้เหล่าข้าพระองค์แน่ใจแล้วว่า พระองค์ได้บรรลุอมตธรรมแล้ว ขอพระองค์ได้โปรดแสดงอมตธรรมนั้น แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด

            พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นการแสดงธรรมครั้งแรกของพระองค์แก่ปัญจวัคคีย์ เนื้อความธรรมจักรมีดังนี้

            บรรพชิตไม่ควรประพฤติที่สุดโต่ง ๒  ด้าน คือ

          การเสพสุขในกามคุณ อันเป็นข้อประพฤติของชาวบ้าน  เป็นธรรมอย่างต่ำ  เป็นธรรมของปุถุชน มิใช่ธรรมของพระอริยะ เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑

            การทรมานตนตนให้ลำบาก เป็นทุกข์ มิใช่ธรรมของพระอริยะ  เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์  ๑

            ตถาคตได้ตรัสรู้ทางสายกลาง ที่ไม่หนักไปทางที่สุดโต่ง ๒ ด้านนั้น ทำให้เกิดดวงตาเห็นธรรม ทำให้เกิดปัญญา เป็นไปเพื่อความสงบกิเลส  เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความรู้แจ้ง และเพื่อดับทุกข์

            ทางสายกลางที่ตถาคตได้ตรัสรู้ ได้แก่ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ การกล่าวชอบ ๑ การกระทำชอบ ๑ การเลี้ยงชีพชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ และความตั้งใจมั่นชอบ ๑

            ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ตถาคตตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ ทุกขอริยสัจ ๑ ทุกขสมุทยอริยสัจ ๑ ทุกขนิโรธอริยสัจ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ๑

            ทุกขอริยสัจ ได้แก่ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ มีความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ กล่าวคือ การยึดมั่นถือมั่นขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์

            ทุกขสมุทยอริยสัจ คือ ตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่ ประกอบด้วยความยินดีพอใจเพลิดเพลินในภพ ได้แก่ ความผูกพันในกามคุณ(กามตัณหา)  ความผูกพันที่มีความเห็นผิดว่าภพเที่ยง(ภวตัณหา) ความผูกพันที่มีความเห็นผิดว่าภพขาดสูญ(วิภวตัณหา)

            ทุกขนิโรธอริยสัจ ได้แก่ ความดับสนิทซึ่งตัณหา ความสละตัณหา ความปล่อยตัณหา ความวางตัณหา ความไม่พัวพันตัณหานั้นทั้งหมด

            ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ วิธีปฏิบัติอันเป็นทางดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ ความเห็นชอบ ๑ ความดำริชอบ ๑ การกล่าวชอบ ๑ การกระทำชอบ ๑ การเลี้ยงชีพชอบ ๑ ความเพียรชอบ ๑ ความระลึกชอบ ๑ และความตั้งใจมั่นชอบ ๑

            ขณะพระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า

          สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

            สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

            ในบรรดาปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุ พระโสดาปัตติผล    จึงกราบทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า

            ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานโอวาทแก่ปัญจวัคคีย์อีก ๔ ท่าน ให้ได้ดวงตาเห็นธรรมตามลำดับ  

            ครั้นวันแรม ๕ ค่ำแห่งปักษ์ พระพุทธองค์ให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ประชุมพร้อมกันแล้วตรัสสอนด้วย อนัตตลักขณสูตร  พระสูตรว่าด้วยความไม่มีตัวตนของสรรพสิ่ง ทั้ง ๕ ท่านได้บรรลุพระอรหัตต์ด้วยเทศนากัณฑ์นี้

            เมื่อแสดงธรรมจักรแล้วพระพุทธเจ้าได้ประทับจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง

          ในระหว่างพรรษาที่ ๓ หลังการตรัสรู้ เมื่อภิกษุสงฆ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ไม่ทราบธรรมเนียมการจำพรรษา  แม้ถึงฤดูฝนก็ยังจาริกไปในที่ต่างๆ เหยียบย่ำพืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวบ้านได้รับความเสียหาย เบียดเบียนสัตว์เล็กสัตว์น้อยมากมายให้ได้รับความลำบาก ชาวบ้านต่างพากันตำหนิว่า แม้แต่นกหนูปูปีกยังรู้จักทำรังในหน้าฝน เหตุใดสมณศากยบุตรไม่รู้จักอยู่กับที่ เที่ยวเหยียบย่ำพืชพันธุ์ชาวบ้านให้ได้รับความเสียหาย พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทให้ภิกษุจำพรรษา  

ธรรมเนียมการจำพรรษาในปัจจุบัน

เนื่องจากตอนต้นพุทธกาล  ยังไม่มีวัดมากมายอย่างเช่นปัจจุบัน ธรรมเนียมการจำพรรษาของพระภิกษุ จึงต้องอาศัยพวกพ่อค้า ถ้ำ เงื้อมผา โรงนาของชาวบ้าน ตลอดจนกุฎีชั่วคราวที่ชาวบ้านสร้างถวายให้เป็นที่จำพรรษา  ต่อมาเมื่อมีผู้ศรัทธาสร้างวัดถวายเป็นการถาวร พระภิกษุก็เริ่มจำพรรษาในวัด วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือวัดเวฬุวัน  ที่พระเจ้าพิมพิสารถวาย

ในปัจจุบัน บ้านเมืองเจริญขึ้น  มีผู้ศรัทธาสร้างวัดไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก พระภิกษุไม่ลำบากในการแสวงหาที่จำพรรษา   จึงต้องจำพรรษาในวัด  เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งคณะสงฆ์  

ธรรมเนียมการเข้าพรรษาของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  มีพุทธานุญาตไว้เป็น  ๒ คราว  คือ

·  การเข้าพรรษาต้น เรียกว่า ปุริมิกาวัสสูปนายิกา เริ่มตั้งแต่ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘  เป็นต้นไป  การเข้าพรรษาต้นเป็นการเข้าพรรษาตามปกติ  ที่พระภิกษุปฏิบัติเป็นธรรมเนียมเหมือนกันหมด

·   การเข้าพรรษาหลัง เรียกว่า ปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา  เริ่มตั้งแต่แรม  ๑ ค่ำ  เดือน  ๙  เป็นต้นไป

การเข้าพรรษาหลัง ทรงอนุญาตไว้เป็นกรณีพิเศษสำหรับพระภิกษุที่มีเหตุขัดข้องเข้าพรรษาต้นไม่ทัน

สำหรับธรรมเนียมการจำพรรษาในประเทศไทย เริ่มกิจกรรมตั้งแต่วันอาสาฬหบูชา  คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าแสดงเทศนากัณฑ์แรกโปรดนักบวชปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญนั้น ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงได้จัดให้มีการแสดงธรรม เวียนเทียน และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับวันเข้าพรรษา  คือ การถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์   เนื่องจากในพระวินัย  พอถึงฤดูฝนพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้มีผ้าเพิ่มอีก ๑ ผืน คือ ผ้าอาบน้ำฝน  จึงทำให้เกิดธรรมเนียมการถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จะจำพรรษา  การถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นกาลทาน  คือทานที่กำหนดถวายตามกาล  ถวายผ้าอาบน้ำฝนนอกกาลที่กำหนดไม่ได้  พระภิกษุรับไว้เป็นอาบัติ ต้องสละผ้านั้น กาลทานที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนนั้นกำหนดระยะเวลา ๑ เดือนก่อนเข้าพรรษา

การถวายผ้าอาบน้ำฝน  ควรเลือกที่ผ้าพระภิกษุใช้ได้  ผู้ถวายก็จะได้ทั้งบุญ  พระภิกษุก็ได้ประโยชน์  ของบางอย่างถวายแล้วได้บุญ  ภิกษุก็ได้ใช้ประโยชน์  แต่ของบางอย่างถวายแล้วได้บุญอย่างเดียว  แต่พระภิกษุไม่ได้ใช้ประโยชน์  คือ ถวายแล้วพระภิกษุใช้ไม่ได้  เช่น ผ้าอาบน้ำฝนที่ถวายพระภิกษุในปัจจุบัน โดยมากพระภิกษุใช้ไม่ได้  เนื่องจากเล็กไปบ้าง  บางไปบ้าง   พระภิกษุท่านก็รับไว้เพื่อไม่ให้เสียศรัทธา

นอกจากผ้าอาบน้ำฝนแล้ว  ประชาชนยังได้จัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์ซึ่งจะจำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนั้นๆ  ที่สำคัญคือ น้ำมันเครื่องไฟตามประทีป เพื่อให้แสงสว่างในการประกอบกิจสงฆ์ระหว่างพรรษา  จนกลายมาเป็นประเพณีถวายเทียนพรรษาในปัจจุบัน

สำหรับพระภิกษุสงฆ์ รุ่งขึ้นอีกวันเป็นที่วันพระสงฆ์อธิษฐานจิตอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน  จากนั้นก็จะเดินทางไปขอขมาพระเถระผู้ใหญ่ในอาวาส  เพื่อรับฟังโอวาทในการที่จะอยู่จำพรรษาว่าจะถือข้อวัตรปฏิบัติอย่างไรเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ บางรูปก็ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปโดยการถือธุดงควัตรข้อใดข้อหนึ่งตลอดพรรษา

ต่อมาชาวพุทธได้ถือเป็นแบบอย่างในการตั้งสัจอธิษฐานว่าจะทำความดีโดยประการต่างๆ ตลอดพรรษา  มีการงดการดื่มเหล้า งดการสูบบุหรี่ งดเที่ยวกลางคืน งดเล่นการพนัน  เป็นต้น

ขั้นตอนการอธิษฐานพรรษา

สำหรับขั้นตอนการอธิษฐานเข้าพรรษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันตามวัดใหญ่ๆ มีดังนี้

·  ประธานสงฆ์จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย   แล้วกล่าวนำอธิษฐานพรรษา

คำอธิษฐานเข้าพรรษา

(ว่านะโม ๓ จบ)

อิมัสมิง  อาวาเส  อิมัง  เตมาสัง  วัสสัง  อุเปมิฯ (ว่า ๓ จบ)

คำแปล

ข้าพเจ้าเข้าจำพรรษาตลอดฤดูฝน ๓ เดือน ในอาวาสนี้

คำอธิษฐานเข้าพรรษา

(อีกแบบหนึ่ง)

อิมัสมิง  วิหาเร  อิมัง  เตมาสัง  วัสสัง  อุเปมิฯ (ว่า ๓ จบ)

คำแปล

เราเข้าถึงฤดูฝนในวิหารนี้  ตลอดหมวดสามเดือน

           · เมื่อประธานสงฆ์นำกล่าวคำอธิษฐานจำพรรษาเสร็จแล้ว  จากนั้นพระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์นำวันทาเพื่อขอขมาพระประธาน โดยการยืนขึ้นว่า

อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต // สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต // มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา  อนุโมทิตัพพัง //  สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง  //  สาธุ  /  สาธุ  /  อนุโมทามิ  

นั่งคุกเข่าประนมมือว่า

สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต //อุกาสะ  ทะวารัตตะเยนะกะตัง / สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม ภันเต//  ฯ

กราบ ๑ หน ยืนขึ้นว่า

วันทามิ   ภันเต//   สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต //   มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา อนุโมทิตัพพัง // สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง //  สาธุ /  สาธุ/  อนุโมทามิ

· ต่อจากนั้น พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งประกาศเขตจำพรรษาว่า ทิศตะวันออก ทิศใต้ ทิศตะวันตก และทิศเหนือ กำหนดเขตจำพรรษาตั้งแต่ไหนถึงไหน พระภิกษุที่อธิษฐานพรรษาแล้วต้องอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสในอาวาสนั้นๆ หากพระภิกษุรูปใดยังอรุณให้ตั้งขึ้นนอกเขต ต้องอาบัติทุกกฏเพราะวัตรเภท   พระภิกษุรับพร้อมกันว่า  สาธุ

· จากนั้น  พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ให้โอวาท

· พระสงฆ์สามเณรร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์

             · ขอขมาพระเถระในอาวาส   ยืนขึ้นว่า

              อุกาสะ  วันทามิ  ภันเต// สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต// มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา  อนุโมทิตัพพัง//  สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง//  สาธุ/  สาธุ/  อนุโมทามิ

นั่งคุกเข่าประนมมือว่า

สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต //อุกาสะ  ทะวารัตตะเยนะกะตัง / สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม ภันเต// 

พระเถระกล่าวว่า “อะหัง ขะมามิ ตะยาปิ เม ขะมิตัพพัง”  พึงตอบท่านว่า “อุกาสะ ขะมามิ ภันเต”

กราบ  ๑  หน ยืนขึ้นว่า

วันทามิ   ภันเต//   สัพพัง  อะปะราธัง  ขะมะถะ  เม  ภันเต//   มะยา  กะตัง  ปุญญัง  สามินา อนุโมทิตัพพัง// สามินา  กะตัง  ปุญญัง  มัยหัง  ทาตัพพัง//  สาธุ/  สาธุ/  อนุโมทามิ

จากนั้น พระเถระให้พร ผู้ขอขมาพึงก้มศีรษะลงประนมมือรับพร เป็นอันเสร็จพิธี

เหตุจำเป็นที่ต้องไปค้างคืนระหว่างพรรษา

แม้จะมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุจำพรรษา  โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นจากวัดที่จำพรรษาตลอดไตรมาส ๓ เดือน  แต่หากมีกิจจำเป็นต้องไป  พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ไปได้คราวละไม่เกิน  ๗  คืน   พอคืนที่ ๗ ต้องกลับมาค้างที่วัด  หากกิจนั้นยังไม่เสร็จ รุ่งขึ้นให้ทำสัตตาหะไปได้อีก กิจเป็นเหตุให้ไปค้างแรมที่อื่น เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ”  

การกล่าวคำสัตตาหะ  จะกล่าวเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทยก็ได้ไม่ผิด   เพราะจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อต้องการให้รู้ว่าเราอธิษฐานใจและตั้งใจเช่นนั้น  แต่นิยมกล่าวเป็นภาษาบาลี  เพื่อรักษาแบบแผนดั้งเดิมเอาไว้  โดยอธิษฐานจิตต่อหน้าพระประธาน แม้การทำ สัตตาหะ จะอธิษฐานจิตต่อหน้าพระประธาน พระภิกษุก็ควรบอกให้พระเถระในสงฆ์ทราบเหตุที่จำเป็นต้องไปค้างแรมที่อื่น กิจเป็นเหตุให้ไปค้างแรมที่อื่นได้มี ดังนี้

๑. สหธรรมิก หรือบิดามารดาเจ็บไข้  พระภิกษุทราบข่าวรู้  ไปเพื่อรักษาพยาบาลได้

๒. สหธรรมิกกระสันจะสึก  พระภิกษุทราบข่าว ไปเพื่อระงับ

๓. มีกิจสงฆ์เกิดขึ้นเช่นวิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่องทัพพสัมภาระมาปฏิสังขรณ์ได้

๔. ทายกต้องการจะบำเพ็ญกุศลนิมนต์พระภิกษุ

ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้

        แม้กิจอย่างอื่นที่เกิดขึ้น  อันเกี่ยวกับพระศาสนา อนุโลมตามนี้  พระภิกษุสามารถไปได้ 

คำสัตตาหะ

สัตตาหะกะระณียัง  กิจจัง  เม  อัตถิ  ตัสมา  มะยา  คันตัพพัง

อิมัสมิง  สัตตาหัพภันตะเร  นิวัตติสสามิ ฯ

คำแปล

ข้าพเจ้ามีกิจที่ต้องภายใน ๗ วัน    ข้าพเจ้าจึงต้องไป

ข้าพเจ้าจักกลับมาภายใน ๗ วันนี้

พรรษาขาดแต่ไม่เป็นอาบัติ

  ถูกสัตว์ร้าย  โจร  หรือ  ปีศาจเบียดเบียน

  เสนาสนะกุฏิวิหารที่อยู่อาศัยถูกไฟไหม้ หรือน้ำท่วม  ไม่สามารถอยู่จำพรรษาได้

   ไฟไหม้ น้ำท่วมหมู่บ้านที่บิณฑบาต  ทำให้ลำบากในการบิณฑบาต  ชาวบ้านอพยพไป  พระภิกษุตามชาวบ้านไปได้

  อาหารขัดสน บิณฑบาต ไม่ได้อาหารหรือเภสัช  หรือไม่ได้อุปัฏฐากที่สมควร  ถ้ายังทนอยู่ได้ก็ควรทนอยู่ต่อไป   หากทนไม่ได้จริงๆ  จึงค่อยไป

   มีหญิงมาเกลี้ยกล่อม  หรือมีญาติมารบกวน  ล่อด้วยทรัพย์    ปกติจิตมักเปลี่ยนแปลงกลับกลอกเร็ว  หากอยู่ต่อไปจะเป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์  ไปเสียก็ได้ 

   สงฆ์ในอาวาสอื่น  จวนจะแตกหรือแตกกันแล้ว  ไปเพื่อจะห้ามหรือเพื่อจะสมานฉันท์  ถ้ากลับมาทันภายใน ๗ วัน  ควรไปด้วยสัตตาหกรณียะ

                       อานิสงส์การจำพรรษา

            พระภิกษุอยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาส  จะได้รับอานิสงส์การจำพรรษา  เป็นการลดหย่อนวินัยบางข้อให้ภิกษุออกไปอีก ๑ เดือน  จนถึงกลางเดือน ๑๒ 

สำหรับประเทศไทยกำหนดง่ายๆ วันลอยกระทงเป็นวันสุดท้ายของอานิสงส์การจำพรรษา 

วินัยที่ลดหย่อนมีดังนี้

·    เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา

·    เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับ

·    ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้

·    เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

ออกพรรษา

ในวันสิ้นสุดการจำพรรษา มีพระบรมพุทธานุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้วทำปวารณาต่อกันและกัน  เป็นการบอกให้โอกาสแก่พระภิกษุทั้งหลาย  เพื่อปวารณาว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้  โดยไม่ให้ถือโทษโกรธเคืองกัน  ใครมีข้อขัดข้องหมองใจสิ่งใดในการอยู่ร่วมกันมาตลอดพรรษา  ๓ เดือน  ก็ให้ว่ากล่าวกันได้ในวันนั้น

ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษาของพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓  เดือน วันนั้นงดสวดปาติโมกข์  แต่จะมีการสวดปวารณาแทน

ปวารณา (๓)  คือ    การบอกเพื่อให้โอกาสแก่พระภิกษุทั้งหลาย  เพื่อว่ากล่าวตักเตือนตนได้

การที่พระพุทธเจ้าให้พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ให้ปวารณาต่อกันได้  เนื่องจากพระภิกษุอยู่ร่วมกันหลายรูป อาจมีปัญหาข้อขัดแย้งกันบ้างตามธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน   เมื่อออกพรรษาไปแล้ว  อาจไม่มีโอกาสพบกันอีก เพราะต่างคนก็ต่างจาริกไปในที่ต่างกัน ปัญหาข้อขัดแย้งที่ยังไม่ได้แก้ไข ก็จะเป็นเรื่องค้างคาใจตลอดไป 

ปวารณาออกพรรษา

เมื่อพระภิกษุประชุมพร้อมกันตามเวลาที่ทางวัดกำหนดไว้แล้ว  พระเถระผู้เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วนำพระภิกษุทั้งนั้นกราบ  ๓  หน  แล้วนำสวดบททำวัตรพระตามแบบที่ใช้ก่อนลงอุโบสถ จากนั้นพระภิกษุล้อมวงกันเข้าเหมือนฟังสวดปาฏิโมกข์  พระภิกษุผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้สวดตั้งญัตติปวารณกรรม 

การปวารณาออกพรรษา

        จากนั้น พระภิกษุออกมานั่งตามลำดับพรรษา แล้วกล่าวคำปวารณาไปตามลำดับพรรษา จากผู้มีพรรษามากสุดไปหาพรรษาน้อยสุด

คำปวารณาออกพรรษา

(สำหรับพระภิกษุสงฆ์ทุกรูป)

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต  อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะฯ

(ว่า  ๓  หน)

สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ  ทิฏเฐนะ  วา  สุเตนะ  วา  ปะริสังกายะ  วา วะทันตุ  มัง  อายัสมันโต  อะนุกัมปัง  อุปาทาย,  ปัสสันโต  ปะฏิกกะริสสามิฯ

ทุติยัมปิ  ภันเต  สังฆัง  ปะวาเรมิ  ทิฏเฐนะ  วา  สุเตนะ  วา  ปะริสังกายะ  วา วะทันตุ  มัง  อายัสมันโต  อะนุกัมปัง  อุปาทาย,   ปัสสันโต  ปะฏิกกะริสสามิฯ

ตะติยัมปิ  ภันเต สังฆัง ปะวาเรมิ  ทิฏเฐนะ  วา  สุเตนะ  วา  ปะริสังกายะ  วา วะทันตุ  มัง  อายัสมันโต  อะนุกัมปัง  อุปาทายะ,  ปัสสันโต  ปะฏิกกะริสสามิฯ

คำแปล

ท่านขอรับ  กระผมปวารณาต่อสงฆ์  ด้วยได้เห็นก็ดี  ด้วยได้

ฟังก็ดี  ด้วยสงสัยก็ดี  ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว

กระผม   กระผมเห็นอยู่จักทำคืน  กระผมจะปวารณาต่อสงฆ์ฯ

ครั้งที่สอง ท่านขอรับ  กระผมปวารณาต่อสงฆ์  ด้วยได้เห็นก็ดี  ด้วยได้ฟังก็ดี  ด้วยสงสัยก็ดี  ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าว กระผม   กระผมเห็นอยู่จักทำคืน  กระผมจะปวารณาต่อสงฆ์ฯ

ครั้งที่สาม  ท่านขอรับ  กระผมปวารณาต่อสงฆ์  ด้วยได้เห็นก็ดี  ด้วยได้ฟังก็ดี  ด้วยสงสัยก็ดี  ขอท่านทั้งหลายจงอาศัยความกรุณาว่ากล่าวกระผม   กระผมเห็นอยู่จักทำคืน  กระผมจะปวารณาต่อสงฆ์ฯ

จบพิธีปวารณาออกพรรษา

การตักบาตรเทโวโรหณะ

            รุ่งขึ้นอีกวันหลังพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษา มีประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวไทยผู้นับถือพระพุทธศาสนา ยึดถือและปฏิบัติสืบมา  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวันออกพรรษา  คือ การตักบาตรเทโวโรหณะ  หมายถึง  การตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์   

การตักบาตรเทโวโรหณะมีประวัติความเป็นมา ดังนี้

              หลังจากพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จไปจำพรรษาในภพดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา   

              เมื่อพระองค์ประทับนั่งที่ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ รัศมีของพระองค์รุ่งเรืองสดใสกว่ารัศมีของเทพยดาทั้งปวง  พระพุทธมารดาเสด็จมาจากสวรรค์ชั้นดุสิต

              ส่วนประชาชนที่มาเพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า  เมื่อไม่เห็นต่างก็คร่ำครวญกัน ถามท่านพระโมคคัลลานะว่า พระบรมศาสดาเสด็จไปที่ใด  พระโมคคัลลานะบอกให้ไปถามพระอนุรุทธะเถระ  

              พระอนุรุทธะตอบว่า พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ในภพดาวดึงส์   เพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา

              ประชาชนเรียนถามว่า พระองค์ท่านจักเสด็จลงมาเมื่อใดพระอนุรุทธะตอบว่า พระองค์จักเสด็จลงมาในวันมหาปวารณา ประชาชนต่างพูดกันว่า  หากไม่ได้พบพระบรมศาสดาจะไม่กลับ จึงช่วยกันทำที่พักอยู่ ณ ที่นั้นเอง  บริเวณนั้นจึงเต็มไปด้วยประชาชนที่มาเฝ้ารอการเสด็จกลับของพระพระพุทธองค์

              พระมหาโมคคัลลานะได้ทำหน้าที่แสดงธรรมแก่ประชาชนส่วนจุลอนาถบิณฑิกะได้ช่วยจัดหาอาหารจนครบ ๓ เดือน

บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธองค์ประทับนั่งท่ามกลางเหล่าเทพทรงปรารภพระมารดา เริ่มแสดงพระอภิธรรมเรื่อยไปตลอด ๓ เดือน ในเวลาภิกขาจารทรงเนรมิตพระพุทธนิรมิต แล้วอธิษฐานว่า ขอพุทธนิรมิตจงแสดงธรรมนี้จนกว่าเราจะกลับมา  แล้วเสด็จไปยังหิมวันตประเทศ ทรงเคี้ยวไม้สีฟันชื่อนาคลดา บ้วนพระโอษฐ์ที่สระอโนดาต นำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป ประทับนั่งกระทำภัตกิจ  โดยมีพระสารีบุตรไปคอยอุปัฏฐาก พระองค์ตรัสแก่พระสารีบุตรว่า  วันนี้พระองค์ได้แสดงธรรมหัวข้อนี้แก่พระพุทธมารดา ให้พระสารีบุตรบอกธรรมนั้นแก่ภิกษุ ๕๐๐ ผู้เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร

แล้วจึงเสด็จกลับเทวโลก  ทรงแสดงธรรมต่อจากที่พระพุทธนิรมิตแสดง พระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่ภิกษุผู้เป็นลูกศิษย์  ขณะที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ในเทวโลก ภิกษุเหล่านั้นได้เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์อภิธรรมทั้ง ๗

มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทว่า การที่พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้สนใจพระอภิธรรมเนื่องจากในอดีตชาติ สมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ พระภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ เกิดเป็นค้างคาวอาศัยอยู่ที่เงื้อมผาแห่งหนึ่ง  มีพระเถระ ๒ รูปปฏิบัติธรรมเดินจงกรมแล้วท่องพระอภิธรรมอยู่  ค้างคาวเหล่านั้นได้ยินเสียงพระภิกษุก็กำหนดนิมิตตามเสียง แม้ไม่รู้ว่าหัวข้อธรรมเหล่านี้ชื่อว่าขันธ์  หัวข้อธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธาตุ เมื่อตายจากภพค้างคาวนั้นได้ไปบังเกิดเป็นเทวดานานถึงพุทธันดรหนึ่ง จุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาบังเกิดในตระกูลชาวกรุงสาวัตถี มีความเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าแสดงก่อนเสด็จไปจำพรรษาในภพดาวดึงส์ จึงบวชในสำนักของพระสารีบุตรเถระได้เป็นผู้ชำนาญในพระอภิธรรมทั้ง ๗ ปกรณ์ ก่อนภิกษุทั้งปวง

พระบรมศาสดาก็ทรงแสดงพระอภิธรรมโดยทำนองนั้นตลอด ๓ เดือนแก่พระพุทธมารดา เมื่อจบเทศนา พระพุทธมารดา ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ส่วนประชาชนที่เฝ้ารอพระพุทธองค์คิดกันว่า อีก ๗ วัน จะปวารณาออกพรรษา จึงไปถามพระโมคคัลลานะเถระถึงวันที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงสู่เมืองมนุษย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงขึ้นไปทูลพระพุทธเจ้า

พระบรมศาสดาตรัสว่า ในวันมหาปวารณา อีก ๗ วันจากนี้ไป  พระองค์จักลงที่ประตูเมืองสังกัสสะ ซึ่งเป็นเมืองที่พระสารีบุตรจำพรรษา 

ครั้นถึงวันมหาปวารณา พระพุทธองค์ตรัสแก่ท้าวสักกะว่า  จะกลับเมืองมุนษย์ ท้าวสักกะเนรมิตบันได ๓ ชนิด คือ บันไดทองคำ บันไดแก้วมณี บันไดเงิน ทอดจากภพดาวดึงส์ ลงมายังประตูเมืองสังกัสสะ โดยมีบันไดทองอยู่ทางเบื้องขวา  สำหรับเหล่าเทวดา

บันไดเงินอยู่ทางเบื้องซ้าย  สำหรับท้าวมหาพรหม บันไดแก้วมณี อยู่ตรงกลาง   สำหรับพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ประทับยืนเปล่งพระฉัพพรรณรังสี แล้วทอดพระเนตรไปข้างบน สถานที่พระองค์ทรงแลดูปรากฏเป็นอันเดียวกันจนถึงพรหมโลก ทรงแลดูข้างล่าง ก็ปรากฏเป็นอันเดียวกันจนถึงนรกอเวจี ทรงแลดูทิศต่างๆ ทั้งหลาย จักรวาลหลายแสนได้ปรากฏเป็นอันเดียวกัน พวกเทวดาและมนุษย์ต่างเห็นกันและกัน ประชาชนที่เห็นสิริของพระพุทธองค์แล้ว ไม่มีใครที่ไม่ต้องการที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

ขณะพระพุทธองค์เสด็จลงมา ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร   ท้าวสักกเทวราชถือบาตร  ท้าวสุยามะพัดด้วยวาลวีชนีอันเป็นทิพย์  ปัญจสิขเทพบุตรบรรเลงดนตรีสวรรค์ด้วยพิณสีเหลือง ขับร้องบูชานำเสด็จลงมา  มาตลิเทพบุตร ยืนด้านซ้าย ถือของหอมและดอกไม้อันเป็นทิพย์ บูชาตามเสด็จลงมา

นอกจากวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลกจะได้ชื่อว่า  “วันเทโวโรหณะ” ยังถือว่าเป็นวัน  “พระพุทธเจ้าเปิดโลก”  เนื่องจากในวันนั้น  โลกทั้ง ๓ คือ  โลกมนุษย์  โลกสวรรค์ และโลกนรกต่างเห็นกันหมดปรากฏเป็นส่วนเดียวกัน

การรับกฐิน

การรับกฐินเป็นสังฆกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระสงฆ์  พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้แก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาไม่ขาดตลอดไตรมาส ๓ เดือน และอาวาสที่จะรับกฐินได้ต้องมีภิกษุอยู่จำพรรษา อย่างน้อย ๕ รูปขึ้นไป  ต่ำกว่านั้นรับกฐินไม่ได้  เหตุที่กฐินต้องมีภิกษุ ๕ รูป เนื่องจากกฐินจะสำเร็จได้ด้วยสงฆ์ ๔ รูป เป็นผู้ลงมติว่าจะให้ใครเป็นผู้ครองผ้ากฐิน ส่วนรูปที่ ๕ เป็นผู้รับ จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการแสดงถึงความสามัคคีของภิกษุได้อยู่จำพรรษาร่วมกัน เป็นกุศโลบายให้เกิดความรักความสามัคคีในหมู่คณะ

การรับกฐินเป็นกาลทานมีกำหนดระยะเวลา ๑ เดือน เริ่มตั้งแต่วันออกพรรษา(วันตักบาตรเทโวโรหนะ)  ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕  เดือน ๑๒  และสิ้นสุดเขตกฐินในวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒  เพื่อให้จำกันได้ง่ายๆ วันลอยกระทงของชาวไทยเป็นวันสิ้นสุดเขตกฐิน   ถวายนอกเขตที่กำหนดไว้ไม่เป็นกฐิน 

นอกจากนั้น การรับกฐินยังเป็นสังฆกรรมที่แสดงออกถึงแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

ผ้าที่จะเป็นผ้ากฐินได้นั้น ต้องเป็นผ้าบริสุทธิ์ที่ได้มาโดยสิทธิ์ขาด  ไม่เป็นผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์  คือ ผ้าที่ภิกษุต้องสละ  และไม่ใช่ผ้าที่ได้มาโดยเอ่ยปากขอ หรือพูดเลียบเคียงเป็นนัยแล้วได้มา  ไม่ว่าจะเป็นผ้าที่เขาถวายมาใหม่  ผ้าใหม่เย็บปะต่อเข้ากับผ้าเก่า  ผ้าบังสุกุลที่เก็บตามป่าช้า  หรือผ้าที่เขาทิ้งตามตลาดก็ตาม    ใช้เป็นผ้ากฐินได้ 

กฐินสมัยพุทธกาลนั้นเป็นสังฆกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความสามัคคี พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาในอาวาสเดียวกัน  ต้องร่วมกันทำกิจเกี่ยวกับผ้ากฐินทุกรูป  เริ่มตั้งแต่หาไม้มาทำแบบสำหรับขึงเย็บผ้า  การซักผ้า  การกะ  ตัด  เนา เย็บ  และการย้อมจีวรที่เย็บแล้ว  หลังจากนั้นจึงนำจีวรที่เย็บแล้วเข้าสู่ที่ประชุมสงฆ์  เพื่อลงมติว่าจะให้จีวรที่ร่วมกันเย็บขึ้นมานั้นแก่ภิกษุรูปใด พระภิกษุผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมพิธีรับผ้ากฐินได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้  

·  ต้องเป็นผู้จำพรรษาครบ ๓ เดือนไม่ขาด

·  ต้องจำพรรษาอยู่อาวาสเดียวกัน

·  พระภิกษุที่จำพรรษาต้องมีจำนวนตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป

· ผ้าที่ใช้เป็นผ้ากฐินต้องเป็นผ้าที่บริสุทธิ์ ได้มาโดยสิทธิ์ขาด  ไม่เป็นผ้าที่เป็นนิสสัคคีย์  และไม่ใช่ผ้าที่ได้มาโดยเอ่ยปากขอ หรือพูดเลียบเคียงเป็นนัยแล้วได้มา 

พระภิกษุผู้ควรกรานกฐิน  คือ  พระภิกษุผู้เหมาะที่จะเป็นผู้ครองผ้ากฐินนั้น   จะต้องมีคุณบัติ  ๘  ประการ  ดังนี้ 

๑.  รู้จักบุพพกรณ์  คือ รู้จักวิธีการทำจีวรให้เสร็จก่อน ได้แก่ การซักผ้า กะผ้า ตัดผ้า เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว เย็บเป็นจีวร ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว  ทำกัปปะ  คือ  พินทุ

๒.  รู้จักถอนไตรจีวร  คือ ถอนผืนเก่าที่ใช้อยู่แล้ว

๓.  รู้จักอธิษฐานไตรจีวร  คือ อธิษฐานไตรจีวรที่ได้มาใหม่

๔.  รู้จักการกราน คือ วิธีการกรานกฐินตามพระวินัย

๕.  รู้จักมาติกา  คือ หัวข้ออื่นๆ เกี่ยวกับกฐิน

๖.  รู้จักปลิโพธิ   คือ ความกังวลในอาวาสและจีวร

๗.  รู้จักการเดาะกฐิน  คือ รู้กฐินเสียหายไม่เป็นกฐิน

๘.  รู้จักอานิสงส์กฐิน คือ อานิสงส์จากการอนุโมทนากฐิน

การร่วมกันทำจีวรของพระสาวกสมัยพุทธกาลเป็นกิจที่สำคัญ แม้พระพุทธองค์ก็เสด็จมาร่วมทำจีวรด้วย เช่น ครั้งหนึ่ง จีวรพระอนุรุทธะเถระเก่ามากแล้ว  ท่านจึงเก็บรวบรวมผ้าในที่ต่างๆ มีกองหยากเยื่อ เป็นต้น    จนได้ผ้าพอจะเย็บจีวรได้ 

 ในวันทำจีวรของพระเถระนั้น  พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระภิกษุ  ๕๐๐ รูป ได้เสด็จไปในที่นั้นด้วย   แม้พระเถระผู้ใหญ่  ๘๐ รูป ก็ตามเสด็จไปเช่นกัน   พระมหากัสสปะนั่งต้นแถว พระสารีบุตรเถระนั่งตรงกลาง พระอานนทเถระนั่งในที่สุดเพื่อเย็บจีวร   พระภิกษุสงฆ์กรอด้าย   พระพุทธองค์ทรงร้อยด้ายนั้นในบ่วงเข็ม  

สำหรับพระมหาโมคคัลลานเถระ ทำหน้าที่ในการจัดแจงเรื่องอาหารการฉัน บอกกล่าวให้ชาวบ้านได้ทราบว่า ขณะนี้พระศาสดาพร้อมทั้งพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป กำลังช่วยพระอนุรุทธเถระทำจีวรอยู่ในวิหาร  มีพระภิกษุ  ๕๐๐ รูปร่วมกันทำด้วย   ชาวบ้านทราบข่าวต่างก็ช่วยกันจัดอาหารไปถวายอย่างมากมาย

คำกรานผ้ากฐิน

อิมายะ  สังฆาฏิยา  กะฐินัง  อัตถะรามิ  (สังฆาฏิ)

อิมินา  อุตตราสังเคนะ  กะฐินัง  อัตถะรามิ  (จีวร)

  อิมินา  อันตะรวาสะเกนะ  กะฐินัง  อัตถะรามิ  (สบง)

คำบอกของผู้กราน (คือผู้รับ) ในสงฆ์

อัตถะตัง  ภันเต (๔) สังฆัสสะ  กะฐินัง ธัมมิโก  กะฐินัตถาโร 

อะนุโมทะถะ

คำอนุโมทนากฐิน

อัตถะตัง  ภันเต (๕) สังฆัสสะ  กะฐินัง ธัมมิโก  กะฐินัตถาโร 

อะนุโมทามิ

อานิสงส์กฐิน

          การรับผ้ากฐินเป็นส่วนหนึ่งของอานิสงส์การจำพรรษา พระภิกษุที่รับกฐิน และอนุโมทนาแล้วจะได้โอกาสขยายเขตจีวรกาลให้ยาวออกไปตลอด  ๔ เดือนในฤดูหนาว 

พระภิกษุจำพรรษาได้อานิสงส์การจำพรรษา ๑ เดือน แต่เมื่ออนุโมทนากฐิน จะได้อานิสงส์กฐินขยายออกไปอีก ๔ เดือน อานิสงส์การอนุโมทนากฐินมี ๕ ประการ ดังนี้

๑.  เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา

๒.  เที่ยวจาริกไปไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบทั้ง ๓ ผืน

๓.  ฉันคณโภชน์ได้(ฉันร่วมกลุ่ม)  และฉันปรัมปรโภชน์ได้(ฉันแล้วฉันอีกได้)

๔.  เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

๕.  จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของได้แก่พวกเธอ


(๑) ๑ โยชน์  ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร  ถ้า ๑๘ โยชน์ ก็เท่ากับ ๓๒๐ กิโลเมตร 

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และใช้เวลาประทับอยู่ที่บริเวณต้นโพธิ์ ๗ สัปดาห์ เท่ากับ ๔๙ วัน เหลือเวลาอีก ๑๑ วัน ก็จะเป็นวันเข้าพรรษา พระองค์ต้องใช้เวลาเดินทาง ๑๑ วัน ด้วยระยะทางประมาณ ๓๒๐  กิโลเมตร  เพื่อไปให้ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันก่อนวันเข้าพรรษา (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) แสดงว่าพระพุทธเจ้าออกเดินทางเช้ามืดของวันขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘  เป็นวันอาสาฬหบูชา  พระจันทร์เต็มดวงเสวยอาสาฬหฤกษ์ รวมเวลาได้ ๑๑ วัน และแสดงปฐมเทศนาในวันนั้น รุ่งขึ้นอีกวันเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘  จึงประทับจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั่นเอง

เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าใช้เวลาเดินทาง ๑๑ วัน  และเดินทางโดยเฉลี่ยประมาณ ๓๐  กิโลเมตรต่อวัน

(๒)  ภายหลัง อุปกาชีวก บวชในพระพุทธศาสนา  และได้บรรลุพระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา

(๓) วันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน  ๑๑  ยังไม่ใช้วันออกพรรษา แต่เป็นวันปวารณาเพื่อจะออกพรรษาในวันรุ่งขึ้น  พระสงฆ์แม้จะปวารณาในวันนั้นแล้ว  ยังต้องค้างแรมในอาวาสที่จำพรรษาอีกหนึ่งคืน  การที่ปวารณาวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เพราะยังอยู่ในเขตจำพรรษา พระภิกษุยังไม่ได้ไปไหน  หากปวารณาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษาจริง  พระภิกษุบางรูปอาจมีกิจต้องไปแต่เช้าตรู่  อันจะเป็นเหตุไม่ได้ปวารณา

(๔)ถ้าผู้กรานแก่กว่าว่า  ” อัตถะตัง  อาวุโส “

(๕) ถ้าผู้กรานอ่อนกว่าว่า   ” อัตถะตัง  ภันเต “

ลูกผู้ชายต้องบวช บรรพ์ที่ ๑๒ : การจำพรรษาและออกพรรษา : เรียบเรียงโดย ญาณวชิระ (พระมหาเทอด ญาณวชิโร อดีตพระราชกิจจาภรณ์)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here