วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒

จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ ฯ

ขอพระพุทธศาสนาจงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน

“ญาณวชิระ”

นครหลวงประเทศไทย ระหว่างพรรษา ปีพุทธศักราช ๒๕๕๐

เรียนรู้ชีวิตลูกผู้ชาย ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพื่อเรียนรู้ชีวิตพระภิกษุที่สมบูรณ์ หนังสือที่ลูกผู้ชายทุกคนต้องอ่าน

“ลูกผู้ชายต้องบวช” เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

(ตอนที่ ๓๕) บรรพ์ที่

สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือวินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม

ตอน บาตร และประวัติบาตร

บาตร

บาตรเป็นบริขารที่มีไว้ใช้ได้ใบเดียวเท่านั้น  หากมีใบที่ ๒ ต้องทำวิกัปป์เก็บไว้  บาตรที่ทรงอนุญาตไว้มี  ๒ ชนิด  คือ

· บาตรดินเผา                                            

·  บาตรเหล็ก                                           

นอกจากนั้น ยังมีของที่ห้ามไม่ให้ใช้แทนบาตร  คือ  กระทะดิน   กะโหลกน้ำเต้า   กะโหลกหัวผี  แม้จะมีรูปร่างคล้ายบาตร  ก็ไม่อนุญาตให้ใช้แทนบาตร  เนื่องจากกระทะดินเป็นของที่ชาวบ้านใช้  และขอทานใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับขอทาน  หากใช้กระทะดินแทนบาตรเกรงพระภิกษุจะเหมือนขอทาน กะโหลกน้ำเต้า  ใช้แล้วอาจทำให้อาหารเป็นพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ  ส่วนกะโหลกหัวผี  เป็นของไม่สะอาดน่าเกลียดน่ากลัวต่อผู้พบเห็น  อีกทั้งจะทำให้พระภิกษุดูเป็นคนดุร้ายเหี้ยมโหด  

บาตรมี  ๓ ขนาด  คือ

·  บาตรขนาดเล็ก  จุข้าวสุกคนกินได้  ๒  คนอิ่ม 

·  บาตรขนาดกลาง  จุข้าวสุกคนกินได้  ๕  คนอิ่ม   

· บาตรขนาดใหญ่  จุข้าวสุกคนกินได้  ๑๐  คนอิ่ม

นอกจากนั้น  ยังมีบาตรที่ทรงห้ามใช้อีก  ๑๑  ชนิด คือ  บาตรทอง บาตรเงิน  บาตรแก้ว  บาตรแก้วไพฑูรย์  บาตรแก้วผลึก  เพราะเป็นของมีค่า  ไม่สมควรสำหรับพระภิกษุ  และ   ยังอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตเพราะถูกโจรผู้ร้ายปล้นชิงเอาได้    

สำหรับ บาตรแก้วหุง เป็นของแตกง่าย  หากปะปนไปกับอาหารก็จะเกิดอันตรายต่อชีวิต

บาตรทองแดง  บาตรทองเหลือง  บาตรดีบุก  บาตรสังกะสี ถูกอาหารเปรี้ยว เค็มเกิดสนิมเป็นอันตรายต่อสุภาพ  ส่วน บาตรไม้ เป็นของผุกร่อนรั่วซึมง่าย จึงไม่ควรนำมาทำบาต

เพราะบาตรนั้นเป็นบริขารที่สำคัญสำหรับพระภิกษุ จึงต้องรู้จักวิธีรักษาบาตร  ห้ามไม่ให้พระภิกษุใช้บาตรต่างกระโถน เช่น ทิ้งก้างปลา  กระดูก  เนื้อ  หรืออื่นๆ  อันเป็นเดนลงในบาตร  ห้ามไม่ให้ล้างมือหรือบ้วนปากในบาตร  มือเปื้อนจะจับบาตรไม่ได้  พระภิกษุฉันอาหารแล้วต้องล้างบาตร ห้ามไม่ให้เก็บบาตรไว้ทั้งที่ยังเปียกอยู่  ให้ผึ่งแดดก่อน  ห้ามไม่ให้ผึ่งทั้งยังเปียก  ให้เช็ดน้ำจนหมดน้ำก่อนจึงผึ่ง  ห้ามไม่ให้ผึ่งไว้นาน  ให้ผึ่งครู่หนึ่ง  พอแห้งแล้วให้เก็บทันที  ธรรมเนียมการระวังรักษาบาตร  มีดังนี้

·  ห้ามวางบาตรบนเตียง

·  ห้ามวางบาตรบนตั่ง บนม้า  หรือโต๊ะ

·  ห้ามวางบาตรบนร่ม

·  ห้ามวางบาตรบนพนัก

·  ห้ามวางบาตรบนชานนอกพนัก

·   ห้ามวางบาตรบนตัก

·  ห้ามแขวนบาตร  เช่น แขวนที่ราวจีวร

·  ห้ามคว่ำบาตรที่พื้นคมแข็ง อันจะเป็นอันตรายต่อบาตร

·  มีบาตรอยู่ในมือ  ห้ามผลักบานประตู

กิจเกี่ยวกับบาตรการดูแลรักษาบาตรอีกอย่างหนึ่ง คือ การระบมบาตร เพื่อไม่ให้เกิดสนิม  พระสงฆ์ที่ยังถือปฏิบัติตามธรรมเนียมเดิมจะระบมบาตรเดือนละครั้ง  คือ ทุกวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เหมือนโกนผม แต่เนื่องจากในสมัยปัจจุบันมีกรรมวิธีในการผลิตบาตรดีมากขึ้น  ทำให้บาตรไม่ขึ้นสนิม  จึงไม่จำเป็นที่ต้องระบมบาตร  แต่บางแห่งเมื่อจะใช้บาตรใหม่ต้องระบมก่อนเพื่อให้บาตรเปลี่ยนจากสีเดิมจะได้ไม่ให้เกิดความยึดติดว่าเป็นของสวยงาม

 เล่าเรื่อง  ประวัติบาตร

            ภายหลังการตรัสรู้ พระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุติสุขอยู่บริเวณต้นโพธิ์ ๗ สัปดาห์  ขณะประทับอยู่ที่โคนต้นราชายตนะนั้น พาณิชสองคนพี่น้องชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้นำสินค้าบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่ม เดินทางจากอุกกลชนบทเพื่อไปค้าขายยังมัชฌิมประเทศ  ได้พบพระพุทธองค์ในระหว่างการเดินทางผ่านมา พาณิชสองพี่น้องนั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ สัตตุผงสัตตุก้อน (๑)* ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งสองด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า

ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดำริว่า พระตถาคตทั้งหลายองค์ก่อนๆ ไม่รับของถวายด้วยพระหัตถ์ เราจะรับสัตตุผงและสัตตุก้อนนี้ด้วยอะไร เพราะบาตรได้หายไปในวันที่รับข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา

ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทราบปริวิตกแห่งจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้มาจากทิศทั้ง ๔ น้อมบาตรที่ทำจากแก้วมรกตเข้าไปถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิเสธบาตรเหล่านั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จึงน้อมนำบาตรที่ทำจากดิน ๔ ใบ เข้าไปถวายแทนบาตรแก้วมรกตนั้น

เพื่อจะทรงอนุเคราะห์ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ พระบรมศาสดาจึงทรงรับบาตรทั้ง ๔ ใบ นำมาวางซ้อนกันแล้วอธิษฐานว่า ขอจงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ จึงรวมเป็นบาตรใบเดียวกันโดยไม่มีรอยปรากฏที่ขอบบาตร  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงใช้บาตรดินนั้นรับสัตตุผงสัตตุก้อน เสวยแล้วทรงกระทำอนุโมทนา

ครั้งนั้น ตปุสสะและภัลลิกะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระธรรมว่าเป็นสรณะ (เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้น) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าทั้งสอง ว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป

พาณิชสองพี่น้องจึงชื่อว่า เทววาจิกอุบาสก (๒) * นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

            พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประทานพระเกศธาตุแก่เขาทั้งสอง พาณิชทั้งสองนั้นราวกับได้อภิเษกด้วยอมตธรรม รื่นเริงยินดี บรรจุพระเกศธาตุเหล่านั้นไว้ภายในผอบทอง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป นำพระเกศธาตุไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองอสิตัญชนะ อันเป็นบ้านเกิดของตน

ครั้นต่อมาในระหว่างพรรษาที่ ๖ หลังการตรัสรู้ พวกเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้พากันไปอาบน้ำในแม่น้ำคงคา  ได้ขึงตาข่ายไว้ในน้ำเพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้าย  คลื่นได้พัดเอาปุ่มไม้จันทน์แดงขนาดประมาณเท่าบาตรลอยมาติดตาข่าย

ตามธรรมดาไม้จันทน์แดงนั้นเป็นไม้ที่มีราคาแพง เศรษฐีจึงให้ช่างกลึงปุ่มไม้จันทน์แดงให้เป็นบาตร  แขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ผูกต่อกันขึ้นไปหลายชั่วลำไผ่  แล้วประกาศว่า สมณะหรือพรามหณ์ผู้ใดเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงเหาะมาปลดเอาบาตรนี้ไปเถิด

ปูรณกัสสปะ นักบวชลัทธิหนึ่งในสมัยพุทธกาล (๓)* ทราบข่าวนั้นจึงได้เข้าไปหาเศรษฐี กล่าวว่า อาตมานี้แหละเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ขอท่านจงให้บาตรแก่อาตมาเถิด ท่านเศรษฐีตอบว่า ถ้าพระคุณเจ้าเป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ ก็จงเหาะขึ้นไปปลดบาตรเองเถิด

จากนั้นก็มีเจ้าลัทธิต่างๆ เช่น มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถ์นาฏบุตร เข้าไปหาเศรษฐี พูดทำนองเดียวกันกับท่านปูรณกัสสปะ  ก็ได้รับคำตอบจากเศรษฐีเช่นเดียวกัน  แต่ไม่มีใครขึ้นไปเอาบาตรลงมาได้  เศรษฐีจึงปรารภว่า ในโลกนี้เห็นจะไม่มีพระอรหันต์แน่

เช้ารุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะ กับพระปิณโฑลภารทวาชะ เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ทราบข่าวนั้น พระปิณโฑลภารทวาชะจึงบอกท่านพระโมคคัลลานะให้ขึ้นไปปลดเอาบาตรนั้นลงมา

พระโมคคัลลานะกล่าวว่า ท่านนั่นแหละขึ้นไปปลดเอาบาตรนั้นลงมา พระปิณโฑลภารทวาชะจึงเหาะขึ้นกลางอากาศ ถือเอาบาตรนั้นเหาะเวียนไปรอบกรุงราชคฤห์ ๓ รอบ

เศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรือนของตน เห็นดังนั้นจึงประคองอัญชลีนมัสการ นิมนต์ให้มายังเรือนของตนเพื่อรับภัตตาหาร พระปิณโฑลภารทวาชะรับบาตรนั้นแล้วกลับไปสู่พระอาราม

ชาวบ้านที่ไม่ทันได้เห็นเหตุการณ์นั้น และพวกที่เห็นแล้วแต่อยากเห็นอีก ต่างร้องขอให้พระปิณโฑลภารทวาชะแสดงปาฏิหาริย์ให้ดูอีกครั้ง พากันติดตามพระปิณโฑลภารทวาชะไป บ้างก็โห่ร้องส่งเสียงอื้ออึงอึกทึกเกรียวกราว

พระผู้มีพระภาคเจ้าสดับเสียงนั้นจึงตรัสถามพระอานนท์ว่า เสียงอึกทึกเกรียวกราวนั้นเกิดจากสาเหตุใด พระอานนท์กราบทูลความให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมพระภิกษุสงฆ์ ทรงติเตียนการกระทำนั้นว่าไม่เหมาะไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ที่จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์เพียงเพราะเหตุแห่งบาตรไม้จันทน์ การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของเหล่าชนที่ยังไม่เลื่อมใส

ครั้นแล้วจึงบัญญัติสิกขาบทแก่พระภิกษุทั้งหลาย ห้ามมิให้พระภิกษุแสดงปาฏิหาริย์ อันเป็นคุณวิเศษของพระอริยะแก่คฤหัสถ์  รูปใดแสดงต้องอาบัติทุกกฎ ทรงรับสั่งให้ทำลายบาตรไม้จันทน์แดงนั้น แล้วนำมาบดให้ละเอียด เพื่อใช้เป็นยาหยอดตาสำหรับพระภิกษุทั้งหลาย

ต่อมาพระภิกษุใช้บาตรต่างๆ ที่ทำด้วยทองคำ เงิน ทองแดง และแก้วมณี เป็นต้น ชาวบ้านต่างตำหนิติเตียนว่าไม่สมควร พระพุทธองค์จึงทรงห้ามให้ใช้บาตรดังกล่าว และอนุญาตให้ใช้บาตรได้  ๒ ชนิด คือ บาตรเหล็ก ๑ บาตรดิน ๑ และยังได้อนุญาตให้มีเชิงรองบาตรด้วย

ธรรมเนียมการทำบาตรในเมืองไทย นิยมทำเป็น ๔ ส่วนเพราะถือคติที่พระพุทธเจ้าประสานบาตรทั้ง ๔ ใบของท้าวจาตุมหาราชเข้าเป็นบาตรใบเดียวกัน การทำบาตรในสมัยต่อมาจึงนิยมให้มีตะเข็บเป็นรอยต่อ  บางแห่งก็นิยมทำเป็น ๘ ส่วน โดยยึดอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นคติ

          อย่างไรก็ตาม การทำบาตรที่ถูกต้องตามคตินิยม  ไม่ใช่บาตรที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งใบ  แต่จะต้องเป็นเสี่ยงๆ แล้วนำมาตีประสานเข้าเป็นใบเดียวกัน ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญอันเป็นทั้งศาตร์และศิลป์อย่างมาก แหล่งทำบาตรที่ขึ้นชื่อของเมืองไทยในปัจจุบัน มีอยู่ที่ชุมชนบ้านบาตร เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร


(๑) สัตตุผงสัตตุก้อน คือ ขนมที่พวกพ่อค้าทำไว้สำหรับการเดินทางไปค้าขาย  ต้องอบให้แห้งเพื่อจะได้เก็บไว้กินนานแรมเดือน ในระหว่างเดินทาง สัตตุผงสัตตุก้อน มี ๒ ชนิด คือ ชนิดผง  กับ  ชนิดก้อน

(๒) เทววาจิกอุบาสก  ตะปุสสะ และภัลลิกะ เป็นอุบาสกคู่แรกที่กล่าวคำขอถึงสรณะ ทั้ง ๒ คือ พระพุทธ พระธรรมว่าเป็นที่พึ่ง  เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก

(๓) ลัทธิใหญ่ๆ สมัยพุทธกาลมีถึง  ๖๒ ลัทธิ  ลัทธิที่สำคัญมี ๖ ลัทธิ  โดยมีครูทั้ง ๖ เป็นเจ้าลัทธิ  คือ ปูรณกัสสปะ  มักขลิโคสาล  อชิตเกสกัมพล  ปกุธกัจจายนะ  สัญชัยเวลัฏฐบุตร   และนิครนถ์นาฏบุตร

ลูกผู้ชายต้องบวช (ตอนที่ ๓๕) บรรพ์ที่ ๗ สิ่งที่พระภิกษุผู้บวชใหม่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอภิสมาจาร คือ วินัยส่วนที่เป็นขนบธรรมเนียม ตอน บาตร และประวัติบาตร เขียนโดย ญาณวชิระ : พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here