ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา

(ตอนที่ ๒)

“ความจริงที่เจ็บปวด”

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

จากคอลัมน์ “จาริกบ้านจารึกธรรม” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก เป็นธรรมทาน สู่ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

"ความจริงที่เจ็บปวด" จากคอลัมน์ "จาริกบ้านจารึกธรรม" เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐
“ความจริงที่เจ็บปวด” จากคอลัมน์ “จาริกบ้านจารึกธรรม” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

 เวลาจวนจะใกล้ค่ำประตูวัดค่อยๆ ถูกเลื่อนปิดลงอย่างเงียบสนิท ณ วัดบูรพาราม อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ย้อนหลังไปก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงเวลานี้จะเป็นเวลาที่เด็กๆ มาวิ่งเล่นในวัดอย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่ก็มากราบพระ มาสวดมนต์ขอพรหลวงพ่อทุ่งคา มาคุยกันสนทนาข่าวสารบ้านเมืองต่างๆนานา

ภาพเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นเลย หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป ทุกคนจะต้องรีบเข้าบ้านก่อนที่พระอาทิตย์จะลาลับของฟ้า ท่ามกลางความหวาดระแวงและน่ากลัว เมื่อได้ยินว่าเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ตรงนั้น ตรงนี้มีผู้เสียชีวิต ถือว่าเป็นข่าวร้ายที่เจ็บปวดใจมากที่สุด ยิ่งมีความเจ็บปวดใจมากกว่านั้น ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ เมื่อมีข่าวว่า มีการยิงครอบครัวยกครอบครัว แล้วยังราดน้ำมันเผาบ้านทั้งหลัง เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมเกินมนุษย์

สำหรับผู้ที่ไม่เคยมาสัมผัสในพื้นที่จริงๆ ก็จะมีความรู้สึกน่ากลัว หดหู่ใจ แต่สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มันเป็นความน่ากลัว ความเจ็บปวด และสลดใจยิ่งกว่า เราไม่สามารถที่จะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อรักษาชีวิตของเราได้ ทำได้เพียงแค่รอชะตากรรมไม่รู้ว่า ความตายจะมาถึงเราวันไหน วันนี้อาจจะเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเราก็ได้ สำหรับคนทั่วไปในพื้นที่อื่นตื่นขึ้นมาแล้ว ออกจากบ้านไปทำงาน แล้วกลับเข้าบ้านอย่างปลอดภัย การดำเนินชีวิตในวันนั้นถือว่า ปลอดภัยแล้ว แต่สำหรับคนในพื้นที่การได้เข้าบ้าน การได้นอนหลับพร้อมหน้าครอบครัว ก็ใช่ว่าจะมีความปลอดภัย  

ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งครอบครัวของเธอได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปในเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเธอเล่าให้ฟังด้วยความสะเทือนใจว่า … ในเวลากลางคืนวันหนึ่งมีโจรบุกมายิงกราดเข้าไปในบ้าน ทำให้พี่ชายเสียชีวิตคาที่ แล้วโจรก็ราดน้ำมันจุดไฟเผาบ้าน ร่างของพี่ชายโดนไฟคลอกต่อหน้าต่อตาของคนในครอบครัว พี่สาวซึ่งเป็นคนที่หูหนวกไม่ได้ยินเสียง ขณะที่นอนหลับอยู่ในบ้านอีกห้องหนึ่ง เห็นไฟไหม้ก็วิ่งออกมาตระโกนเพื่อจะให้คนในบ้านวิ่งหนี

ขณะนั้นผู้เป็นแม่ซึ่งได้ยินลูกสาวตะโกน ก็วิ่งออกไปด้วยหวังจะดึงแขนลูกสาวไม่ให้ร้องตะโกน มือของแม่ยังไม่ถึงแขนของลูกสาว เสียงตะโกนยังไม่สิ้น เสียงปืนก็ดังขึ้นอีกหลายนัด กระสุนพุ่งเข้าที่ร่างของผู้เป็นแม่สองนัดทำให้แม่ล้มลง กระสุนพุ่งเข้าที่ร่างของพี่สาวไม่รู้กี่นัด ร่างพี่สาวที่เต็มไปด้วยคมกระสุนตกลงไปชั้นล่างของบ้าน ถูกไฟที่กำลังลุกโพลงค่อยๆ ครอกร่างเสียชีวิตลงอย่างทุรนทุราย

ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในสายตาของผู้เป็นแม่ และสายตาของหนูซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

“มีความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานใจเหลือเกิน เหมือนกับตายทั้งเป็น ที่เห็นบุคคลที่รักตายต่อหน้าต่อตา แต่เราไม่สามารถจะช่วยอะไรได้เลย

“ในค่ำคืนนั้นหนูกับแม่ซึ่งกอดกันทั้งน้ำตาได้มองผ่านไปซ่องหน้าต่าง เห็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ซึ่งวิ่งไปกัดฝากรอยเคี้ยวฟันไว้ที่หน้าแข้งของผู้เป็นโจร แต่ก็ต้องจบชีวิตลงด้วยคมกระสุนเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นโจรก็ถอยหลบกันออกไป

“ในการจัดงานบำเพ็ญกุศพของพี่ชายและพี่สาว ครอบครัวของเรารู้อยู่แก่ใจว่า มีชายที่ถูกสุนัขกัดบริเวณหน้าแข้ง ซึ่งทำแผลเสร็จเรียบร้อยแล้วมาร่วมงานทุกคืน แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ไปเเจ้งความเพื่อดำเนินคดีก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะเขาเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และที่สำคัญไม่มีใครเป็นพยานที่น่าเชื่อถือได้ในที่เกิดเหตุให้ จึงได้แต่รอกฎแห่งกรรมให้ผลเท่านั้น เป็นความเจ็บปวดของผู้เป็นแม่และตัวเองที่สุด ทั้งๆ ที่คนในครอบครัวเป็นผู้เจอเหตุการณ์แท้ๆ

การจัดงานศพบำเพ็ญกุศลของคนในครอบครัวยังไม่ทันเสร็จ ผู้เป็นแม่ที่บาดเจ็บกับตัวเองที่รอดชีวิต เห็นเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันขนของย้ายบ้านหนี้ออกจากพื้นที่ หัวใจของความหวัง หวังที่จะให้หน่วยงานใดๆ เป็นที่พึ่งก็ได้จบลงตั้งแต่วินาทีนั้น เราโดนข่มขู่ต่างๆ นานาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นใบปลิวขู่เอาชีวิต ในที่สุดก็ต้องเลือกที่จะย้ายออกจากพื้นที่เพื่อรักษาชีวิต ไม่มีความทุกข์และความเจ็บปวดใด ที่จะเท่ากับการมีบ้าน มีผืนแผ่นดิน ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิด แต่ไม่สามารถที่จะอยู่อาศัยได้

เมื่อกาลเวลาผ่านไป ครอบครัวของเราได้รู้ข่าวว่าผู้ชายที่ถูกสุนัขกัดบริเวณหน้าแข้ง ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นผู้ก่อเหตุในครั้งนั้น มีตำแหน่งเป็นถึงผู้นำท้องถิ่นในปัจจุบัน ถูดกราดยิงด้วยอาวุธสงครามเสียชีวิต ก็ทำให้ครอบครัวของเราได้เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมเป็นอย่างดี ไม่ได้มีความรู้สึกสะใจ แต่มันเป็นความรู้สึกที่ใจคิดไว้และเชื่อตลอดว่า

“กฎแห่งกรรมนั้นยุติธรรมเสมอ”

ที่ผ่านมาครอบครัวของเราก็ไม่เคยคิดเคียดแค้นอะไร อโหสิกรรมและให้อภัยเสมอมา พยายามคิดตลอดว่า คนในครอบครัวของเราอาจจะไปทำเขาก่อนในอดีตชาติ ปัจจุบันชาตินี้เขาก็เลยมาทำกับครอบครัวของเร

หลายต่อหลายครอบครัวที่ต้องเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ที่ไม่มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน มีความเป็นอยู่ที่เสี่ยงเป็น เสี่ยงตายตลอดเวลา เช่นเดียวกับครอบครัวของลุงคนหนึ่ง ซึ่งลุงมีอาชีพเป็นช่างไม้ โดยปกติลักษณะนิสัยของลุงก็เป็นคนเงียบๆ ไม่ได้เคยมีความขัดแย้งอะไรกับใคร แต่วันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ในช่วงบ่ายขณะที่ลุงกำลังเลื่อยไม้อยู่ในโรงไม้ในบริเวณบ้านของตัวเอง ก็มีผู้ร้ายจำนวน ๒ คน ขับรถมอเตอร์ไซต์มากราดยิงเข้าไปใส่ลุง เสียงดังสนั่นหวั่นไหว จังหวะนั้นลุงล้มลง แล้วมีสุนัขตัวหนึ่งที่ลุงเลี้ยงไว้ซึ่งอยู่ใกล้ๆลุงได้วิ่งมาค่อมตัวลุงไว้ คนที่กราดยิงก็คิดว่าลุงเสียชีวิตแล้ว เพราะเห็นลุงล้มลง ก็เลยขับรถไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในการเกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น ถึงแม้ลุงจะรอดชีวิตแต่ก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้ลุงได้ทราบว่า ลุงจะอยู่ในพื้นที่นี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว ในที่สุดลุงก็จำต้องย้ายออกจากพื้นที่ เช่นเดียวกับอีกครอบครัวหนึ่ง มีผู้ชายคนเดียวของบ้าน ในละแวกใกล้เคียงก็เกิดเหตุการณ์มีการกราดยิ่งเข้าไปในบ้านแล้วก็เผาบ้านอยู่บ่อยครั้ง

เขาในฐานะที่เป็นผู้ชาย พอตกกลางคืนก็ต้องทำหน้าที่เฝ้ายาม นั่งหลบอยู่ในมุมมืด เดินไปเดินมาทั้งๆ ที่ไม่มีอาวุธอะไรจะไปต่อสู้ มีเพียงแค่ขวานตัดฟืน และก็มีดทำครัว ถ้าโจรมีปืนมาก็คงต้องแลกด้วยชีวิต เพื่อปกป้องคนในครอบครัว ด้วยการเป็นอยู่อย่างนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน ก็จำต้องย้ายออกจากพื้นที่

ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา (ตอนที่ ๒) "ความจริงที่เจ็บปวด" เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา (ตอนที่ ๒) “ความจริงที่เจ็บปวด” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ผู้เขียนได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ก็ได้แต่สลดใจ ยังไม่รู้เหมือนกันว่า ปัญหาเหล่านี้จะยืดยาวไปอีกนานเท่าไหร่ จะต้องมีผู้เสียชีวิตไปอีกไม่รู้เท่าไหร่ อะไรคือปัญหาที่แท้จริง ปัญหาจะยุติลงเมื่อไร และที่สำคัญเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร คงไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐ ทหาร ตำรวจ หน่วยงานความมั่นคง ผู้นำต่างๆ พระสงฆ์ แต่คงต้องเป็นปัญหาของทุกคนในชาติ

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน

ในฐานะของพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะของพระสงฆ์ ก็ได้แต่เพียงทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ให้ความช่วยเหลือ จะเป็นการให้ความช่วยเหลือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาจิตใจด้วยธรรมะ เป็นเสมือนหนึ่งผู้เป็นทูตทางธรรม หรือเป็นผู้ถ่ายทอดธรรมะให้ชาวพุทธได้ก้าวพ้นความหวาดระแวง ความกลัวภัยอันมีความตายเป็นที่สุด และ

ให้มีธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้ายของใจ”

ธรรมนิพนธ์เรื่อง “ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ลมหายใจชายแดนใต้ บนเส้นทางแห่งศรัทธา (ตอนที่ ๒) “ความจริงที่เจ็บปวด” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่  ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐
หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here