ความเดิมจากตอนที่แล้ว …

หลังจากที่สามเณรเทอด วงศ์ชะอุ่ม บวชได้หนึ่งพรรษาก็เรียนนักธรรมชั้นตรี ฝึกท่องบทสวดมนต์และฝึกอ่านอักษรธรรมสำหรับเทศน์ตามประเพณีอีสาน พอเข้าพรรษาที่สอง หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของท่านรูปแรก ต้องการให้ท่านได้เปรียญจึงส่งไปเรียนบาลี แต่มีเหตุต้องให้ย้ายกลับมาหลังออกพรรษา และท่านได้ข่าวว่า โยมพ่อกับโยมแม่ท่านอยากให้สึก ซึ่งในใจขณะนั้นท่านยังไม่อยากสึก เป็นเหตุให้ตัดสินใจไปอยู่กับพระอาจารย์มหามังกร ปญฺญาวโร ตอนที่หลวงพ่อวัดปากน้ำถามว่าใครบ้างที่จะไปอยู่อุปัฏฐากท่านในป่า สามเณรเทอดก็อาสา …

และนั่นคือจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งของเณรน้อยกลางป่าใหญ่ ในวัดร้างที่ไม่มีชาวบ้านกล้าล่วงล้ำกล้ำกลายเข้าไปในเวลาต่อมาถึง ๔ ปี

      ณ วัดร้างริมแม่น้ำมูล มีเรื่องราวกรรมฐานมากมาย ที่สามเณรเทอด ได้เรียนรู้จากพระอาจารย์ฺมหามังกร และการอยู่เพียงลำพังเป็นบททดสอบอันวิเศษที่ทำให้ท่านก้าวข้ามความกลัวได้อย่างไร อดใจรอ อีกนิด

แวะพักกับวันวาน…

มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (ตอนที่ ๕)  วิถีแห่งศรัทธารักษาป่า  

กันก่อน…

พระเจดีย์ ที่บ้านปากน้ำ บุ่งสะพัง จ.อุบลราชธานี
พระเจดีย์ ที่บ้านปากน้ำ บุ่งสะพัง จ.อุบลราชธานี

        มีเรื่องเล่าขานกันในหมู่ชาวบ้าน ตรงบริเวณปากบุ่งสระพังบรรจบกับแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ลาดโล่งเตียนจนถึงหาดทราย เป็นท่าที่แม่ทัพนายกองนำช้างม้าศึกลงกินน้ำ  เรื่องเล่าของป่าแห่งนี้มีมากมายหลายสำนวน ตามแต่ผู้เล่าจะปรุงแต่งกันไปจนกลายเป็นตำนานต่างๆ นานา…

เช่น ถึงวันพระจะมีดวงไฟลอยจากวัดป่าเข้าหมู่บ้าน มีไฟพะเนียงพุ่งขึ้นจากดิน เจ้าของย้ายที่ฝังทรัพย์สมบัติใหม่ ฆ้องทองคำใต้พื้นดินดังสะท้อนในคืนวันเพ็ญ และเสียงกระดิ่งช้างม้าศึกดังกึกก้องยามค่ำคืน

          ท่านเจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ เล่าย้อนไปในวัยเยาว์ให้ฟัง ช่วงที่เป็นสามเณรน้อย ต่อมาว่า  ป่าแห่งนี้เป็นที่ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลธรรมวัฒน์(บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) บุ่งสระพัง จ.อุบลราชธานี    ใช้เป็นสถานที่ปลีกตัวออกมานั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาอยู่เป็นประจำ  

อยู่มาวันหนึ่ง หลวงพ่อท่านเกิดนิมิตว่ามีพระพุทธรูปฝั่งอยู่ใต้ดินในป่าแห่งนี้  จะเกิดพายุพัดต้นตาลหัก ให้ขุดตรงจุดที่ปลายต้นตาลหักลง พอให้ชาวบ้านขุดตามนั้น ก็พบพระพุทธรูปเนื้อเงิน ศิลปะแบบเชียงแสนล้านช้าง ขนาดหน้าตัก ๑๑ นิ้ว หรือ ๑๒ นิ้วเศษ มีพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปสำริด พระผง และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง  แล้วท่านก็นำมาประดิษฐานไว้เป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำวัดปากน้ำ  ของบางส่วนนอกเหนือจากนี้ ได้สร้างพระพุทธรูปครอบไว้ในป่าแห่งนี้

“ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ปี ๒๕๑๕  หลังอาตมาเกิดเพียงหนึ่งปี ยิ่งเพิ่มความเชื่อความศรัทธาให้กับชาวบ้านในทางศักดิ์สิทธิ์สำคัญมากขึ้น  ที่สุดนอกจากหลวงพ่อแล้ว ป่าแห่งนี้ก็ไม่มีใครกล้ารุกล้ำกล้ำกลายเข้ามา  จึงกลายเป็นสถานที่ปลีกวิเวกบำเพ็ญจิตตภาวนาของท่านพระอาจารย์มหามังกร  ปญฺญาวโร ต่อมา โดยมีอาตมาเป็นเณรอุปัฏฐาก

รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ ตอนที่ ๕ วิถีแห่งศรัทธารักษาป่า
รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ ตอนที่ ๕
วิถีแห่งศรัทธารักษาป่า

          “ที่จริง สถานที่ตรงนี้ชาวบ้านเรียกวัดป่าก็ไม่ใช่วัดมีอาคารสถานที่อะไร  แต่เป็นป่าใหญ่นอกหมู่บ้าน  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล มีเพียงศาลาโล่งๆ หลังเดียว และกุฏิไม้แบบกรรมฐานอีกหนึ่งหรือสองหลัง ที่เรียกวัดป่าก็เป็นแต่เพียงเรียกตามคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นวัดร้างมาตั้งแต่แรกตั้งเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย  มีเหตุถูกปล่อยให้ทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าใหญ่ดงทึบ บ้างก็ว่าเกิดโรคระบาดชาวบ้านจึงย้ายบ้านหนี บ้างก็ว่าถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่คราวพระวอพระตาถูกข้าศึกฆ่า ชาวบ้านก็เลยเรียกวัดป่า”

          และก่อนหน้าที่จะขุดพบพระพุทธรูปราวปี ๒๔๙๓ ก็มีการขุดพบพระพิฆเณศวร์หินทราย และโคอุสุภราช หลวงพ่อวัดปากน้ำ เล่าว่าทางการนำไปเก็บรักษาไว้ ชาวบ้านจึงเรียกป่าแห่งนี้ว่า “ดงพระคเณศวร์” แล้วก็เรียกติดปากจนถึงปัจจุบันว่า “วัดป่าพระพิฆเณศวร์”

          ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของวัด บ้าน และชุมชนที่ผูกพันประหนึ่งญาติพี่น้องนี่เองที่ทำให้ท่านสามารถอยู่ในเพศของบรรพชิตต่อมาได้จนถึงทุกวันนี้ และที่สำคัญก็คือ เมื่อความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ทำให้เกิดความเมตตากรุณาต่อกัน รวมไปถึงต้นไม้และสัตว์ป่านานาชนิดก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองไปด้วย การมีเสนาสนะเล็กๆ ในป่า หรือ วัดเล็กๆ ในป่าก็เพื่อการรักษาป่าไม้และสัตว์ป่าให้ได้ดำรงอยู่เพื่อเป็นลมหายใจให้กับผู้คนชนรุ่นต่อๆ ไปได้อาศัยต้นน้ำไว้ยังชีพและมีต้นธรรมไว้เรียนรู้จิตใจตัวเราเอง เพราะ การรักษาป่า ก็คือ การรักษาธรรม

(จากคอลัมน์ มโนปณิธาน โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘  กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ )

จากคอลัมน์ มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (ตอนที่ ๕) “วิถีแห่งศรัทธารักษาป่า”
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๘  กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here