(ขอขอบคุณภาพประกอบจาก TNN ช่อง 16)

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๑

กฎหมายฝ่ายอาณาจักร

ทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องและสร้างความเป็นธรรมให้กับฝ่ายศาสนจักร

โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

           ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ “ทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันทำ ทำเป็นกระบวนการ” เพื่อขับเคลื่อนงานพระศาสนาในยุคนั้น เช่น มีพระอานนท์ เป็นพระเลขานุการ มีอัครสาวกเบื้องซ้าย เบื้องขวา และมีพุทธบริษัทเชี่ยวชาญเฉพาะด้านช่วยขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

           สำหรับพระสารีบุตร ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีปัญญามาก ยกให้เป็นพระธรรมเสนาบดีพระอัครสาวกเบื้องขวา และพระโมคคัลลานะ ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฤทธิ์ มีความสามารถในด้านมโนมยิทธิ มีฤทธิ์ทางใจ ทั้งมีความรู้เรื่องการก่อสร้าง เพราะได้รับมอบหมายจากพระพุทธองค์ให้ไปควบคุมการก่อสร้างวัดบุพพารามมหาวิหารและโลหะปราสาทที่นางวิสาขาสร้างถวาย ณ เมืองสาวัตถี  นอกจากนี้แล้วถ้าพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความสามารถ หรือเชี่ยวชาญด้านไหนก็จะทรงยกย่องให้เป็นเอตทัตตะในเรื่องนั้น ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนและสนองงานพระศาสนาเช่นกัน

           เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปยังดินแดนต่าง ๆ รวมถึงดินแดนสุวรรณภูมิซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน รูปแบบขององค์กรทางพระพุทธศาสนาก็มีหน้าตาที่แตกต่างกันออกไป ปรับตามสภาพสังคมวิทยาของประเทศนั้น ๆ ส่วนของประเทศไทยตั้งแต่อดีตโบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน รูปแบบองค์กรของสถาบันพระพุทธศาสนาก็มีพัฒนาการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพของกาลเวลาและสังคมที่เปลี่ยนไปให้เข้ากับยุคสมัยของสังคมในยุคนั้น ๆ เพื่อขับเคลื่อนงานพระศาสนาเดินตามรอยพระศาสดาที่วางแนวทางไว้

           ทั้งนี้ รูปแบบองค์กรของสถาบันพระพุทธศาสนาไทยในปัจจุบัน ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขสงฆ์ มีอำนาจทรงบัญชาคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชา ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

           มหาเถรสมาคมคือองค์กรการปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นอีกไม่เกิน ๒๐ รูป ตามมาตรา ๑๒ 

           อนึ่ง หน่วยงานการปกครองคณะสงฆ์ไทย นอกจากจะมีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรการปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ก็มีลำดับชั้นการปกครอง เพื่อเป็นประโยชน์แก่การปกครองคณะสงฆ์ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค จึงให้มีเจ้าคณะใหญ่ (เจ้าคณะหน) ปฏิบัติหน้าที่สนองงานคณะสงฆ์ในเขตปกครองนั้น ๆ ตามมาตรา ๒๐ ทวิ

           การปกครองคณะสงฆ์ในส่วนภูมิภาค ได้แบ่งเขตการปกครอง  เช่น การปกครองระดับภาค, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และให้มีเจ้าคณะผู้ปกครองตามลำดับชั้นคือ เจ้าคณะภาค, เจ้าคณะจังหวัด, เจ้าคณะอำเภอ, เจ้าคณะตำบล 

           จำนวนและเขตการปกครองดังกล่าวนั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นสมควรจะจัดให้มีรองเจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะอำเภอ และรองเจ้าคณะตำบล เพื่อเป็นผู้ช่วยงานเจ้าคณะนั้น ๆ ในการสนองงานหรือขับเคลื่อนงานคณะสงฆ์ก็ได้ ตามความในมาตรา ๒๑ ประกอบมาตรา ๒๒

           การปกครองคณะสงฆ์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การปกครองในแต่ละระดับ และคณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ทั้งการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎมหาเถรสมาคมเท่านั้น ตามมาตรา ๒๐

           การปกครองแต่ละระดับชั้นก็จะมีสำนักงานเป็นที่ประสานงาน ติดต่องาน ขับเคลื่อนงานพระศาสนา เช่น สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม, สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, สำนักงานเจ้าคณะหน สำนักงานเจ้าคณะภาค สำนักงานเจ้าคณะจังหวัด สำนักงานเจ้าคณะอำเภอ สำนักงานเจ้าคณะตำบล จะตั้งอยู่ ณ วัดที่เจ้าคณะผู้ปกครองรูปนั้น ๆ สังกัด หรือสถานที่ตามที่ท่านเห็นสมควร พร้อมได้รับงบอุดหนุนสำนักงานจากรัฐ และงบอุดหนุนนั้นก็จะเข้าบัญชีวัดแล้วจึงจะผ่านไปยังสำนักงานนั้น ๆ

           นอกจากหน่วยงานและสำนักงานในทางปกครองแต่ละระดับชั้นปกครองแล้ว คณะสงฆ์ยังมีหน่วยงานอื่น ซึ่งมหาเถรสมาคมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อสนองงานและขับเคลื่อนงานให้กับคณะสงฆ์ในเรื่องนั้น ๆ ตามความในมาตรา ๑๕ ตรี ดังนี้

           มาตรา ๑๕ ตรี  มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

           (๑)  ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

           (๒)  ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

           (๓)  ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา  การศึกษาสงเคราะห์  การเผยแผ่  การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

           (๔)  รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

           (๕)  ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

           เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ  วางระเบียบ  ออกคำสั่ง  มีมติหรือออกประกาศ  โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัย  ใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๙ เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

         ซึ่งพระภิกษุหรือคณะกรรมการที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๑๕ ตรี เป็นการเฉพาะกิจเพื่อให้ขับเคลื่อนงานพระศาสนาด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ และมีการตั้งสำนักงานโดยจะขอใช้สถานที่วัดใด วัดหนึ่ง ให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเพื่อขับเคลื่อนงานตามคำสั่ง มติ หรือประกาศของมหาเถรสมาคม ตามมาตรา ๑๕ ตรี พร้อมได้รับงบอุดหนุนจากรัฐ

           หน่วยงานของคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๑๕ ตรี ที่เห็นภาพได้ชัดคือ สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง วัดปากน้ำ, สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง วัดบวรนิเวศวิหาร สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

         สำหรับสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ จึงเป็นหน่วยงานเผยแผ่ของคณะสงฆ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการออกคำสั่งโดยอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม ตามความในมาตรา ๑๕ ตรี (๓) และวรรคสอง ประกอบกับมาตรา ๘ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

           ทั้งนี้ จากที่กล่าวมาทั้งหมดได้มีการนำเอาบริบทของอาณาจักร มาตีความหรือใช้ดุลพินิจในบริบทของ ศาสนจักร จึงก่อให้เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์อย่างใหญ่หลวง เพราะสำนักงานของคณะสงฆ์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ นิติบุคคล หมายถึง บุคคลที่กฎหมายสมมุติขึ้นให้มีความสามารถ มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบได้ตามกฎหมาย เสมือนบุคคลธรรมดา เช่น หน่วยงานราชการกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด ฯ มีสถานะเป็นนิติบุคคล

           ส่วนทางคณะสงฆ์มีแต่เพียงวัดเท่านั้นที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล แต่หน่วยงานอื่น ๆ รวมถึงสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนสนองงานให้กับมหาเถรสมาคม ก็ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

           แต่หน่วยงานทางปกครอง หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะสงฆ์ที่รับงบอุดหนุนจากรัฐ แม้จะไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ซึ่งเวลาเปิดบัญชีธนาคารเพื่อขอรับงบอุดหนุนจากรัฐจะไม่สามารถเปิดในนามสำนักงานหรือหน่วยงานนั้น ๆ ได้ เพราะไม่ได้เป็นนิติบุคคล แต่จะขอเปิดในนามวัดที่สำนักงานหรือหน่วยงานของคณะสงฆ์นั้นตั้งอยู่ เพื่อให้เงินผ่านมาสำนักงาน เพราะรูปแบบการทำงานในลักษณะนี้มันคือจารีต และวัฒนธรรมขององค์กรสงฆ์

         ตัวอย่างเช่น บัญชีของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ที่มีหน่วยงานกลางขอใช้สถานที่วัดสระเกศ เป็นที่ตั้ง จะไม่สามารถเปิดบัญชีในนามสำนักงานได้เลย เพราะสำนักงานไม่ได้เป็นนิติบุคคล จึงใช้วิธีการเปิดในนามวัดสระเกศ ๒ บัญชี แต่จะวงเล็กในบัญชีไว้ว่า “ศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา” (บัญชีที่ ๑) และ “เพื่อสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ” (บัญชีที่ ๒)

           อนึ่ง แนวทางการขอเปิดบัญชีธนาคารของสำนักงานหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะสงฆ์เพื่อขอรับงบอุดหนุนจากรัฐ จะเปิดในนามวัดที่สำนักงานหรือหน่วยงานนั้นตั้งอยู่เท่านั้น เพื่อให้งบอุดหนุนนั้นผ่านบัญชีวัดไปยังสำนักงานหรือหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติหรือจารีตที่ทำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

           และการเปิดบัญชีธนาคารในลักษณะดังกล่าวนี้ก็เป็นไปตามระเบียบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งระเบียบนี้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่กรมการศาสนาสมัยที่ยังไม่มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเป็นแนวทางที่ธนาคารแนะนำหรือให้ดำเนินการเช่นนี้เหมือนกัน

         ในเรื่องของการเปิดบัญชีและจัดทำบัญชีของวัด หรือหน่วยงานของคณะสงฆ์มีมุมที่น่าสนใจอีกคือ บางครั้งต้องอาศัยฆราวาส หรือลูกศิษย์ที่ไว้ใจและเชื่อใจได้ เป็นผู้เปิดบัญชีให้ เพื่อง่ายต่อการไปฝาก ไปเบิก และดำเนินงาน เพราะด้วยสถานะความเป็นพระภิกษุจะไปดำเนินการเองก็ไม่สะดวก หรืออาจจะทำให้คนที่ไม่เข้าใจมองไปในทางที่เป็นลบต่อพระสงฆ์ด้วย และการจัดทำบัญชีก็จะได้ตรงครบถ้วนเหมือนของระบบราชการทุกอย่าง

           การเปิดบัญชี และการจัดทำบัญชีในระบบวัฒนธรรมองค์กรสงฆ์คือ จะมุ่งความสำเร็จของงานและโยชน์ของพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ แต่ถ้าจะเอาระบบราชการมาเป็นเกณฑ์ตรงนี้ อาตมาเชื่อเลยว่าเจ้าอาวาสในประเทศไทยคงได้ต่อคิวกันเดินเข้าเรือนจำเป็นว่าเล่นแน่นอน

         ประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือมีการกล่าวโจทย์กันว่าหน่วยงานของคณะสงฆ์ที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ไม่มีอำนาจรับงบอุดหนุนจากรัฐได้ เพราะเป็นหน่วยงานเถื่อน !!

           ตั้งแต่มหาเถรสมาคม สำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม, สำนักงานสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม, สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช, สำนักงานเจ้าคณะหน สำนักงานเจ้าคณะภาค สำนักงานเจ้าคณะจังหวัด สำนักงานเจ้าคณะอำเภอ สำนักงานเจ้าคณะตำบล สำนักแม่กองบาลีสนามหลวง สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง

           หน่วยงานทั้งหมดนี้ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ถ้าทางฝ่ายบ้านเมืองมีการวางบรรทัดฐานทางกฎหมายไว้เช่นนี้ โดยไม่สนใจในเรื่องจารีต และวัฒนธรรมองค์สงฆ์ที่ถือปฏิบัติร่วมกับรัฐมาตลอด จะไม่มีอำนาจรับงบอุดหนุนจากรัฐได้ และเป็นหน่วยงานเถื่อนในสายตาของรัฐขึ้นมาทันที

         อาตมาเชื่อว่านอกจากเจ้าคุณทั้ง ๗ รูปที่เคยเข้าเรือนจำเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ เราอาจจะเห็นสมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคุณชั้นผู้ใหญ่ของเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานดังกล่าว และเคยเซ็นรับงบอุดหนุนจากรัฐ คงได้เข้าไปจำพรรษาในเรือนจำอย่างแน่นอน

           ข้อสังเกต เพิ่มเติมในเรื่องนี้คือ หน่วยงานของคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ไม่ว่าจะไปตั้งสำนักงานอยู่วัดใด ก็เป็นแต่เพียงไปขอใช้สถานที่ของวัดเท่านั้น อย่างที่เห็นได้ชัดเจน กรณีของสำนักงานเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ มหาเถรสมาคมได้ขอใช้อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ วัดสระเกศ ตั้งเป็นสำนักงานกลาง ไม่เพียงแต่ขอใช้อาคารเท่านั้น ยังขอความอนุเคราะห์บุคลากร น้ำ ไฟ และอื่น ๆ จากวัดสระเกศอีกด้วย

           ในส่วนนี้มหาเถรสมาคม ควรที่จะออกมาขอบคุณวัดสระเกศในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งออกมาพูดความจริงว่าอะไรเกิดขึ้นกับวัดสระเกศ ในฐานะที่หน่วยงานเผยแผ่คณะสงฆ์ของมหาเถรสมาคมไปขอใช้สถานที่ตั้งในวัดสระเกศ และได้สร้างความเดือดร้อนให้กับวัดสระเกศอย่างมหาศาลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

           ดังนั้น คดีที่เกิดขึ้นกับคณะสงฆ์ตอนนี้ ต้นเหตุมาจากกฎของอาณาจักรไม่สอดคล้องกับจารีตและวัฒนธรรมองค์กรสงฆ์ ในเบื้องต้นอาตมาจึงมีข้อเสนอว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือรัฐ กับคณะสงฆ์ ควรปฏิบัติร่วมกัน ดังนี้

         ๑ ) ถ้ารัฐนำกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองหรือระบบราชการ มาเป็นเกณฑ์ตัดสินคณะสงฆ์ จะเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมกับคณะสงฆ์เลย เพราะกฎของอาณาจักรมันไม่สอดคล้องกับจารีต และวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรสงฆ์ รัฐจึงไม่ควรเอากฎหมายมาหักดิบเพราะไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่จะเป็นการสร้างปัญหาให้ยุ่งเหยิงมากขึ้น วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดตอนนี้คือ รัฐกับคณะสงฆ์หันหน้าพูดคุยกันด้วยความเมตตาธรรม เพื่อหาทางออกร่วมกัน

         ๒) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรจัดทำคู่มือ การทำบัญชี แจกให้กับทุกวัน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของแต่ละวัด พร้อมจัดหาเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายนิติกร และฝ่ายตรวจบัญชีควรช่วยเหลือวัดในเรื่องนี้

         ๓) รัฐกับคณะสงฆ์ร่วมกันทำการสังคายนา ให้กฎหมายฝ่ายอาณาจักรสอดคล้องกับฝ่ายศาสนจักร วางแนวทางปฏิบัติและวางระบบให้ชัดเจนเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อคณะสงฆ์อย่างที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนี้

บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๑ กฎหมายฝ่ายอาณาจักร  ทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องและสร้างความเป็นธรรม ให้กับฝ่ายศาสนจักร โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
บทความพิเศษ ตอนที่ ๑๑ “กฎหมายฝ่ายอาณาจักร ทำอย่างไรจึงจะสอดคล้องและสร้างความเป็นธรรม ให้กับฝ่ายศาสนจักร” โดย พระใบฎีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

      

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here