ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนกราบเรียนถามท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ว่า เหตุใดท่านจึงมีความเมตตาไม่เพียงต่อลูกศิษย์ทุกรูป และทุกคนที่ท่านได้พบเจออย่างไม่มีประมาณ ไม่เว้นแม้แต่ผู้เขียน ที่เพียรพยายามติดตามการทำงานเผยแผ่ของท่านในหลายๆ มุม เพราะชอบการเรียนรู้ ไต่ถาม ท่านก็เมตตาอธิบายอย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อย

ทุกครั้งที่กราบเรียนถามท่าน ท่านไม่เคยนอกเรื่องไปจากการภาวนา คือการฝึกจิต และให้มุมมองวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เกี่ยวกับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสนับสนุนพระเณรบนหนทางแห่งการเรียนรู้ทุกด้านที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย

ใครที่สงสัยอะไร เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในมุมไหน หากได้กราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เชื่อได้ว่า จะได้มุมมองที่เปิดกว้าง มีทัศนคติที่ดีต่อทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกคนทุกนามบนโลกนี้

เมื่อย้อนกลับไปยังคำถามในประโยคแรก ท่านตอบเพียงสั้นๆ ว่า…

“อาตมาก็ไม่รู้เหมือนกันว่า วันใดไฟแห่งอุดมการณ์จะมอดดับลง แต่ดูเหมือนว่าไฟแห่งอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นยิ่งให้ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น และมีพลังที่จะทำเช่นนี้ต่อไป ไม่ว่าเกิดอีกกี่ชาติก็จะขอบวชเป็นพระ เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ตลอดไปทุกภพชาติ สานต่องานพระพุทธศาสนาต่อไปเพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ให้ดวงตาเห็นธรรมไม่สิ้นสุด เพราะคนทุกข์ไม่มีวันหมดไป หากตราบใด เราไม่รู้จักทุกข์อย่างแท้จริง ก็ไม่สามารถหาทางออกจากมันได้ แต่ถ้าเรารู้วิธีจากพระพุทธเจ้าในการดับทุกข์ เราจะเฉยอยู่ได้อย่างไร

“และที่สำคัญ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ อย่าหายใจทิ้ง ให้มีลมหายใจเพื่อผู้อื่น

จึงไม่น่าแปลกใจว่า งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่มีท่านอาจารย์เจ้าคุณคอยดูแล เป็นพลังสนับสนุนทุกด้าน คอยดูแลเอาใจใส่ให้กำลังใจพระเณรและจิตอาสานั้นจึงก้าวไปไม่หยุดเลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม หรือ งานในสถาบันพัฒนาพระวิทยากร พระธรรมทูตจิตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้ ตลอดจนงานวิจัยอีกมากมายเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อรับใช้สังคมที่เป็นส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก ซึ่งเป็นส่วนเสริมของคณะสงฆ์โดยภาพรวม เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ในยุคไร้พรมแดน ตามรอยพระพุทธเจ้า โดยมีพระธรรมวินัยเป็นหลัก และมีพระสงฆ์ผู้มีใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญมีอุดมการณ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปไม่สิ้นสุด

มโนปณิธาน ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด จึงกลับมา …เพื่อเยียวยาจิตใจคนทุกข์ เป็นพลังให้กับคนเล็กๆ ให้กล้าหาญที่จะเดินหน้าต่อสู้กับกิเลสภายในตน และไม่ท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงที่อยู่ข้างหน้า จนกว่าดวงตาจะเห็นธรรม เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมต้องดับลง เป็นธรรมดา

มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ ตอนที่ ๒๕

“ความเพียร” เป็นสิ่งที่ต้องอาศัย “ศรัทธา” เป็นกำลัง

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ผู้เขียนเพิ่งกลับจากการปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมเจริญสติ (แบบเคลื่อนไหว) วัดป่าโสมพนัส จังหวัดสกลนคร เป็นเวลาเจ็ดวันที่ได้ฝึกเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ อย่างเต็มที่ หลังเกษียณจากการทำสื่อทีวี นิตยสาร และหนังสือพิมพ์มาร่วม ๓๐ ปี เป็น ๗ วันที่ได้เดินจงกรมอย่างเต็มกำลัง

โดยเฉพาะในวันสุดท้ายที่สมาทานอดอาหาร จึงมีเวลาเดินในช่วงเช้า ๕ ชั่วโมง ตอนบ่ายเดินอีก ๕ ชั่วโมง  ทำให้หายง่วงไปได้มาก และทำความรู้สึกตัวได้ดีขึ้น ไม่เพ่ง ไม่จ้อง การเดิน การเคลื่อนไหวรู้ตัวมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะความคิดไหลมาแทบจะตลอดเวลาเหมือนกัน ทำให้หลงไปกับความคิดเยอะกว่าความรู้สึกตัวเป็นธรรมดา แต่ครูบาอาจารย์ก็แนะให้แต่เพียงเฝ้าดูความคิดแบบไม่จ้องไม่เคร่งเครียด เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวมือ ๑๔ จังหวะ ด้วยความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวสบายๆ จนเห็นความทุกข์ในชีวิตมาตลอดสาย ตั้งแต่จำความได้จนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่หมด ยังต้องใช้เวลาในการเจริญสติอีกนานทีเดียวกว่าสติจะเกิดมีต่อเนื่องเป็นสมาธิ แม้ว่าจะพยายามอย่างไม่ลดละในการภาวนาอย่างเข้มงวดตลอดเจ็ดวันตั้งแต่ตีสามครึ่งจนถึงสามทุ่มโดยต้องต่อสู้กับความง่วงเป็นด่านแรกให้พอจะก้าวผ่านไปได้สามวันแรก วันที่สี่ความรู้สึกตัวในการเคลื่อนไหวในทุกอิริยาบถจึงจะเริ่มพอเห็นขึ้นมาบ้าง แต่ความคิดก็ยังเยอะอยู่เป็นสายดับไม่ลง เพราะหลงไปกับความคิดมากมาย   

ทำให้ระลึกถึงคำสอนสมาธิจากท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์( เทอด ญาณวชิโร) ในครั้งนั้น ที่ช่วยทำให้ผู้เขียนเข้าใจการฝึกสติต่อเนื่องจนก่อเกิดเป็นสมาธิอันอ่อนโยน นุ่มนวล แล้วถอนออกจากสมาธิมาเฝ้าดูความคิดเฉยๆ จนเห็นความคิดผ่านไปๆ อดีตเรื่องนั้นเรื่องนี้ผุดขึ้น แล้วก็ดับลง ผ่านไปๆ เราเพียงแต่รู้ รู้ รู้ ดูการเกิด-ดับของความคิดภายในใจเท่านั้นเอง  สิ่งนี้เองคือวิปัสสนา คือปัญญาที่นำไปสู่ความรู้แจ้งในไตรลักษณ์ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยงแท้ ทุกขสัจที่ปรากฏในจิต จะทำให้เราเกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ จิตจะหลุดออกจากความยึดติดเป็นเปราะๆ หรือเป็นเรื่องๆ จากเรื่องน้อยๆ ไปสู่เรื่องใหญ่ๆ จนไม่ยึดติดในตัวตนของตนในที่สุด นั่นคือสภาวะของการเห็นอนัตตา เราจะเห็นไตรลักษณ์ได้ก็ต่อเมื่อสติมีกำลังเป็นสมาธิ ทำให้เห็นความกระเพื่อม ความไม่คงที่ ทุกอย่างไม่สามารถคงสภาพเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตลอดเวลา เราไม่สามารถควบคุมได้ และทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ  แล้วเราก็เพียงดู และ รู้ เฉยๆ เท่านั้นเอง และทุกอย่างจะผ่านไป

แต่สิ่งนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ฝึกดู ฝึกรู้อย่างต่อเนื่อง และนั่นคือความเพียร

ความเพียรจะเกิดมีได้อย่างไร ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ ในครั้งนั้นเขียนไว้ในคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน ในตอน “ก้าวข้ามความทุกข์ด้วยความเพียร”  หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ตอนหนึ่งว่า

เราจะสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียรจริงๆ ความเพียรจะก่อเกิดได้ด้วยความศรัทธา คือ “พละ” ธรรมะข้อแรกที่เป็น “กำลัง” ในพระพุทธศาสนา ที่จะส่งพลังให้เราให้มีกำลังในข้อต่อไป คือ วิริยะ ความเพียรอย่างยิ่งยวดที่จะก้าวข้ามความทุกข์ได้”

ท่านอธิบายต่อมาว่า ยิ่งสังคมในทุกวันนี้ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ได้ง่ายมาก ตั้งแต่ลืมตาตื่นไปจนกระทั่งหลับ เราจะเกาะเกี่ยวความทุกข์ไปตลอดเวลาหรือจะพยายามที่จะให้ความทุกข์โบยบินไปจากใจให้เร็วที่สุด เพื่อที่ว่า ก่อนเข้านอนในแต่ละวันจะได้พบกับความร่มเย็นใจ

“และ วิริยะ คือ ความเพียรนี้เอง ที่ทำให้แม้เราจะเจอปัญหามากเพียงใดก็ตาม  เจออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตหนักหนาสาหัสอย่างไรก็ตาม  ที่เรียกว่า “ทุกข์” บาลีว่า  ชาติปิ ทุกขา  คือ เมื่อมีความเกิด ความทุกข์ก็ตามมา แต่อาศัยว่าเราได้ศึกษาในพระพุทธศาสนา มีความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา  เราก็มีความสามารถในการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่เราได้ศึกษาได้เรียนรู้นี่แหละ มาเป็นน้ำในการชโลมใจให้เรา ทำให้เรามีพละกำลังขึ้นมาในการที่จะแก้ไขปัญหา แก้ไขความทุกข์ให้ผ่านไปได้

“ดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ได้ใช้ความเพียรอย่างแรงกล้า บำเพ็ญความเพียรอย่างแรงกล้า จึงสามารถก้าวข้ามความทุกข์ได้ เราท่านทั้งหลาย แม้เจอปัญหา เจออุปสรรค  เจอความทุกข์อย่างไรก็ตาม  ก็เป็นความทุกข์อย่างธรรมดาของชีวิต ก็เป็นปัญหาอย่างธรรมดาของชีวิตที่จะเกิดขึ้นกับเราทุกคน  ทุกผู้ ทุกนาม ปัญหา ความทุกข์แตกต่างกันไป แต่ว่าอาศัยความหนักแน่น  ความเพียร ความพยายามในการรู้สึกตัว และ รู้ ทุกอย่างที่ผ่านมาในจิตอย่างต่อเนื่อง หลงไปกับความคิด ก็ดึงสติกลับมารู้ ความเพียรที่ประกอบด้วยความศรัทธาในหนทางการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าดังกล่าวนี้เอง จะช่วยให้เรามีกำลังเราในการก้าวข้ามความทุกข์ได้ด้วยความเพียรในที่สุด”

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๒

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here