พระราชกิจจาภรณฺ (เทอด ญาณวชิโร) กับ พระครูสิริวิหารการ  และคณะสงฆ์กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม
พระราชกิจจาภรณฺ (เทอด ญาณวชิโร) กับ พระครูสิริวิหารการ และคณะสงฆ์กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม

รำลึกวันวาน …มโนปณิธาน

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

(ตอนที่ ๗๘)

 “วิถีพระ…พระผู้ปิดทองหลังพระ ” 

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท กับ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท กับ พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จันทร์ศรี)
พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จันทร์ศรี)

“ทุกครั้งที่ได้อยู่ใกล้ ที่ได้ใกล้ชิด สิ่งหนึ่งจะสัมผัสได้ถึงคำว่า เมตตา ที่ไม่สามารถจะพูดออกมาเป็นคำพูดได้สำหรับความเมตตาที่อยู่ในใจท่าน พร้อมที่จะมอบให้กับทุกคนตลอดเวลา

“หลายๆ ครั้งไม่เพียงแต่จะได้รับความเมตตา แต่ยังได้รับแง่คิดในการดำเนินชีวิตอีกด้วย เช่น โลกนี้น่าอยู่สำหรับผู้ไม่รู้, กลัว – แต่ไม่กังวล เพราะถ้ากังวลก็เหมือนกับจ่ายดอกเบี้ย ทั้งที่ยังไม่ได้กู้, วันนี้จะถวายน้ำอัดลมท่านๆ บอกว่า สิ่งที่มหาจะถวายไม่ขอรับได้ไหม ขอรับแต่ความรู้สึก เป็นต้น”

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท และ พระครูสิริวิหารการ
พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท และ พระครูสิริวิหารการ

          ผู้เขียนขอโค้ชคำกล่าวของพระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ที่เขียนถึงความเมตตาของพระครูสิริวิหารการ ที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม และผู้ช่วยสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ จากเพจของพระครูสิริวิหารการที่เงียบไปกว่าสองปี

พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จันทร์ศรี)
พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จันทร์ศรี)

ด้วยความระลึกถึงความเมตตาของท่าน เมื่อครั้งที่คุณแม่ของผู้เขียนกำลังจะจากไปในค่ำวันนั้นที่โรงพยาบาล เมื่อเกือบสามปีก่อน ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๐ ผู้เขียนจึงนิมนต์ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ขอความเมตตาท่านมาช่วยให้กรรมฐานคุณแม่เป็นครั้งสุดท้ายก่อนจากไปในสุขคติภูมิอย่างสงบ และโดยปกติทุกวันภารกิจของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด จากคำบอกเล่าของพระครูใบฎีกามงคล วชิรปญฺโญ เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสไปถวายความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทความในการอบรมพระนักเขียนเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ท่านเล่าว่า ช่วงบ่ายของทุกวันหากท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดไม่ติดอะไร ภารกิจของท่านอาจารย์คือไปเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทุกวันอยู่แล้ว ผู้เขียนระลึกขึ้นได้ จึงขอความเมตตาจากท่านอาจารย์เจ้าคุณ เพราะเห็นว่าคงไม่เป็นการรบกวนท่านจนเกินไป ความเป็นความตายอยู่ตรงนี้เอง อยู่ต่อหน้าเราตรงนี้เอง คุณแม่กำลังจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ…

ในวันนั้น ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดมาพร้อมกับพระครูสิริวิหารการ และพระครูอมรโฆสิต โดยมิได้นัดหมาย คือ ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เล่าว่า พบกับพระครูสิริฯ ระหว่างทาง ท่านก็เลยมาด้วย ก็ตรงกับความฝันของคุณแม่พอดีที่ฝันว่าได้ใส่บาตรพระสามรูปที่หน้าบ้านด้วยกัน เป็นฝันดีและนิมิตหมายที่ดีในการเดินทางเปลี่ยนภพภูมิของคุณแม่ที่มีพระสุปฏิปันโนสามรูปมาให้ช่วยส่งจิตสวดมนต์ให้เดินทางไปกับพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในขณะนั้น

พระครูสิริวิหารการ บอกกับคุณแม่ว่า ไม่ต้องห่วงโยม พระมาบอกว่า เพราะโยมทำกุศลให้กับพระศาสนา พระจึงมา ไม่ต้องห่วง แล้วคุณแม่ก็ยกมือประนมไหว้พระอาจารย์ทั้งสามท่าน คุณแม่สติดีมากๆ ตั้งใจฟังแม้ร่างกายจะอ่อนล้าเต็มทีแล้วจากหัวใจที่ทำบอลลูนกู้ขึ้นมาจากลิ่มเลือดเส้นที่ไปอุดตันหัวใจจากการรักษาไข้หวัดเอจนหาย แต่ยาไข้หวัดเอทำให้เกิดลิ่มเลือดตกลงไปในขั้วหัวใจ จนทำให้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเปลี่ยนโรงพยาบาลในกลางดึก เนื่องจากที่โรงพยาบาลรักษาไข้หวัดเอ ไม่มีคุณหมอทางด้านโรคหัวใจ จึงต้องย้ายโรงพยาบาลกลางดึก และทำบอลลูนในวันต่อมาในภาวะที่หัวใจล้มเหลวเหลือเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลาสองวันที่คุณหมอกู้หัวใจกลับมาได้ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ทำให้คุณแม่ได้ภาวนาในวาระสุดท้ายของชีวิต หลังจากพระอาจารย์ทั้งสามท่านเมตตาสวดมนต์และให้กรรมฐานสุดท้ายคุณแม่ซึ่งอยู่ในภาวะที่มีสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยม สงบ วางทุกอย่างแล้ว ผู้เขียนกราบคุณแม่และตั้งใจบอกคุณแม่ว่า จะรักษาศีล ๘ ตลอดชีวิต อีกสักพักคุณแม่ก็หลับไปและจากไปอย่างสงบในค่ำคืนนั้นเอง

เกือบสามปีที่ผ่านมาผู้เขียนคิดถึงแม่ทุกวัน ตั้งใจรักษาศีลทุกวัน ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องวาจา ยังฟุ้งฟูมฟายอยู่ทุกวัน และยังเป็นทุกข์กับการที่ครูบาอาจารย์ประสบกับชะตาที่ความจริงยังไม่ปรากฏ ทำให้ผู้เขียนเดินต่อมาด้วยความทุกข์แสนสาหัส ถ้าไม่มีพระธรรมหล่อเลี้ยง ไม่มีงานเขียนอันเป็นกุศลที่ได้เล่าเรื่องคุณงามความดีของครูบาอาจารย์อยู่ทุกวันนี้ ก็คงจะป่วยทางจิตหนักไปแล้ว

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ผู้เขียนจึงขอความเมตตาทุกท่านที่ได้อ่านข้อเขียนและบทความของพระอาจารย์ทุกท่านที่ผู้เขียนเพียรนำมาเผยแผ่อยู่ทุกวันในเว็บไซต์ manasikul.com ได้โปรดเมตตาให้ความเป็นธรรม และเข้าใจถึงสาระธรรมที่ผู้เขียนตั้งใจถ่ายทอดและสื่อสารออกไปด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด โดยมีท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เมตตาทำให้ผู้เขียนมีความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคงไม่คลอนแคลน

ก็ด้วยมโนปณิธานของท่านที่เปรียบประดุจพระเจดีย์แห่งชีวิตที่ไม่อาจพังทลายไปได้ ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มโนปณิธานของท่านก็เป็นดั่งแสงเทียนที่โชติช่วงไปไกลโดยการจุดเทียนต่อไปไม่สิ้นสุดของพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมอยู่บนเส้นทางที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและนำมาเปิดเผยอย่างไม่มีปิดบังนี้ก็เพื่อให้เราท่านผู้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะวนได้มีแผนที่นำทางไปสู่ความพ้นทุกข์นั่นเอง

พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จันทร์ศรี)
พระครูสิริวิหารการ (สมจิตร จันทร์ศรี)

ซึ่งพระครูสิริวิหารการ เป็นอีกหนึ่งพระเถระที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเคียงข้างท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด มาโดยตลอด

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับ พระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กับ พระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ

พระอาจารย์อรรถพล ธีรปญฺโญ ประธานกลุ่มคลินิกคุณธรรม รักษาการเจ้าอาวาสวัดภูเขาหลง ตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เล่าว่า พระครูสิริหารการเป็นที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงามด้วย

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ประชุมกับพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ประชุมกับพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้

“ในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทำกันอยู่ โดยเฉพาะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้  พระครูสิริวิหารการ ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในขณะนั้นก็ลงพื้นที่ไปกับเราด้วยทุกครั้ง ไปทุกวัดทางใต้ที่เราไปกัน วัดไหนขาดอะไรท่านก็จะช่วยหามาให้ มาเสริม ท่านให้ขวัญ ให้กำลังใจการทำงานของพระหนุ่มซึ่งเป็นทั้งพระธรรมทูตอาสา และคณะพระวิทยากรกระบวนธรรมที่เราทำงานด้วยแรงกายแรงใจกันมาโดยตลอด

พระครูสิริวิหารการ กับ คณะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้
พระครูสิริวิหารการ กับ คณะพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนใต้

พระธรรมทูตทางใต้เมื่อขึ้นมากรุงเทพก็จะได้ไปพักที่กุฏิท่านในวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ที่กุฏิท่านไม่มีอะไรเลย ทุกรูปที่ทำงานด้วยกัน ไม่รู้สึกว่าใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นลูกน้องไม่มีความรู้สึกอย่างนั้น

“ทุกครั้งที่มีพระมรณภาพในห้าจังหวัดชายแดนใต้ ท่านจะมาปรากฏในงานเสมอ มาให้กำลังใจพระธรรมทูตอาสา อาตมาได้สัมผัสถึงความเมตตาของท่านมาโดยตลอด จากการทำงานกับพระธรรมทูตอาสากับศูนย์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ซึ่งนำพระทำงานจิตอาสาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยน้ำท่วมทุกครั้ง ก็ต้องไป”

พระครูสิริวิหารการคือหนึ่งในพระเถระผู้ขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาเชิงรุกไปกับท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด และคณะสงฆ์ในนาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ผู้เขียนของน้อมกราบด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด

(จากซ้าย) พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท, พระครูสิริวิหารการ, พระราชกิจจาภรณ์, พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย, พระครูวิจิตรสังฆการ และ พระมหาประสงค์ ณฏฐปญฺโญ
(จากซ้าย) พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท, พระครูสิริวิหารการ, พระราชกิจจาภรณ์, พระมหาไกรวรรณ์ ชินทตฺติโย, พระครูวิจิตรสังฆการ และ พระมหาประสงค์ ณฏฐปญฺโญ
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

บันทึกธรรมสัมมาสมาธิ

(ตอนที่ ๔๒)  

นิมิตเกิดขึ้นได้อย่างไร

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

นิมิตเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นคำถามที่อยู่ในใจของผู้ปฏิบัติ จะอธิบายตามลำดับแห่งโพชฌงค์ ๗ ประการ

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ปฏิบัติสมาธิมีฉันทะเกิดขึ้นในใจ มีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก เรียกว่า “สติสัมโพชฌงค์”

“ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์”เมื่อมีสติระลึกรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ตรึกก็ตรึกอยู่กับลมหายใจ ตรองก็ตรองอยู่กับลมหายใจ พิจารณาก็พิจารณาอยู่กับลมหายใจ รู้ก็รู้อยู่กับลมหายใจหายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาวก็รู้ หายใจเข้าสั้นก็รู้ หายใจออกสั้นก็รู้ ลมหายใจหยาบก็รู้ ลมหายใจละเอียดก็รู้ ครุ่นคิดพิจารณาไตร่ตรองธรรมอยู่กับลมหายใจ เรียกว่า

เมื่อสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจ อยู่กับการครุ่นคิด ใคร่ครวญพิจารณาธรรม มีความเพียรพยายามดำเนินจิตเช่นนี้อยู่บ่อยๆ จะเพียรก็เพียรอยู่กับการพลิกขณะจิตกลับมาไว้ที่ลมหายใจ จะเพียรก็เพียรอยู่กับการพิจารณาใคร่ครวญธรรม เมื่อเผอเรอหลงลืมสติไปบ้างก็เพียรพลิกขณะจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจ เรียกว่า “วิริยสัมโพชฌงค์”

เมื่อมีความเพียรพยายามพลิกขณะจิตเปลี่ยนความคิดให้กลับมามีสติอยู่กับลมหายใจเนืองๆ  จิตก็จะเริ่มเกาะแนบแน่นมีอารมณ์เดียวอยู่กับลมหายใจ ความฟุ้งความวุ่นวายเริ่มระงับลง ลมหายใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิต และจิตก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ ความปีติลิงโลดใจก็เกิดขึ้น เรียกว่า “ปีติสัมโพชฌงค์”

เมื่อปีติเกิดขึ้น ความปั่นป่วนภายในจิตก็เกิดขึ้น ทั้งตื่นเต้น ทั้งดีใจ ทั้งลิงโลดใจ กล้าๆ กลัวๆ ขนลุกขนพอง น้ำหูน้ำตาไหล ควบคุมสติไว้ไม่อยู่ ร้องห่มร้องไห้ เกิดความอัศจรรย์ใจ กว่าจะข่มความตื่นเต้น ความดีใจ ความกล้าๆ กลัวๆ ลง ให้อยู่ในอาการสงบราบเรียบ ก็ต้องใช้เวลานานหลายบัลลังก์ต่อการนั่งแต่ละครั้ง

ในระหว่างนี้แหละที่นิมิต หรือ วิปัสสนูปกิเลส จะเกิดขึ้น มีอาการต่างๆ ต้องประคองจิตอย่าตื่นเต้นจนเกินไป อย่าตกใจกลัวจนเกินไป ให้เฝ้าสังเกตความเป็นไปของจิตเหมือนคนนั่งริมฝั่งดูผิวน้ำ จะเกิดระลอกคลื่น ก็รู้ จะเกิดคลื่นลูกใหญ่ก็รู้จะเกิดปั่นป่วนเหมือนทะเลคลั่งก็รู้ ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้ ไม่ใช่ไปเป็นคลื่นน้ำ ก็เป็นแต่เพียงผู้รู้ เรียกว่า เป็นความปีติลิงโลด แต่ไม่ได้เป็นความปีติลิงโลด แล้วจิตจะสงบระงับราบเรียบลงเป็นปัสสิทธิ เรียกว่า “ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์”

เมื่อจิตสงบระงับ ความปั่นป่วนจากปีติและสุข ก็หมายความว่า ปัสสัทธิเกิด คือมีความสงบระงับ จิตก็จะตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิ ก็เป็น “สมาธิสัมโพชฌงค์”

เมื่อจิตมีความตั้งมั่นไม่หวั่นไหวก้าวเข้าสู่ความว่างภายใน มีสติบริบูรณ์ มีอุเบกขาเป็นใหญ่ เบิกบานสว่างไสวอยู่ เหมือนเกิดภาวะครอบแก้วครอบดวงจิตไว้ให้ดำรงอยู่ด้วยปัญญาอันเลิศ เรียกว่า “อุเบกขาสัมโพชฌงค์”

เมื่อจิตถอนออกมาจากความว่างภายใน ก็อาจจะเกิดนิมิตได้อีก ตอนก้าวเข้าสู่ความว่างภายในก็อาจเกิดนิมิต หรือหลังจิตถอนออกมาจากความว่างภายในก็อาจเกิดนิมิต  ก่อนจิตเข้าสู่ความเป็นจิตประภัสสร ก็อาจเกิดนิมิตหรือหลังจากจิตถอนออกมาก็อาจเกิดนิมิต

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นิมิตหรือวิปัสสนูปกิเลส ล้วนเกิดจากจิตที่เกิดความสงบ ก็จะเกิดอาการต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงอาการของจิตขณะดำเนินไปสู่ความสงบไม่ใช่สิ่งวิเสสวิเสโสอะไร เป็นธรรมดาของจิตสงบ

เมื่อดูลมหายใจไปจนจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวกับลมหายใจ ก่อนจะรวมดวงลงสู่ความว่างภายใน ระหว่างนั้นจะเกิดนิมิตเป็นภาพต่างๆ เป็นอาการต่างๆ แทรกเข้ามา เหมือนคลื่นวิทยุที่ถูกคลื่นแทรกไม่ชัดเจน เป็นการเกิดการสั่นสะเทือนอย่างแรงของจิตก่อนเข้าสู่ความสงบ เช่นเห็นภูตผีปีศาจน่ากลัว  เห็นสัตว์ประหลาดน่ากลัว เห็นเทพบุตรเทพธิดา เห็นคนคุ้นเคยทั้งที่ตายแล้วและที่ยังมีชีวิตอยู่ เห็นพระพุทธรูป เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระสงฆ์ เห็นพระอรหันต์ เห็นพระอริยสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ อาจจะชัดบ้างไม่ชัดบ้างตามคุณภาพของจิตขณะนั้น ปะติดปะต่อได้บ้างไม่ได้บ้าง ซึ่งจะเป็นอาการธรรมดาในระยะแรกๆ ของความสงบ

เมื่อเกิดอาการดังกล่าวนี้จิตจะละวางลมหายใจไปชั่วขณะ ก็ให้พลิกขณะจิตกลับมาดูลมหายใจต่อไป เพื่อไม่ไห้จิตขาดหลัก เห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน รู้สึกได้ก็รู้สึกได้ รับรู้ได้ก็รับรู้  แต่ให้มีสติ พลิกขณะจิตกลับมาดูลมหายใจต่อไป

แม้จะเห็นก็เห็นเฉยๆ ก็กลับมาดูลมหายใจต่อไป ได้ยินก็ได้ยินเฉยๆ ก็กลับมาดูลมหายใจต่อไป รับรู้ก็รับรู้เฉยๆ ก็กลับมาดูลมหายใจต่อไป

ให้ทำเช่นนี้บ่อยๆ เพื่อให้จิตคุ้นชินกับนิมิต กับวิปัสสนูปกิเลส เพื่อให้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา จนกลายเป็นเห็นธรรมดารู้ธรรมดา ไม่ตื่นเต้นไม่ดีใจไม่เสียใจไม่ลิงโลดใจ ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่เห็น

ไม่ว่าจะเกิดอาการอะไร ก็พลิกขณะจิตกลับมาดูลมหายใจ อย่าใส่ใจนิมิตดังกล่าว

  (โปรดติดตาม สัมมาสมาธิ และ รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here