ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "ความเป็นมาของพระอภิธรรม" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร  วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ฉบับธรรมทาน โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ออกพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม”

บทที่ ๑๒ (ตอนที่ ๑๓)

คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ

: อธิบายเรื่องบุคคลและบัญญัติ

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๕ (วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙) – ๑๒๙๘ (วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐) เป็นธรรมทาน
ความเป็นมาของพระอภิธรรม ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “ธรรมโอสถ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๗๕ (วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙) – ๑๒๙๘ (วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๐) เป็นธรรมทาน

คำปรารภ

หนังสือ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” เกิดขึ้นด้วยปรารภเหตุการณ์เฉพาะ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

เพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเนื้อหา ก่อนอ่านความเป็นมาของพระอภิธรรม

จึงขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า ความเป็นมาของพระอภิธรรม มีเนื้อความตรงตามชื่อ มุ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของพระอภิธรรม เพื่อประกอบการฟังสวดพระอภิธรรม เป็นสำคัญ มิใช่มุ่งการอธิบายข้อธรรมในคัมภีร์พระอภิธรรม เมื่อฟังสวดแล้ว จะได้รู้ถึงที่มาที่ไปของพระอภิธรรมที่พระบรมศาสดาทรงแสดง อันจะเป็นบุญเป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วย

ผู้ที่มีความสนใจข้อธรรมในพระอภิธรรมที่ละเอียดลงไป ก็สามารถศึกษาเพิ่มได้จากคัมภีร์พระอภิธรรม ซึ่งมีอยู่แล้วทั่วไป

เนื่องจากพระอภิธรรมมีความละเอียดประณีตยิ่ง มีนัยหลากหลาย ไม่สิ้นสุด บางกรณีจึงมีความจำเป็นต้องยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของ และภาษาในสมัย เทียบเคียงให้เห็นเป็นรูปธรรม เพื่อทำความเข้าใจเนื้อความแห่งพระอภิธรรม ที่มีความละเอียดยิ่งนั้น ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กรณีดังกล่าว มิใช่การนำข้อความเข้าไปปลอมปนในพระอภิธรรม เพราะมิได้มุ่งอธิบายข้อธรรมในพระอภิธรรม ดังกล่าวแล้ว หากแต่เห็นว่า การยกตัวอย่างวัตถุสิ่งของก็ดี การใช้ภาษาในสมัยก็ดี เป็นวิธีที่พอจะสื่อสารกับคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาที่แตกต่างกัน หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสถานะ

ด้วยห้วงเวลานั้น ทุกคนล้วนมีจิตละเอียดเป็นหนึ่งเดียว จดจ่ออยู่กับท่วงทำนองแห่งพระอภิธรรมที่พระพิธีธรรมสวดถวายในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ

กาลนั้น จึงนับได้ว่า เป็นมงคลกาล เหมาะแก่การฟังธรรมที่ละเอียด

ขออนุโมทนาขอบคุณพระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙,ดร., คุณมนสิกุล โอวาทเภสัชช์ และคุณวันทนี เจริญวานิช ที่รับเป็นภาระธุระในการจัดพิมพ์ จนหนังสือสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย ดีงาม เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น แผ่ไพศาลแห่งพระศาสนาของพระบรมศาสดา

พระราชกิจจาภรณ์

วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ความรู้เรื่องพระอภิธรรม (๑๓) คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ : อธิบายเรื่องบุคคลและบัญญัติ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์  ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๗ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐
ความรู้เรื่องพระอภิธรรม (๑๓) คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ : อธิบายเรื่องบุคคลและบัญญัติ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จากคอลัมน์ ธรรมโอสถ นิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๑๒๘๗ วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐

คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ

อธิบายเรื่องบุคคลและบัญญัติ

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ปุคคลปัญญัติเป็นคัมภีร์ที่ ๔ แห่งพระอภิธรรมปิฎก ในคัมภีร์นี้พระพุทธองค์ทรงอธิบายถึงสภาวธรรมแต่ละสภาวะแล้วทรงบัญญัติชื่อเรียก หรือตั้งชื่อเรียก โดยเริ่มจากสภาวธรรมสรรพสิ่ง และสภาวธรรมปุถุชนไปจนถึงสภาวธรรมของพระอริยบุคคล

คำว่า ปุคคลปัญญัติ เป็นภาษาบาลี แปลว่า การบัญญัติขึ้นตามคุณสมบัติของบุคคล การกำหนดขึ้น การตั้งขึ้น การแสดง การประกาศ  การวางไว้เป็นหลัก เปรียบเหมือนการบัญญัติหรือการตรากฎหมายขึ้นมาประกาศใช้ วางไว้เป็นหลักในสังคมนั้นๆ

ในที่นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงสภาวธรรมแล้วทรงบัญญัติชื่อเพื่อใช้เรียกให้เข้าใจในภาษามนุษย์ ธรรมนั้นเป็นสภาวะแห่งสัจจะ พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้สภาวะแห่งสัจจะด้วยกำลังแห่งสมาธิ เมื่อจะสื่อสารให้เข้าใจในสภาวะแห่งสัจจะ จึงทรงตั้งชื่อหรือบัญญัติชื่อเรียกขึ้นมา แม้ในบุคคลก็เช่นกัน เมื่อจะให้รู้ว่าใครมีคุณสมบัติอย่างไร ก็ต้องตั้งชื่อหรือบัญญัติชื่อเรียกขึ้นมา โดยยึดตามคุณสมบัติที่บุคคลนั้นมี

ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
ขอขอบคุณ ภาพจิตกรรมฝาผนัง ศาลาดวงดี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

คัมภีร์ปุคคลปัญญัติ จึงมาจากการที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงทราบถึงสภาวธรรมที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาติในทุกมิติ ด้วยกำลังแห่งญาณที่เรียกว่า “สัมมาสัมโพธิญาณ” จึงทรงบัญญัติชื่อเรียกสภาวธรรมนั้นๆ แล้วนำออกแสดง ประกาศ เปิดเผยโดยภาษาของชาวโลก เช่น สภาวธรรมของผู้มีสภาวะจิตประกอบด้วยคุณสมบัติแห่งพระโสดาบัน  ทรงบัญญัติเรียกว่า “พระโสดาบัน” สภาวธรรมของผู้มีสภาวะจิตประกอบด้วยคุณสมบัติแห่งพระอรหันต์ ทรงบัญญัติว่า “พระอรหันต์” เป็นต้น

หลักการบัญญัติชื่อเรียกสภาวธรรมเพื่อเป็นที่เข้าใจโดยภาษาของชาวโลก ยึดหลัก ๖ ประการ คือ

๑.วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติจากสิ่งที่มีอยู่จริง)

บัญญัติชื่อเรียกตามความเป็นจริงของสภาวะนั้นๆ โดยยึดตามสภาวะหรือปรมัตถสัจจะ เช่น กุศลธรรม (ธรรมที่เป็นกุศล) และอกุศล(ธรรมที่เป็นกุศล) ซึ่งเป็นสภาวะที่มีอยู่จริงโดยปรมัตถสัจจะ เป็นต้น

๒. อวิชชานบัญญัติ (บัญญัติจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง)

บัญญัติชื่อเรียกตามภาษาของชาวโลก เช่น บัญญัติว่า “หญิงชาย” เป็นต้น เพื่อสื่อสารกันในหมู่ชาวโลก แท้จริงแล้ว ความเป็นหญิงและความเป็นชาย ไม่มีอยู่จริง โดยปรมัตถสัจจะ แม้คำสอนที่ศาสดาของเจ้าลัทธิทั้งหลายประกาศ ที่ไม่เป็นสัจธรรม ไม่มีอยู่จริง โดยปรมัตถสัจจะ  เป็นการบัญญัติคำขึ้นมาสื่อสารเพื่อความเข้าใจกัน ก็จัดอยู่ในบัญญัติประเภทนี้

๓. วิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติจากสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่มี)

บัญญัติชื่อเรียกบุคคลที่ไม่มีอยู่จริงโดยสภาวะ(เพราะบุคคลประกอบขึ้นจากรูปนาม และจะสลายไปตามเหตุปัจจัย) แต่สภาวธรรมในตัวเขาเป็นสัจธรรมที่มีอยู่จริง เช่น บัญญัติว่า เตวิชชา (บุคคลผู้ได้วิชชา ๓)

วิชชา ๓ นั้นเป็นสัจจะที่มีอยู่จริง แต่บุคคลผู้ได้วิชชา ๓ นั้น ไม่มีอยู่จริง เพราะแท้จริงแล้ว บุคคลนั้นเป็นเพียงการประกอบขึ้นแห่งรูปนาม และจะสลายไปตามเหตุปัจจัย

๔. อวิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี)

เช่น บัญญัติว่า “เสียงหญิงชาย” แท้จริง หญิงชายไม่มี( เพราะเป็นเพียงการประกอบขึ้นแห่งรูปนาม และจะสลายไปตามเหตุปัจจัย) แต่เสียงมี เมื่อกล่าวถึงหญิงชายให้เป็นที่เข้าใจในภาษาของชาวโลก ก็พูดว่า “เสียงหญิงเสียงชาย” เป็นการบัญญัติสิ่งที่มี (คือ เสียง) ด้วยสิ่งที่ไม่มี(คือ หญิงชาย)

๕. วิชชมาเนน วิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่มี ด้วยสิ่งที่มี)

บัญญัติชื่อเรียกตามสภาวธรรมที่มีอยู่ทั้ง ๒ ส่วน เช่น จักขุสัมผัส-การรับรู้ทางทางตา จักขุ(ตา)มีอยู่ สัมผัส(การรับรู้) ก็มีอยู่ จึงเกิดการเห็น เป็นต้น

๖.อวิชชมาเนน อวิชชมานบัญญัติ (บัญญัติสิ่งที่ไม่มี ด้วยสิ่งที่ไม่มี)

บัญญัติชื่อเรียกจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงโดยสภาวะ เช่นบัญญัติว่า ราชโอรส แท้จริง พระราชา ก็ไม่มี บุตรหรือโอรส ก็ไม่มี แต่บัญญัติชื่อเรียกตามภาษาของชาวโลก เป็นต้น

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

ออกพรรษากับ “ความเป็นมาของพระอภิธรรม” บทที่ ๑๒ (ตอนที่ ๑๓) คัมภีร์ที่ ๔ ปุคคลบัญญัติ : อธิบายเรื่องบุคคลและบัญญัติ เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here