รำลึกวันวาน…มโนปณิธาน
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
(ตอนที่ ๗๒)
ลมหายใจพระสงฆ์ คือ อายุพระศาสนาฯ
โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ในคัมภีร์พระวิทยากร หลักสูตรพระวิทยากรบรรยายธรรม สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญารวชิโร) ในขณะนั้นกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ลมหายใจของพระสงฆ์ คืออายุพระศาสนาฯ…
ผู้เขียนจึงขออาราธนาบทความที่ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด เมตตาเขียนให้ในนสพ.คมชัดลึก ในคอลัมน์ “ต้นรากเดียวกัน” มาแบ่งปันเพื่อเป็นกำลังใจในการชีวิตด้วยความเข้าใจกันและกัน…เพราะความเข้าใจกัน จะทำเราไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เพราะเราเข้าใจกันว่า เราต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ในสังสารวัฏด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นจริงๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ในสังสารวัฏนี้ ไม่มีใครเลยที่มิเคยเป็นพ่อแม่และญาติพี่น้องกัน…
พิธีกรรม ลมหายใจแห่งพระพุทธองค์
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พิธีกรรมเป็นการนำหลักคำสอนของพระพุทธองค์มาสู่การใช้ในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่เป็นรากฐานที่เข้มแข็งของพระพุทธศาสนา และทำให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนามีชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าหากคนเราได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบไทยๆ ที่หล่อหลอมขึ้นมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมของคนไทย ก็จะเข้าใจได้ว่า พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาที่มีชีวิตเป็นอย่างไร เพราะนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติตาม จึงเกิดพิธีกรรมขึ้นมา และเพราะพิธีกรรมนี้เอง ทำให้คนไทยมีประเพณีของตนๆ ที่ถือปฏิบัติไปตามท้องถิ่น และเพราะประเพณีที่ปฏิบัติอยู่กันประจำตามท่องถิ่น จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมของชนชาติ
พิธีกรรมจึงเป็นเพียงผลที่ปรากฏออกมาของจิตใจที่มีศรัทธามั่นคงต่อหลักคำสอนแล้วแสดงออกมาเป็นการกระทำ ซึ่ง แสดงให้เห็นว่า เรากำลังปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม
ดูเหมือนผู้คนพยายามปฏิเสธพิธีกรรม ด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่แก่นคำสอน แต่หารู้ไม่ว่า ที่จริง พิธีกรรมก็เป็นผลมาจากการปฏิบัติตามคำสอนนั่นเอง เหมือนเห็นใบไม้ แต่ไม่เห็นรากและแก่นของต้นไม้ ที่จริง ใบไม้ก็มาจากต้นไม้มีราก มีแก่น ยิ่งรากลึก แก่นก็ยิ่งใหญ่ ทำให้กิ่งก้านมาก และใบก็ดกหนา เมื่อใบดกหนา ร่มเงาก็มากตามไปด้วย เหมือนเรารักเรากตัญญูต่อพ่อแม่ ความรักอยู่ในใจ แต่เราก็อยากให้ท่านเห็นว่า เรารัก จึงจัดดอกไม้มากราบมาไหว้ มาขอขมาในกรณีที่เห็นว่าจะทำให้ท่านไม่สบายใจ กลายเป็นพิธีกรรมขึ้นมา เรียกว่า ความรักเป็นนามธรรมในใจ ส่วนพิธีกรรมที่แสดงออกมาทำให้ความรักกลายเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ เราเห็นก็นำมาปฏิบัติในชีวิต
อาจกล่าวได้ว่า พิธีกรรม เป็นผลปรากฏออกมาจากการที่กำลังปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พิธีกรรมถวายทาน พิธีกรรมสมาทานศีลพิธีกรรมขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น
ที่จริง การให้(ทาน) ไม่ต้องมีพิธีอะไรเลย แค่ยื่นให้ ก็คือ การให้ แต่เพราะการปฏิบัติตามหลักของทานมาจากศรัทธาที่เชื่อมั่นในหลักคำสอน จึงมีการคิดพิธีกรรมการให้ทานให้มีความละเอียดประณีตขึ้น ตามความละเอียดของศรัทธาที่มีอยู่ และทั้งหมดก็เป็นการปลูกศรัทธาขึ้นมาให้มั่นคงในใจคนนั่นเอง
เมื่อก่อน วิถีวัด วิถีบ้าน วิถีชุมชนกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน วัดพึ่งบ้าน บ้านพึ่งวัด ผิดถูกถ้อยทีถ้อยอาศัย ประคับประคองเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ถึงหน้าประเพณีฮีตบ้านคองวัด พระก็นำชาวบ้านจัดกิจกรรมตามประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ ถึงเวลาทำกิจกรรมทางศาสนา ก็ให้ความสำคัญเคร่งครัดรัดกุม ตกเย็นหลังทำวัตรเสร็จ พระก็จะตีฆ้องออกคอง เพื่อส่งสัญญาณให้ชาวบ้านรู้ว่า พระเสร็จจากคองของพระแล้ว ใครมีอะไรก็ให้เตรียมไว้ถวาย สามเณรก็จะเข้าหมู่บ้านแผ่(รับบริจาค)สิ่งของจากชาวบ้าน มีโยมเดินนำหน้า ตีฆ้อง ร้องป่าวไปว่า “แผ่กระบอง ตอง ปูน พรู ยา” หมายถึง ขอรับบริจาค กระบอง(ขี้ใต้ น้ำมัน ใส่ตะเกียง)สำหรับจุดให้แสงว่าง ตอง(ใบตอง) สำหรับดูดบุหรี
เมื่อก่อนพระใช้ใบตองกล้วยพันยาสูบดูดบุหรี่ ปูนสำหรับกินหมาก ยา คือ ใบยาสูบ หรือ น้ำตาล น้ำผึ้ง น้ำอ้อย บางคราว นานๆ ทีโยมก็จัดปรมัตถ์ถวาย
หลวงพ่อของอาตมา เป็นพระหลวงตา เป็นพระบ้านๆ เพราะท่านต้องอยู่กับชาวบ้าน มีวิถีหมุนไปตามฤดูกาลของชาวบ้าน ไม่ว่าประเพณีอะไรจะเกิดขึ้นกับชุมชนตามฤดูกาล จะลงนาเก็บเกี่ยวหว่านไถปักดำ ชาวบ้านทุกข์ร้อนสิ่งใดต้องมีท่านเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่มีสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินอยู่บนวิถีแห่งสมณะของหลวงพ่อ คือ พอถึงวันพระ หลังทำวัตรเย็นเสร็จ ให้ศีลอุโบสถโยมเสร็จ จัดแจงดูแลภายในวัดเรียบร้อย ราวทุ่มเศษท่านจะออกจากวัดในหมู่บ้านไปปักกลดจำวัดในป่า ในแต่ละวัน ท่านจะให้พระบ้าง สามเณรบ้างสลับกันติดตามไปด้วยหนึ่งรูป
เมื่อตอนที่บวชเป็นสามเณรพรรษาแรก อาตมาต้องแบกกลดเดินตามหลังหลวงพ่อไปตามถนนดินทรายตัดทุ่งลัดเลาะเข้าป่าไป บางทีก็มีโยมในหมู่บ้านตามไปคนสองคน ถ้าวันพระข้างขึ้นก็ดีหน่อยได้แสงสว่างจากดวงจันทร์ส่องลอดกิ่งไม้ลงมาพอให้เห็นทางเดิน แต่ถ้าเป็นข้างแรม มองไปทางไหนก็มืดไปหมด ถึงวาระสามเณรรูปใด พอไปถึงป่าก็กางกลดจัดเตรียมที่ให้หลวงพ่อแล้วท่านก็จะเข้าภาวนาไปพอสมควรก็จำวัด ตื่นมาอีกทีราวตีสามเศษ ก็จะกลับไปทำวัตรเช้าและรับอรุณที่วัดในหมู่บ้าน
วิถีของพระและชุมชนผูกโยงเป็นสายใยอันแน่นแฟ้น อบอุ่นประดุจเครือญาติกันเช่นนี้มานมนานในสังคมไทยนี้เอง ที่ขนบประเพณีวัฒนธรรมได้รักษาแก่นพระพุทธศาสนาไว้ได้มาจนถึงทุกวันนี้
(จากคอลัมน์ ต้นรากเดียวกัน โดย พระราชกิจจาภรณ์ ( เทอด ญาณวชิโร) หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐)
สัมมาสมาธิ (ตอนที่ ๓๖)
วิธีดูลมหายใจ (อานาปานสติ)
โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
วิธีดูลมหายใจสำหรับการฝึกหัดในระยะแรกนั้น ให้ทดลองทำความรู้จักกับลมหายใจของตนเองตามขั้นตอนดังนี้
รู้ว่า คนเรามีลมหายใจเป็นสัญลักษณ์ว่ายังมีชีวิต
– วิธีฝึกตอนแรกก็นั่งเฉยๆ หลับตาเบาๆ ทำตัวให้ว่างๆ เปล่าๆ เหมือนภาชนะเปล่า เหมือนในจักรวาลนี้มีเราอยู่เพียงคนเดียว ตั้งใจว่าไม่คิดอะไรเลย ประมาณ ๑ นาที แล้วลองกลั้นลมหายใจจนสุดกลั้นจึงปล่อย จากนั้น สังเกตจังหวะลมหายใจที่ถี่หอบ ก็จะรู้ว่าชีวิตมีลมหายใจ
รู้ว่าลมหายใจมีเข้ามีออก
– ลองหายใจเข้าแล้วกลั้นลมหายใจไว้จนสุดกลั้นจะอึดอัดทุรนทุรายเพื่อจะหายใจออก
– ลองหายใจออกแล้วกลั้นลมหายใจไว้จนสุดกลั้น จะอึดอัดทุรนทุรายเพื่อจะหายใจเข้าทดลองอย่างนี้ก็จะทำให้รู้ว่าลมหายใจมีเข้ามีออก
รู้ว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออกมีกระทบโพรงจมูก
– ลองหายใจเข้าหายใจออกแล้วสังเกตลมกระทบที่โพรงจมูกกระทบเพดานหน้าผากด้านใน โดยหายใจเข้ายาวมีสติระลึกรู้ไว้ที่โพรงจมูก และหน้าผากด้านในก็จะรู้ว่า ลมหายใจเข้าลมหายใจออก มีกระทบโพรงจมูก
รู้ว่าลมหายใจเข้าท้องพองลมหายใจออกท้องยุบ
– เมื่อหายใจเข้าลองเอาความรู้สึกย้ายไประลึกรู้อาการพองขึ้นของท้องความรู้สึกจะรับรู้ได้ถึงกระบังลมและซี่โครงขยายออก
– เมื่อหายใจออกลองเอาความรู้สึกขยายไประลึกรู้อาการยุบลงของท้องความรู้สึกจะรับรู้ได้ถึงกระบังลมและซี่โครงยุบลงก็จะรู้ว่า ลมหายใจเข้าท้องพอง ลมหายใจออกท้องยุบ
รู้ว่าลมหายใจมีสั้นมียาว
– เอาสติเพ่งจดจ่อความสนใจระลึกรู้ไว้ที่ลมหายใจจะสั้นก็รู้จะยาวก็รู้และไม่ต้องตั้งข้อสงสัยว่าสั้นหรือยาวแบบตั้งใจวัดลมหายใจ เพียงแต่ให้ความสนใจจดจ่อรู้ลมหายใจอยู่อย่างนั้นเหมือนยามเฝ้าประตูจดจ่อๆ ความสนใจเฝ้าดูคนเดินผ่านเข้าออก คนเตี้ยก็รู้คนสูงก็รู้ว่ามีคนเข้าออกเท่านั้น ไม่ต้องรู้แบบต้องวัดส่วนสูงว่า คนนี้สูงเท่าไร คนนี้เตี้ยเท่าไหร่ แต่รู้ว่าสูงว่าเตี้ย ว่าดำ ว่าขาวเท่านั้น ไม่ใช่รู้แบบใครเดินเข้าออกก็ตามเข้าไปดู ทำอย่างนี้ก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีสั้นมียาว
รู้ว่าลมหายใจมีหยาบมีละเอียด
– เมื่อเพ่งความสนใจจดจ่อระลึกรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกจะเห็นลมหายใจหยาบเป็นลำพุ่งเข้าพุ่งออก แล้วค่อยๆ กลายเป็นลมหายใจละเอียดบางเบา ก็อย่าสงสัย ให้รู้ว่าลมหายใจมีหยาบมีละเอียดก็ดูความหยาบความละเอียดตามอาการของลมหายใจต่อไปก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีหยาบ มีละเอียด
รู้ว่าลมหายใจมีปรากฏมีหาย
– เมื่อเห็นลมหายใจปรากฏชัดทั้งหยาบทั้งละเอียดอยู่ก็อย่าสงสัยอย่าตกใจกลัวอย่าตื่นเต้นจนเกินไปให้รู้ว่าลมหายใจมีปรากฏมีหาย ประคับประคองอาการนั้นไว้เหมือนคนกลัวเพชรมีค่าจะหล่นหายก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีปรากฏ มีหาย
รู้ว่า ลมหายใจมีเกิดมีดับ รู้ว่า ลมหายใจไม่เที่ยง
– หายใจเข้ามีการเกิดดับครั้งหนึ่ง หายใจออกมีการเกิดดับครั้งหนึ่งรู้ว่ามีความไม่เที่ยงอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
– หายใจเข้ามีการเกิดหายใจออกมีการดับ เห็นการเกิดและการตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีเกิดมีดับ รู้ว่า ลมหายใจไม่เที่ยง
รู้ว่าลมหายใจมีอยู่ มีผู้รู้ลมหายใจ
– ลมหายใจก็อย่างหนึ่ง ความคิดก็อย่างหนึ่ง ผู้รู้ความคิดและลมหายใจก็อย่างหนึ่ง
– ลมหายใจมีอยู่มีการเข้าการออกตามธรรมชาติและมีผู้รู้ลมหายใจ ลมหายใจจึงมีอยู่เพียงเพื่อให้สติระลึกรู้
– ลมหายใจก็เข้าออกอยู่อย่างนั้น แม้ผู้รู้ก็รู้อยู่อย่างนั้นไม่ใช่รู้ไปตามความอยากที่ใจอยากรู้ หรือไม่ใช่รู้ไปตามความคิดเห็น แบบมีตัณหาและทิฏฐิเข้าไปอิงอาศัยทำอย่างนี้ก็จะรู้ว่า ลมหายใจมีอยู่ มีผู้รู้ลมหายใจ
(โปรดติดตาม สัมมาสมาธิ และรำลึกวันวาน…มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ตอนต่อไป )